|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“วายุภักษ์” ไม่มั่นใจสั่งมือกฎหมายเช็คผลกระทบหลังศาลสั่ง “ประชัย-ทุนจีน” หาเงินฟื้นทีพีไอมาแสดง อดีตอธิบดีศาลล้มละลายกลางชี้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิปฎิเสธลูกหนี้ เตือนผู้บริหารแผนอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบกับประชัยภายหลัง ขณะที่กมธ.ปกครองวุฒิฯ ร่อนหนังสือเบรกคลังขายหุ้นทีพีไอ ติงควรรอศาลชี้ขาด ระบุหากไม่รอส่อเจตนาฮุบทีพีไอชัด ด้าน “สมคิด” ยันสิทธิโดยชอบธรรม เดินหน้าเซ็นเอ็มโอยู 1 มิ.ย. ต่อ ตราบใดที่ศาลไม่มีคำสั่งยกเลิกให้คลังเป็นผู้บริหารแผน
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี ในฐานะผู้บริหารกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 กล่าวถึงกรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมและหรือผู้ค้ำประกันภาระหนี้ของลูกหนี้และบริษัทในเครือของลูกหนี้ทั้งหมด 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 1.08 แสนล้านบาท เพื่อขอชำระหนี้ดังกล่าวโดยมีกลุ่มซีติกกรุ๊ป (China International Trust and Investment Corp :Citic) จากจีนเป็นพันธมิตรว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาทางกฎหมายศึกษารายละเอียดว่าจะกระทบต่อการลงนามในข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ของกองทุนวายุภักษ์หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากองทุนวายุภักษ์ยังคงจะมีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับพันธมิตรในวันที่ 1 มิถุนายนต่อไป เพราะแม้ศาลจะมีคำสั่งออกมาให้นายประชัยสามารถวางเงินที่ศาลได้ แต่กว่าที่เม็ดเงินจะเข้ามาวางในศาลต้องใช้เวลาพอสมควร
“เรากำลังศึกษารายละเอียดเพื่อให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เพราะการเข้าลงทุนในทีพีไอของกองทุนวายุภักษ์ มีนโยบายคล้ายลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไป และมีความสมเหตุสมผลในการลงทุน”
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์ มีมติเห็นชอบเข้าลงทุนในทีพีไอในสัดส่วนที่กระทรวงการคลังให้สิทธิไม่เกิน 10% ของหุ้นที่จัดสรรใหม่ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท
ในวันพุธที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ กระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทปตท. พร้อมพันธมิตร ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนวายุภักษ์ และธนาคารออมสิน แต่หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้นายประชัยและพันธมิตรใหม่จากจีนนำเงินมาวางเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวก็เกิดข้อสงสัยกันว่า จะส่งผลต่อแผนฟื้นฟูฯทีพีไอหรือไม่
**ชี้เจ้าหนี้ไม่สิทธิปฎิเสธลูกหนี้
นายพิชัย นิลทองคำ ผู้พิพากษาศาลอุธรณ์และอดีตอธิบดีศาลล้มละลายกลาง กล่าวว่า กรณีหากนายประชัยนำเงินมาวางไว้ที่ศาลเพื่อชำระหนี้จำนวน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าว ตามกฎหมายแพ่งและพานิชย์ระบุ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะปฎิเสธการชำะหนี้ โดยเจ้าหนี้จะต้องรับเงินดังกล่าวซึ่งหากไม่รับจะมีความผิดตามกฎหมาย
ดังนั้นหากคลังยืนยันที่จะขายหุ้นให้พันธมิตรในวันที่ 1 มิ.ย. แล้วนายประชัยสามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระได้ในเวลาที่กำหนดไว้คือ 3 เดือน คลังในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ อาจจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ร่วมทุนรายใหม่ เจ้าหนี้ และลูกหนี้ได้ อาทิ บริษัทปตท. ซึ่งความเห็นส่วนตัว กระทรวงการคลังน่าจะชะลอเวลาการเซ็นสัญญาการขายให้พันธมิตรออกไปก่อนจนกว่าจะครบกำหนดที่นายประชัยยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง
"หากทีพีไอนำเงินมาวางไว้ที่ศาล เจ้าหนี้ต้องรับหากไม่รับถือว่าผิด เมื่อวางเงินไว้ที่ศาลแล้วถือว่าจบทีพีไอก็ออกจากศาลได้ และถ้าผู้บริหารแผนยืนยันที่จะทำงานต่อก็จะถือว่ามีความผิด"
**สว.ติงคลังควรรอศาล
นายคำนวณ เหมาะประสิทธิ์ ส.ว. อุตรดิตถ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา แถลงว่า ที่ประชุมกรรมาธิการมีมติให้ทำหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ระงับการทำสัญญาซื้อขายหุ้นทีพีไอ ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ไว้ก่อน เนื่องจากนายประชัยกับพวก 6 คน ได้ทำหนังสือถึงคลังเพื่อขอซื้อหุ้นคืนทั้งหมดในราคาหุ้นละ 5.50 บาท แต่กระทรวงการคลังได้เร่งตกลงขายหุ้นให้กับปตท. กบข. กองทุนวายภักษ์ 1 และธนาคารออมสินในราคาหุ้น 3.30 บาท ซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นว่าควรรอให้ศาลล้มละลายกลางสั่งว่านายประชัยและพวก สามารถนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ได้หรือไม่ หากศาลมีคำสั่งให้นายประชัยวางเงินชำระหนี้ได้ หุ้นทีพีไอก็จะตกเป็นของผู้ถือหุ้นเดิม
นายบุญเลิศ ไพรินทร์ ส.ว. ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การกระทำของผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอ ถือว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มผู้บริหารลูกหนี้ เพราะคลังไม่คิดจะเข้ามาช่วยบริษัทฯ จริง แต่ต้องการที่จะเข้ามาฮุบทีพีไอซึ่งมีข้อสงสัยว่ารัฐต้องการขายรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ตลาดหุ้น แต่ทำไมในกรณีของบริษัทเอกชนถึงให้กองทุนของรัฐเข้าไปฮุบและกวาดซื้อหุ้นไป
**สมคิดยันเดินหน้าเซ็นMOU
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ จะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยจะเดินไปตามแผนที่ได้วางไว้เพราะที่ผ่านมาศาลล้มละลายกลางเป็นผู้แต่งตั้งให้คลังเป็นผู้เข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทีพีไอเดินหน้าไปได้ โดยได้แต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว ดังนั้นไม่ว่านายประชัยจะเคลื่อนไหวอย่างไร คลังก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป
ทั้งนี้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ การเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุนจะไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เข้ามาเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องเลื่อนออกไปอีก ซึ่งคลังจะไม่ทำเรื่องร้องเรียนต่อศาลล้มละลายกลางในฐานะผู้บริหารแผน เพราะเชื่อว่าศาลมีดุลพินิจในการตัดสินเรื่องทุกอย่างได้เป็นอย่างดี และคลังเองไม่มีหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายการพิจารณาของศาล ซึ่ง ณ ขณะนี้ศาลยังไม่มีคำตัดสินกรณีที่นายประชัยจะนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้ ตามแผนการดึงพันธมิตรจีนเข้ามาร่วมทุนแต่อย่างใด
“ขณะนี้มีคนสนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนเข้ามาหลายราย มี 4-5 รายที่ติดต่อเข้ามา แต่เรามองว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาดูเรื่องเงิน แต่ต้องดูว่าทำอย่างไรให้ทีพีไอแข็งแรง ไม่ย้อนกลับไปสู่อดีตอีก ซึ่งผมไม่ได้มีความกังวลใดๆโดยผมคิดว่าศาลคงมีดำริของเขาเอง เราไม่ล่วงเกิน แต่เราก็จะไม่หยุดรอการวินิจฉัยใด และก็เชื่อว่าจะไม่มีอะไรเข้ามาสะดุด” นายสมคิดกล่าว
ด้าน นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนทีพีไอ กล่าวว่า คลังยังคงเดินหน้าที่จะลงนามสัญญาหุ้นทีพีไอให้กับพันธมิตร ซึ่งระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ โดยมีการกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ขั้นต่ำอย่างน้อย 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในวันที่ 4 พ.ย. 2548 ซึ่งการทำสัญญาครั้งนี้ถือเป็นหน้าที่ต้องปฎิบัติ ส่วนนายประชัยในฐานะผู้ค้ำประกันได้ยืนคำร้องต่อศาลเพื่อจะขอชำระหนี้เป็นเรี่องที่ศาลจะต้องพิจารณา ตนเห็นว่าต่างคนต่างมีภาระที่จะต้องทำตามหน้าที่
การที่กระทรวงการคลังจะทำการขายหุ้นให้พันธมิตรในราคา 3.30 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาบุ๊คเวลูในไตรมาส1/48 อยู่ที่ 2.88 บาท ซึ่งราคาเสนอขายสูงกว่าราคาบุคเวลู ขณะเดียวบริษัทปตท.และพันธมิตรรายอื่นยังมีภาระหนี้ที่ต้องอยู่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นกรณีที่มีการกล่าวหาว่าขายหุ้นในราคาถูก ก็ต้องขึ้นอยู่ที่การวินิจฉัยของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารทีพีไอ ก็เป็นการริเริ่มจากศาล ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกและลูกหนี้ก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเสนอ ทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารแผนอย่างมาก โดยจะต้องวางตัวเป็นกลางทำให้บางครั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เกิดความไม่พอใจ จนเกิดการฟ้องร้องตามมา
**หุ้นทีพีไอเก็งกำไรสนั่น
ประเด็นการเคลื่อนไหวของทีพีไอ กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นทีพีไอมีแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างหนาแน่ตลอดการซื้อขายวานนี้ท่ามกลางภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบด้วยมูลค่าการซื้อขายที่เบาบาง 8.93 พันล้านบาท โดยดัชนีปิดที่ระดับ 668.20 จุด เพิ่มขึ้น 4.72 จุด หรือ 0.71% แต่มูลค่าการซื้อขายเกือบ 20% กระจุกอยู่ในหุ้น TPI
ทั้งนี้ หุ้น TPI ปิดที่ 14 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 0.71% โดยระหว่างวันราคาสูงสุดอยู่ที่ 14.30 บาท และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 13.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1.59 พันล้านบาท มูลค่าการซื้อขายสูงสุดอันดับ 1 โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากโบรกเกอร์หลายแห่งไม่ยอมที่จะแสดงความเห็นใด ๆ กับความเคลื่อนไหวของหุ้น TPI
|
|
|
|
|