|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กลุ่มผู้ผลิตกล้ายางตาสอยเปิดโปงบริษัทยักษ์ใหญ่กว้านซื้อกล้ายางไม่เลือกพันธุ์ แถมมีเท่าไหร่เอาหมด นายหน้าจัดหากล้ายางส่งซีพีเดือด อัดบริษัทยักษ์ใหญ่บ่ายเบี่ยงจ่ายเงิน สาปส่งโกหกหลอกลวงไม่มีความเป็นมนุษย์ แฉซีพีค้างเงินเกษตรกรผู้ผลิตกล้ายางเฉพาะ จ.ตรังนับร้อยล้าน ฝ่ายซีพีแถลงจุดยืนคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก
นายสมาน ทองดี อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62/3 ม.1 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวยอมรับกับ "ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ผู้จัดการรายวัน" ทำกล้ายางตาสอยส่งขายให้แก่นายหน้าของบริษัทซีพี โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2546 และถือเป็นคนแรกๆ ในต.ลิพัง ที่บุกเบิกทำกล้ายางตาสอย จากนั้นไม่ถึงปีก็มีคนในพื้นที่ทำกันอย่างแพร่หลาย เพราะแปลงกิ่งตายางพันธุ์ดีมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
"ผมไม่เชื่อว่ากล้ายางตาสอยจะเป็นพันธุ์ยางที่ไม่มีคุณภาพ ที่เรียกกันว่ายางตาสอยก็เพราะคนทำต้องสอยกิ่งตายางจากต้นยางพันธุ์ดีมันสูง จึงต้องใช้กรรไกรสอยกิ่งลงมา ในสวนที่ผมเช่าที่ดินพี่ชายปลูกก็ใช้กิ่งตายางแบบเดียวกัน ช่วงที่ปลูกไป 1 ปีครึ่งถึง 2 ปีก็มีออกดอกบ้าง มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นกล้ายางตาสอยหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับเราบำรุงรักษาสวนยางของเราดีไหม ใส่ปุ๋ยตามสูตรเพียงพอหรือไม่ หากทำได้อย่างนี้แล้ว เมื่อต้นโตกรีดได้ก็จะให้น้ำยางไม่แตกต่างกันเลย" นายสมานชี้ให้ดูสวนยางของตนเองที่ปลูกด้วยกล้ายางตาสอยไปแล้วประมาณ 3-4 ปี
นายสมานกล่าวต่อว่า ตนเป็นเกษตรกรสวนยางมากว่า 20 ปีแล้ว และพิสูจน์ด้วยตัวเองมาแล้วว่าทำกล้ายางแบบนี้ได้ ทำไมต้องไปฟังแต่เสียนักวิชาการของรัฐ และที่เขาบอกว่าเมื่อนำไปปลูกจะให้น้ำยางน้อย ก็อาจเป็นเพราะคนทำบางคนไปสอยเอากิ่งตายางจากต้นที่ไม่ใช่ยางพันธุ์ดี แต่ตนจะเลือกสอยกิ่งตายางแต่เฉพาะต้นที่เป็นยางพันธุ์ดีเท่านั้น และกิ่งที่นำมาต่อตาต้องเป็นกิ่งสมบูรณ์ด้วย
ท้านักวิชาการรัฐร่วมพิสูจน์คุณภาพ
นายสมานกล่าวว่า ขณะนี้ตนมีแปลงกิ่งตายางพันธุ์ดีอยู่ประมาณ 8 ไร่ และมีแปลงต้นยางที่เปิดหน้ายางกรีดไป 2-3 ปีแล้ว รานกิ่งด้านบนออกหมดให้แตกยอดใหม่เพื่อนำมาใช้เป็นกิ่งพันธุ์ ประมาณ 37 ไร่ อายุเฉลี่ย 10 ปี การตัดกิ่งจะเหลือความสูงประมาณ 3 เมตร
"ที่ผมไม่ตัดให้เหลือ 1 เมตร ตามที่เขาแนะนำกันก็เพราะว่า หากตลาดกล้ายางเลิกบูม หรือซีพีไม่เข้ามาซื้อจำนวนมากๆ เมื่อใด ผมก็จะสามารถนำต้นกิ่งพันธุ์เหล่านี้กลับมากรีดเอาน้ำยางขายได้อีก" นายสมานกล่าว
เขาบอกว่า เคยขอจดทะเบียนแปลงกิ่งพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร แต่กรมไม่จดให้ โดยอ้างว่าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงตามระเบียบและเกณฑ์การพิจารณาที่กำหนดไว้ว่า ต้นที่จะใช้ทำกิ่งตาต้องสูงเพียงประมาณ 1 เมตร หากตนทำตามก็จะเสียรายได้ในอนาคตเมื่อกล้ายางตาเขียวขายไม่ได้ ตนจึงอยากเชิญนักวิชาการของรัฐมาร่วมพิสูจน์ความจริง
ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกันในกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิตกล้ายางตาเขียวในพื้นที่ โดยมีผู้เสนอว่าน่าจะมีการนำนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร หรือสถาบันวิจัยยาง หรือจากหน่วยงานไหนๆ ของรัฐก็ได้ มาล้อมวงแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้กรรมวิธีการทำต้นกล้ายางที่ถูกต้อง และมีการเสนอถึงขั้นให้ติดต่อสื่อมวลชนมาเป็นพยานด้วย โดยเฉพาะรายการทีวีดังๆ ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นพิธีกร
ครวญซีพีค้างจ่ายค่ากล้ายาง
นายสมานกล่าวอีกว่า การส่งต้นกล้ายางขายให้กับบริษัทซีพีนั้น ตอนที่มีนายหน้ามาติดต่อคนในพื้นที่ให้รวบรวมให้ก็มีการพูดคุยกันว่าให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ โดยกลุ่มของตนประกอบด้วยผู้ผลิตใน ม.1, 2 และ 3 ของ ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีผู้รวบรวมคือ นายวรณ์ หนูหมาด กำนันตำบลลิพัง ซึ่งกำนันวรณ์ ได้โควตามาจากนายหน้าของบริษัทซีพีอีกทอดหนึ่งให้ส่งครั้งละประมาณ 1 ล้านต้น แต่ปรากฏว่าตอนที่มีการซื้อขายจริงกลับไม่เน้นความเป็นกลุ่ม
"ผมส่งให้กำนันวรณ์ในราคาเฉลี่ย 4.30 บาท/ต้น ครั้งแรกส่งไปให้ประมาณ 5 หมื่นต้น ได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้ แต่ครั้งหลังส่งไปเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา กว่า 2 แสนต้น เวลาล่วงไปกว่า 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รับเงินสักบาทเดียว ก็เคยไปถามกำนันก็บอกว่าบริษัทซีพียังไม่จ่ายเงินมา ตอนนี้ยังมีกิ่งพันธุ์และกล้าพันธุ์ที่กำลังรอทำอยู่อีกประมาณ 2.5 แสนต้น แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนแล้ว" นายสมานกล่าว
ยันนายหน้าซีพีรู้ข้อมูลแต่ยังซื้อ
ด้านนางอรพิน ทองดี ภรรยาของนายสมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กล้ายางที่ส่งให้บริษัทซีพีไปกว่า 2 แสนต้น ที่ยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียวนั้น ตนก็ข้องใจเหมือนกันว่าเหตุใดบริษัทซีพียังไม่จ่ายเงิน อีกทั้งข้องใจเรื่องที่มีการกล่าวหาว่ากล้ายางตาสอยไม่ได้คุณภาพ ทั้งๆ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีใครบอกว่าผิด หรือบอกว่าไม่ได้คุณภาพ เพียงแต่ไม่ออกทะเบียนแปลงกิ่งพันธุ์ให้เท่านั้น
"สงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมตอนนี้ถึงมาบอกว่ายางตาสอยไม่มีคุณภาพ และปฏิเสธว่าไม่มียางตาสอยที่ส่งไปขายภาคอีสานและเหนือ ทั้งๆ ที่มีจริงๆ และตอนที่มาซื้อเขาก็บอกว่าเอาหมด ไม่ได้คัดว่าหากเป็นยางตาสอยจะไม่เอา เราอยากให้เขากำหนดกฎเกณฑ์มาให้แน่ชัดว่า ต้นกล้ายางแบบไหนขายได้แบบไหนขายไม่ได้ แต่นี่ตอนมาซื้อก็ซื้อหมด แล้วมีการมาพูดกันทีหลังว่ากล้ายางที่ได้ไปผิดระเบียบและไม่ได้คุณภาพ เราเองก็งงเหมือนกัน" นางอรพินกล่าว
อัดซีพีบ่ายเบี่ยงจ่ายเงินจนรายย่อยเดือดร้อน
"ผู้จัดการรายวัน" ได้สอบถามไปยังกำนันวรณ์ หนูหมาด เกี่ยวกับการค้างจ่ายค่ากล้ายางให้ผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้จริง และคิดว่าหากไม่ได้รับการชำระเงินจากนายหน้าของบริษัทซีพีอาจจะต้องขายที่ดินส่วนตัวเพื่อนำไปชดใช้ให้ เรื่องนี้อยากให้ถามไปยังนายเอกพล บุญเกื้อ ผู้เป็นนายหน้ารับโควตาจัดซื้อกล้ายางมาจากบริษัทซีพีโดยตรงที่ จ.หนองคาย ผมเป็นเพียงผู้รวบรวมในพื้นที่ส่งไปให้เท่านั้น" กำนันวรณ์กล่าว
ด้านนายเอกพล บุญเกื้อ ชี้แจงว่า พื้นเพตนเป็นชาว จ.กระบี่ แต่ได้ไปทำธุรกิจเพาะพันธุ์กล้ายางที่ จ.หนองคาย ทำให้สามารถเชื่อมกับผู้ผลิตกล้ายางตาเขียวใน จ.ตรัง และนำไปจัดส่งให้กับบริษัทซีพีตามโครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ในภาคอีสานและเหนือได้ ตนเคยจัดส่งกล้ายางให้กับเกษตรกรผู้ปลูกในโครงการที่ จ.เลย จ.เชียงราย และ จ.หนองคาย ไปครั้งหนึ่งแล้ว วงเงิน 6-8 ล้านบาท ทางบริษัทซีพีก็จ่ายเงินให้ตรงตามงวด แต่ครั้งหลังส่งให้ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา วงเงิน 4-5 ล้านบาท เริ่มมีปัญหาบริษัทซีพี ไม่จ่ายเงินตามงวดที่ตกลงไว้
"มีผู้รวบรวมกล้ายางส่งให้ผมเกือบ 10 ราย เขาก็ทวงถามผมมากันตลอด ผมเองก็สอบถามไปยังบริษัทซีพีหลายครั้งและเคยไปลุยด้วยตัวเองก็มี เขาบ่ายเบี่ยงตลอดว่าเงินหมุนไม่ทันบ้าง ต้องเอาเงินไปซื้อข้าวเปลือกก่อนบ้าง มันเหมือนโหกกันชัดๆ ไม่ใช่มีแต่ผมนะที่มีปัญหา เฉพาะที่ จ.ตรัง ซีพีค้างจ่ายเป็นวงเงินนับร้อยล้านบาท เดือนร้อนกันไปหมด คิดว่าจะไม่เอาอีกแล้ว เลิกทำธุรกิจกับซีพีแล้ว เพราะเขาไม่มีความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นใจเกษตรกรรายย่อยที่ต้องเดือดร้อน" นายเอกพลกล่าว
นายเอกพลกล่าวด้วยว่า ก่อนนี้ตนจะลุยไปชนกับผู้บริหารบริษัทซีพี เพื่อทวงถามเงินค้างจ่าย ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้รับชำระเงินมาแล้วบางส่วน 2.2 ล้านบาท ทำให้ปัญหาทุเลาลงไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนทำสัญญาจัดหากล้ายางส่งขายให้กับบริษัทซีพี ก็ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นวงเงินนับล้านบาทโดยเอาที่ดินไปวางประกันไว้
เผยมีนายหน้าซีพีไม่กล้าเข้าพื้นที่
แหล่งข่าวในวงการผู้ผลิตกล้ายางส่งบริษัทซีพี ใน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาในส่วน ของกำนันวรณ์ ยังไม่ได้รับการชำระค่ากล้ายางเป็นวงเงินกว่า 3 ล้านบาท และก็มีผู้รวบรวมกล้ายางส่งขายให้กับนายหน้าบริษัทซีพีอีกรายใน ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน ที่ยังไม่ได้รับการชำระเงิน คือ นางเล้ง แซ่โค้ว เป็นวงเงิน 7-8 ล้านบาท
นอกจากนี้จากปัญหาที่บริษัทซีพีบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงิน ส่งผลให้มีผู้รวบรวมกล้ายางในพื้นที่ ต.ลิพัง อีกรายหนึ่งที่ไม่มีเงินจ่ายให้กับผู้ผลิตรายย่อยในพื้นที่นับล้านบาท ขณะนี้ต้องหลบหน้าหนีไปอยู่ จ.เชียงใหม่แล้วด้วย
ชาวสวนใต้ขยาดยางตาสอยตรัง
ด้านแหล่งข่าวซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนเคยเดินทางไปซื้อกล้ายางที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อนำมาปลูกใหม่ในแปลงที่มีการโค่นต้นยางเก่าไปแล้ว ซึ่งในการไปซื้อกล้ายางดังกล่าวตนต้องไปหาผู้กว้างขวางในพื้นที่ให้มารับประกันว่าจะได้ต้นกล้ายางพันธุ์ดีจากแปลงต้นกล้ามาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อนยางตาสอย ซึ่งหากคนนอกพื้นที่เข้าไปซื้อกล้ายางที่นั่นอาจจะมีการปนยางตาสอยได้ เพราะตอนนี้กำลังระบาดหนัก
"การทำกล้ายางตาสอยเพิ่งจะบูมเมื่อ 1-2 ปีมานี้ เพราะมีความต้องการนำส่งไปภาคเหนือและภาคอีสานจำนวนมาก ยางตาสอยใช้เงินลงทุนต่ำ จึงขายตามราคาที่นายหน้าต้องการได้ กล้ายางพวกนี้ส่วนใหญ่ถูกส่งไปภาคเหนือและภาคอีสานเกือบทั้งหมด ถามว่าทำไมนายหน้าถึงเอาทั้งที่รู้ว่าเป็นยางตาสอย ก็เพราะกล้ายางมาตรฐานมีไม่เพียงพอต่อการส่งมอบ กล้ายางตาสอยยังเล็ดลอดเข้ามาสู่ตลาดกล้ายางพันธุ์ดีด้วย คนใต้รู้ดีว่ายางตาสอยเป็นยางพันธุ์เลว ต้นยางโตช้า ให้น้ำยางน้อย ต้องรอ 10 ปีถึงจะเปิดกรีดได้ ไม่มีใครอยากเอาไปปลูก" แหล่งข่าวกล่าว
ซีพีแถลงยึดเกษตรกรเป็นหลัก
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือซีพี ส่งแถลงข่าวเรื่องต้นกล้ายางคุณภาพดีจากซีพี โดยนายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีมีชื่อเสียงและประสบการณ์วิจัยพัฒนาพันธุ์พืชจนประสบความสำเร็จมานานนับสิบปีจนเป็นที่เชื่อถือของเกษตรกร ด้วยการยึดหลัก "เกษตรกรอยู่ได้ เราจึงจะอยู่ได้" ต้องคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก และคงไม่คิดฆ่าตัวตายด้วยเรื่องนี้เพราะอนาคตซีพีต้องสานต่อการผลิตยางพาราครบวงจร
นายมนตรียังรับประกันว่า ยางชำถุงทุกถุงมีคุณภาพดีตามมาตรฐานกรมวิชาการฯ กำหนด เพราะผ่านการตรวจสอบจากกรมฯ ทั้ง 4 ขั้นตอน คือ มาตรฐานต้นกล้ายาง มาตรฐานกิ่งตายาง มาตรฐานต้นตอ ตายาง และมาตรฐานการบำรุงรักษาต้นยางชำถุง
นายมนตรีกล่าวอีกว่า ในช่วงเดือน ก.ย.2547-เม.ย.2548 เป็นที่รู้กันว่าภัยแล้งส่งผลเดือดร้อนไปทั่วเพราะสถิติปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา จะพบว่า มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมีค่าติดลบซึ่งถือได้ว่าเกิดภาวะแห้งแล้งที่สุดในรอบ 30 ปี นอกจากนั้นยังมีภัยพิบัติจากสึนามิทางภาคใต้ เมื่อเกิดภัยแล้งจึงเกิดความเสียหายบ้างแต่ไม่ได้ตายเกือบหมดโครงการ
(อนึ่ง โครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้ว่าจ้างบริษัทซีพี ผลิตต้นยางชำถุง จำนวน 90 ล้านต้น คำว่า ยางชำถุง หมายถึงต้นกล้ายางหรือที่เรียกกันในหมู่ผู้ปลูกยางว่าต้นตอตายาง (budded stump) ซึ่งผลิตจากต้นตอยาง (stock) ติดตาด้วยตายางพันธุ์ดี (scion) แล้วบำรุงรักษาจนแตกยอดใหม่เกิดกลุ่มใบเรียกว่าวงฉัตรไม่น้อยกว่า 1 วง ส่วนคำว่า กล้ายางตาสอย** คือ การติดตาต้นตอยางด้วยตายางที่สอยลงมาจากต้นยางแก่ที่เปิดกรีดแล้ว ซึ่งไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ตามที่กรมวิชาการฯกำหนด ทำให้ออกดอก เติบโตช้า ได้น้ำยางน้อย)
|
|
|
|
|