|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บิ๊กกสิกรไทย "ประสาร" แนะรัฐบาลควรจะชี้แจงเหตุผลในการแยกการกำกับสถาบันการเงินออกจาก ธปท.ไปอยู่ภายใต้การดูแลของคลังให้ชัดเจน ส่วนภาคเอกชนเกรงอาจมีเรื่องของการเมืองเกี่ยวข้อง ด้าน รมว.กระทรวงพาณิชย์ไม่ห่วง เชื่อการดำเนินงานขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหารมากกว่า
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงเรื่องที่รัฐบาลมีนโยบายจะแยกการกำกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ว่าภาคเอกชนหลายฝ่ายต่างก็เป็นห่วง เนื่องจากเกรงว่าอาจมีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลควรจะชี้แจงวัตถุประสงค์ ในการแยกการกำกับสถาบันการเงินออกจาก ธปท. และให้เหตุผลที่ชัดเจน รวมทั้งพิจารณาข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น
"การกระทำน่าจะทำให้เกิดความสบายใจต่อหลายฝ่าย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การแยกการกำกับออกหรือไม่แยก แต่มันอยู่ที่เหตุผลของการกระทำ ซึ่งหากแยกไปแล้วจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ไหม หาก จะดำเนินการอะไรก็ควรเปรียบเทียบรูปแบบมาเลยว่าจะแก้ไขได้จริงหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน สิ่งที่เอกชนเป็นห่วงก็คือการที่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง หรือมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง" ดร. ประสาร กล่าว
ทั้งนี้ รูปแบบขององค์กรกำกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ ก็มีหลากหลายแตกต่างกันไป ซึ่งแม้ว่าบางประเทศที่มีการแยกองค์กรกำกับออกจากธนาคารกลาง แต่ก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าการกระทำดังกล่าวมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต่างประเทศเพิ่งเริ่มแยกการกำกับออกจากธนาคารกลางได้ไม่กี่ปี สำหรับกรณีของประเทศไทย สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเหตุผลของการแยกการกำกับดูแลคืออะไร
นายประสารกล่าวต่อถึงความพร้อมของระบบสถาบันการเงินไทยเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางด้านการเงินว่า ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยเองได้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านความสามารถทางการแข่งขันและประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเราเองก็ต้องติดตามเปรียบเทียบผลดีผลเสียของการเปิดเสรีด้วย
ด้านนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการแยกองค์กรกำกับสถาบันการเงิน รวมถึงกรณีที่ภาครัฐมีแนวคิดที่จะแยกกรมการ ประกันภัยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ไปอยู่กับกระทรวงการคลังว่า เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากสถาบันการเงินควรจะอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง
"ไม่ว่าจะแยกการกำกับหรือไม่แยก ท้ายที่สุดแล้วผู้รักษาการก็คือ รมว.คลัง ซึ่งแม้ว่าเดิมแบงก์ชาติจะมีหน้าที่กำกับสถาบันการเงิน แต่เวลาสภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้ถามเรื่องราวเกี่ยวกับแบงก์ชาติ ทางกระทรวงการคลังก็มีหน้าที่ให้คำตอบแทนแบงก์ชาติอยู่แล้ว" นายทนงกล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเนื่องจากเกรงว่าอาจมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงนั้น นายทนงมองว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะอยู่ที่ไหนก็อาจมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือตัวผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้นๆ มากกว่า ว่าจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง หรือประสบความสำเร็จได้ดีเพียงใด
|
|
|
|
|