Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน21 มิถุนายน 2548
"บรรพต" ตกตะลึงยางตาสอยงัดกม.เล่นงานซีพีผิดสัญญา             
 


   
www resources

โฮมเพจ เครือเจริญโภคภัณฑ์
โฮมเพจ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

   
search resources

เครือเจริญโภคภัณฑ์
เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์
กรมวิชาการเกษตร
บรรพต หงษ์ทอง
Agriculture




"บรรพต" ดอดลงตรังหาข้อมูลตลบหลังกรมวิชาการเกษตร ยอมรับตะลึงยางตาสอยเกลื่อนสองฟากถนนและลามทั่วประเทศ ยันเป็นยางพันธุ์ไม่ดีไม่มีน้ำยาง "คุณหญิงหน่อย" จี้ "เนวิน" เร่งสรุปปัญหากล้ายาง พร้อมพลิกกม.เล่นงานซีพีหากพบความผิดอาจถึงขั้นยกเลิกสัญญา ขณะที่ "เนวิน" โบ้ยส่งชี้แจงหมดแล้ว ยันไม่มีทุจริต ย้ำไม่ได้นอนเฝ้าแปลงซีพีจึงไม่รู้มียางตาสอยหรือไม่ ผอ.สถาบันยางยืดอกพร้อมรับผิดชอบ ทั้งโยกงานควบคุมยางออกจากสถาบันวิจัยยางยกแผนก กลุ่มผู้ผลิตยางพันธุ์ดีตรังทวงสัญญาก่อนบุกทำเนียบฯ รอบสอง

นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยอมรับว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบแปลงกล้ายางที่จ.ตรัง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกล้ายางป้อนให้โครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่จริง และพบยางตาสอยทั้งจังหวัดเต็มสองข้างทาง โดยก่อนหน้านี้ตนได้ยินแต่เพียงข่าวเท่านั้น จึงได้ลงไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกรที่เพาะพันธุ์กล้าส่งโครงการก็ยอมรับว่าเป็นยางตาสอยจริง เพราะหากเป็นยางตาเขียวจะต้องใช้เวลาในการชำกล้านานเป็นปี แต่การทำยางตาสอยใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น และจะไม่ให้น้ำยางในอนาคต ที่น่าห่วงคือขณะนี้พบยางตาสอยระบาดไปทั่วประเทศ

"เกษตรกรผู้ผลิตบอกผมว่า ยางตาสอยก็สามารถเจริญเติบโตได้แต่เปลือกบางจะไม่ให้น้ำยางหรือให้น้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเกษตรกร โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกไปแล้ว และไม่มีประสบการณ์ไม่สามารถที่จะแยกระหว่างยางตาเขียวกับยางตาสอยได้ ซึ่งผมจะเร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรลงไปให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการตรวจสอบพันธุ์ก่อนที่จะลงมือปลูก ส่วนเกษตรกรที่ซื้อไปปลูกเองจะต้องสอบถามเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรให้แน่ใจเสียก่อนในการเลือกซื้อพันธุ์ การดูแลรวมไปถึงเทคนิคการปลูก" นายบรรพตกล่าว

วานนี้ (20 มิ.ย.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศสเพื่อความร่วมมือการวิจัยยางพาราของไทยว่า ในปี 2547 ไทยและฝรั่งเศสมีข้อตกลงกรอบความร่วมมือด้านวิจัยร่วมกัน ซึ่งฝ่ายไทยคัดเลือกโครงการวิจัยยางพาราเป็นหนึ่งในหลายหัวข้อที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เพราะเห็นว่าฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญครบวงจร ตั้งแต่เกษตรกรรมยางที่ฝรั่งเศสมีฐานการผลิตในแอฟริกาจนถึงผลิตภัณฑ์ยางในวิศวกรรมและยานยนต์

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก แต่ 90% เป็นการส่งออกวัตถุดิบ มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีการแปรรูป ถึงเวลาแล้วที่จะปรับโครงสร้างให้มีมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ยาง การประชุมครั้งนี้จะเป็นช่องทางให้มีการพัฒนาสู่การแปรรูปอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งยอมรับว่าโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องที่ต้องหารือกันในประเด็นของการพัฒนาคุณภาพต้นยางตั้งแต่ปลูกเพื่อให้น้ำยางที่ดีในอนาคต

จี้ "เนวิน" เร่งสรุปปัญหากล้ายาง

ผู้สื่อข่าวถามว่าโครงการพัฒนาคุณภาพยางเป็นเรื่องระดับประเทศ แต่ปัญหาการปลูกยางไม่ได้คุณภาพกลับยังไม่มีการแก้ไข คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ได้กำชับผู้ที่รับผิดชอบคือนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ให้เร่งดำเนินการและสรุปความเสียหายมาให้โดยเร็ว ไม่ใช่เพียงแต่การสรุปในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะขณะนี้ประเด็นปัญหาได้ขยายผลไปมาก จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีออกมารับรองซีพีว่าได้ดำเนินการส่งมอบกล้ายางอย่างถูกต้องนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่นั้นเป็นโครงการที่ดีนายกฯ พูดในทำนองว่าต้องการให้เกษตรกรหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนไม่ได้มีเจตนาจะไปรับรองใคร

ส่วนกรณีหากภายหลังพบว่าบริษัทซีพีมีความผิดจะมีการยกเลิกสัญญาหรือไม่นั้น คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ตอนนี้รอข้อเท็จจริงและดูข้อกฎหมายอยู่ว่าจะดำเนินการได้แค่ไหน ซึ่งก็ได้ให้นายเนวินเร่งสรุปให้อยู่แล้ว

"เนวิน" ย้ำแจงหมดแล้วการันตีไม่มีทุจริต

นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาการทุจริตในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ว่า โครงการนี้ไม่มีการทุจริต ทุกอย่างได้ชี้แจงไปหมดแล้ว จึงไม่อยากพูดอะไรมาก ส่วนการตั้งกรรมการสอบตอนนี้ก็อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการ จึงต้องรอสรุปผลว่าจะออกมาอย่างไร

สำหรับกรณีที่มีการระบาดของยางตาสอยและยางธุดงค์ในพื้นที่ภาคอีสานนั้น ได้มอบหมายให้นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไปตรวจจับอยู่ และก็ได้ดำเนินการแล้ว แต่การจะระบุว่ามียางตาสอยระบาดเข้ามาร่วมกับแปลงต้นยางที่ทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) หรือไม่นั้น ไม่อาจทราบได้ เนื่องจากไม่ได้นอนเฝ้าแปลงกล้ายางของซีพี

นายเนวินกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเกษตรกรออกมาระบุว่าทางบริษัทซีพีเบี้ยวเงินไม่ยอมจ่ายเรื่องค่าต้นยางที่ส่งมอบนั้นว่า เป็นเรื่องของกลไกทางธุรกิจที่ทางบริษัททำกับเกษตรกร กระทรวงฯ จะไปเกี่ยวด้วยไม่ได้ ถ้ามีปัญหาหรือโกงกันเกษตรกรควรจะไปแจ้งความฟ้องร้องตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ส.ส. นำกล้ายางไปแจกในช่วงหลังเดือนสิงหาคม ซึ่งล่วงเลยฤดูปลูกยางจนทำให้กล้ายางตายเป็นจำนวนมาก เป็นเพราะส.ส.ไม่ฟังเสียงทักท้วงจากกระทรวงเกษตรฯ แต่ในเอกสารระบุชัดว่า ทางกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้เสนอขอเงื่อนไขให้ส่งมอบเอง นายเนวินกล่าวว่า ไม่มีความคิดเห็นกับเรื่องดังกล่าว

ผอ.สถาบันวิจัยยาง ยืดอกรับผิดชอบ

นายประวิตร วงศ์สุคนธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การทำยางตาสอยถ้าพูดตามหลักเหตุผลแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากติดตายาก การลงทุนสูง เมื่อไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงไม่น่าจะมีใครยอมขาดทุนเพื่อทุจริต ดังนั้นจึงไม่เชื่อว่ามีการทำยางตาสอยอยู่จริง แต่ถ้ามีการทำยางตาสอยจริง ผมในฐานะ ผอ.สถาบันวิจัยยาง ก็ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ดูแลด้านพันธุ์ยางโดยตรง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผอ.ได้ลงไปตรวจสอบบ้างหรือไม่ นายประวิตรกล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจเป็นประจำก็ไม่พบว่ามียางตาสอยจริง แต่ถ้าเป็นกรณีที่ทางเกษตรกรเขาทำของเขาเองไม่ได้ทำเพื่อการค้าทางสถาบันวิจัยยาง ก็ไม่สามารถบังคับอะไรได้

ส่วนกรณีที่มีการโอนย้ายงานทางด้านการควบคุมยางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติยาง ไปอยู่ในสังกัดสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรนั้น นายประวิตรกล่าวว่า เป็นแผนของกรมวิชาการเกษตรที่มีมาแต่เดิมแล้วไม่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องทุจริตกล้ายางพาราเป็นการย้ายสังกัดให้ถูกต้องตามหน้าที่โดยงานที่ย้ายไปเป็นการย้ายกันทั้งแผนก รวมทั้งบุคลากรอีกประมาณ 10 กว่าคนด้วย สำหรับงานที่ย้ายออกไปก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เมื่อทางสถาบันวิจัยยางต้องการข้อมูลในส่วนไหน ก็สามารถประสานตรวจสอบหรือร้องขอข้อมูลได้

ซีพีเรียก "นายหน้า" เข้าพบด่วน

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังการตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ของนายเอกพล บุญเกื้อ นายหน้าที่รวบรวมกล้ายางส่งให้กับซีพี ปรากฏว่าทางผู้บริหารของซีพี ได้เรียกนายเอกพลเข้าพบเป็นการด่วนในวันนี้ (21 มิ.ย.)

ยื่น 3 ข้อเสนอร้อง "คุณหญิงหน่อย" แก้ไข

นายซุ่น แซ่เอี้ยว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ในฐานะประธานกลุ่มผู้ผลิตยางพันธุ์ดีตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกลุ่มฯ ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 304 ราย กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักเพราะผลกระทบจากโครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ของรัฐบาล โดยผลการสำรวจข้อมูลจากสมาชิกทั้งหมด มีประเด็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่ขอให้ทางรมว.กระทรวงเกษตรฯ ให้ความช่วยเหลือโดยด่วน คือ

1) ปัญหาด้านราคาและต้นทุนการผลิต ให้รัฐบาลประกันราคากล้ายางพันธุ์ดีที่จำหน่ายจากแปลงเกษตรกรในราคา 6 บาท/ต้นเป็นอย่างน้อย และอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตกล้ายางของเกษตรกร หรือไม่ก็หาทางสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงด้วย

2) ปัญหาด้านการตลาด เวลานี้มีปริมาณยางพันธุ์อยู่ในแปลงของเกษตรกรอีกจำนวนมาก สวนทางกับความต้องการของตลาดและนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการปลูกยาง แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ตอนนี้เกษตรกรต้องการขายกล้ายางเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่กลับไม่มีผู้ซื้อ แถมที่จำหน่ายไปแล้วส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินจากพ่อค้าคนกลาง

นอกจากนั้น ยังมีเกษตรกรหลายรายถูกหลอกจากนายหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยให้นำหลักฐานการขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ และเอกสารที่ดินเพาะกล้ายางไปมอบให้ แล้วบอกว่าจะมีการจัดสรรโควตาขายกล้ายางมาให้ตามความเป็นจริง แต่ปรากฏในภายหลังว่าเกษตรกรถูกสวมสิทธิ์ ส่วนกล้ายางที่ผลิตได้ก็ไม่สามารถขายได้ ดังนั้นขอให้รัฐบาลชี้แจงข้อมูลที่ชัดเจนที่เกษตรกรเข้าใจได้ง่าย และหาตลาดให้กับเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

และ 3. ปัญหาด้านการขาดเงินทุนหมุนเวียน ต้องแบกรับภาระหนี้สินกล้ายางที่ผลิตออกมาจำนวนมากก็ขายไม่ได้ ส่วนที่ขายไปแล้วก็ได้ราคาต่ำมาก ซ้ำยังไม่ได้รับเงิน ทั้งนี้เกิดจากพ่อค้าคนกลางปั่นตลาดและฉวยโอกาสทำกำไร ดังนั้นขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตกล้ายางด่วน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และช่วยลดภาระหนี้สินของเกษตรกร รวมถึงเพื่อให้งานของกลุ่มขยายไปสู่วิสาหกิจชุมชนได้ในที่สุด

"หากรัฐบาลจริงใจให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้แก้ไขปัญหาทันที เกษตรกรผู้ผลิตกล้ายางจะไม่ต้องรวมตัวกันเดินทางบุกทำเนียบฯ ทวงถามอีกครั้ง" หนึ่งในแกนนำกลุ่มเกษตรกรฯ กล่าว โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มดังกล่าวได้เดินทางมายังทำเนียบฯ เพื่อร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us