|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ 8 พฤษภาคม 2528
|
|
ในแวดวงของ “การซักผ้า” ก่อนที่การซักผ้าด้วยเครื่องจะได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้นั้น อาชีพที่นิยมทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเรียกว่า เห็นกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยดูจะมีอยู่ 2 อย่างคือ การซักแห้งและซักผ้าตามบ้าน
ซักแห้งสมัยก่อนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของร้านซักแห้งทีเดียว กิจการซักแห้งที่เปิดดำเนินกิจการมีมากมายหลายรายด้วยกัน ต่างก็ได้รับความสนใจมาใช้บริการมากและเป็นไปอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เนื่องมาจากคนในสมัยนั้นนิยมใช้ผ้าจากต่างประเทศจึงต้องดูแลรักษาอย่างดี เพราะนอกจากจะมีราคาแพงมากแล้วยังเป็นผ้าที่มีความหนาเป็นพิเศษอีกด้วย วิธีถนอมผ้าให้อยู่ได้นานที่สุดและยังคงรูปแบบเดิมจึงต้องส่งเข้าร้านซักแห้ง ด้วยเหตุนี้ร้านซักแห้งในสมัยก่อนจึงเห็นอยู่ทั่วไปและทำรายได้ให้แก่เจ้าของร้านไม่น้อย แต่ต่อมาแฟชั่นการแต่งกายเปลี่ยนไป ผ้าที่มาบางรุ่นไม่จำเป็นต้องอาศัยการซักแห้งอีกแล้ว กิจการซักแห้งก็ซบเซาลง บางรายก็เลิกกิจการไป
“เมื่อก่อนแถวนี้มีซักแห้งถึง 3-4 รายด้วยกัน แต่ตอนนี้เหลือ 2 รายเอง เพราะกิจการไม่ค่อยจะดีเท่าไร แทบจะไปไม่รอดจะมีก็ลูกค้าเก่าแก่เท่านั้น ส่วนใหญ่ที่เอามาซักแห้งก็เป็นสูท, ผ้าขนสัตว์, ผ้าไหม และชุดราตรี เท่านั้น หรือบางครั้งก็จะมีผ้าคลุมเบาะรถมาให้ซัก แต่ก็นานๆ ที รายได้ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะผ้าสมัยนี้ไม่ต้องถนอมมาก จะดีขึ้นมาหน่อยก็ในช่วงฤดูหนาว แต่ถ้าเป็นฤดูฝนหรือฤดูร้อนก็ต้องชักทุนเก่ามากิน”
เป็นคำบอกเล่าจากเจ้าของร้านซักแห้งที่เปิดกิจการมาสิบกว่าปี และยังคงรักษาวิธีการหากินแบบเดิมไว้
“ผมใช้เตารีด (อย่างที่เห็นในภาพ) เอาไปอังไฟให้ร้อนจัดแล้วนำมารีด ผ้าที่รีดออกมาจะเรียบมาก ลูกค้าเขาชอบใจติดใจว่ารีดได้เรียบ ทุกวันนี้อยู่ได้เพราะรับอัดจีบด้วยเท่านั้น เตารีดนี้ก็หาซื้อยากต้องรู้จักแหล่งของมัน ราคาคู่ละ 450 บาท มีทั้งหนัก 5 กิโล และ 7 กิโล เมื่อก่อนใช้เตาหนัก 7 กก. แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้ 5 กก. แล้วเพราะมีผ้ามาให้รีดไม่มากอย่างเมื่อก่อน รายได้ก็ตกลง อย่างเมื่อก่อนเดือนละ 5-6 พันบาท ตอนนี้ลงมาเหลือ 2-3 พันบาทเท่านั้น แล้วยังต้องจ้างลูกน้องมาช่วยงานอีกล่ะ เพราะซักแห้งมันต้องใช้คนมาช่วยจะทำคนเดียวมันไม่ไหว เพราะผ้ามันทั้งหนาทั้งหนัก
สำหรับอัตราค่าบริการของร้านซักแห้งที่เปิดดำเนินกิจการเอง เจ้าของร้านก็จะทำป้ายพลาสติกสีแดงบอกแจ้งแถลงไขให้ลูกค้าทราบ เช่น กางเกง 20 บาท เสื้อสูท 40 บาท เสื้อโค้ต 80 หรือร้อยกว่าบาท เป็นต้น
ในอนาคตหากโครงการเปิดศูนย์ซักแห้งแบบหยอดเหรียญของวอชชี่-แมชชี่ ออกมาลุยตลาดด้วย ร้านซักแห้งที่ดำเนินกิจการเองคงต้องมานั่งตรองดูกิจการของตนอีกครั้ง ส่วนสาขาของซินไฉฮั้วคงต้องรอดูท่าทีของแม่ใหญ่ว่าจะเอาอย่างไร แต่ก็ยังคงอบอุ่นใจที่มีคนคุ้มครองให้อยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับคำบอกเล่าของเจ้าของร้านซักแห้งอิสระก็ยังคงไม่เกรงกลัวเพราะตราบใดที่พวกนักธุรกิจ นายธนาคาร หรือทนายความ รวมทั้งพวกที่ต้องอาศัยมาดอันภูมิฐานในการติดต่องานยังคงอยู่ ตราบนั้นเขาเชื่อว่า ร้านซักแห้งของเขาก็ยังคงอยู่ได้อย่างแน่นอน
ยังมีบริการซักรีดอีกชนิดหนึ่งที่มีมานานและได้รับความนิยมมากก่อนที่เครื่องซักผ้าจะเข้ามาคือ บริการรับผ้ามาซักที่บ้าน เป็นการหารายได้อีกรูปแบบหนึ่งของแม่บ้านที่มีเวลาว่างเหลือเฟือ เริ่มกันมานานตั้งแต่ยังใช้โซดาไฟซักผ้า แล้วมาใช้สบู่ลายหรือสบู่เหลืองอย่างซันไลท์ ทั้งที่มีลักษณะเป็นก้อนยาวๆ สามารถตัดมาใช้มากน้อยตามความต้องการจนดัดแปลงมาเหลือเพียงก้อนเล็กลงมาเรื่อยๆ กระทั่งใช้ผงซักฟอกอย่างทุกวันนี้ อาชีพนี้ก็ยังคงมีอยู่
“สมัยก่อนรับซักมากกว่านี้อีก แต่พักหลังมานี้อายุมากขึ้นรับมากไม่ได้ เพราะมันเหนื่อยจะรับก็เฉพาะที่รู้จักกันดีและซักให้เขามานานแล้วเท่านั้น ซักผ้าทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าจะได้กำรี้กำไรอะไร ถ้าคิดถึงเวลาที่ต้องเสียไปมาก สู้ทำอย่างอื่นไม่ได้ นี่ก็ว่าจะเลิกแต่ลูกค้าเก่าแก่ยังขอร้องให้ซักต่อ แต่ถ้าต่อไปอาจจะต้องซื้อเครื่องก็ได้แต่มันแพงต้องใช้เงินมาก ว่าจะเอาของฝรั่งที่ทนมากๆ หน่อย แต่เรื่องจะซื้อเครื่องนี่ต้องคิดดูอีกที เพราะลูกค้าที่เขามาจ้างเราซักเพราะเขาเห็นว่าเราซักด้วยมือ คือเขายังคิดว่าซักด้วยมือสะอาดกว่าซักเครื่อง อย่างมีลูกค้ารายหนึ่งที่บ้านมีเครื่องซักผ้าด้วยนะแต่ก็ยังมาจ้างเราซัก เพราะเขาบอกว่ามันไม่สะอาดหมดจดเหมือนเราซักด้วยมือ” แม่บ้านที่รับซักผ้าเก่าแก่รายหนึ่งเล่าให้ฟัง
ส่วนความเห็นของลูกค้าที่มาใช้บริการ “ที่บ้านถึงจะมีเครื่องซักผ้าแต่มันก็ไม่สะอาดดั่งใจเรา อย่างผ้าปูที่นอน จ้างเขาซักมือเขาจะต้มผ้าของเรา ซักซะจนเรี่ยมเร้เรไร ตากแดดแล้วผ้ามีกลิ่นหอม อย่างเครื่องนี่อบแห้งเร็วทันใจดี แต่มันไม่มีกลิ่นหอมแดด ถ้าจะใช้เครื่องซักก็คงจะเป็นตอนที่ฝนตกอย่างหน้าฝนนี่หรือหน้าหนาวที่ไม่มีแดดเลย แต่ธรรมดาชอบจ้างเขาซักมากกว่า เพราะใช้มือซักยังไงๆ แรงขยี้ก็ต้องมีมากกว่าเครื่องที่หมุนไปหมุนมาแป๊บเดียวเอง”
สำหรับอัตราค่าบริการรับผ้ามาซักที่บ้าน “ก็เป็นอัตราที่กำหนดขึ้นเอง เช่น ถ้าเป็นครอบครัว 3 คน คิด 270 บาท ถ้ามี 4 คนก็ 350 บาท หรือเป็นคนก็คนละ 100 บาทต่อเดือน มีเสื้อกับกางเกงหรือกระโปรง ส่วนที่ปลีกย่อยอื่น ก็คิดผ้าปูที่นอนคู่ 10 บาท ถ้าเดี่ยว 5 บาท ถ้าเป็นชุด ชุดละ 10 บาท ตัวละ 5 บาท ส่วนใหญ่เขาจะให้ผงซักฟอกมาด้วย เดือนหนึ่งก็ใช้ขนาด 60 บาท 2 กล่อง ถ้าคนซักผ้าใหม่ๆ เขายิ่งใช้มาก เพราะเขาเทใส่ผ้าจะให้ซักสะอาด แต่เราซักมานานก็จะมีวิธีแช่ผ้าไว้ช่วยประหยัดแรงซักและทำความสะอาดได้ง่ายและเร็วกว่า”
“...ถึงจะมีร้านซักผ้าแบบหยอดเหรียญหรืออะไรก็ตาม คิดว่าคงไม่กระเทือนนะ เพราะลูกค้าคิดว่าเราซักสะอาดกว่าเครื่อง เครื่องมันจะดีกว่ามือคนได้ยังไง จริงไหม” แม่บ้านคนเดิมกล่าว
จะจริงหรือไม่จริงก็คงต้องขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคน สำหรับบางคนแม้ว่าเครื่องซักผ้าจะเข้ามาหลายยี่ห้อก็ตาม แต่ทัศนคติต่อเครื่องซักผ้าของเขาก็ยังคิดว่าเครื่องซักผ้าซักได้ไม่สะอาดดังใจ ยังคงนิยมซักผ้าด้วยมือมากกว่า เพราะนอกจากจะคิดว่าสะอาดแล้วยังถูกใจกับบริการรับผ้าถึงบ้านอีกด้วย แต่อาชีพนี้จะสงวนไว้ได้นานแค่ไหนก็ต้องมีปัจจัยหลายอย่างมาช่วยเสริมให้คงอยู่ได้ อาทิ อายุที่มากขึ้นเรี่ยวแรงก็จะหมดไป หรือลูกหลานไม่ยอมให้ทำต่อไป หรือเวลาที่บีบรัดยิ่งขึ้นทำให้คนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องเพิ่มขึ้น ค่าบริการที่ได้ก็ดูจะไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องเสียไปและไหนจะเกิดบริการซักอบผ้าด้วยเครื่องซักผ้าที่บุกถึงบ้านอีกด้วย แม้ว่าอาชีพนี้หลายคนจะมีรายได้ส่งเสียครอบครัวและลูกเรียนหนังสือ แต่ปัจจัยหลายๆ ประการเหล่านี้ดูจะไม่เอื้อต่อการรับผ้ามาซักที่บ้านได้เหมือนก่อนอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม การซักผ้าด้วยมือก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปตราบใดที่คนยังคิดว่าการซักผ้าด้วยมือยังซักได้ขาวสะอาดกว่าการซักเครื่องและมีบางสิ่งที่สอนให้คนเห็นว่า สิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาย่อมจะดีกว่าสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
|
|
|
|
|