|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2528
|
|
เรื่องเอกยุทธ อัญชันบุตร นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาหลายปีพอสมควร เมื่อครั้งสมัยแชร์ชาร์เตอร์นั้น ก็เป็นครั้งที่ทุกคนพากันงงงวยว่า คนชื่อเอกยุทธนั้นเริ่มต้นมาอย่างไร? และมีฤทธิ์เดชหรืออิทธิฤทธิ์ประการใดถึงสามารถหมุนเงินได้ถึงพันกว่าล้านบาทเพียงแค่อายุ 29 ปีเท่านั้น
เรื่องของเอกยุทธนั้นเป็นอีกบทเรียนหนึ่งให้เห็นช่องว่างของสังคมไทย ที่มี และชี้ให้เห็นความไม่มีจรรยาบรรณของคนไทย ทั้งผู้ใหญ่หัวหงอกและเด็กหัวดำๆ ในด้านธุรกิจ ตลอดจนความโลภของมนุษย์ซึ่งเป็นสันดาน และเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดเรื่องชาร์เตอร์ เลยไปถึงความไม่เอาถ่านของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย
เอกยุทธ อัญชันบุตร และสหายเป็นเพียงรูปธรรมหนึ่ง ในอีกมากมาย ที่เกิดขึ้นในยุคของสังคมที่มองไม่เห็นอนาคตของประเทศนี้
“ถ้าคนไทยยอมรับสภาพให้คนหนุ่มที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารเสียบ้างก็ดี...”
เอกยุทธ อัญชันบุตร ให้สัมภาษณ์นิตยสารไฮคลาส ฉบับเดือนธันวาคม 2527
29 ปี ถ้าเป็นต้นไม้ก็ต้องถือว่าอายุมากพอสมควร
ถ้าเป็นคนก็ต้องนับว่า น่าจะบวชเรียน มีครอบครัวได้แล้ว
แต่ถ้าเป็นการทำงานก็ต้องนับว่าวัยอยู่ในระหว่างการเริ่มต้น
สำหรับเอกยุทธ อัญชันบุตร นั้นในวัย 29 ปีก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยได้ให้โอกาสทำงานอย่างเต็มที่แล้ว
ในวัย 29 ปีของคนหนุ่มทั่วๆ ไปไม่ว่าจะมีการศึกษาสูงแค่ไหนก็ตามโอกาสที่จะได้จับเงินพันกว่าล้านบาทนั้นคงมีไม่กี่คน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินนั้นเป็นเงินของประชาชนทั้งหมด!
แต่เอกยุทธและสหายก็พลาดไปอีกเหมือนกับหลายๆ คนที่พลาดไปก่อนหน้านี้!
หรืออาจจะเป็นเพราะว่า เอกยุทธและสหายต่างก็รู้ว่าจุดจบของตัวเองจะต้องเป็นเช่นไรอยู่แล้ว แต่เรื่องข้างหน้าไม่สำคัญหรอก ขอเล่นไปก่อนก็แล้วกัน ถ้าพลาดก็พลาด ติดคุกไม่กี่ปีก็ออกมา
คนไทยเป็นคนลืมง่ายอยู่แล้ว ไม่กี่ปีหรอกเรื่องมันก็คงเงียบไป ถึงตอนนั้นขอให้มีเงินติดตัวเสียอย่าง เกียรติยศและศักดิ์ศรีมันก็เข้ามาเอง
เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่วัดค่านิยมกันที่ใครมีเงินเท่าไรอยู่แล้ว คุณงามความดีนั้นไม่มีใครเขาพูดกันหรอก
เรื่องของเอกยุทธ อัญชันบุตร และสหายกับประชาชนจึงเกิดขึ้น!
เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างความโลภกับความฉลาดเฉลียวในการโกงประชาชนของคนกลุ่มหนึ่ง
เมื่อสังคมมีคนโลภอยากได้ผลประโยชน์มากๆ สังคมนั้นมันก็ต้องมีคนที่คิดหาวิธีให้ผลประโยชน์โดยไม่ยอมรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น
เรื่องราวของเอกยุทธ อัญชันบุตร และสหายที่มาในนามของ “แชร์ชาร์เตอร์” จึงไม่ใช่ของใหม่ในสังคมไทยและก็คงจะไม่ใช่รายสุดท้ายเช่นกัน ตราบใดที่สังคมเรายังคงเป็นสังคมคนกินคนและสังคมที่เทิดทูนผลประโยชน์อยู่เหนือสิ่งอื่นใด
ทศวรรษนี้เป็นยุคที่สร้างคนหนุ่มหลายคนให้เกิดขึ้นในวงการธุรกิจระดับต่างๆ มากหน้าหลายตา ภาวะการครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตามดัชนีรายได้ของผู้ผลิตรายใหญ่ เป็นตัวกำหนดให้ผู้ที่ไร้สวัสดิการจากรัฐดิ้นรนเพื่อแสวงหาเสาหลักแห่งชีวิตของตนเองด้วยกำลังที่มีอยู่ทั้งหมด คนหนุ่มคนหนึ่งในวัยเพียง 29 ปีถีบทะยานตัวเองขึ้นมาอยู่บนผิววงการนักเล่นเงินระดับชาติได้ ด้วยความสามารถและโอกาสอันน่าทึ่งในสายตาของนักธุรกิจระดับอาวุโสอีกหลายคน เขาถูกเฝ้าจับตามองเส้นทางเดินที่นับวันก็โลดแล่นไปข้างหน้าบนโค้งถนนธุรกิจการเงินและโครงการระดับใหญ่ที่ใช้ระบบบริหารระดับชาติ พร้อมกับความฉงนฉงายในที่มาและโอกาสที่ผู้แข่งขันอีกหลายๆ คนพลาด
คำถามนั้นคือ “ขาเป็นใคร? ก้าวมาจากไหน?”
นิตยสารไฮคลาส ฉบับเดียวกัน
เอกยุทธ เป็นใครมาจากไหนนั้นเป็นเรื่องที่มีหลายกระแส แต่โดยสรุปจากหลายๆ แห่งแล้ว ตระกูลเอกยุทธเป็นคนชั้นกลางที่ไม่ได้มีมรดกตกทอดหรือเกี่ยวดองกับบรรดาเจ้าสัวใดๆ ทั้งสิ้น
พ่อของเอกยุทธหรือร้อยตรีแปลก อัญชันบุตร ซึ่งเอกยุทธเคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นทหารคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เอกยุทธจบแค่ ม.ศ.5 ธรรมดา แล้วก็ไปเรียนราม
จากการที่ตัวเองเป็นคนมีบุคลิกดีและเข้าผู้หลักผู้ใหญ่เก่งก็มีข่าวว่าได้เข้าไปสนิทสนมกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นนักการเมือง เช่น ประยูร สุรนิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชื่อพรรคชาติประชาธิปไตยของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เอกยุทธเคยอ้างว่าช่วงนั้นตัวเองเป็นเลขาคณะกรรมาธิการงบประมาณที่ประยูร สุรนิวงศ์ เป็นประธาน แต่ประยูรกลับพูดว่า “ผมเป็นเพื่อนกับพ่อเขา เขาไม่ได้ทำอะไรให้หรอกนอกจากเวลาขาดเงินก็มาขอที 300 บาท 500 บาท ผมก็ให้มันไป พอรู้ว่า ตอนหลังนี้หมุนเงินเป็นพันล้านบาทผมเองยังตกใจเลย” ประยูรพูดกับ “ผู้จัดการ” ที่สภาฯ เมื่อถูกถามถึงเรื่องเอกยุทธ
จากคำพูดของเอกยุทธเอง “ตอนปี 21-22 ผมไปเรียนบริหารธุรกิจต่อที่เนบราสกา ตอนไปมีเงินอยู่ 1,000 กว่าเหรียญ แต่ก็ทำงานหาเงินตลอด ทำทุกอย่างตั้งแต่ขายไอศกรีมจนถึงทำงานกับนักธุรกิจ เป็นการฝึกงานพวกบัญชี พอกลับเมืองไทยมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 100,000 บาท เจอเพื่อนทำงานเป็นลูกจ้างคอมมอดิตี้ ผมถามว่าทำไมไม่ทำเอง เขาก็ว่าทำยาก ผมเลยลองศึกษาอยู่ 2-3 เดือน ลองไปเป็นลูกค้า พอศึกษาดูก็เห็นว่าไม่ยาก จะลองเปิดดู เปิดครั้งแรกที่ธนาคารเอเชีย ชื่ออินเวสเตอร์ เป็นบริษัทที่ผมซื้อต่อเขามา 1 ล้าน เพราะกลุ่มบริหารเดิมเขาขัดแย้งกัน ผมลองเสี่ยงซื้อดู วันเจรจาซื้อผมไม่มีเงินเลยนะ ภายใน 7 วันจะต้องจ่าย 3 แสน ผมไม่รู้จะทำยังไงก็เลยจ่ายเช็คล่วงหน้า 7 วัน พอเข้าไปบริหารวันแรกก็เริ่มดึงคนรู้จักมาเป็นลูกค้า...”
แต่ในวงการยืนยันว่าเอกยุทธมาเริ่มทำงานเป็นพนักงานขายคอมมอดิตี้ให้กับบริษัทแฮลเบอรี่ และก็วนเวียนอยู่ในวงการคอมมอดิตี้ (อ่านล้อมกรอบ “เอกยุทธ เริ่มจากจุดนี้”)
ชะตาชีวิตในวงการคอมมอดิตี้ทำให้เอกยุทธได้เข้ามารู้จักมักจี่กับคนหนุ่มวัยไล่เลี่ยกันอีกสองคนในวงการคอมมอดิตี้
คนหนึ่งชื่อ อภิชาติ ศิริโชติบัณฑิต อายุ 26 ปี
อีกคนหนึ่งชื่อเสริมชีพ เจริญชน อายุ 26 ปี เช่นกัน
อภิชาตินั้นเป็นพ่อค้าขายเครื่องบินแต่พ่อมีหุ้นใหญ่ในกิจการคอมมอดิตี้แถวๆ โชคชัย ธุรกิจของตระกูลอภิชาตินั้น ทำพวกโรงงานอาหารสัตว์สยามโภคภัณฑ์แถวๆ บางแค พ่ออภิชาติเลยให้อภิชาติมาเป็นตัวแทนดูแล ส่วนเอกยุทธก็เข้ามาทำงานด้วย
เสริมชีพ เจริญชน บ้านอยู่แถวๆ ซอยปิยะวัตร สุขุมวิท 48 จบวิทยาลัยกรุงเทพ คร่ำหวอดอยู่ในวงการคอมมอดิตี้พอสมควร ก็เข้ามาร่วมด้วย
คนหนุ่มทั้งสามคนที่มีไหวพริบปฏิภาณสูง รวมทั้งคร่ำหวอดในวงการคอมมอดิตี้และมองเห็นว่าจุดอ่อนของคนคอมมอดิตี้คือ “ความโลภ” ประกอบกับวงการคอมมอดิตี้โดยเนื้อแท้แล้วก็ไม่ต่างกว่าการพนันเท่าใด
การล้มของคอมมอดิตี้โดยฝีมือของคนจีนในฮ่องกงที่เชิดเงินเป็นสิบๆ หรือร้อยๆ ล้านนั้นมันไม่ยากสำหรับคนหนุ่มสามคนนี้ที่จะมองเห็นหรอก เพียงแต่จังหวะมันไม่ให้และขาดบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้มันลงตัวเท่านั้นเอง
เพิ่มศักดิ์ จริตงาม อายุ 53 ปี บ้านในกรุงเทพฯ อยู่แถวๆ ซอยพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ ดินแดง
เพิ่มศักดิ์เป็นคนใต้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เขาเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมีเลือกตั้งใหม่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มศักดิ์สังกัดพรรคชาติประชาธิปไตยของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลงเลือกตั้งที่นครศรีธรรมราช แต่เพิ่มศักดิ์สอบตก
เผอิญเพิ่มศักดิ์ จริตงาม กับ ร.ต.แปลก อัญชันบุตร เป็นเพื่อนรักกันมาก่อน
เอกยุทธเรียกเพิ่มศักดิ์ว่า “อาเพิ่ม”
และจากสายสัมพันธ์ระหว่างหลานเอกยุทธกับอาเพิ่มนี่แหละก็คือประตูทางการเมืองที่เปิดให้เอกยุทธได้เดินเข้าไปหานักการเมืองหลายคน
อาเพิ่มเป็นคนพาเอกยุทธเข้าพบหัวหน้าพรรคการเมืองคนหนึ่งซึ่งเห็นแววการค้าของเอกยุทธ และเมื่อฟังความคิดเรื่องการตั้งบริษัทคอมมอดิตี้แล้ว ก็ให้การสนับสนุนโดยให้ลูกพรรคที่เป็นรัฐมนตรีว่าการคนหนึ่งให้เอาเงินแม่ชม้อยมา 10 ล้านบาทให้เอกยุทธยืมเพื่อเริ่มกิจการ (เงินก้อนนี้รัฐมนตรีผู้นั้นเป็นคนค้ำประกันและเอกยุทธก็ได้คืนเงินก้อนนั้นไปเรียบร้อยแล้ว)
และแล้วขบวนการสนองตัณหาคนโลภก็เริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 2526 นี้เอง
บริษัทชาร์เตอร์อินเวสเม้นท์ จำกัด ก็เปิดขึ้นอย่างโอ่อ่า โดยมีอดีตพลเอกนอกราชการเป็นประธานที่ปรึกษาซึ่งพิมพ์อยู่บนบัตรเชิญอย่างโก้หรู
ทุกคนที่อยู่ในระดับมังกรเหินฟ้าเข้ามาร่วมสำนักกันหมด ตั้งแต่เอกยุทธ อัญชันบุตร เพิ่มศักดิ์ จริตงาม อภิชาติ ศิริโชติบัณฑิต เสริมชีพ เจริญชน และอัครเดช อัญชันบุตร ผู้เป็นน้องชายเอกยุทธ
ขบวนการนี้แรกเริ่มเดิมทีได้มือค้าคอมมอดิตี้ตัวฉกาจในวงการเป็นผู้หญิงชื่อระพีพรรณ พรหมนิตย์ เข้ามาร่วมด้วยโดยให้เป็นกรรมการ (แต่ระพีพรรณ พรหมนิตย์ ลาออกจากกรรมการหลังจากที่ชาร์เตอร์อินเวสเม้นท์ ได้เปลี่ยนเข็มจากคอมมอดิตี้มาเล่นแชร์แทน)
สิบล้านบาทที่เป็นเงินยืมจากแม่ชม้อย โครงการค้ำประกันของรัฐมนตรีว่าการของพรรคการเมืองแห่งหนึ่งคือทุนจดทะเบียนที่ขบวนการมังกรเหินฟ้านี้เริ่ม โดยมีเอกยุทธ อัญชันบุตรเป็นผู้มีอำนาจในการเซ็นเช็คแต่ผู้เดียว
จะเป็นโชคของเอกยุทธ หรือเป็นกรรมของกนกวรรณ พุ่มสำเนียง หรือคุณนายแดงก็ไม่สามารถจะตัดสินได้ ที่ทั้งคู่เกิดถูกชะตากันอย่างมากๆ “คุณนายแดงเป็นลูกค้าเล่นคอมมอดิตี้รายใหญ่ของเอกยุทธมา 7- 8 ปีแล้ว สมัยเมื่อเอกยุทธยังเป็นเซลส์ขายคอมมอดิตี้ และเอกยุทธมักจะเรียกให้ทุกคนได้ยินว่า แม่แดง” คนเก่าแก่ในวงการ คอมมอดิตี้พูดให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
นอกจากนั้น แม่แดงของเอกยุทธยังเป็นหัวหน้าสายของแม่ชม้อยอีกด้วย!
แม่แดงเลยเป็นคนผันเงินลูกสายมาเล่นแชร์ชาร์เตอร์!
ตั้งแต่กลางปี 2526 เป็นต้นมาธุรกิจเงินทุนกำลังประสบภาวการณ์ซวดเซ แต่ธุรกิจเงินนอกระบบ เช่น ชม้อยหรือนกแก้ว กลับดีวันดีคืน
“จุดจุดหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างมันกู่ไม่กลับคือความแข็งแกร่งของชม้อย อาจจะเป็นเพราะว่า ประการแรก ประชาชนที่มีเงินเล่นแชร์ คิดว่าถ้าบริษัทเงินทุนล้มแต่ชม้อยไม่ล้ม ก็คงจะเชื่อได้ และประการต่อมาความลี้ลับซับซ้อนของแชร์ชม้อยทำให้คนคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่าชม้อยคงมีธุรกิจอภิสิทธิ์หลายอย่างที่ทำรายได้ให้ดีมากๆ จนสามารถจะให้ดอกเบี้ยสูงๆ” แหล่งข่าวในธนาคารชาติออกความเห็น
การประโคมข่าวของหนังสือพิมพ์ก็หาได้สั่นสะเทือนธุรกิจแชร์ไม่ จนในที่สุดมันเกือบจะเป็นความเชื่อมั่นไปโดยปริยายแล้วว่า เล่นแชร์ได้เงินดีกว่าและมั่นคงกว่าเอาเงินไปหาดอกหาผลจากระบบการเงินในระบบเสียอีก
จากเจตนาที่จะตั้งบริษัทมาเพื่อเล่นคอมมอดิตี้ ขบวนการมังกรเหินฟ้าชุดนี้เริ่มเห็นแล้วว่า ขุมทองมันมีอยู่มากกว่าคอมมอดิตี้ มันเพียงแต่รอให้เข้าไปขุดและการขุดก็ไม่ยากเย็นอะไรเพียงใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ผลประโยชน์” เข้าไปล่อเท่านั้นเอง
จากวันที่ขบวนการมังกรเหินฟ้าเห็นสัจธรรมระหว่าง “ผลประโยชน์” กับ “ความโลภ” เท่านั้น เงินตราต่างๆ ก็เข้าแถวเดินหน้าเข้าไปหาบริษัทชาร์เตอร์อินเวสเม้นท์อย่างชนิดที่เรียกว่า ก้มหน้านับเงินกันไม่ทัน
10 ล้านบาทที่เอามาจากชม้อยเมื่อไม่กี่เดือนมานั้นกลายเป็นเศษเงินที่คืนไปได้ทันทีอย่างไม่สะดุ้งสะเทือน
สำหรับคนหนุ่มๆ ในวัยไม่ถึง 30 อย่างเช่น เอกยุทธ อัญชันบุตร, เสริมชีพ เจริญชน, อภิชาติ ศิริโชติบัณฑิต, อัครเดช อัญชันบุตร และผู้ร่วมอีก 2-3 คน มันเป็นช่วงความสุขในชีวิตที่คนหนุ่มทุกคนใฝ่ฝันหา
จากที่เคยยืมเงินประยูร สุรนิวงศ์ ใช้ 300 บาท 500 บาทบ้าง เอกยุทธไม่รู้จักความลำบากอีกต่อไปแล้ว
รถพอร์ชคันละเป็นล้านๆ แล่นกันฉวัดเฉวียนโดยมีคนขับชื่อเอกยุทธ ชื่อเสริมชีพ ชื่ออภิชาติ
ขบวนการมังกรที่มีประชาชนที่โลภเข้ามาอุปถัมภ์พวกเขาได้ใช้เงินกันอย่างสนุกมือและสบายใจที่ไม่ใช่เงินของตัวเอง
ตามสถานที่โก้หรูจะเจอคนกลุ่มนี้ประกวดประชันกันด้วยรถสปอร์ตแรงม้าสูงที่วิ่งโฉบเฉี่ยวไปให้ผู้หญิงมองกันตาละห้อย ให้ไอ้หนุ่มทั้งหลายพากันอิจฉาตาร้อนว่าไอ้พวกนี้ทำบุญกันมาแต่ปางไหนถึงมีพ่อแม่รวยนักรวยหนา
ต้นปี 2527 ขณะที่วงการไฟแนนซ์กำลังวุ่นวายปั่นป่วนขนาดหนัก คนที่เคยใหญ่คับฟ้าก็ต้องมาล้มคว่ำอย่างไม่เข้าท่าก็หลายคน แต่ที่ชาร์เตอร์อินเตอร์เรคชั่น (เปลี่ยนจากชาร์เตอร์อินเวสเม้นท์เพราะธนาคารชาติห้ามบริษัทที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการเงินทุนเรียกตัวเองในชื่อต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและคำว่า “อินเวสเม้นท์” ก็อยู่ในข่ายนั้นด้วย ก็ต้องเปลี่ยนจากชาร์เตอร์อินเวสเม้นท์เป็นชาร์เตอร์อินเตอร์เรคชั่น)
แต่สำหรับวงการแชร์นั้นกลับเจริญงอกงามมีแต่คนเอาเงินเข้ามาลงทุนกันเป็นแถว
“คุณต้องเข้าใจว่าถึงปี 2527 แล้วถึงแม้รัฐบาลจะพยายามออกข่าวห้ามเล่นแชร์ตลอดจนหนังสือพิมพ์พยายามตีพวกนี้อย่างหนักก็ตาม แต่มันก็ไม่มีผลเลยแม้แต่น้อย เพราะดอกเบี้ยก็ยังจ่ายตามปกติและข่าวนี้มันสะพัดไปถึงต่างจังหวัดและลงไปถึงประชาชนทั่วไปเสียแล้ว” เจ้าหน้าที่ธนาคารชาติคนเดิมให้ความเห็นต่อไป
หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจบ้านเราในปีสองปีที่ผ่านมาเลวร้ายมาก ทำให้คนชั้นกลางมีรายได้ไม่พอจ่ายก็เลยต้องหาทางออกด้วยวิธีการเล่นแชร์ก็เป็นไปได้
ปริมาณเงินที่ลงในแชร์ต่างก็มีแต่จะเพิ่มพูน
สำหรับชาร์เตอร์แล้ว 2527 คือสวรรค์ในขุมนรกจริงๆ!
ที่เป็นสวรรค ์เพราะจากการที่ชม้อยให้ 6.5% แต่ชาร์เตอร์ให้ 9% ในตอนแรกทำให้สายชม้อยหลายสายเอาเงินมาลงชาร์เตอร์แล้วได้กำไรฟรีๆ ไป 2.5% บวกกับคอมมิชชั่นจากชาร์เตอร์อีก 0.5% ทำให้ได้ 3%
สำหรับบางสายที่รับมาครั้งละ 10 ล้านต่อเดือน ก็ย่อมหมายถึงเงินลอยมา 3 แสนบาทต่อเดือน ส่วนคนที่รับมามากกว่านั้นจะได้สักแค่ไหนก็ลองคำนวณเอาง่ายๆ ก็แล้วกัน
พีระมิดรูปเงินของชาร์เตอร์กำลังอยู่ในระดับกลางพีระมิด ที่เป็นรูปพีระมิดแต่ฐานอยู่ข้างบนและยอดแหลมพีระมิดอยู่ข้างล่าง
ในช่วงมีนาคม 2527 เป็นต้นไปเผอิญเป็นช่วงที่ชม้อยเองกำลังถูกทางการเพ่งเล็งหนัก จึงมีอยู่ระยะหนึ่งที่ชม้อยหยุดรับเงินชั่วคราวเพื่อเตรียมตัวยักย้ายถ่ายเทและจัดภายในให้รัดกุมเสียก่อน
และก็เป็นช่วงนี้เองแหละที่เงินเริ่มไหลเช้าชาร์เตอร์เหมือนทำนบเขื่อนกั้นน้ำแตกพังทลาย
เอกยุทธและสหายก็คงจะนึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้ามีเงินมากๆ อยู่ในมือขนาดนั้นแล้วจะทำอะไรดี
รถยนต์ราคาแพงๆ เอกยุทธก็มีแล้วตั้ง 34 คัน!
บ้านก็มีหลายหลัง
แฟนๆ ก็มีหลายคน
บางคนเอกยุทธทั้งให้เงินเลี้ยงไว้ ให้รถใช้เล่นหนึ่งคัน เช่น คนชื่อ ชลธิรัตน์ หรือน้องมดของเอกยุทธ ซึ่งพักอยู่แฟลตลิเบอร์ตี้ สุขุมวิท 22 ที่ทุกๆ วันตอนสายๆ เธอจะออกมาทำผมที่ร้านชื่ออรวรรณ แล้วบ่ายๆ เธอก็ฉุยฉายกรีดกรายอยู่บนรถบีเอ็มดับบลิว 316 สีขาว หมายเลขทะเบียน 4 จ-2776 ที่เอกยุทธเอาเงินประชาชนซื้อให้เธอ
หรือผู้หญิงสองคนที่คนหนึ่งชื่ออรวินทร์ และอีกคนหนึ่งชื่อศศิกาญจน์ ที่เอกยุทธออกบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรสให้เธอทั้งสองใช้กันอย่างสบอารมณ์เต็มที่ แล้วทุกเดือนเอกยุทธก็จะเซ็นเช็คซึ่งเป็นเงินของประชาชนจ่ายไป
เงินก็มีใช้ไม่หมด!
มันก็มีถึงคราวจะต้องลงทุนแล้ว
“ความจริงแล้วกุนซือจริงๆ ของเอกยุทธคือเพิ่มศักดิ์ จริตงาม ที่เป็นคนวางแผนให้มาตลอด แต่ตอนหลังนี้ก็เป็นอนุสรณ์ อัญชันบุตร” คนวงในชาร์เตอร์เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
อนุสรณ์ อัญชันบุตร คือลูกพี่ลูกน้องของเอกยุทธ ซึ่งว่ากันว่าครั้งหนึ่งอนุสรณ์เคยแจ้งความจับพ่อเอกยุทธในฐานเขียนเช็คไม่มีเงินให้จำนวน 20,000 (สองหมื่นบาท)
อนุสรณ์มาสนิทกับเอกยุทธในงานศพพ่อเอกยุทธ เมื่อสิงหาคม 2527
“เอกยุทธจะเซ็นเช็คไว้เป็นเล่มแล้วให้อนุสรณ์กรอกจำนวนเงินเพื่อเอาไปใช้จ่ายในด้านการซื้อทรัพย์สินเก็บเอาไว้ คนที่สบายขณะนี้คืออนุสรณ์ ตอนนี้หนีไปอยู่ออสเตรเลียแล้ว” คนวงในชาร์เตอร์เล่าต่อ
การลงทุนก็มองในแง่ของทรัพย์สิน
แต่ระยะเวลามันให้พิจารณามีไม่มาก อะไรที่ใกล้มือเอาเข้ามาก่อน ก็ต้องคว้าไว้ก่อน
ที่ดินชิ้นแรกที่เอกยุทธไปจับคือที่ดินแถวๆ อำเภอสารภี จังหวัดลำพูน ซึ่งเอกยุทธซื้อในราคา 11 ล้านบาท แต่ลงบัญชีว่า 22 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังมีเรื่องฟ้องร้องอยู่ โดยทำโครงการชื่อ สารภีวิลล่า
เอกยุทธเคยพูดถึงเรื่องที่แถวสารภีนี้ในหนังสือ ไฮคลาส ว่า
“ผมมีที่ดินริมดอย 30 ไร่ ประมาณ 100 ล้านบาท อยู่อำเภอสารภี ที่ทำเป็นสารภีวิลล่า 100 กว่าไร่ เกือบ 200 ล้านบาท..”
ต่อจากนั้นเอกยุทธ และที่ปรึกษาได้ทราบว่าบริษัทไทยเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งประมูลที่รถไฟตรงมักกะสันได้กำลังมีปัญหาเรื่องการเงินก็เลยเข้าไปซื้อหุ้นส่วนใหญ่โดยซื้อเงินสด 48 ล้านบาท ใช้ธนาคารกรุงเทพแถวสุขุมวิทค้ำอยู่ 18 ล้านบาท
“โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์นี้ความจริงเอกยุทธคิดว่าถ้าได้เงินนอกมาสนับสนุนเขาคงไปรอด และเขาตั้งใจจะเอากำไรโครงการนี้มาคืนเงินคนเล่นแชร์ ในที่สุด เขาก็จะมีเงินเป็นพันล้าน โดยตัวเองไม่มีอะไรมาเลย และทุกคนก็จะมีความสุขและเขาก็จะกลายเป็นวีรบุรุษไป” คนวงในชาร์เตอร์พยายามชี้ให้เห็นถึงความในใจจริงๆ ของ เอกยุทธ
ในขณะเดียวกันเอกยุทธก็เอาเงินไปซื้อที่แถวพัทยาตรงทางไปหาดจอมเทียน อยู่ใกล้โรงแรมเอเชียพัทยา โดยทำเป็นคอนโดมิเนียม ชื่อ พัทยาเพลซ คอนโดมิเนียม เป็นเนื้อที่ 10 กว่าไร่ และสร้างไปแล้ว 7 ชั้น
ทรัพย์สินชิ้นต่อไปที่เอกยุทธเอาเงินประชาชนไปซื้อคือบริษัท เร่งพัฒนาประกันภัย จำกัด โดยซื้อในราคา 105 ล้านบาท
“ความจริงเจ้าของเขาตั้งไว้ 105 ล้าน แต่ถ้าต่อสัก 85 ล้านเขาก็ขายแล้ว เอกยุทธไม่ต่อสักคำ” คนเก่าชาร์เตอร์พูด
ก็น่าจะต่อได้เพราะตัวตึกและที่ดินทั้งหมด 555 ตารางวา ราคาประมาณ 45 ล้านบาท ใบอนุญาตประมาณ 25 ล้านบาท ก็เป็น 70 ล้านบาท บริษัทเร่งพัฒนาประกันภัยนั้น เมื่อสิ้นปี 2526 ขาดทุนสุทธิประมาณ 2 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสมทั้งสิ้นเกือบ 6 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 94.43 บาท บริษัทนี้ถ้าขายในราคา 85 ล้านบาท ก็ยังนับว่าแพง เพราะเบี้ยประกันรับสุทธิในปี 2526 เพียงแค่ 10 ล้านบาทเท่านั้น แต่มูลค่าอาคารและที่ดินที่ลงบัญชีไว้เพียงประมาณ 22 ล้านบาทเท่านั้น ฉะนั้นการขายใน ราคา 85 ล้านบาทก็เรียกได้ว่าเจ้าของเดิมกำไรประมาณ 3 เท่าตัวได้
แต่ก็นั่นแหละสำหรับเอกยุทธแล้ว เงิน 105 ล้านบาท เขาสามารถหามันได้ในเวลาไม่ถึงเดือนเสียด้วยซ้ำ
และหลังจากมีเรื่องแชร์ชาร์เตอร์ ผู้บริหารของเร่งพัฒนาก็ออกมาบอกว่าพวกเอกยุทธไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้น สั่งปลดออกจากกรรมการหมด ซึ่งข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า คนทั้งหมดที่ถือหุ้นถ้าไม่ใช่ตระกูลของเอกยุทธแล้วก็เป็นคนถือแทนทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นเร่งพัฒนาประกันภัยคือบริษัทประกันภัยของประชาชนที่เอาเงินมาลงในชาร์เตอร์อย่างเต็มที่
ในช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2527 เป็นช่วงที่เงินเข้าชาร์เตอร์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 200-300 ล้านบาท
และก็เป็นช่วงนี้แหละที่เสริมชีพ เจริญชน เริ่มปลีกตัวออกห่างจากเอกยุทธ อัญชันบุตรและสหาย
“ที่เสริมชีพเริ่มแยกตัวออกไปนั้น เป็นเพราะว่าการแบ่งสันปันส่วนของกลุ่มเอกยุทธนั้นมาถึงเสริมชีพน้อยมาก ทั้งๆ ที่เสริมชีพเป็นคนทำงานให้เอกยุทธจริงๆ รวมทั้งการวางแผนในครั้งแรกสุด” คนเก่าชาร์เตอร์พูดต่อ
ในเมื่อมีชาร์เตอร์ได้ก็ต้องมีอันอื่นได้ ประชาชนไม่สนใจแล้วในตอนนั้นว่าจะเป็นชาร์เตอร์ ชม้อย นกแก้ว หรืออะไรก็ตาม ในช่วงนั้นชาร์เตอร์เริ่มลดดอกจาก 9% มาเป็น 8% และก็ 7% ในที่สุด
เสริมชีพก็ได้แยกตัวออกมาตั้งแต่บริษัทแชร์แห่งใหม่ชื่อเสริมกิจอินเตอร์ ซินดิเคชั่น โดยดึงเอาหัวหน้าสายชาร์เตอร์คนสำคัญคือคุณนายแดงหรือกนกวรรณ พุ่มสำเนียง เป็นคนหาเงินลูกสายมาให้ เสริมกิจอินเตอร์ซินดิเคชั่นก็เริ่มด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยมีเสริมชีพ เจริญชน เป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียว
และที่ตั้งของเสริมกิจฯ ก็อยู่ตึกเดียวกับชาร์เตอร์คืออาคารสยามธนาการ ซอยอโศก
หนึ่งในผู้ถือหุ้นของเสริมกิจฯ คือวรรณี หาญวารี ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนของเสริมชีพ ที่อดีตเคยเป็นประชาสัมพันธ์อยู่เดอะมอลล์ แล้วเสริมชีพไปพบเข้าก็ชวนไปทำงานโดยเริ่มเป็นเลขาของเอกยุทธ อัญชันบุตร และต่อมาก็มาอยู่กับเสริมชีพ
วรรณี หาญวารี ทำหน้าที่เป็นตัวแทนไปรับเงินจากลูกสายมาเข้าบัญชีเสริมกิจฯ อยู่เป็นจำนวนมาก
ในช่วงปลายปี 2527 เป็นช่วงที่เอกยุทธ อัญชันบุตร เพิ่มศักดิ์ จริตงาม อภิชาติ ศิริโชติบัณฑิต เสริมชีพ เจริญชน มันมือกับการเล่นเงินของประชาชนอย่างมากๆ โดยไม่มีใครสนใจเลยว่าจุดจบมันจะเป็นอย่างไร? เพราะมันเป็นสวรรค์ในนรกจริงๆ
และนรกนั้นมันก็ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว!
จากความเป็นหนุ่มทั้งกลุ่ม ยกเว้นเพิ่มศักดิ์ การลงทุนด้านการบันเทิงก็เป็นอีกหนึ่งที่กลุ่มนี้จับตามองเขม็งมานาน
ซุปเปอร์สเก็ตข้างๆ ปาป้าฯ ฝั่งธน ก็เกิดขึ้นโดยเช่าที่เดือนละ 50,000 บาท และลงทุนสร้างไป 7 ล้านบาท
นอกจากซุปเปอร์สเก็ตแล้ว ชาร์เตอร์ดิสโก้เธคก็เกิดขึ้นอีกแห่ง บนถนนรัชดาตรงแยก อ.ส.ม.ท. โดยกลุ่มเอกยุทธเช่าที่ของประวิทย์ รุจิรวงศ์ บนเนื้อที่ 6 ไร่ในราคา เดือนละ 180,000 บาท สัญญาเช่า 4 ปี และใช้เงินสร้างประมาณ 15 ล้านบาท
ส่วนใบอนุญาตนั้นก็ซื้อมาจากสตาร์ดัสท์ไนต์คลับ ในวงเงิน 2 ล้านบาท ในชื่อของสุเทพ ชมภูนุช คนสนิทของเอกยุทธ
ส่วนการบริหารนั้นก็ใช้ในนามของชาร์เตอร์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยผู้มีอำนาจต้องเซ็นร่วมกันสองในสามคนในระหว่างเอกยุทธ เพิ่มศักดิ์ และอภิชาติ
ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ดี สวรรค์นี้มันช่างสุขสมอารมณ์หมาย
เมื่อมีเงินเสียอย่าง ไม่สำคัญว่าเงินของใคร เวลาพูดจาอะไรมันก็น่ารักไปหมด แม้แต่หนังสือ ไฮคลาส ก็ยังอุตส่าห์เอาเอกยุทธมาตีแผ่ความยิ่งใหญ่ ถึงกับครั้งหนึ่งมีการอ้างว่าหนังสือ ไฮคลาส นั้นกลุ่มเอกยุทธเป็นคนไฟแนนซ์ให้ (แต่หุ้นสายเอกยุทธถูกปกรณ์ พงศ์วราภา ซื้อคืนไปหมดแล้ว)
ใน ไฮคลาส ฉบับเดือนธันวาคม 2527 ลงบทสัมภาษณ์เอกยุทธ อัญชันบุตร ในคอลัมน์ผู้ชายวันนี้ ซึ่งเป็นคอลัมน์มีเป้าหมายที่จะเผยแพร่บทบาทของนักธุรกิจรุ่นหนุ่มที่ประสบผลสำเร็จ คอลัมน์นี้จัดทำโดยคนของอุทัย วงศ์ไชยศยวรรณ เพื่อเชียร์เอกยุทธโดยเฉพาะ
(อุทัย วงศ์ไชยศยวรรณ เป็นคนเล่นคอมมอดิตี้คนหนึ่ง เคยเป็นหุ้นส่วนใหญ่ ของโรงหนังไดเร็คเตอร์ซึ่งขณะนั้นเป็นของสุระ จันทร์ศรีชวาลา กลายเป็นอาร์พีเอ็ม ดิสโก้เธค”
อุทัยอยู่ก๊วนเดียวกันกับเอกยุทธในการเล่นคอมมอดิตี้ โดยอุทัยมีบริษัทคอมมอดิตี้ชื่ออัพล็อตฟิวเจอร์เทรดดิ้ง
อุทัยเคยร่วมหุ้นกับปกรณ์ พงศ์วราภา เจ้าของหนังสือ หนุ่มสาว ออกหนังสือ ไฮคลาส)
และแล้วยมบาลในขุมนรกคงเห็นว่าพวกเอกยุทธเสวยสุขมานานพอสมควร ก็เลยเริ่มปรากฏตัวออกมาให้เห็นรางๆ
นั่นคือพระราชกำหนดบทลงโทษการเล่นแชร์
โดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลกำลังจับตาดูชม้อยและนกแก้วอย่างขะมักเขม้น
สำหรับชาร์เตอร์นั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ค่อยสนใจเท่าใด เพราะขนาดของมันเมื่อเทียบกับชม้อยและนกแก้วแล้วก็ยังเล็กกว่ากันมาก
แต่เวลานั้นเอกยุทธไม่เห็นแม้กระทั่งเงาของตัวเองเสียแล้ว!
บางทีการมีเงินในมือมากๆ ก็ทำให้คนเราคิดว่าตัวเองคือเจ้าแผ่นดิน
เอกยุทธก็เผอิญเป็นคนประเภทนั้นด้วย!
เอกยุทธก็เลยทำในสิ่งที่ขนาดพรรคการเมืองอย่างชาติไทยยังไม่กล้าทำ คือ การยื่นฟ้องเปรมและรัฐบาล!
เท่านั้นเองแหละ ขบวนการกินโต๊ะจีนก็เริ่มขึ้นทันที!
คำสั่งด่วนด้วยวาจาถูกถ่ายทอดลงมาตามลำดับชั้นว่าไก่ตัวแรกที่ต้องเชือดสังเวยพระราชกำหนดนี้ คือแชร์ชาร์เตอร์
จากการใช้อำนาจกฎหมายผ่านกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยมายังธนาคารพาณิชย์ ทำให้เอกยุทธเริ่มรู้แล้วว่าสวรรค์นั้นมันชักจะร้อนขึ้นทุกวันแล้ว
พระราชกำหนดนี้ทำให้วงแชร์ปั่นป่วนอย่างมากๆ เงินใหม่ที่จะเข้าก็หยุดชะงักรอดูเหตุการณ์ก่อน ส่วนเงินเก่านั้นก็ถึงคิวต้องจ่ายดอกเบี้ย เมื่อเงินใหม่ไม่เข้ามาแล้วเงินเก่าจะได้ดอกเบี้ยอย่างใดเล่า? และก็อย่างไม่มีใครนึกถึง เอกยุทธก็เลยเล่นบทขอมดำดิน ปล่อยให้วงแตก เมื่อตำรวจออกหมายจับฐานออกเช็คไม่มีเงินเจ็ดล้านกว่าบาท
เสริมชีพ เจริญชน กับวรรณี หาญวารี ก็คงรู้ชะตากรรมดีว่าหวยคงจะออกที่ตัวเองไม่ช้าก็เร็ว ก็หอบหิ้วกันไปไต้หวัน (ปัจจุบันทั้งคู่หลบอยู่ในเมืองไทยแล้ว)
อนุสรณ์ อัญชันบุตร ก็เกิดอยากไปเที่ยวออสเตรเลียขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่วัยก็ 40 กว่าปีไปแล้ว
มีก็อภิชาติ ศิริโชติบัณฑิต กับเพิ่มศักดิ์ จริตงาม ที่ยังนั่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชาร์เตอร์ดิสโก้เธคซึ่งให้รายได้วันละแสนกว่าบาทอย่างทองไม่รู้ร้อน
บรรดาสาธุชนที่โลภทั้งหลายก็เฝ้ารอว่าเมื่อไรเอกยุทธจะทำตนเป็นพระโพธิสัตว์ปรากฏตัวขึ้นมาปลดเปลื้องกรรมเสียที
ที่รอไม่ได้ก็หันไปพึ่งพากองปราบปรามสามยอด
แล้ววันหนึ่งในเดือนมีนาคม อภิชาติ ศิริโชติบัณฑิต ก็โดนจับข้อหาออกเช็คไม่มีเงิน แต่อภิชาติก็หาเงินมาคืนได้ ก็ถูกปล่อยตัวไป และแล้วอภิชาติก็เดินทางไปฮ่องกงทันที
ก็น่าจะเหลือแค่เพิ่มศักดิ์ จริตงาม แต่เพิ่มศักดิ์ก็ทำอะไรกับชาร์เตอร์ดิสโก้เธคตัวเงินตัวทองไม่ได้ เพราะต้องเซ็นชื่อ 2 คน ในที่สุดอภิชาติ ศิริโชติบัณฑิต ก็บินกลับมาอย่างเงียบๆ เพื่อเซ็นชื่อทำนิติกรรมกับเพิ่มศักดิ์ในต้นเดือนแมษายน เช้าของวันที่ 8 อภิชาติ ศิริโชติบัณฑิต กับเพิ่มศักดิ์ จริตงาม มาที่ชาร์เตอร์ดิสโก้เธคเพื่อดูแลกิจการ แต่คนที่มารอต้อนรับแทนที่จะเป็นพนักงานดิสโก้เช่นเคย กลับเป็น พ.ต.อ.อดิศร จันตนะพัฒน์ ผู้กำกับประจำกองปราบ ร.ต.อ.ฉัตรชัย สกุลพร หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจ และ ร.ต.อ.ประสาท ทรัพย์พิพัฒนา กับตำรวจกองปราบอีกจำนวนหนึ่ง รอต้อนรับพร้อมกับควบคุมตัวไปที่กองปราบ
1 ปีกับ 6 เดือนที่เอกยุทธ อัญชันบุตรและสหายได้เริ่มตั้งชาร์เตอร์ขึ้นมาด้วยเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินยืมจากชม้อยก่อนจะพบจุดจบ
18 เดือนที่ผ่านมาคนหนุ่มกลุ่มนี้ได้ใช้ชั้นเชิงและความสามารถหมุนเงินของชาวบ้าน (ที่ค่อนข้างจะโลภ) เอามาจับจ่ายใช้สอยอย่างมันมือ โดยออกมาในหลายรูปแบบ ตั้งแต่มีรถยนต์ 34 คัน จนถึงทรัพย์สินที่แอบซื้อเก็บไว้
ประวัติศาสตร์ทางการเงินบทนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจคนสองประเภท
ประเภทแรก คือ เจ้าที่รัฐที่มักจะทำอะไรงุ่มง่ามไม่ทันการณ์ จนกระทั่งทุกอย่างมันเริ่มสายไปเสียแล้วถึงจะเข้ามา หรือเพราะผู้หลักผู้ใหญ่ก็ร่วมด้วยแต่ยังไม่ได้เงินคืน ต้องรอให้ได้คืนครบเสียก่อนถึงค่อยฟาดฟันมันเข้าไป ซึ่งในที่สุดแล้วประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยมันก็มีบทพิสูจน์ว่าในตอนจบนั้นประชาชนระดับตัวเล็กๆ เท่านั้นแหละที่จะเป็นผู้รับเคราะห์ในทุกเรื่อง
ประเภทที่สอง คือการที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ทำแล้วรวยเร็วนอกจากของที่ไม่ชอบมาพากล และคำสอนของพระพุทธองค์ก็ยังคงเป็น สัจธรรมที่ว่า”ความโลภคือการนำไปสู่หายนะ”
ส่วนประการสุดท้ายนั้น “ผู้จัดการ” อยากจะฝากผู้บริหารประเทศชาติมองดูคนเล่นแชร์ออกเป็น 2 ประเภท
ประเภทแรก เล่นเพราะโลภอยากมีมากขึ้น ส่วนมากคนพวกนี้จะมีฐานะอยู่แล้วแต่อยากได้มากขึ้น การสูญเสียของคนพวกนี้ไม่น่าเสียดาย
ประเภทหลัง เป็นประชาชนชาวบ้านทั่วไปที่อาศัยดอกของวงแชร์มาช่วยให้ตัวเอง และครอบครัวผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้หาเท่าไรก็ไม่พอค่าใช้จ่ายประจำ
คนประเภทหลังนี้ต่างหากที่น่าสงสาร เพราะการเล่นแชร์ของคนประเภทหลังนี้ น่าจะบ่งบอกบทบาทของการส่งเสริมให้คนทำมาหากินให้ได้ดีของรัฐบาลชุดนี้ได้พอสมควรว่าล้มเหลวแค่ไหน และล้มเหลวประการใด
ส่วนเอกยุทธ อัญชันบุตร และสหายนั้นทั้งๆ ที่รู้ว่าผลมันต้องออกมาเป็นเช่นนี้ก็ยังทำ โทษทัณฑ์เช่นนี้มันน่าจะจับมายิงเป้าเสีย เพราะการฉ้อโกงประชาชนเช่นนี้มันเลวยิ่งกว่าเดรัจฉานสี่เท้าที่กินอาจมเสียอีก
“ผมถือหลักกล้าพูดกล้าทำกล้ารับผิดชอบเป็นจุดใหญ่ และอีกอย่างผมจะไม่โกงใคร คิดไว้ว่าถ้าโกงใครก็ขอให้ผมเจ๊ง...”
เอกยุทธ อัญชันบุตร หนังสือ ไฮคลาส ธันวาคม 2527
|
|
|
|
|