|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
บทสรุปจากการประชาพิจารณ์แผนแม่บทโทรคมนาคม สะท้อนภาพการแปรสัญญาร่วมการงานยากที่จะเกิด ในขณะที่หากจะให้อุตสาหกรรมเดินหน้า มี 3 แนวทาง ที่ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมวิเคราะห์ไว้อย่างการเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับด้านเดียวเป็นผู้ให้ของทีโอที การโอนย้ายลูกค้าไปสู่บริษัทที่ได้ใบอนุญาตใหม่ตามกลไกของตลาดและการพัฒนาของเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงของส่วนแบ่งรายได้ และแนวทางแก้ปัญหา Access Charge
แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่กล่าวว่าภายหลังการทำประชาพิจารณ์แผนแม่บทโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนประการแรกคือความปรารถนาของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเรื่องการแปรสัญญา เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นเพราะติดเรื่องสิทธิการเป็นเจ้าของโครงข่ายที่เอกชนโอนให้รัฐตามสัญญาร่วมการงานแบบ BTO
ในขณะที่ความคิดของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ว่าเงื่อนไขในใบอนุญาตน่าจะนำไปสู่การแปรสัญญาได้นั้น ก็อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะหากค่าธรรมเนียมต่างๆ สำหรับการได้รับใบอนุญาตไม่สูงมาก จนเกิดนัยสำคัญเมื่อเทียบกับส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละปีก็ยากที่จะเกิดการแปรสัญญา
อย่างเช่น หากทีโอทีได้รับส่วนแบ่งรายได้ปีละ 2 หมื่นล้านบาท แต่ใบอนุญาตใหม่มีต้นทุนภาระเพียง 2 พันล้านบาท ทีโอทีก็ต้องการรักษาสัญญาไว้จนถึงที่สุด เพราะหักกลบกันแล้วทีโอทียังเหลือเงินอีก 1.8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กทช.ก็ไม่สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่สูงได้ เพราะจะถูกโจมตีว่าเป็นการกีดกันรายใหม่
สำหรับทางออกของคู่สัญญาเดิม หลังจากวิเคราะห์แล้วทำได้ 3 แนวทาง คือแนวทางแรกเอกชนเดิมไป ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยดำเนินกิจการแบบขอเช่าใช้โครงข่ายจากบริษัทเดิมที่มีสัญญาผูกพันในราคาถูก และโอนลูกค้าไปที่บริษัทใหม่ ปล่อยให้กิจการเดิมซบเซาไปและจ่ายส่วนแบ่งลดลงจนถึงขั้นระดับการประกันรายได้ขั้นต่ำของสัญญา (Minimum Guarantee)
ตัวอย่างเช่นดีแทคตั้งบริษัทใหม่ ชื่อดีจุยซ์ ให้บริการโทรศัพท์มือถือเช่าโครงข่ายจากดีแทค และพยายามถ่ายโอนลูกค้าไปที่ดีจุยซ์ ส่วนดีแทคก็จ่ายส่วนแบ่งรายได้ลดลงตามการทำรายได้ที่ลดลงจนถึงระดับการประกันขั้นต่ำ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในแบบนี้คือทีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคม อาจฟ้องยับยั้งสิทธิไม่ให้บริษัทใหม่มาเช่าใช้โครงข่ายที่ถือว่าได้โอนแล้ว ขณะเดียวกันเอกชนก็ฟ้องกลับว่า มีสิทธิในการใช้โครงข่ายไปตลอดอายุจึงน่าจะให้เช่าได้ และทีโอที กสท ยังอาจฟ้องว่าเอกชนทำให้กระทบต่อสัญญาเดิม เพราะได้รับส่วนแบ่งรายได้ลดลงซึ่งขัดกับกฎหมายที่บอกว่า "ต้องไม่กระทบสัญญาสัมปทานเดิม" เช่นเดียวกันเอกชนก็ฟ้องกลับว่าขัดต่อหลักการแข่งขันเสรี และมีการให้ใบอนุญาตใหม่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากที่บริษัทเอกชนหลายรายจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การตั้งบริษัทใหม่แบบนี้อาจทำได้ยาก เพราะต้องได้รับการยอมรับจากผู้ถือหุ้นและสร้างความวุ่นวายต่อราคาหุ้น กฎเกณฑ์ในตลาดหุ้น และในความเป็นจริงมีกฎหมายเกี่ยวกับการมีอำนาจเหนือตลาด การเช่าโครงข่ายในราคาถูกเพื่อสร้างอำนาจ ในการทำการตลาดแข่งกับคนอื่น อาจถูกร้องเรียนว่าไม่เป็นธรรมต่อรายอื่น และขัดต่อหลักการในใบอนุญาต เพราะเป็นกิจการในเครือเดียวกัน แต่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันทั้ง 2 บริษัท นอกจากนี้ความถี่ของโทรศัพท์มือถือ ในยุด 2G ไม่เหลือพอให้ประกอบธุรกิจได้อีกแล้ว
แนวทางที่ 2 เอกชนเดิมตั้งบริษัทใหม่และไปขอให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G แทนเพราะความถี่ สำหรับ 2G หมดแล้ว โดยการลงทุนทั้งหมดไม่ต้องโอนให้ใคร เอกชนทยอยลงทุนและสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ขึ้นมา ซึ่งเบื้องต้นอาจมีลูกค้าน้อย แต่อนาคตอันใกล้เทคโนโลยีจะค่อยๆซึมซับลูกค้าเข้ามาบริษัทใหม่ตามลำดับ ไม่ได้โอนลูกค้าแบบกะทันหันชั่วข้ามคืน
ทั้งนี้บริษัทเดิมก็จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอทีและกสท ตามสัญญา แต่เมื่อเวลาผ่านไปราว 3 ปี สัญญาเดิมจะค่อยๆ ถูกเปลี่ยนสภาพแยกออกจากกันไปเอง เมื่อกลไกการแข่งขันเกิดขึ้นตามลำดับ
ปัญหาของวิธีนี้คือ อาจมีการฟ้องร้องระหว่างเอกชนกับคู่สัญญายังมีอยู่ ตามหลักการแข่งขันเสรีเท่าเทียม ซึ่งเอกชนตั้งโจทย์ไว้อยู่แล้ว
สำหรับแนวทางที่ 3 คือทีโอที ทำบทบาทตัวเองเป็น Interconnection Clearing House อย่างชัดเจน สำหรับเอกชนตามสัญญาเดิม โดยการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ยังเดินหน้าต่อไป แต่ความเหลื่อมล้ำของแต่ละโอเปอเรเตอร์จะลดลงตามลำดับ
แนวทางนี้สนับสนุนแนวคิดของทีโอที ที่ต้องการให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายต่อผ่านโครงข่ายทีโอทีโดยให้เหตุผลว่าเป็นการอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาการบล็อกสัญญาณที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะทีโอทีปัจจุบันเก็บค่าเชื่อมโยง (Access Charge) จากดีแทคและออเร้นจ์เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือน สำหรับลูกค้าระบบโพสต์เพดและเก็บ 20% จากราคาหน้าบัตรเติมเงินในระบบพรีเพดในขณะที่เอไอเอสไม่ต้องจ่ายค่า Access Charge ให้ทีโอที
นอกจากนี้ ปัจจุบันส่วนแบ่งรายได้ของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายเริ่มเข้าใกล้กันแล้ว เพราะเอไอเอสจะเริ่มจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอทีเป็น 30% ในระบบโพสต์เพด ในเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่ DTAC จ่ายส่วนแบ่งรายได้ 20% ในระบบโพสต์เพดให้กสท แต่ในความเป็นจริงจะพบว่าฐานลูกค้าของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือจะเป็นพรีเพดเกือบทั้งหมด การที่ภาระต้นทุนของเอกชนเริ่มใกล้กัน จึงเป็นโอกาสที่ดีหากทีโอทีจะเปลี่ยนบทบาทตัวเอง และเข้าใจให้ได้ว่าทีโอทีไม่สามารถมีรายรับด้านเดียวได้ แต่ต้องจ่ายกลับคืนให้โอเปอเรเตอร์ด้วย
แนวคิด Interconnection Clearing House เช่นกรณีดีแทค อาจตั้งตัวเลขว่า 200 บาท ที่เคยจ่ายให้ทีโอทีแต่ละเดือน หมายถึงดีแทคสามารถส่งสัญญาณผ่านเข้าโครงข่ายทีโอที เพื่อส่งต่อไปโอเปอเรเตอร์ปลายทางได้ 200 นาที หากคิดการเชื่อมโยง นาทีละ 1 บาท ในขณะที่ TOT ก็สามารถส่งสัญญาณที่ได้รับจากโอเปอเรเตอร์รายอื่นเข้ามายังดีแทคได้ 200 นาทีเช่นกัน
แต่หากมีการดัมป์ราคากัน ทำให้มีการส่งสัญญาณผ่านจากรายอื่นเข้าไปดีแทคมากขึ้น เกิน 200 นาที เช่นเป็น 300 นาที เมื่อหักกลบลบกัน เท่ากับทีโอทีต้องจ่ายคืนให้ดีแทค 100 นาทีหรือ 100 บาท
"แนวคิดนี้จะทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายได้รับรายได้กลับไปด้วยซ้ำ ตามฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดแรงกดดันเรื่องความเสียเปรียบเรื่อง Access Charge ที่มีอยู่"
นอกจากนั้น กทช.จะต้องให้ใบอนุญาตใหม่กับโอเปอเรเตอร์รายเดิมที่มีอยู่ทันที โดยต้องอนุญาตให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายสามารถสร้างโครงข่ายของตนเองได้ ซึ่งภายในเวลาสัก 3-5 ปี บริษัทใหม่จะมีโครงข่ายและเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติลูกค้าจากบริษัทที่ติดสัญญาร่วมการงานก็จะไหลมาบริษัทใหม่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะใช้เพื่อการปรับตัวของทั้งทีโอทีและโอเปอเรเตอร์ โดยที่ไม่ต้องไปแตะต้องสัญญาร่วมการงานเดิม ในขณะที่บริษัทใหม่ก็จะเข้าสู่ระบบใหม่ภายใต้ใบอนุญาตของกทช. คือจะต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่าย Interconnection Regime
"เอกชนอาจเปิดบริษัทขอทำ 3G โดยลูกค้าที่ต้องการใช้เพียง 2 หรือ 2.5G ในปัจจุบันก็อยู่กับบริษัทเก่าที่ติดสัญญาร่วมการงาน ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่สนใจก็จะเข้าไปที่แบรนด์ใหม่ทันสมัย ผ่านไประยะหนึ่งแบรนด์ใหม่ก็เริ่มมีลูกค้ามากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม หากทีโอทีจะเป็น Interconnection Clearing House ก็อาจมีการฟ้องร้องจากเอกชน โดยเฉพาะดีแทคและออเร้นจ์จะไม่ยอมให้คงสัญญาเดิมที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอทีและกสทเพราะถือว่าเป็นคู่แข่ง นอกจากนี้ดีแทคและออเร้นจ์ จะไม่มีทางรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับเอไอเอส
"วันนี้ต้องยอมรับสัญญาร่วมการงานยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ รัฐคงต้องยอมเสียบ้างจากที่รับฝ่ายเดียว ขณะที่เอกชนก็ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องโครงข่ายแทบจะไม่มีทางออกในตอนนี้"
|
|
 |
|
|