"ขุนคลัง" ลั่นนำทีพีไอออกจากรีแฮบโก และแผนฟื้นฟูฯ ภายใน 2 เดือนหลังเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นทีพีไอกับพันธมิตรร่วมทุนแล้ว พร้อมกำชับการกระจายหุ้นก่อนนำออกเทรดต้องโปร่งใส ห้ามมีรายชื่อแปลกปลอมมั่วเข้ามาซื้อเด็ดขาด ด้านผู้บริหารแผนฯ ระบุต้องแยกหุ้นทีพีไอโพลีนออกขายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านเหรียญภายใน 2 เดือน ขณะที่แบงก์กรุงเทพเตรียมขอ ธปท.ปรับหนี้ทีพีไอเป็นหนี้ดีเร็วๆ นี้ ส่วน "ประชัย" กร้าวพันธมิตรคลังท้าทายอำนาจศาล ระบุศาลยังไม่มีคำสั่งระวังสัญญาเป็นโมฆะ
วานนี้ (1 มิ.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ระหว่างพันธมิตรร่วมทุนหลัก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ธนาคารออมสิน กองทุนรวมวายุภักษ์1 และกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่จะทำหน้าที่กระจายหุ้นต่อให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้
นายสมคิด กล่าวว่า คลังจะดำเนินการตามแผนฯ ให้เร็วที่สุด โดยจะนำทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูฯ และออกออกหุ้นหมวดรีแฮบโกให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังจากนี้ พร้อมกับกำชับผู้บริหารแผนฯ ว่า ในกระบวนการกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมนั้นต้องโปร่งใส ห้ามมีรายชื่อบุคคลอื่นเข้ามาปะปนเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นผู้บริหารแผนฯจะต้องรับผิดชอบ
"ในขั้นตอนการกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมจะต้องชัดเจนโปร่งใส ผมกำชับผู้บริหารแผนว่า ต้องไม่มีชื่อรายอื่นโผล่มาแม้แต่รายเดียว ณ วันนี้มีคนที่ต้องการลงทุนในหุ้นทีพีไอมาก ถ้าเป็นบริษัทลงทุนให้ปฏิเสธแล้วบอกว่า จะรับไว้พิจารณาในโอกาสต่อไป แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็ให้รอซื้อขายในตลาดฯ ไม่ใช่ใครขอเข้ามาก็หยวนๆ ให้ เพราะนี่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี และเป็นเรื่องที่เราต้องเดินตามแผน คลังและพันธมิตรร่วมทุนซึ่งถือหุ้นรวมกว่า 60% จะไม่นำออกขาย จนกว่าจะมั่นใจว่าทีพีไอแข็งแกร่งและไปได้ดีแล้ว" นายสมคิดกล่าว
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดสรรหุ้นทีพีไอให้กับพันธมิตรร่วมทุน กล่าวว่า หุ้นส่วนทุนทั้งหมดที่ทำสัญญาซื้อขายในวันนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 17,550 ล้านหุ้น คิดเป็น 90% ของทุนจดทะเบียนของทีพีไอ แยกเป็นหุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวน 11,651 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมของเจ้าหนี้จำนวน 5,899 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้จัดสรรการกระจายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้ร่วมลงทุนหลักเป็นจำนวน 61.5% ประกอบด้วย ปตท. 31.5% ธนาคารออมสิน 10% กบข.10% และกองทุนรวมวายุภักษ์1 10% พร้อมกับจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม 20% และเจ้าหนี้ 8.5% โดยราคาซื้อขายหุ้นได้มีการตกลงราคาไว้ที่ราคาหุ้นละ 3.30 บาท ซึ่งจะทำให้ ทีพีไอ มีรายรับจากการขายหุ้นในครั้งนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 57,915 ล้านบาท หรือประมาณ 1,448 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าจำนวนเงินที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 650 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อรวมกับจำนวนหนี้ที่จะลดลงอีกไม่น้อยกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากการขายหุ้นทีพีไอโพลีน จำนวน 249 ล้านหุ้นที่บริษัท ทีพีไอ ถืออยู่ จะส่งผลให้หนี้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงินของ ทีพีไอ ลดลงจากปัจจุบันที่มีประมาณ 2,650 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียงประมาณ 950 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ ทีพีไอ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งทัดเทียมกับบริษัทชั้นนำอื่นๆ ของไทย และจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
"มูลค่าหุ้นทีพีไอที่ขายได้ 1,448 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสูงกว่าที่กำหนดในแผนฟื้นฟูฯ ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 650 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นกระทรวงการคลังจะขอสงวนสิทธิ์ในการขายหุ้นในส่วนของทีพีไอโพลีน แต่จะให้ผู้บริหารแผนฯเป็นผู้ดำเนินการ" นายศุภรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ เจ้าหนี้จะได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 8.5% โดยมีกำหนดระยะเวลาห้ามขาย 2 ปี เช่นเดียวกับผู้ร่วมลงทุนหลักรายอื่น ส่วนประโยชน์ที่จะมีต่อพนักงานนั้น นอกจากจะมีความมั่นคงในการทำงานแล้ว ตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการจะมีการเพิ่มทุนอีกจำนวน 975 ล้านหุ้น เพื่อรองรับโครงการออกหลักทรัพย์ให้แก่พนักงาน (ESOP) ซึ่งจะทำให้พนักงานมีความผูกพันและมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของกิจการด้วยกัน
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ กล่าวว่า คลังได้สั่งการให้ผู้บริการแผนฯ ดำเนินการขายหุ้นทีพีไอโพลีน จำนวน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาที่ปรึกษาเพื่อจำหน่ายหุ้นทีพีไอโพลีน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จเรียบร้อยได้ทั้งหมดภายใน 2 เดือนจากนี้ และหลังจากหาที่ปรึกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเปิดให้ผู้ที่สนใจที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวเสนอมา ส่วนจะเป็นการขายให้นักลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศนั้นจะต้องมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตามเงื่อนไขของแผนที่กำหนดไว้ในการขายหุ้นทีพีไอโพลีนให้กับนักลงทุนหากขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ หากไม่ได้จะต้องขายคืนให้กับเจ้าหนี้แทน
ด้านนายสุวรรณ แทนสถิตย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เร็วนี้ๆ ธนาคารจะขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับชั้นหนี้ทีพีไอ ที่ปัจจุบันเป็นหนี้ปรับชั้นสงสัยให้มาเป็นหนี้ปกติของธนาคาร ซึ่งเชื่อว่าภายหลัง 30 มิถุนายน 2548 นี้ หนี้ของทีพีไอจะกลับมาหนี้ปกติของธนาคาร และหลังการปรับชั้นเป็นหนี้ปกติแล้วหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารก็จะลดลง 27,000 ล้านบาท จากหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารที่มี ณ ปี 47 จำนวน 160,000 ล้านบาท และในปีนี้ธนาคารมีเป้าหมายที่จะลดหนี้เอ็นพีแอลที่ปัจจุบันมีประมาณ 16% ของหนี้ทั้งหมดให้เหลือต่ำกว่า 10%
"เชื่อว่าแบงก์ชาติน่าจะพิจารณาปรับหนี้เอ็นพีแอลของทีพีไอ ให้กลับมาเป็นหนี้ปกติได้ภายในไตรมาส 2 นี้ ซึ่งก็จะทำให้หนี้เอ็นพีแอลของธนาคารลดลงได้ และในสิ้นปีนี้ธนาคารมีเป้าหมายจะปรับลดหนี้เอ็นพีแอลให้เหลือต่ำกว่า 10% ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ธนาคารก็พยายามจะทำ" นายสุวรรณกล่าว
"ประชัย" กร้าวคลังท้าทายอำนาจศาล
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) เปิดเผยว่า การที่บริษัทปตท.,กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), ธนาคารออมสินได้เซ็นสัญญาที่จะเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัททีพีไอวานนี้ (1 มิ.ย.) นั้น ถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจของศาล เพราะเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ผู้ค้ำประกันให้นำเงินมาวางจำนวน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการหาเงินเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งในระหว่างนี้จะห้ามไม่ให้มีการขายหุ้น และถ้าผู้ค้ำประกันสามารถดำเนินการหาเงินได้ในระยะเวลาดังกล่าวก็จะถือว่าการเซ็นสัญญาดังกล่าวจะเป็นโมฆะซึ่งขั้นตอนหลัง
ทั้งนี้ ภายใน1-2 วันนี้กลุ่มผู้ร่วมทุน ซิติก กรุ๊ป จะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลและสถานะกิจการ (Due Diligence) ขณะนี้ส่งเจ้าหน้าที่มาล่วงหน้าแล้วประมาณ 4-5 คน
"ถ้าสามารถนำเงิน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาได้ภายใน 90 วัน ถึงแม้ทางกลุ่มปตท.,กบข., ธนาคารออมสินจะมีการโอนหุ้นก็จะถือเป็นโมฆะ แต่ถ้าเกินระยะเวลา 90 วันไปแล้วผู้ค้ำประกันไม่สามารถนำเงินมาวางที่ศาลได้ ทางกลุ่มที่จะเข้ามาซื้อหุ้นก็สามารถดำเนินการได้เลย" นายประชัยกล่าว
ซิติก กรุ๊ป จะเข้ามาลงทุนจำนวน 900 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะปล่อยกู้อีก 1,800 ล้านเหรีญสหรัฐให้แก่บริษัททีพีไอเพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งจะทำ ให้ซิติก กรุ๊ปเข้ามาถือหุ้น 70% ส่วนหุ้นอีก 5% นั้นจะขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วนการถือหุ้นจะเพิ่มจาก 25% เป็น 30% โดยทางซิติก กรุ๊ป จะส่งคนเข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการของบริษัทเท่านั้น ส่วนในแง่ของการบริหารก็จะเป็นทีมผู้บริหารเดิมต่อไป โดยเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่เจ้าหน้าที่จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมด โดยไม่ต้องสำรองหนี้สูญ ในส่วนของลูกหนี้ก็จะได้บริษัทคืน
"ผมไม่เข้าใจว่าเราจะซื้อหุ้นในราคา 5.50 บาท ทำไมถึงไม่ให้ แต่กลับไปให้พันธมิตรใหม่ที่ระดับราคาหุ้นละ 3.30 บาท และทำไมต้องเป็นปตท." นายประชัยกล่าว
นายประชัยกล่าวต่ออีกว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้บริหารแผนซึ่งประกอบด้วยพลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์, นายพละ สุขเวช,นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา, นายทนง พิทยะ,นายอารีย์ วงศ์อารยะ เพื่อเป็นการเตือนสติว่า ถ้ายังดันทุรังที่จะดำเนินการขายหุ้นอีกและก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสำเร็จในการดำเนินการชำระหนี้ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบ และมองว่าเมื่อมีการเตือนสติแล้ว แต่ยังมีเจตนากระทำก็ถือว่าจงใจที่จะทุจริต
|