จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย จนมากมายเกินกว่าจะนับ คือพรรณไม้ที่ค่อยๆ
เติบโตขึ้นมาในบ้านของ พิจิตรา และไตรภพ ลิมปพัทธ์
จนวันนี้ ต้นไม้ที่พวกเขาปลูกทั้งที่บ้านในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต้องทำเป็น
ไดเร็กทอรี่ เก็บเอาไว้เป็นเล่มๆ ส่วนไตรภพก็ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้คนหนึ่ง
ของเมืองไทย
ไตรภพได้รับอิทธิพลในความรักต้นไม้ส่วนหนึ่งมาจากภรรยา เมื่อ 15 ปีก่อน
"คุณแตง" จะบากบั่นหาต้นไม้มาปลูกเพื่อให้บ้านเล็กๆ หลังใหม่ของของเธอดูร่มรื่น
จาก ต้นเล็กกลายเป็นต้นใหญ่ที่สูงขึ้นๆ ความตื่นเต้นของภรรยาที่คอยชี้ชวนให้ดูและพูดให้เขา
ฟังว่า "ต้นนี้สวยนะ" "อุ๊ยตาย! ออกดอกแล้ว" ได้ค่อยๆ ซึมลึก เข้าในจิตใจเขาโดยไม่รู้
ตัว จากแค่เดินผ่านชำเลืองมองบ้างเป็นบางครั้ง มิหนำซ้ำ ในใจอาจจะคิดว่า
"อะไรกันเธอ ตื่นเต้นอะไรนักหนา กับต้นไม้ออกดอก ออกผล" กลายเป็นคนที่ต้องนั่งยองๆ
พิจารณาดูใบ ดูลำต้นอย่างละเอียด และเริ่มสนใจศึกษาเรื่องพันธุ์ไม้อย่างจริงจัง
เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา
เขาเป็นคนใฝ่รู้ เมื่อรักจะเลี้ยงต้นไม้ ก็ต้องศึกษาให้ลึกถึงชาติกำเนิด
หนังสือเกี่ยว กับต้นไม้ ที่ซื้อหามาอ่าน จึงมีเป็นตั้งๆ แต่จะมานั่งฟูมฟักเลี้ยงตั้งแต่เป็นเมล็ดเป็นต้นอ่อน
ก็คงไม่มีเวลา และใจเย็นมากพอ การซื้อต้นไม้แบบคนรวยที่ "ใช้เงินเป็น" จึงเกิดขึ้น
แม้เงิน จะหมดไปมากมาย แต่ก็ได้ต้นไม้มาสร้างความชุ่มชื่นให้กับแผ่นดิน และต้นไม้ที่เลือก
หาซื้อมาปลูกก็ล้วนแต่เป็นต้นไม้หายาก และเป็นต้นไม้ไทยๆ แทบทั้งสิ้น
"วันหนึ่งพี่ต๋อยเขาโทรมาบอกว่า ซื้อต้นไม้ไว้นะ เดี๋ยวเขาจะเอาไปส่ง ตอนนั้นเรา
ก็คิดว่าเป็นต้นไม้ธรรมดา ที่ไหนได้ เป็นต้นกร่างต้นใหญ่มาก ต้องมีรถยกมาเลยเชียว
ชาวบ้านเขาก็มามุง มองกันว่าบ้านนี้ทำอะไร" พิจิตราเล่าถึงการปลูกต้นไม้ในแบบอย่าง
ของไตรภพ ในช่วงแรกๆ ด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ
ต้นไม้ในบ้านหลังนี้ ถูกเปลี่ยนที่เปลี่ยนทางหลายครั้ง เริ่มทีเดียวเป็นการปลูกโดย
ไม่มีการวางแผนอะไรเลย ต่อมาเมื่อมีต้นไม้มากขึ้นไปก็จำเป็นต้องมีผู้จัดสวนมาดูแลให้
คำแนะนำบ้าง โดยมีคอนเซ็ปต์หลักๆ ว่า จะปลูกต้นไม้อย่างไรก็ได้ แต่ให้ไม่เห็นตัวบ้าน
นอกจากจะเป็นต้นไม้ที่ปลูกเอง ตั้งแต่เพาะเมล็ด และการชี้นิ้วสั่งซื้อจากร้านขาย
ต้นไม้เจ้าประจำแถวพุทธมณฑล ปรากฏว่ายังมีอีกหลายต้นที่ถูกปล่อยให้งอกเบียดขึ้น
มาเอง โดยที่ไม่มีการถอนทิ้ง ต้นที่แข็งแรงกว่าก็จะเจริญเติบโตแซงหน้าต้นที่อ่อนแอ
ธรรมชาติจะดูแลกันเองตรงจุดนี้ ดังนั้นในที่ดินซึ่งปลูกต้นกล้วยหวีใหญ่ จึงมีต้นสะเดา
ซึ่งมาได้อย่างไรก็ไม่รู้ มาขออิงแอบแนบลำต้นด้วย หรือต้นมะเดื่อ ที่นกกาอาจจะมา
ถ่ายเมล็ดทิ้งไว้ ก็โผล่ขึ้นมาเองและเติบโตได้เป็นอย่างดี
ต้นไม้ชื่อแปลกๆ และหาดูได้ ยาก เช่น ต้นตะคร้อ ต้นพยุง ต้น จำปูน ต้นเลี่ยน
ต้นมหาพรหม ต้น มะพูด ต้นนี้มีลูกออกมาให้ทานได้ ด้วย ต้นมะเฟืองก็กำลังออกลูกห้อย
ระย้า แม้แต่ต้นเกาลัดที่เข้าใจว่าปลูก ในเมืองไทยไม่ได้ยังมีให้เห็นที่นี่
และจะออกผลในตอนหน้าหนาว
ดอกไม้ไทยที่มีกลิ่นหอมและคงแข่ง กันส่งกลิ่นหอมฟุ้งในยามเช้า เช่นต้นประ-ยงค์
หรือ "คุณประยงค์" ของพิจิตรา ดอก สีเหลืองกลิ่นหอมมาก ต้นนมแมวป่าที่บ้าน
นี้มีดอกเป็นสีม่วงแทนที่จะเป็นสีเหลือง ลำดวน สายหยุด ชมนาด ต้นโมก หรือ
ดอกไม้สีสวยแต่ไม่มีกลิ่น เช่น สุพรรณิการ์ และอีกต้นหนึ่งที่กำลังประคบประหงม
อย่างดีในตอนนี้คือ ดอกคูนสีม่วง ซึ่งเพื่อน ของพิจิตรานำพันธุ์มาจากต่างประเทศ
ทดลองปลูกที่ทางเหนือ แต่ไม่สำเร็จ และต้นแปลกๆ ที่มีลูกห้อยโตงเตง คือ ตีนเป็ด
ฝรั่งนั้น ไตรภพบอกว่า ดอกเหม็นมาก
ริมรั้ว หน้าบ้าน มีต้นกล้วยใบพัด ที่แผ่ใบออกมาเพื่อปิดบังรั้วบ้าน แต่น่าเศร้า
ที่ต้นมหาดต้นใหญ่ ใบกำลังโรยรา
"นี่มาดูตรงนี้ซิ ผมชอบมาก" "ช้อบ ชอบ" ไตรภพทำเสียงสูงเสียงต่ำ ดูเขา
อารมณ์ดีไม่ต่างจากในทีวี หรืออาจจะเป็น เพราะการมาเยี่ยมบ้านของ "ผู้จัดการ"
ใน วันนี้ ก็เป็น "งาน" อย่างหนึ่งเหมือนกัน เขาชี้ชวนให้เดินไปด้านหลังของตัวบ้าน
"แฟนผมเขาโรแมนติกมาก เขาทำอุโมงค์ ต้นไม้ไว้ด้วย"
อุโมงค์ต้นไม้ที่ว่าคือทางเดินเล็กๆ ระหว่างผนังบ้านกับรั้ว ที่พิจิตราเอาต้นโมก
มาปลูกเรียงรายไว้ทั้งสองข้างทาง ใบอัน ร่มครึ้มของมันแผ่มาจรดกัน จนกลายเป็น
อุโมงค์ต้นไม้
"แตง เรามายืนตรงอุโมงค์กัน เถอะ" ไตรภพร้องเรียกภรรยาที่กำลังง่วน อยู่กับการชงกาแฟ
ท่าทางของเขายามเมื่อแนะนำต้นไม้ แต่ละต้นนั้น ไม่ต่างกับมหาเศรษฐีใหญ่
ที่กำลังเล่าถึงที่มาของสะสมราคาแพงที่ ตนภาคภูมิใจ เพียงแต่ของรักของไตรภพ
แต่ละชิ้นนั้นหยั่งรากลึกลงไป กลายเป็น สมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดินไปจนชั่วลูก
ชั่วหลาน และเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนกกา ที่ร้องส่งเสียงเซ็งแซ่ในยามเช้า
มีกระรอกตัวเล็กตัวน้อยที่วิ่งไล่กันอยู่บนคาคบไม้ ตุ๊กตา ดินเผาอารมณ์ดีหลายตัวจากเชียงใหม่
วางอยู่ตามต้นไม้เป็นระยะๆ
ส่วนไก่แจ้ฝูงใหญ่ สัตว์เลี้ยงอย่างเดียวในบ้าน เดินจับกลุ่มคุ้ยเขี่ยอาหารอยู่ริมรั้ว
พร้อมชำเลืองดูผู้มาเยือนเป็นครั้งคราว
ป่าในกรุงเทพฯ พื้นที่เพียงไม่ถึง 400 ตารางวา แต่เขายังมีที่ดินและบ้านต่าง
จังหวัดหลายแห่งที่ซื้อไว้เป็นที่ปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายนั้น
เป็นพื้นที่กว้าง ใหญ่ชนิดจากถนนจรดภูเขาทีเดียว ที่นั่นมีบ้านแบบล็อคโฮม
ที่ล้อมรอบด้วยลำธาร และน้ำตกธรรมชาติ มี "บ้านนก" หลังน่ารักใต้ต้นไม้ เพื่อเอาไว้นั่งสมาธิ
และที่สำคัญที่สุด เขามีโครงการปลูกป่าอยู่ที่นั่น กล้าไม้หลายหมื่นหลายแสนต้นจากร้านขายต้นไม้แถว
ราชบุรี และอีกหลายๆ ร้าน รวมทั้งจากกรมป่าไม้ ถูกทยอยขึ้นรถกระบะเพื่อขนไปปลูก
ในที่ดินของเขาเมื่อหลายปีมาแล้ว จนตอนนี้ต้นใหญ่ท่วมหัว เป็นต้นไม้ที่เขาปลูก
เพื่อ เป็นการปลูกป่า ไม่ใช่เป็นการทำไร่เพื่อเก็บผลผลิตใดๆ
"เห็นมั้ย มีต้นจันทนาด้วย ออกดอกหอมเชียว ส่วนต้นนี้ก็หาไม่ได้ เพราะผมเรียก
มันว่า "ดาหลาป่า" ผมเรียกเอง เพราะเวลาออกดอกใหญ่และสวยมาก ผมไปขุดมาจาก
ในป่า มันเป็นพันธุ์อะไรไม่รู้" ไตรภพชี้ชวนให้ดูภาพในอัลบั้ม โดยขอร้องทีมงานว่า
อย่าลงภาพประกอบเลย
เกือบทุกครั้งที่ว่าง เขาและครอบครัว มีภาระขึ้นไปดูแลต้นไม้ที่นั่น ที่ที่ซึ่งทำให้
เขาสุข และสงบอย่างมากๆ และใฝ่ฝันไว้ว่า สักวันหนึ่งจะมีเวลาอยู่กับมันได้ตลอดเวลา
ต้นกร่างต้นใหญ่ที่กร่างอยู่ริมทาง ดูแล้วสมชื่อและสมราคา หรือต้นเข็มต้นเล็ก
ราคาถุงละบาท แม้จะมีความต่างในเรื่องราคาอย่างมากมาย แต่ต้นไม้ทุกต้นก็ถูกเลี้ยงดู
ให้เติบโตยั่งยืนขึ้นมาด้วยความรัก ความเอาใจใส่เท่าๆ กัน จากสามีภรรยาคู่นี้