|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ชาติเตรียมหาทางออกให้กับบง.-บค. ที่ยังไม่ได้ปรับฐานะเป็นธพ.-ธย. และไม่ควบรวมกับธนาคารพาณิชย์อื่น ระบุมีหลายทางเลือกขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของกิจการ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน "หม่อมอุ๋ย" เผยอยากเห็น ธพ.ในอนาคตให้บริการลูกค้าต่างจังหวัดเท่าเทียมกับลูกค้าในกทม. ด้านนายปลิวเชื่อบง.ที่ยกระดับเป็นแบงก์มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน "2 ทศวรรษสมาคมบริษัทเงินทุน" เรื่อง "ทิศทางของบริษัทเงินทุนและสถาบันการเงินของไทยตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ว่า ทิศทางของสถาบันการเงินในอนาคตจะเหลือเพียงธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (ธพ.) และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) ตามแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Master Plan)
ทั้งนี้ บริษัทเงินทุน (บง.) และบริษัทเครดิต ฟองซิเอร์ (บค.) ส่วนใหญ่ปรับฐานะเป็น ธพ. และ ธย.เกือบหมดแล้ว เหลือเพียงบริษัทเงินทุน 3 แห่ง คือ บง.ฟินันซ่า บง.กรุงเทพธนาทร และ บง.แอ๊ดวานซ์ ที่ยังไม่ปรับสถานะ ขณะที่ บค.เอเชีย บค. ยูนิโก้ เฮ้าส์ซิ่ง และ บค.สหวิริยา ยังคงสถานะเป็นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์อยู่
"บง.และ บค.ที่เหลืออยู่จะไม่สามารถดำรงสถานะเดิมได้ ธปท.จึงกำลังหาทางเลือกให้เปลี่ยนสถานะ แต่จะต้องเป็นแนวทางที่สถาบันการเงินสมัครใจด้วย และบริษัทเหล่านี้จะต้องไม่เสียผลประโยชน์ ซึ่ง ธปท.กำลังพิจารณาอยู่ในหลายแนวทางแต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าใช้แนวทางใด"
อย่างไรก็ตาม บง.ที่คงฐานะบริษัท บง.อยู่ในขณะนี้ สามารถควบรวมกับ ธพ. หรือ ธย.ได้ แต่หากไม่ต้องการควบรวมกิจการจะต้องคืนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจเงินทุนให้แก่ธปท. และกลายสภาพเป็นบริษัทจำกัดที่ให้สินเชื่อโดยไม่รับเงินฝากจากประชาชน เพื่อลดภาระที่จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท.อีก เพราะไม่จำเป็นต้องส่งแผนการปรับสถานะมายัง ธปท.
"ตอนนี้เป็นช่วงปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะเล็กลงแต่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า คงจะมีการขอเปิดตั้งแบงก์พาณิชย์ใหม่ ฉะนั้นสถาบันการเงินไหนยังไม่ได้เป็นแบงก์ก็สร้างฐานะให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมตัวที่จะขอเป็นแบงก์พาณิชย์ใหม่ได้" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อว่า ในอนาคตต้องการให้ ธพ. และ ธย.ให้บริการแก่ลูกค้าอย่างดีเท่าที่จะสามารทำได้ ที่สำคัญคือควรให้บริการและให้โอกาสลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดเท่าเทียมกับลูกค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยเพิ่มช่องทางเลือกในการออมแก่ลูกค้า เช่น ขายหุ้นกู้ หุ้นไอพีโอ และเปิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ เป็นต้น
ส่วน บง.ที่เลือกเป็นธนาคารเพื่อรายย่อย หรือ ธย. นั้น ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ใหม่ทั้งหมด แต่ทำในส่วนที่ บง.มีประสบการณ์และมีความชำนาญ เช่น สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อการซื้อบ้าน เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวย้ำให้ผู้บริหารสถาบันการเงินมีจริยธรรมในการบริหารงาน อย่าหวังผลประโยชน์เพื่อส่วนตน และให้คณะกรรมการอิสระเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของผู้บริหารสถาบันการเงิน
ด้านนายปลิว มังกรกนก ประธานกรรมการสมาคมบริษัทเงินทุน กล่าวว่า หลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปสมาคมบริษัทเงินทุนจะยุติบทบาทการดำเนินงานลงหลังจากก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 เนื่องจากบริษัทเงินทุน 18 แห่ง ได้ควบรวมและยกฐานะเป็น ธพ. 6 แห่ง และยกระดับเป็น ธย. 3 แห่ง และยังสถานะ บง.อีก 3 แห่ง ดังนั้นสมาคมจึงเห็นควรที่จะยุติบทบาทลง
"ยอมรับว่าในระยะต่อไปจะเกิดภาวะการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ที่รุนแรงมากขึ้น แต่เชื่อว่า บง.ที่ผ่านการยกระดับจะสามารถแข่งขันกับแบงก์ขนาดใหญ่ได้แน่นอน เพราะบริษัทเหล่านี้ผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ จึงแสดงว่าแข็งแกร่งดี และที่ผ่านมา พ.ร.บ.บริษัทเงินทุนก็มีการควบคุมคุณสมบัติที่เข้มงวดกว่า พ.ร.บ.แบงก์พาณิชย์ จึงเชื่อว่าเมื่อใช้กฎเดียวกัน ผู้บริหารของ บง. ยิ่งปรับตัวได้ แต่ขอเวลาให้ บง.ที่ยกระดับได้เรียนรู้การดำเนินธุรกรรมทางการเงินสักระยะ" นายปลิวกล่าว
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงแนวทางการหาทางออกให้แก่บง.และบค.ที่ยังคงสภาพอยู่ว่า คงจะมีหลายแนวทาง ซึ่งการควบรวมกับธนาคารพาณิชย์ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่ง และน่าจะเป็นแนวทางที่เอื้อประโยชน์ต่อสถาบันการเงินเหล่านั้นที่ดีที่สุด ส่วนวิธีอื่นก็ขึ้นอยู่กับ บง. และ บค.จะเป็นฝ่ายตัดสินใจเอง ทาง ธปท.จะไม่จับคู่ให้
"ถามว่ามีแบงก์ที่ต้องการควบรวมเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าเป็นแบงก์ใหญ่เขาคงไม่อยากควบเพราะถือว่าแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับเขา เพราะบางแห่งอาจจะต้องการโตเร็ว ซึ่งการโตก็ต้องขยายธุรกิจ ขยายบุคลากร ซึ่งมันก็เกิดขึ้นได้ เชื่อว่าเขามีทางออกอยู่แล้ว" นางธาริษากล่าว
|
|
 |
|
|