Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2528
เราได้เรียนรู้อะไรบ้างในกรณีธนาคารนครหลวงไทย?             
 

   
related stories

คนแซ่ก่าวจากไหหลำ มาเป็นมหาดำรงค์กุลในสยาม
2528 ปีแห่งการแตกหัก พอประดาบก็เลือดเดือด
ปลายปี 2525 เมื่อมรสุมเริ่มตั้งเค้า
อดีตที่ผ่านมาเมื่อ10 ปีที่แล้ว
“ไอ้ตา-มึงไม่เคยทำอะไรให้กูสบายใจเลย...”
คนอะไรก็ไม่รู้ บุญหล่นทับ 152 ล้านบาท ! แล้วใครจะรับผิดชอบ !!!
ข้าวมันไก่มื้อนั้นเมื่อกำจรเปลี่ยนน้ำเสียง
หนังสือยืนยันข้อตกลง
บุญชู โรจนเสถียร ไม่มีเลขาคู่ใจที่ชื่อ “สังเวียร” อีกต่อไปแล้ว
แบงก์นครหลวงไทย ก่อนถึงวันแตกหัก บุญชู-มหาดำรงค์กุล
ศึกชิงสำนักน่ำใฮ้ “ผมจะสู้เพื่อหลักการ” บุญชู โรจนเสถียร

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
โฮมเพจ ธนาคารนครหลวงไทย

   
search resources

ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารนครหลวงไทย, บมจ.
อุเทน เตชะไพบูลย์
กำจร สถิรกุล
สุพจน์ เดชสกุลธร
นุกูล ประจวบเหมาะ
สมหมาย ฮุนตระกูล
ชิน โสภณพนิช
วัลลภ ธารวณิชกุล
Banking and Finance
บุญชู โรจนเสถียร
ชวน รัตนรักษ์
ดิลก มหาดำรงค์กุล




กรณีธนาคารนครหลวงไทยมีตัวละครอยู่ 3 ตัวที่สามารถให้บทเรียนแก่เราได้ดีมาก ทั้งในแง่ของการบริหารและในหลักสัจธรรมแห่งชีวิต

ตัวละครทั้งสามคือ

- บุญชู โรจนเสถียร

- มหาดำรงค์กุล

- กำจร สถิรกุล และธนาคารแห่งประเทศไทย

บุญชู โรจนเสถียร

เขาเป็นคนเก่งมาก เหมือนอย่างที่หนังสือพิมพ์ มติชน บอกว่า “บุญชูเกิดผิดประเทศ” อย่างนี้น่าจะไปเกิดประเทศที่เจริญแล้วที่ไม่มีการเล่นพวกพ้องและที่นิยมความสามารถ

บุญชูเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่ไม่มีอะไรมาก่อนแล้วมาจับอาชีพยึดอาชีพนั้นเป็นหลักจนกลายเป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่ได้ดีมาจากหลักการบริหารและวิธีการบริหารที่เขามุ่งมั่นและกระทำจนสร้างธนาคารกรุงเทพขึ้นมาใหญ่โตมโหฬารเช่นวันนี้

แต่บุญชูเองก็มีข้อผิดพลาดและจุดอ่อน

ในบางขณะบางกรณีก็มีเสียงกล่าวหาว่าบุญชูไม่มีคุณสมบัติของผู้นำที่ดี˗นั่นคือการเอาใจใส่ดูแลลูกน้อง บางคนถึงกับกล่าวหาว่าบุญชูเองนั้น จะหนีเอาตัวรอดแต่ผู้เดียวเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

ก็คงจะมีแต่บุญชูเท่านั้นที่รู้ดีว่าข้อกล่าวหานั้นจริงหรือเท็จ!

คนที่เคยเกี่ยวพันกับบุญชูในลักษณะที่อยู่บนพื้นฐานเท่าเทียมกัน เช่น พรรคชาติไทย หรือระดับกรรมการธนาคารกรุงเทพ หรือผู้บริหารระดับสูงของธนาคารใหญ่ๆ อื่น จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า บุญชูชอบทำงานแบบสั่งงานให้ทุกคนทำตาม และการพูดจากันก็มักจะออกมาในลักษณะที่บุญชูมักจะเก่งอยู่คนเดียวเสมอ

แต่เพื่อความเป็นธรรมกับบุญชู ก็ต้องอธิบายจุดนี้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดทีหลัง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่า:-

บุญชูนั้นเป็นคนโชคร้ายที่อยู่ธนาคารกรุงเทพมานานจนเกินไป และตำแหน่งที่อยู่นั้นก็ไม่ใช่เล็กเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดในธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงเทพก็ไม่ใช่ธนาคารเล็กหรือกลางแต่เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุด ที่มีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในนี้

ความเคยชินอันนี้มันก็เลยติดตัวมาตลอดโดยไม่ได้ตั้งใจ!

ความโชคร้ายของบุญชูอีกประการ คือการเป็นคนยึดถือหลักการมากจนเกินไป

ในสังคมไทยที่บ้านนี้เมืองนี้พูดกันด้วยอำนาจและบารมี และแม้แต่กฎหมายยังถูกแก้เพียงเพื่อให้คนมีอำนาจบารมีได้ทำตามใจตัวเองนั้น

หลักการและความถูกต้องมันหายากยิ่งกว่าการหาพรหมจารีของหญิงสาวที่ทำงานตามค็อกเทลเลาจน์เสียอีก!

แต่บุญชูก็รู้ เขาก็ยังหามันอยู่!

เพราะเขาเป็นคนดื้อรั้น!

เขารั้นอย่างชนิดที่บางครั้งแทบไม่น่าเชื่อว่าคนอย่างเขาจะไม่เข้าใจกับสัจธรรมของชีวิต!

ในชีวิตเขานั้น เขาถูกใช้มามาก ถูกใช้มาตลอดชีวิต

และเขาก็ยอมให้ถูกใช้ เพราะเขาเองก็ใช้คนที่มาใช้เหมือนกัน

เพียงแต่ว่าเมื่อเขาใช้คนตอนที่เขาเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพและรองนายกรัฐมนตรีนั้นคนที่ถูกเขาใช้หรือสั่งมันเกรงใจเขามากกว่า ทุกวันนี้ที่เขาเป็นนายบุญชู โรจนเสถียร ที่นั่งอย่างเงียบเหงาบนชั้น 10 ของธนาคารนครหลวงไทย

ทุกวันนี้ขอเพียงแต่ถ้าเขายังเป็นที่เกรงใจของพรรคกิจสังคมอยู่ ก็คงจะไม่มีเหตุการณ์เช่นวันนี้เกิดขึ้นแน่ๆ ไม่ต้องถึงกับให้เขาเป็นถึงรองนายกฯ หรือผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพหรอก

แต่บุญชูเป็นคนที่น่านับถือตรงที่ว่า เขาก็ยังเป็นมนุษย์ที่ยืนหยัดอยู่กับหลักการและความถูกต้อง

และก็เป็นหลักการและความถูกต้องนี้แหละกระมังที่ “ผู้จัดการ” ขอมายืนข้างบุญชูด้วยคน

อาจจะเป็นเพราะว่า “ผู้จัดการ” เองก็เป็นหนังสือที่ดื้อรั้นที่ยึดถือหลักการและความถูกต้องเป็นสรณะเช่นกัน

เมื่อ “ผู้จัดการ” ประกาศว่าจะเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็มีคนถามผ่านพนักงานขายโฆษณาเรามาว่า “บุญชูให้สนธิเท่าไรที่จะเขียนเรื่องนี้” ก็อยากจะขอตอบผ่านหน้านี้ไปยังคนจิตใจสกปรกคนนั้นว่า ท่านผู้อ่านที่ควักเงิน 30 บาทออกมาซื้อหนังสือเราเดือนละหลายหมื่นเล่มนั้น มากพอที่จะให้เราอยู่ได้อย่างสบายพอเพียงที่จะให้เราดื้อรั้นกับ “หลักการและความถูกต้อง”

มหาดำรงค์กุล

บทเรียนที่ได้จากมหาดำรงค์กุลในกรณีความขัดแย้งของธนาคารนครหลวงไทยคือข้อเท็จจริงในระบบทุนนิยมที่ต้องพึ่งพาอำนาจ

มันเป็นความฝันของผู้ประกอบการคนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบลงเรือสำเภาจากเกาะไหหลำ จากกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ แต้จิ๋ว ฯลฯ ไปตามที่ต่างๆ ที่ยังให้โอกาสแก่พวกเขามากกว่าเมืองจีนให้

คนจีนโพ้นทะเลพวกนี้คือกำลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งทำให้สังคมธุรกิจต่างๆ ของแต่ละประเทศเจริญเติบโต

บางคนถึงกับสร้างอาณาจักรของตัวเองได้ เช่น เลียม ซิว เลียง แห่งอินโดนีเซีย

บางคนสร้างอาณาจักรขึ้นมาจนใหญ่และใหญ่เกินไปจนรัฐบาลของคนท้องถิ่นนั้นต้องหยุดเขาให้ได้ เช่น จาง หมิง เทียน ที่มาเลเซีย

แน่นอน ในบ้านเราก็มีคนอย่าง ชิน โสภณพนิช อุเทน เตชะไพบูลย์ ชวน รัตนรักษ์ หรือแม้แต่วัลลภ ธารวณิชกุล

คนที่ประสบความสำเร็จยังมีอีกมาก แต่เผอิญกลุ่มคนจีนที่ประสบความสำเร็จมากๆ เกิดมาอยู่ในกลุ่มการเงิน

สุพจน์ เดชสกุลธร เองยังเคยยอมรับว่าการเป็นเจ้าของสถาบันการเงินคือกุญแจไปสู่การสร้างอาณาจักร

ทุกอย่างเป็นอย่าง ชิน อุเทน ฯลฯ!

เพราะพ่อค้าทุกคนต้องผ่านความขมขื่นของการเคยกู้เงินทองบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย

ฉะนั้นถ้ามีโอกาสในชีวิตก็ต้องขอเป็นเจ้าสัวทางการเงินด้วยคน!

มหาดำรงค์กุลก็ไม่มีข้อยกเว้น!

เพียงแต่ว่า 2528 ปีนี้มันห่างจากปีที่ชินตัดสินใจเข้ามาจับเรื่องเงินทองถึง 40 ปี

40 ปีที่แล้วสังคมเศรษฐกิจบ้านเรายังคงที่ บนเวทียังมีคนขึ้นไปท้าชิงน้อย

ธนาคารยุคนั้นตั้งขึ้นมาโดยไม่มีเป้าและจุดหมาย เมื่อเวลามันผ่านมาสักพักหนึ่ง เป้าหมายของธนาคารก็ถูกกำหนดให้สร้างสรรค์ไปพร้อมกับสังคม

40 ปีที่แล้ว โสภณพนิช ล่ำซำ เตชะไพบูลย์ เพิ่งเข้ามาเรียนรู้การทำธนาคาร

และพวกเขาได้เรียนรู้มาถึง 40 ปีแล้ว เขาเรียนรู้จากระดับเสมียนขึ้นมา

แต่มหาดำรงค์กุลเข้ามาเรียนรู้ธนาคารในระดับตัดสินใจทันที!

ข้อแตกต่างมันอยู่ตรงนี้

ในขณะที่ตระกูลต่างๆ กำลังต้องการละลายคนของตระกูลออกไป เพราะคนไทยในยุคหลังนี้มองตระกูลต่างๆ ในธนาคารด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แต่เรากลับกำลังให้อีกตระกูลหนึ่งเข้ามาควบคุมธนาคารพาณิชย์อีกแห่งหนึ่ง

ในขณะที่เรายอมรับหลักการแล้วว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่กิจการพาณิชย์ที่ใครนึกจะเข้ามาก็เข้ามาบริหารได้

ความล้มเหลวของระบบการเงินในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า การจะเลือกใครเข้ามาคุมธนาคารพาณิชย์สักแห่งนั้น มันไม่ใช่การที่จะให้คนมีหุ้นมากที่สุดเข้ามาบริหาร ถ้าคนนั้นหรือกลุ่มนั้นไม่มีความรู้ที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนเข้าบริหารเงิน

ซึ่งเงินนั้นก็เผอิญเป็นเงินของประชาชน!

แม้แต่เรื่องบางเรื่องก็ส่งเจตนาของการไม่ได้เป็นนักธนาคารมืออาชีพ

จนทุกวันนี้ตำแหน่งบริหารทางกิจการด้านนาฬิกา พวกมหาดำรงค์กุลก็ยังดำรงอยู่

หรือแม้แต่ในงานเลี้ยงรองประธานธนาคารคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ ผู้เขียนเองก็เคยเห็นและได้ยินดิลก มหาดำรงค์กุล เอานามบัตรแจกบรรดานายธนาคารต่างชาติ แล้วบอกอย่างภาคภูมิใจว่า “I am a watch manufacture”

“ผู้จัดการ” เชื่อว่ามหาดำรงค์กุลเป็นพ่อค้าขายนาฬิกาที่เก่งมากเพราะมีความสามารถหลายประการที่ทำให้ต้นทุนนาฬิกาของตนเองต่ำ

แต่การที่จู่ๆ จะเข้ามาบริหารธนาคารที่มีเงินฝากของประชาชนหมื่นกว่าล้านบาทโดยตัวเองไม่มีประสบการณ์ทางนี้เลย เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ถึงแม้ว่าจะเป็นสิทธิ์ในฐานะถือหุ้นมากกว่าก็ตาม!

หรือแม้จะอ้างว่ามีลูกน้องคอยสอนงานให้ก็ตาม!

เพราะในที่สุดแล้ว ถ้าลูกน้องดีก็จะดีไป แต่ถ้าลูกน้องเจตนาไม่ดี เอาของเน่ามาใส่พานถวายแล้วตัวเองจะรู้ได้อย่างไร?

เพียงแค่หนี้สูญที่ฟ้องผิดศาล 152 ล้านบาทที่ยังไม่ได้บวกดอกเบี้ย ก็พอเพียงแล้วที่ให้เห็นว่าทำงานเป็นหรือไม่?

หรือเพียงแต่การโกหกงบดุลต่อประชาชนก็ส่อแจตนาแล้วว่า ถ้าสามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงซึ่งเป็นตัวเลขแล้วจะให้เราไว้ใจที่จะเข้ามาบริหารเงินของประชาชนได้เช่นไร?

เพราะเราเชื่อว่าคนที่จะดูแลเงินประชาชนได้ดีนั้น ต้องถูกฝึกมาให้ทำงานเช่นนั้นเป็น หาใช่เพราะว่าถือหุ้นมากกว่า แล้วก็เข้ามาเป็น!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารที่ป่วยมากๆ เช่น ธนาคารนครหลวงไทยในปัจจุบันนี้

กำจร สถิรกุล และธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2527 เมื่อเรานำเรื่อง สมหมาย ฮุนตระกูล ปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ออกจากธนาคารชาติ เราได้เคยพูดไว้เป็นสัจวาจาว่า หมดยุคที่ธนาคารชาติจะเป็นอิสระต่อไปแล้ว

แต่หลังจากนั้นไม่นาน กำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ก็ประกาศสัจวาจาของตนเองเหมือนกันว่า ตัวกำจรเองก็เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครมาบอกให้ทำอะไรได้

เพียง 6 เดือนให้หลัง กำจรเองก็กลืนน้ำลายตัวเองลงไปในกรณีของธนาคารนครหลวง!

“มันเป็นเรื่องของผัวเมียทะเลาะกัน” นี่คือคำพูดล่าสุดของกำจร

เราคิดไม่ถึงว่าคนอย่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะพูดคำนี้ออกมาโดยไม่คิดว่า:-

1. ระหว่างบุญชูกับมหาดำรงค์กุลไม่ใช่เรื่องระหว่างครอบครัวในความหมายของการขัดแย้งเพราะท่ามกลางความขัดแย้งอันนี้คือ “เค้าหน้าตัก” ซึ่งเป็นเงินฝากของประชาชนที่จะต้องรักษาไว้ให้ดี

2. มันเป็นเรื่องของหลักการทำงานและความถูกต้องที่บุญชูพยายามจะทำตามเงื่อนไขของธนาคารชาติ แต่กลับเป็นธนาคารชาติที่ตระบัดสัตย์เสียเอง

3. ธนาคารชาติเพิ่งจะโวยวายเมื่อปีที่แล้วว่า คนที่จะเข้ามาบริหารสถาบันการเงินนั้นต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถในด้านนี้ และจนทุกวันนี้ธนาคารชาติก็ยังอยู่ในภาวการณ์สกรีนผู้บริหารสถาบันเงินทุนอยู่ แต่ในกรณีมหาดำรงค์กุลซึ่งเป็นพ่อค้านาฬิกา ธนาคารชาติกลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

เราคิดไม่ถึงว่าการทำงานของธนาคารชาติก็มี double standard เหมือนกัน

4. การที่ธนาคารแห่งหนึ่งเอางบดุลที่ไม่ถูกต้องมาแจกจ่ายให้ประชาชนชมได้นี่ถือว่าธนาคารชาติอนุมัติและสมรู้ร่วมคิดในงบดุลนั้นด้วยใช่ไหม? หรือเป็นผู้ว่าการธนาคารเองเป็นผู้อนุมัติ! ซึ่งเราก็ไม่เชื่อ!

5. ถ้ามันเป็นเรื่องหลักการบริหารและความถูกต้องซึ่งกำจรเองก็บอกว่า “ไม่รู้ว่าข้างในเขามีอะไรกัน” ก็สมควรจะเข้าไปเสียให้รู้กันเสียทีมิใช่หรือ แทนที่จะมารำพึงรำพันให้ประชาชนเขาเสียดายภาษีอากรที่เขาเสียให้เป็นเงินเดือน

ธนาคารชาติสามารถจะสั่งให้บุญชูและมหาดำรงค์กุลพักการบริหารทั้งคู่ แล้วเข้าไปเลิกม่านเปิดพรมดูว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลในการทำงาน

การอ้างว่าต้องให้ธนาคารเชิญเข้าไป หรืออ้างว่าต้องให้รัฐมนตรีคลังสั่งเข้าไปนั้น เป็นการพูดโดยไม่อ่านกฎหมายที่ให้อำนาจตนอยู่แล้ว

ความล้มเหลวของสถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ว่ากันว่าเป็นผลพวงการทำงานของคนที่ธนาคารชาติ ซึ่งเราก็ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

แต่จากการแสดงออกของกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารชาติคนใหม่นี้ในเรื่องธนาคารนครหลวงไทย ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า บางทีจะต้องจุดเทียนตอนกลางวันเสียแล้ว

เพราะ “บ้านนี้เมืองนี้ เวลานี้มันมืดจริงหนอ”   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us