Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2528
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่นราธิวาสก็มี "ชม้อย" แล้ว             
 

   
related stories

ชม้อยกับคนเมืองสิงห์
ชม้อยจากความเห็นเพื่อนร่วมงาน ที่สนิทกันมากที่การปิโตรเลียม
หลวงพ่อฤาษีลิงดำวิสัชนาเรื่องแชร์ชม้อย ให้รอถึงธันวาฯ จะยิ้มได้เอง
ชม้อย ทิพย์โส (ประเสริฐศรี) คุยกับครูเก่าคนหนึ่งที่โรงเรียนราชินีบน
วิโรจน์ เสือมา บุญหล่นทับหรือกรรมบันดาล
อีกมุมหนึ่งของคดีประวัติศาสตร์
ประวัติวงศ์วาน "ชม้อย ทิพย์โส" และเทือกเถาเหล่ากอ
บันทึกลายแทงขุมทรัพย์ "ชม้อย" ลึกลับกว่า "คิง โซโลมอน ไมน" หลายเท่า
"ตอนแรกก็รู้สึกสงสาร"
หนึ่งปีกับเก้าเดือนแห่งมรสุมและความตอแหลของแชร์ชม้อย
ใครเป็นใครในทีมงานล่าชม้อย

   
search resources

ชม้อย ทิพย์โส




คำพิพากษาฎีกาที่ 1201-1202-1203/2498 อาญา ฉ้อโกง พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ ควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยฯ

ใช้อุบายว่า จำเลยทำการค้าใหญ่โต ให้เขานำเงินมาฝากเข้าเป็นหุ้นส่วน สัญญาจะจ่ายเงินปันผลให้ร้อยละ 50 ต่อเดือน ทั้งๆ ที่จำเลยรู้ว่าไม่สามารถจะจ่ายได้ ทำให้เขาหลงเชื่อนำเงินมาฝากมากมายเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ หรือ พ.ร.บ. ควบคุมการค้าอันกระทบถึงความปลอดภัย หรือผาสุกแห่งสาธารณชน เพราะไม่มีการออกเช็คหรือสั่งจ่าย เงินแต่อย่างใด คำพิพากษา

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่ 1201-1202-1203/2498 ศาลฎีกา

วันที่ 20 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2498

ความอาญา

พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส โจทก์ ระหว่าง

นายอัมรินทร์ จินตานนท์ ที่ 1, นายวีระ จินตานนท์ ที่ 2,

นายวิชิต จินตานนท์ ที่ 3, นายประยูร โยธาทิพย์ ที่ 4,

นายวิชาญ วรุตตมะ ที่ 5 จำเลย เรื่อง ประกอบการธนาคารพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกง

พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส นายประจวบ ศิริศักดิ์ ที่ 1,
นายวิรุฬห์ จินตานนท์ ที่ 2, จำเลย

เรื่อง ประกอบการธนาคารพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกง

พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส โจทก์

ระหว่าง

นายอัมรินทร์ จินตานนท์ ที่ 1, นายวีระ จินตานนท์ ที่ 2,

นายวิชิต จินตานนท์ ที่ 3, นายประยูร โยธาทิพย์ ที่ 4,

นายวิชาญ วรุตตมะ ที่ 5, นายประจวบ ศิริศักดิ์ ที่ 6,

นายวิรุฬห์ จินตานนท์ ที่ 7 จำเลย

เรื่อง ฉ้อโกง

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 24 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2497

คดี 3 สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

ในสำนวนที่ 1 มีข้อหาในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าคนสมคบกันกระทำผิด ต่างกรรมต่างวาระกัน คือ เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยที่ 1-2-3 สมคบกันประกอบการธนาคารพาณิชย์ ที่ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยทำธุรกิจรับฝากเงินจากประชาชน ซึ่งต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 50 ของเงินฝาก เมื่อสิ้นระยะเวลา 1 เดือน และจำเลยนำเงินที่ได้รับฝากนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางจ่ายหมุนเวียนทางอื่น ได้มีประชาชนนำเงินไปฝากจำเลย และจำเลยจ่ายคืนไปบ้างแล้ว ยังคงค้างชำระอีก 10,115 ราย เป็นเงิน 20,130,803 บาท กับ 14,268 เหรียญมลายู ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามกฎหมาย

2. เมื่อระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2494 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2494 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยที่ 1 ที่ 4 สมคบกันตั้งธนาคารพาณิชย์ ที่ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในทำนองเดียวกับข้อ 1 ซึ่งจำเลยไม่ได้ใช้เงินคืน 2,098 ราย เป็นเงิน 4,150,080 บาท

3. เมื่อระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2494 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2494 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยที่ 1 ที่ 5 สมคบกันตั้งธนาคารพาณิชย์ ที่ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในทำนองเดียวกับข้อ 1 ซึ่งจำเลยยังไม่ได้คืนอีก 1,277 ราย เป็นเงิน 1,843,480 บาท

4. เมื่อระหว่างวันที่ 26 เมษายน 2494 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2494 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยที่ 1 กับพวก ตั้งธนาคารพาณิชย์ทำนองเดียวกับข้อ 1 ที่ตำบลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจำเลยยังไม่ได้ใช้คืน 8 ราย เป็นเงิน 5,500 บาท

5. ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม 2493 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2494 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งห้าสมคบกันใช้อุบายหลอกลวงประชาชนผู้เสียหายในคดีนี้ โดยโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากธนาคารพาณิชย์ ที่จำเลยตั้งขึ้นในข้อ 1, 2, 3, 4 โดยจำเลยให้คำรับรองอันเป็นเท็จว่า จำเลยนำเงินนั้นไปหาประโยชน์ได้มากพอที่จะนำมาจ่ายเป็นดอกผลให้ผู้ฝากร้อยละ 50 ต่อเดือน อย่างแน่นอน แต่ความจริงจำเลยเอาเงินที่มีผู้นำมาฝากใหม่นั่นเอง จ่ายหมุนเวียนเป็นดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถึงกำหนดถอนคืน โดยจำเลยมีเจตนาทุจริต หลอกลวงให้ประชาชนนำเงินมามอบให้จำเลย โดยจำเลยมีเจตนาว่า เมื่อมีผู้นำเงินมามอบเป็นจำนวนมากแล้ว จำเลยก็จะเอาเงินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ผู้เสียหายตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย ก.ข.ค. หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลย ว่าเป็นความจริง ครั้นระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2494 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2494 เวลาใดไม่ปรากฏ ผู้เสียหายได้นำเงินมามอบให้จำเลยที่จังหวัดนราธิวาส 194 คน เป็นเงิน 3,799,722 บาท กับ 1,590 เหรียญมลายู ที่จังหวัดยะลา 15 คน เป็นเงิน 142,900 บาท ที่จังหวัดปัตตานี 18 คน เป็นเงิน 133,700 บาท ปรากฏรายละเอียด วัน เดือน ปี ที่ส่งมอบ และจำนวนเงินของแต่ละคนตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย ก.ข.ค. จำเลยรับฝากแล้วเมื่อครบ 1 เดือน จำเลยไม่จ่ายคืนตามกำหนด โดยจำเลยเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นอาณาประโยชน์ของตนเสีย เหตุเกิดที่ ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ครั้นวันที่ 16 พฤษภาคม 2494 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ และได้สิ่งของต่างๆ ตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 1 ท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นสิ่งของที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำผิด กับได้ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 2 ท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้รับฝากเงินและฉ้อโกงบ้าง และเป็นทรัพย์ที่จำเลยเอาเงินเหล่านั้นไปซื้อไว้บ้าง รวมราคา 3,221,601 บาท 75 สตางค์ เป็นของกลาง ผู้เสียหายร้องทุกข์ มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแล้ว ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยต้องโทษฐานไม่ทำบัญชีแสดงรายการรับและจำหน่ายน้ำตาล ซึ่งมิใช่ความผิดส่วนลหุโทษหรือประมาท ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษา ปรับ 50 บาท ตามสำนวนคดีอาญาเลขแดงที่ 178/2489 พ้นโทษไปยังไม่เกิน 5 ปี ขอให้ลงโทษตามกฎหมายและลักษณะอาญามาตรา 304, 27, 63, 71, 72 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2488 มาตรา 4, 5, 30 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขาย อันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ.2471 มาตรา 7, 8 และพระราชบัญญัติกำหนดกระทรวงเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขาย อันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ.2471 พ.ศ.2476 มาตรา 4(2) ขอให้ริบ ของกลางตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 1 และให้จำเลยคืนหรือใช้ทรัพย์แก่ผู้เสียหาย โดยถือเอาทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์หมาย 2 เป็นส่วนหนึ่งแห่งเงินที่จำเลยจะต้องใช้นั้นด้วย

ในสำนวนที่ 2 มีข้อหาว่า นายประจวบ ศิริศักดิ์ นายวิรุฬห์ จินตานนท์ สบคบกับจำเลยที่ 1, 2, 3 ในสำนวนแรกทำผิดในข้อหาอันเดียวกัน

ในสำนวนที่ 3 มีข้อหาว่า จำเลยทั้ง 7 คน ใน 2 สำนวนแรกสมคบกันฉ้อโกงชนิดเดียวกับสำนวนที่ 1, 2 ทั้งนี้โดยมีผู้เสียหายร้องทุกข์เพิ่มเติมเข้ามาอีก คือที่จังหวัดนราธิวาส 279 คน เป็นเงิน 6,078,175 บาท กับ 4,268 เหรียญมลายู ที่จังหวัดยะลา 48 คน เป็นเงิน 341,300 บาท ที่จังหวัดปัตตานี 27 คน เป็นเงิน 268,100 บาท

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตคิดฉ้อโกงผู้เสียหายในคดีนี้ ส่วนจำเลยกะการจะฉ้อโกงผู้ใดและเมื่อไรในภายหน้านั้นไม่ได้เป็นปัญหาในคดีนี้ และข้อหาโจทก์ที่ว่า จำเลยประกอบการธนาคารพาณิชย์ โดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินั้น การกระทำของจำเลยหาใช่เป็นธนาคารไม่พิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนจำเลยที่ 1 เว้นแต่เงินซึ่งเจ้าพนักงาน ยึดจากนายเวทและนายอรุณ ให้คืนเจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 นั้น จะว่าไม่เจตนาทุจริต คิดฉ้อโกงผู้เสียหายที่ร้องทุกข์หาได้ไม่ เพราะได้ใช้อุบายหลอกลวงบุคคลไม่เลือกหน้า ไม่เลือกเวลาอยู่แล้ว ชั่วแต่เกิดอุปสรรคขัดขวางต่อกิจการของจำเลยที่ 1 ขึ้นเมื่อไร หรือจำเลยที่ 1 พอใจจะเลิกเสียเมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นอันเลิกกิจการ และบรรดาผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งจะไม่ได้รับเงินคือผู้ที่ใบหุ้นของตนยังไม่ถึงกำหนดถอนคืนเมื่อล้ม แต่สำหรับจำเลยอื่นได้รับปฏิบัติการให้จำเลยที่ 1 ในฐานะคนงานและผู้ช่วยภายในกิจการของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีผิดเป็นตัวการฐานฉ้อโกงกับจำเลยที่ 1

ส่วนในข้อหาว่า ผิดพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขาย อันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ.2471 นั้นจำเลยที่ 1 มีผิดตาม มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่สำหรับจำเลยอื่นมีฐานะเป็นเสมือนลูกจ้าง หามีความผิดด้วยไม่

ในข้อหาว่า จำเลยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2488 นั้น วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดตามพระราชบัญญัตินี้

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 304, 71 และพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน มาตรา 7, 8 ให้จำคุก 10 ปี และให้ใช้เงินแก่ผู้เสียหายตามบัญชีท้ายฟ้องบรรดาที่ได้ร้องทุกข์ ส่วนคำขอที่ให้เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ นั้น หาได้ระบุว่า โทษครั้งก่อนเนื่องจากความผิดต่อกฎหมายใดไม่ และศาลเพียงแต่ปรับ 50 บาท อันอยู่ในอัตราความผิดที่เป็นลหุโทษ จึงไม่เพิ่ม

ในเรื่องของกลางนั้น ทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 1 จะสั่งริบมิได้ กับที่โจทก์ขอให้เอาทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 2 เป็นส่วนหนึ่งแห่งเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องใช้แก่ผู้เสียหาย เป็นเรื่องของการบังคับคดีจึงให้ยกเสีย ความอื่นนอกจากนี้ คงยืนตามศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ฎีกาโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทุกคนเต็มตามฟ้อง ฎีกาจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง ปล่อยจำเลย

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงทั้งสองฝ่ายและตรวจสำนวนแล้ว

ทางพิจารณาได้ความตามคำพยานหลักฐานว่า นายอัมรินทร์จำเลยที่ 1 ตั้งสำนักงานขึ้นที่ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ให้ชื่อว่า บริษัทชัยพัฒนา ทำกิจการค้า และเมื่อมีบุคคลใดเอาเงินมาลงหุ้นในบริษัทจำเลย บริษัทจะออกใบหุ้นให้ ดังใบหุ้นท้ายฟ้อง โดยระบุจำนวนเงินลงหุ้น วันที่ลงหุ้น และวันครบกำหนดถอนคืน ซึ่งปกติมีกำหนด 1 เดือน เมื่อถึงกำหนดมาขอรับเงินคืน บริษัทจะจ่ายเงินทุนและผลประโยชน์ให้ร้อยละ 50 ของเงินฝาก บริษัททำการทำนองนี้มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2493 ในตอนแรกมีคนเอาเงินมาลงหุ้นน้อยคน และจำนวนเงินน้อยก่อน แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่าบริษัทจำเลยได้จ่ายเงินประโยชน์ให้ร้อยละ 50 จริง ไม่เคยผิดนัดประชาชนก็สนใจและเกิดความนิยมขึ้น จำนวนคนและจำนวนเงินหุ้นจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในระยะหลังๆ ใกล้เกิดเหตุ มีเงินมาลงหุ้นวันหนึ่งเป็นจำนวนมาก จำเลยที่ 1 เป็น ผู้รับและจ่ายเงินและเซ็นใบหุ้น แต่บางคราวจำเลยที่ 1 เคยให้นายวีระ นายวิชิต นายประจวบ และนายวิรุฬห์ จำเลย ทำการแทนบ้าง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเปิดที่ทำการทำนองเดียวกันนี้เป็นสาขาของบริษัทชัยวัฒนาขึ้นที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยให้นายประยูร และนายวิชาญกับนายรัตน์ เป็นผู้จัดการสาขาดังกล่าวตามลำดับ ต่อมาทางการสงสัยว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นการหลอกลวงประชาชน จึงจัดนายตำรวจมาสืบสวนสดับตรับฟังพฤติการณ์ของบริษัทจำเลย ในที่สุดเจ้าพนักงานเข้าควบคุมตรวจสอบสมุดบัญชีในสำนักงานบริษัท เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2494 การรับและจ่ายเงินของบริษัทจึงได้หยุดลง ปรากฏว่ามีผู้นำเงินมามอบแก่บริษัทจำเลยกว่าหมื่นราย จำนวนเงินกว่า 20 ล้านบาท และต่อมาได้มีผู้ร้องทุกข์ขอเงินคืนหลายร้อยคน

ฝ่ายจำเลยคงสืบพยานว่าชั้นแรกจำเลยตั้งร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ดแบบสหกรณ์ก่อน ครั้นการค้าเจริญขึ้น จำเลยรับเงินจากประชาชนเป็นทำนองเรียกหุ้นมาทำทุนเพื่อขยายการค้า การค้าจำเลยนั้นมีมากมายหลายอย่าง มีอาทิ ค้ารถยนต์ ตั้งโรงสี ค้าทอง ค้าข้าว เดินรถประจำทาง เข้าหุ้นขุดแร่ยูเรเนียม และยังคิดจะซื้อเรือเดินทะเลลำใหญ่ๆ ด้วย ถึงแก่วางมัดจำค่าเรือไว้แล้ว และนอกจากการค้าธรรมดาแล้ว จำเลยยังมีการค้าลับมีกำไรมากด้วย ซึ่งจำเลยว่า การค้าลับนี้เปิดเผยไม่ได้ เหตุที่จำเลยไม่สามารถชำระเงินแก่ผู้จองหุ้นตามกำหนด เวลา ก็เพราะเจ้าพนักงานมาควบคุมสำนักงานจำเลยทำให้การค้าต้องหยุดไป

ส่วนจำเลยอื่นต่างสืบว่า เป็นแต่เพียงลูกจ้างผู้รับใช้จำเลยที่ 1 ในการรับและจ่ายเงิน กระทำไปตามคำสั่งจำเลยที่ 1

ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมานี้ คงสรุปได้ใจความว่า นายอัมรินทร์ จำเลยที่ 1 ตั้งสำนักงานขึ้นให้ชื่อว่าบริษัทชัยวัฒนา มีวัตถุประสงค์ทำการค้า และชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากเป็นการเข้าหุ้น แต่การเข้าหุ้นนี้ จำเลยคิดประโยชน์ให้ร้อยละ 50 ต่อเดือนเป็นรายเดือน มีประชาชนหลายจังหวัดนำเงินมามอบให้จำเลยเป็นจำนวนมากมายหลายสิบล้านบาท เพราะหวังประโยชน์ตอบแทนอันสูง ข้อที่จำเลยแก้ว่า จำเลยนำเงินไปหมุนเวียนทำการค้านานาชนิด โดยเอากำไรมาแบ่งปันกันแก่ผู้ฝากหรือผู้ถือหุ้นนั้น ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่เชื่อว่า จำเลยทำการค้าขายใหญ่โตดังคำอ้าง จำเลยเพียงแต่ทำการค้าบ้างเท่านั้น ซึ่งศาลนี้เห็นพ้องด้วย เพราะจำเลยมิได้มีบัญชีหรือหลักฐานอันใดแสดงให้เห็นเป็นเช่นนั้น และเมื่อคำนวณอัตราผลประโยชน์ร้อยละ 50 ต่อเดือน ที่จำเลยคิดให้แล้ว ในต้นเงินเพียง 100 บาท ถ้าฝากจำเลย สมทบทั้งต้นและผลประโยชน์ในปีหนึ่งจำเลยจะต้องจ่ายเป็นเงินหนึ่งหมื่นเศษ ถ้าถึงปีที่ที่ 2 ก็เป็นจำนวนเกินล้านบาท ซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่า จำเลยจะไปหาผลกำไรจากการค้าที่ไหนมาจ่าย แม้แต่จำเลยเองก็ว่า หุ้นส่วนมีกำไรเท่าใดไม่อาจรู้ได้ แต่กระนั้นจำเลยก็คงจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ฝากไปได้ เหตุที่จำเลยจ่ายเงินปันผล ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ามีกำไรเท่าใดนั้น ย่อมประกอบให้เห็นเจตนาจำเลยในการลวงให้เขาหลงเชื่อโดยแท้ ข้ออ้างจำเลยที่ว่า เพราะเจ้าพนักงานมาควบคุมทำให้กิจการต้องชะงักจึงไม่สามารถจ่ายเงินแก่ผู้ฝากนั้น ศาลนี้กลับเห็นว่า ถ้าเจ้าพนักงานไม่เข้าควบคุมแล้ว ก็อาจมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำเงินมาฝากจำเลยมากขึ้น ทำให้เกิดความ เดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนยิ่งขึ้นอีก

ข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ คดีจึงมีข้อวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องหรือไม่ ความในกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 304 ซึ่งเป็นบทบัญญัติฐานฉ้อโกงมีว่า “ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวงด้วยประการใด อันต้อง ประกอบด้วยเอาความเท็จมากล่าว หรือแกล้งปกปิดเหตุการณ์อย่างใดๆ ที่มันควรบอกให้แจ้งนั้น โดยมันมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงให้ผู้หนึ่งผู้ใดส่งทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่ตัวเองหรือแก่ผู้อื่น ท่านว่ามันผู้หลอกลวงเช่นว่ามานี้ กระทำการฉ้อโกง”

ก็นายอัมรินทร์ จำเลยผู้นี้ใช้อุบายเป็นทำนองว่า ตนทำการค้าใหญ่โต ให้เขานำเงินมาฝากเข้าเป็นหุ้นส่วน โดยสัญญาจะจ่ายเงินปันผลให้เขาร้อยละ 50 ต่อเดือน ทั้งๆ ที่ตนเองก็รู้ดีว่าไม่สามารถจะจ่ายให้เขาได้ จึงนับว่าเป็นความเท็จจนเขาหลงเชื่อนำเงินมาฝากมากมายเช่นนี้ย่อมเข้าอยู่ในลักษณะความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 304 ที่กล่าวโดยตรง ข้อที่จำเลยแก้ว่า จำเลยมิได้คิดฉ้อโกง เหตุที่ต้องงดจ่าย เพราะเจ้าพนักงานมาควบคุมทำให้การค้าหยุดนั้น เป็น คำกล่าวแก้ซึ่งขัดต่อเหตุผลดังได้กล่าวแต่ต้นว่า ไม่มีทางที่จำเลยจะนำเงินของผู้ฝากไปทำการค้าหาผลประโยชน์ให้ผู้ฝากได้เช่นนั้น

คดีมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นผิดพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งศาลนี้เห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เข้าอยู่ในพระราชบัญญัตินี้ เพราะไม่ใช่ทำการเป็นธนาคารพาณิชย์ ดังคำวินิจฉัยศาล ล่างทั้งสอง ส่วนการกระทำของจำเลยจะเข้าอยู่ในพระราชบัญญัติควบคุมกิจการ ค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชนหรือไม่นั้น ปรึกษา เห็นว่า การที่จำเลยรับเงินฝากทำนองเรียกเป็นหุ้น แล้วตกลงจ่ายดอกเบี้ยให้ โดยจำเลยอ้างว่า จะเอาเงินไปลงทุนค้าขายเช่นนี้ ไม่มีสภาพคล้ายคลึงกับกิจการธนาคาร ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติที่กล่าวเพราะการกระทำไม่มีการออกเช็คหรือสั่งจ่ายเงินแต่อย่างใด ระหว่างจำเลยกับผู้ฝากอันเป็นลักษณะของการธนาคารเป็นการฝากเงินหรือเอาเงินมาเข้าหุ้นธรรมดาเท่านั้น

ข้อวินิจฉัยมีต่อไปว่า จะเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบได้หรือไม่ ความข้อนี้ในฟ้องโจทก์กล่าวว่าก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องโทษฐานไม่ทำบัญชีแสดงรายการรับและจำหน่ายน้ำตาลมาครั้งหนึ่ง ศาลพิพากษาปรับ 50 บาท ดังปรากฏ ในคดีแดงที่ 178/2489 พ้นโทษยังไม่เกิน 5 ปี จำเลยแถลงยอมรับว่า เคยต้องโทษจริงตามฟ้อง ตามรายงานลงวันที่ 8 กันยายน 2494 ต่อมาวันที่ 15 กันยายน โจทก์ยื่นคำร้องเพิ่มเติมว่าความผิดฐานไม่ทำบัญชีซึ่งจำเลยเคยต้องโทษนั้น เป็นความผิดซึ่งไม่ใช่เป็นส่วนลหุโทษ และมิใช่ความผิดที่เกิดขึ้นด้วยความประมาท ศาลสอบจำเลย จำเลยไม่คัดค้าน ศาลสั่งอนุญาต และศาลนี้ได้ตรวจดูสำนวนเลขแดงที่ 178/2489 แล้วปรากฏว่า ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามพระราชบัญญัติภาษีการซื้อน้ำตาลมาตรา 26 ที่บัญญัติให้มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ ฉะนั้น จึงต้องเพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ 1 ใน 3 ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 72

ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยอื่นในฐานเป็นผู้สมรู้ด้วยจำเลยที่ 1 นั้น ความข้อนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยเหล่านี้ได้ปฏิบัติการให้จำเลยที่ 1 ในฐานะคนงานและผู้ช่วยภายในกิจการของจำเลยเท่านั้น ไม่แน่ชัดว่าจะล่วงรู้ในอุบายของจำเลยที่ 1 ตลอด จึงไม่เอาผิด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลนี้จะรื้อฟื้นขึ้นวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไม่ได้

อาศัยเหตุนี้ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนาย อัมรินทร์ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 304, 71 เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามมาตรา 72 แต่คำให้การของจำเลยมีประโยชน์ในการพิจารณาอยู่มากควรลดฐานปรานีให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 เป็นอันไม่ต้องเพิ่ม หรือลด ความอื่นนอกจากนี้คงพิพากษายืนยัน
ผู้พิพากษา

ธรรมบัณฑิต

จักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์

ดุลยกรณ์พิทารณ์   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us