|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2528
|
|
ถ้าย้อนหลังจากวันนี้กลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่าก่อนหน้าที่มหาดำรงค์กุลกับบุญชู โรจนเสถียร จะเดินจูงมือกันเข้ามาในแบงก์นครหลวง
ไม่ว่าใครก็คงไม่กล้าคิดว่าบุญชูกับมหาดำรงค์กุลจะต้องมีเรื่องขัดแย้งกันอย่างหนัก
บุญชูเป็นไหหลำ มหาดำรงค์กุลก็เป็นไหหลำ และที่เหนือกว่าความเป็นไหหลำกันก็คือบุญชูกับมหาดำรงค์กุลมีความสัมพันธ์อันดีกันมานาน ทั้งทางด้านธุรกิจและด้านส่วนตัว
ในยุคที่บุญชูยังมีอำนาจวาสนาอยู่ในแบงก์กรุงเทพและต่อมาในภาครัฐบาลนั้น มหาดำรงค์กุลเคยต้องพึ่งพาบุญชูอยู่หลายครั้ง แม้กระทั่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของชัยโรจน์บางระดับก็เป็นของที่บุญชูขอพระราชทานให้
ส่วนบุญชูก็พึ่งพามหาดำรงค์กุลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านกำลังทรัพย์ที่ต้องใช้เล่นการเมือง
มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยเมื่อบุญชูยังเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ก็ทางมหาดำรงค์กุลนี่เองที่เป็นผู้จัดงิ้วไหหลำเล่นหาทุนเข้าสมาคมเป็นการช่วยบุญชู และในทำนองกลับกันมีอยู่พักหนึ่งที่นาฬิกาไซโก้ของกลุ่มเมืองทองซึ่งมหาดำรงค์กุลมีเอี่ยวร่วมกับมงคล กาญจนพาสน์ หรือ “เสี่ยเม้ง” ประสบปัญหาเรื่องภาษี ปรากฏว่าไม่ช้านานเรื่องนี้ก็ค่อยๆ เงียบไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
“คุณก็น่าจะรู้ว่าใครช่วยไว้” เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรเคยพูดกับ “ผู้จัดการ”
ความสัมพันธ์ระหว่างบุญชูกับมหาดำรงค์กุลจึงเป็นความสัมพันธ์อันดี ที่ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกัน “เพียงแต่บุญชูจะเป็นฝ่ายช่วยเสียมากกว่า เพราะมหาดำรงค์กุลนั้นส่วนมากขี้เหนียว โดยเฉพาะกับชัยโรจน์เป็นคนขี้เหนียวมาก...” คนวงในคุยให้ฟัง
เพราะฉะนั้นเมื่อมหาดำรงค์กุลต้องการเข้าไปเป็นเจ้าของแบงก์นครหลวงด้วยการรับซื้อหุ้นจาก “เสี่ยเม้ง” ซึ่งอยากจะวางมือจากธุรกิจทั้งหมดในเมืองไทย ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่มหาดำรงค์กุลจะต้องนึกถึงบุญชูเป็นคนแรก
ชัยโรจน์เป็นคนที่ไปทาบทามบุญชูให้เข้ามาในแบงก์นครหลวง โดยนอกจากจะขอให้ช่วยเข้ามาบริหารแล้วก็ยังขอให้บุญชูช่วยหาคนมาซื้อหุ้นด้วย เนื่องจากลำพังมหาดำรงค์กุลกลุ่มเดียวไม่มีกำลังพอจะรับซื้อหุ้นจาก “เสี่ยเม้ง” ได้ทั้งหมด
ชัยโรจน์ต้องทาบทามบุญชูอยู่นานเกือบปี บุญชูจึงตอบตกลง เพราะช่วงนั้นบุญชูก็ได้ประกาศวางมือจากวงการเมืองและพรรคกิจสังคมแล้ว
และดูเหมือนว่าปัญหาในทุกวันนี้ของแบงก์นครหลวงจะเริ่มกันตั้งแต่วันที่บุญชูตอบตกลงนั่นเอง
สำหรับบุญชูแล้ว การเข้ามาในแบงก์นครหลวง หมายถึงการได้รับอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารให้แบงก์ซึ่งล้าหลังเป็นสิบๆ ปีกลายเป็นแบงก์ที่ทันสมัยและประสบความสำเร็จแบงก์หนึ่ง
ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็หมายความว่าบุญชูจะต้องจัดทีมบริหารชุดใหม่เข้ามาแทนชุดเก่าและลงมือผ่าตัดกันอย่างเฉียบขาด
แต่สำหรับมหาดำรงค์กุลแล้ว การเชิญบุญชูเข้ามากลับมีความหมายเพียงอยากจะอาศัยชื่อเสียงและประสบการณ์ของบุญชูช่วยสอนการบริหารแบงก์ให้กับคนของมหาดำรงค์กุลเท่านั้น
เรียกได้ว่าการก้าวเข้ามาในแบงก์นครหลวงของบุญชูและมหาดำรงค์กุลนั้น ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายและไม่มีใครพูดถึงเป้าหมายที่แท้จริงกันมาก่อน
แบงก์นครหลวงในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2526 จนเกือบตลอดปีนั้นจึงเป็นยุคที่ “ผู้จัดการ” ต้องทำเป็นเรื่องเด่นขึ้นปกในฉบับประจำเดือนกันยายน โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “แบงก์นครหลวงไทย สามก๊กยุค 200 ปี” เพราะโดยข้อเท็จจริงขณะนั้นแบงก์นครหลวงได้ถูกแบ่งเป็น 3 ก๊ก คือก๊กของผู้บริหารเก่า มีวิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการเป็นขุนพล ก๊กของกลุ่มมหาดำรงค์กุล มีชัยโรจน์เป็นหัวหอก และก๊กของบุญชู มีวิศิษฐ์ ตันสัจจา วัฒนา ลัมพะสาระ และจิตรเกษม แสงสิงแก้ว
ว่ากันว่าในทันทีที่บุญชูดึงตัววิศิษฐ์ ตันสัจจา วัฒนา และจิตรเกษม เข้ามานั้น มหาดำรงค์กุลโดยเฉพาะชัยโรจน์ไม่พอใจมาก เพียงแต่ในช่วงที่ยังจำเป็นต้องร่วมมือกับก๊กบุญชูโค่นก๊กของวิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ ความไม่พอใจนี้ก็จำเป็นจะต้องเก็บไว้ในใจเงียบๆ
และจากความไม่พอใจที่เก็บไว้เงียบๆ ก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นการตั้งแง่อย่างเปิดเผยเมื่อวิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ ยอมสละเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ
วิศิษฐ์ ตันสัจจา ด้วยความเข้าใจที่ว่าบุญชูได้รับอำนาจเต็มที่จากมหาดำรงค์กุลก็เริ่มลงมือผ่าตัดแบงก์นครหลวงทันที
“ผมวางแผน 5 ปี ไว้โดยตามแผนที่ผมวางเป้าหมายจะทำให้นครหลวงขึ้นมาอยู่อันดับ 5 ของแบงก์พาณิชย์ไทย...” วิศิษฐ์เคยให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการ”
ในเดือนมกราคม 2526 ช่วงที่วิศิษฐ์ ตันสัจจา กำลังวางแผนว่าจะทำอะไรกับแบงก์นครหลวงนั่นเอง มีเช็ค 2 ใบ ใบแรก 3 ล้านบาท และใบที่สอง 6 ล้านบาทถูกส่งจาก “ตึกดำ” เข้ามาตัดบัญชีที่แบงก์นครหลวง
ใบแรกผ่านไปได้โดยที่ไม่มีเงินในบัญชีเลย แต่ใบที่สองถูกส่งคืน
ดูเหมือนว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี่เองที่วิศิษฐ์กับทีมบริหารจาก “ตึกดำ” เริ่มจะมองหน้าไม่สนิทกับมหาดำรงค์กุล
จากนั้นอีก 2 เดือนวิศิษฐ์ก็เริ่มรู้แน่ชัดมากขึ้นว่าตัวเองไม่ได้มีอำนาจแม้แต่จะอนุมัติเงินสัก 1,000 บาท เพราะมหาดำรงค์กุลไม่ยอมมอบอำนาจให้เลย
ในเดือนมีนาคม 2526 วิศิษฐ์จึงได้ยื่นใบลาออกกับบุญชู โดยให้เหตุผลว่าทำอะไรไม่ได้ แต่บุญชูได้ขอร้องให้วิศิษฐ์ทำงานต่อไปพร้อมทั้งรับปากว่าจะจัดการให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยขึ้น
หลังจากนั้นทีมงานของบุญชูก็ได้ดึงผู้บริหารจากข้างนอกเข้ามาในแบงก์นครหลวงหลายคน เช่น ดึงชาญ ธนาสุรกิจ จากฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศของแบงก์กรุงเทพให้มาคุมฝ่ายบริหารการเงิน ดึงสุรศักดิ์ เทวะอักษร จากส่งเสริมเงินทุนไทย ดึงสุภชัย มนัสไพบูลย์ จากจุฬาฯ ให้มาเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล ดึงกฤษณา สุนทรธำรง มาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ดึงสังวร สุทธิสานนท์ มาเป็นผู้จัดการสำนักบริหารด้านการควบคุม
และคนสุดท้ายที่ตามเข้ามาด้วยก็คือ สังเวียร มีเผ่าพงษ์ เลขาคู่ใจของบุญชูซึ่งลาออกจากแบงก์กรุงเทพเพื่อมาเป็นผู้อำนวยการสำนักประธานกรรมการ
การเข้ามาอย่างสายฟ้าแลบของทีมบุญชูนี้ ถึงแม้อำนาจที่แท้จริงจะยังอยู่กับชัยโรจน์ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ดิเรก ดิลก และชัยโรจน์ กระวนกระวายใจอยู่เหมือนกัน
ภูริช มหาดำรงค์กุล ลูกชายดิเรก จึงถูกมอบหมายให้สรรหามือดีมาประกบคนของทีมบุญชูในทันทีและในที่สุดก็ได้ วัฒนาสุข พินิจธรรม จากธนาคารชาติเข้ามาเป็นคนแรก
วัฒนาถูกวางตัวให้เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งจะช่วยดิลกและชัยโรจน์ได้มากในเรื่องระเบียบและพิธีการของธนาคาร
จากนั้นก็ดึงสมชัย วนาวิทย์ และวิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ลูกชาย ดร.เสริม วินิจฉัยกุล เข้ามา
ในขณะที่ 2 ก๊กกำลังตั้งป้อมกันนี้ ก๊กมหาดำรงค์กุลจะถือไพ่เหนือกว่าเพราะเป็นผู้มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ก๊กวิศิษฐ์ก็หวังว่าบารมีของบุญชูจะช่วยแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้นได้
แต่เอาเข้าจริงๆ บุญชูกลับทำอะไรได้ไม่มาก
“ขนาดท่านว่าไปอย่างเจ็บๆ ทั้งเขียนทั้งพูด เขายังไม่รู้สึก” ผู้ใกล้ชิดกับบุญชูเผยกับ “ผู้จัดการ”
เพราะฉะนั้นการตัดสินใจลาออกครั้งที่สองของวิศิษฐ์ ตันสัจจา ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครจะยับยั้งไว้ได้อีกต่อไป
จากวิศิษฐ์ ก็มาถึงวัฒนา ลัมพะสาระ จิตรเกษม แสงสิงแก้ว และทีมบุญชูเกือบยกทีมที่ต้องตบเท้าลาออกตาม
แน่นอน! สงครามระหว่างทีมของบุญชูกับมหาดำรงค์กุลปิดฉากไปแล้ว
เพียงแต่สงครามระหว่างตัวบุญชูกับมหาดำรงค์กุลเพิ่งจะเริ่มเท่านั้น
|
|
|
|
|