"TALKING DICT" ฉาว ถูกแจ้งความข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมคนไทย
"ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม" เจ้าของลิขสิทธิ์เชื่อยังมีถูกละเมิดอยู่อีกในเว็บไซต์ต่างๆที่อยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ด้าน "ทอล์กกิ้งดิก" ยันไม่ได้ละเมิด พร้อมท้าพิสูจน์
ในวันนี้ (18 ก.ค.) ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม เจ้าของลิขสิทธิ์พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย
(ฉบับห้องสมุด) พร้อมด้วยนายประนูนไชย วิลาศรี ทนายความจากบริษัท International
Law Office จำกัด ประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการแจ้งความคดีอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ต่อสำนักงานสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ
(สศก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า บริษัท ยูเนี่ยนเซ้นซ์ เทคโนโลยี จำกัด
ซึ่งเป็นนิติบุคคลและผู้แทนจำหน่ายเครื่องแปลภาษาอังกฤษ-ไทยหรือพจนานุกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ภายใต้ชื่อ “TALKING DICT” เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“ฉบับห้องสมุดนี้ผมทำตั้งแต่สมัยอยู่เมืองนอกคือประมาณ 20 กว่าปี แต่เมื่อ
2 เดือนที่ผ่านมาผมไปเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของเบสต้าที่ซื้อลิขสิทธิ์ผมไป และมีคนมาบอกว่า
TALKING DICT เหมือนของอาจารย์ ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่ได้ฟ้องเขา แต่ไปแจ้งความกับสศก.”
การดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งนี้ ผู้เสียหายได้มอบของกลางให้กับสศก.คือ
พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ยี่ห้อ TALKING DICT 2 เครื่อง, ดิกชันนารี 1 เล่ม
(หนังสือพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ฉบับห้องสมุดของดร.วิทย์) และเอกสารเปรียบเทียบข้อความละเมิดลิขสิทธิ์
3 เล่ม คือระหว่างของดร.วิทย์กับ TALKING DICT
สำหรับยูเนี่ยนเซ้นซ์ เทคโนโลยี จดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อปี 2536 มีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวฮ่องกง
และผู้ถือหุ้นบางรายได้เปลี่ยนชื่อเป็นไทยในเวลาต่อมา โดยมี 2 สัญชาติ ถือพาสปอร์ตไทยและอังกฤษ
มีรายได้จากการขายเครื่อง TALKING DICT เพียงอย่างเดียวได้โดยเฉลี่ยปีละ
300 ล้านบาท หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาที่ดำเนินการกว่า 9
ปี โดยยูเนี่ยนเซ้นซ์ เทคโนโลยีได้นำพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์อังกฤษ-ไทยที่ผลิตในฮ่องกงเข้ามาทำตลาดในไทยรวมทั้งหมด
12 รุ่นคือ ET 500 เมื่อปี 2536, ET 1000 ปี 2536, Super Slim ปี 2537, Super
Slim Plus ปี 2538, Super Star ปี 2539, Super Touch ปี 2541, Super Smart
ปี 2543, Double Card ปี 2544, Super Champ ปี 2544, New Super Smart ปี
2545, New Super Star ปี 2545 และ Super King ปี 2545
ส่วนข้อหาที่ยูเนี่ยนเซ้นซ์ เทคโนโลยีถูกแจ้งความดำเนินคดีนี้ครั้งนี้ ถูกกล่าวหาว่า
ได้นำข้อความการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้เสียหายไปจัดทำเป็นเครื่องพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์
จัดจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป เป็นระยะเวลา 9 ปี โดยยูเนี่ยนเซ้นซ์อ้างจากข้อความบนแผ่นโลหะที่ติดแน่นปรากฏชัดอยู่ด้านหลังเครื่อง
TALKING DICT ทุกเครื่องว่า “ลิขสิทธิ์อยู่ภายใต้กฎหมายไทย การแปลอังกฤษเป็นไทย
แปลโดยศูนย์แปลของคณะอักษรศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
ทั้งนี้การแปลใน TALKING DICT ที่อ้างศูนย์แปลของจุฬาฯ มีข้อความเหมือนกันหรือแก้ไขดัดแปลงจากหนังสือพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย
(ฉบับห้องสมุด) ของดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม แทบทุกหน้าๆ ละหลายๆ คำ (1,298
หน้า) ตีพิมพ์เมื่อปี 2529 โดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น วังบูรพา กรุงเทพ
“สิ่งที่ผมห่วงและวิตกมากคือข้อความข้างหลังที่เป็นแผ่นโลหะติดไว้ ที่บอกว่าแปลภายใต้กฎหมายไทยโดยจุฬาฯ
ซึ่งเป็นสถาบันที่มีบุญคุณกับผม เพราะผมก็เรียนจบที่จุฬาฯ และไม่ยากเชื่อว่าสถาบันแห่งนี้จะก็อปปี้ของผม
แต่ลึกๆ ผมยังเชื่อว่าจุฬาฯไม่ได้ทำแน่นอน เรื่องนี้พอมีคนมาบอก ผมก็งงเหมือนกัน
เพราะเห็นแต่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าเราไปก็อปปี้เขา แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ไทยแจ้งความดำเนินคดีกับต่างชาติว่าละเมิดลิขสิทธิ์เรา”
ดร.วิทย์กล่าว
พร้อมกันนี้ได้มีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบข้อความในเครื่องพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ของ
TALKING DICT กับคำถอดความและอธิบายของหนังสือพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย (ฉบับห้องสมุด)
ของดร.วิทย์ ที่มีข้อความเหมือนกันจากพยานหลักฐานที่มอบให้พนักงานสอบสวน
ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอกคำแปลเหมือนกันทุกประโยชน์การแปลความหมาย ใช้เครื่องหมาย
“/” เพื่อเปลี่ยนหรือแทนคำว่า “หรือ” วางตำแหน่งคำแปลสลับที่กันโดยที่ยังคงคัดลอกคำแปลจากพจนานุกรมของดร.วิทย์
เช่น คำว่า profile (หน้า 863) คำแปลของดร.วิทย์หมายถึง n.รูปภายนอก, รูปโครงร่าง,
รูปเส้นรอบนอก, รูปหน้าเสี้ยว, รูปด้านข้าง, โครงร่าง, ภาพเงา, การวินิจฉัยขบวนการ,
ประวัติบุคคลโดยย่อ. -vt วาดรูปดังกล่าว, บรรยายประวัติบุคคลโดยย่อ, วางโครงร่าง,
วางภาพเงา. เป็นต้น
“การคัดลอกทางกฎหมายอาจดิ้นได้ว่า ภาษาอังกฤษแต่ละคำความหมายเหมือนกัน แต่โดย
Common Sense ผมรู้ และหากไปดูพจนานุกรมอื่นๆ ที่แปลไว้ แม้ความหมายจะเหมือนกัน
แต่การเรียงถ้อยคำหรือประโยชน์จะต่างกัน” ดร.วิทย์กล่าวและว่า การทำพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ลิขสิทธิ์เกี่ยวกับพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย
(ฉบับห้องสมุด) คือบริษัท เบสต้า เทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)
และอีกหลายบริษัทที่ซื้อเป็นใบอนุญาตไป
นอกจากการให้สิทธิ์เป็นรายๆ ไปแล้ว ดร.วิทย์ยังเชื่อว่า มีหลายๆ เว็บไซต์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตละเมิดลิขสิทธิ์พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย
(ฉบับห้องสมุด) เช่นกัน
ยูเนี่ยนเซ้นซ์ยันไม่ผิด
นายสุรชัย ธนลาภไพบูลย์กุล ประธานบริษัท ยูเนี่ยนเซ็นซ์ เทคโนโลยี จำกัด
ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องแปลภาษาระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ชื่อ ทอล์กกิ้งดิก
เปิดเผยถึงลิขสิทธิ์การแปลของทอล์กกิ้งดิก ว่าบริษัทมิไดละเมิดลิขสิทธิ์ในการคัดลอกและดัดแปลงคำศัพท์ในพจนานุกรมของดร.วิทย์
เที่ยงบูรณธรรม การจัดทำพจนานุกรมของทอล์กกิ้งดิก ทางบริษัทได้ว่าจ้างศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษและภาษาไทย
เมื่อบริษัทได้รับทราบข่าวว่าดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ได้นำความแจ้งต่อสำนักงานสืบสวนคดีเศรษฐกิจ
(สศก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทได้ได้ทำการตรวจสอบไปยังศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการยืนยันจากอาจารย์ที่ทำการแปลว่าไม่ได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของดร.วิทย์
เที่ยงบูรณธรรม
อย่างไรก็ตามทางบริษัทจะพยายามประสานการติดต่อกับดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม
เพื่อให้พบกับศูนย์การแปลฯในโอกาสต่อไป