|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ชาติประกาศใช้เกณฑ์ควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการนอนแบงก์อย่างเป็นทางการแล้ว หวังป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต กำหนดเพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 28% และวงเงินกู้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือนตามคาด ดีเดย์ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ขณะที่นอนแบงก์รายใดคิดดอกเบี้ยเกิน 28% ต้องปรับลดภายในเวลา 1 ปี ด้านผู้บริหาร "บัตรกรุงไทย" ชี้ฉุดธุรกิจชะลอตัว
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วานนี้ (20 มิ.ย.) ธปท.ได้ออกประกาศเรื่องการกำกับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง โดยระบุให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และมอบอำนาจให้ธปท.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล
สำหรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 28% และต้องคิดระบบลดต้น ลดดอก โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนด้วยว่าอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและต้องปิดประกาศรายระเอียดไว้ที่สำนักงานทุกแห่งและในเว็บไซต์ และชี้แจงให้ผู้ขอสินเชื่อทุกรายทราบอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่ใช้จ่ายตามจริง และสมควรแก่เหตุได้ตามกรณีที่ ธปท.อนุญาต ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องจ่ายให้ราชการ เช่น ค่าแสตมป์ 2.ค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายให้บุคคลอื่น หรือหน่วยงานภายนอก และ 3.ค่าใช้จ่ายที่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้ ค่าใช้จ่ายกรณีเช็คคืน เป็นต้น
ส่วนวงเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละรายจะต้องไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ของผู้กู้เฉลี่ยต่อเดือน เนื่องจาก ธปท.เห็นว่าวงเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ในระดับที่มีความสามารถในการผ่อนชำระ ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวของ ธปท.มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยเริ่มใช้กับสินเชื่อใหม่ทันที ส่วนผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อที่คิดเกิน 28% ธปท. ให้เวลาปรับตัว 1 ปีนับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป
นางธาริษากล่าวว่า เกณฑ์ที่ ธปท.ออกประกาศกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดังกล่าว ใช้กับนอนแบงก์ก่อน ขณะที่เกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุน (บง.) จะออกประกาศตามมาในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด
สำหรับวัตถุประสงค์ของประกาศฉบับดังกล่าวนั้น เนื่องจากธปท. ต้องการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ให้ได้รับดอกเบี้ยและการเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการป้องกันปัญหาจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปัจจุบันได้เจาะตลาดกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ และธุรกิจก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยไตรมาสแรกของปี 2548 มียอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น 180,000 ล้านบาท หรือ 3% ของสินเชื่อรวม และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 12%
"ธปท.คาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างในส่วนของนอนแบงก์จะมีมากกว่ายอดดังกล่าว แต่ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน ธปท.หวังว่าประกาศที่ออกมาจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาปล่อยกู้ต่อลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น จากเดิมที่เน้นลูกค้ารายได้ต่ำที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเพื่อให้คุ้มความเสี่ยง"
นางธาริษากล่าวต่อว่า ลักษณะของสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับของธปท.หมายถึง สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาที่ไม่มีหลักประกัน และไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สินค้าและบริการ นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อ และการให้เช่าแบบลีสซิ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้า ยกเว้นสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย และการเช่า-ซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์
ทั้งนี้ ตามประกาศระบุว่า ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลได้ทันที แต่นอนแบงก์จะต้องทำเรื่องเสนอมายัง ธปท.เพื่อขออนุญาตประกอบธุรกิจจาก รมว.คลัง ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายนนี้ โดยจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วอนุโลมให้ดำเนินการต่อไปได้ แต่ต้องเพิ่มทุนให้ครบกำหนดภายใน 6 เดือน และระหว่างที่ขออนุญาตบริษัทที่ทำอยู่แล้วทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อต่อไปได้ ส่วนบริษัทใหม่ที่ยังไม่เคยปล่อยสินเชื่อบุคคล ต้องได้รับอนุญาตก่อนที่จะทำธุรกิจได้
นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้อัตราการขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอลง โดยผู้ประกอบการบางรายที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 50% ต่อปี จะต้องลดลงมาเหลือ 28% ต่อปี จึงอาจเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น
"เคทีซีคงจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลระหว่าง 17-30% กว่า หรือโดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 22% และก่อนที่บริษัทจะปล่อยสินเชื่อก็ได้มีการพิจารณาข้อมูล และความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าอยู่แล้ว หากพบว่าลูกค้ารายใดมีความเสี่ยงสูงก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้"
สำหรับบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่จะอยู่ภายใต้การ ควบคุม ขณะนี้มี 12 บริษัท ได้แก่ บริษัทบัตรกรุงไทย บริษัทเซทเทลเลม (ประเทศไทย) บริษัทเอไอจีการ์ด (ประเทศไทย) บริษัทไดเนอร์ส คลับ (ประเทศไทย) บริษัทอมริกันเอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา บริษัทอิออนธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) บริษัทเจนเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส บริษัทเทสโก้ คาร์ด เซอรวิสเซส บริษัทจีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) บริษัทอีซี่บาย และบริษัทแคปปิตอล โอเค รวม 199 สาขาทั่วประเทศ
|
|
 |
|
|