Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2537
เพลงสุดท้ายของแกรมมี่             
 

   
related stories

ไพบูลย์ ผู้โดดเดี่ยว
บริษัทในเครือแกรมมี่ กรุ๊ป
GMM Grammy : The Idol Maker

   
www resources

โฮมเพจ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

   
search resources

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, บมจ.
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
Musics




10 ปีก่อน แกรมมี่สร้างประวัติศาสตร์วงการเพลง ด้วยการเปลี่ยนแนวดนตรีพร้อมเสนอเนื้อหาสาระไปในเพลง เปลี่ยนกลอนแปดเป็นกลอนเปล่า เปลี่ยนหูคนฟังที่เริ่มยอมรับดนตรีแนวตะวันตกมากขึ้น เปลี่ยนการจัดจำหน่ายโดยใช้ระบบตลาดที่เป็นมาตรฐานเข้ามาช่วย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้รับการยกย่องจากคนในวงการว่า เป็นผู้ปฏิวัติวงการเพลง ปีที่ 11 กำลังจะมาถึง แกรมมี่กำลังจะเปลี่ยนแปลงอีกเช่นกัน ทว่าในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจาก 10 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิงนั่นคือ เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่วงการเพลง นั่นเพราะแกรมมี่หมดน้ำยา… จริงหรือ?

"ใครไม่เกี่ยวก็ถอยไป" สิ้นเสียงเพลงของขจรศักดิ์ รัตนนิสัย ศิลปินใหม่ล่าสุดของแกรมมี่ที่ออกแสดงคอนเสิร์ตในอัลบัมชุด "สงวนลิขสิทธิ์" เมื่อก่อนสิ้นปี 36 ที่ลานโลกดนตรีช่อง 7 สี น่าจะเรียกเสียงกรี๊ดจากผู้ฟังสนั่นลั่นเวที เหมือนเช่นศิลปินคนอื่นๆ ในค่ายเดียวกันได้ ทว่าวันนั้นมีเสียงกรี๊ดเล็กๆ จากสาวๆ ที่เกาะหน้าเวทีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น นอกจากนี้คิวคอนเสิร์ตต่างจังหวัดที่คาดว่าจะมีการจองเข้ามาอย่างเนืองแน่น ในฐานะศิลปินใหม่สไตล์วัยรุ่นก็กลับไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่คาดคิด หรืออัลบัมของวสุ แสงสิงแก้วในชื่อ "จิ๊บกับนายวสุ" ก็ไม่เป็นที่ฮือฮา เมื่อเทียบกับศิลปินหน้าใหม่ของค่ายอาร์เอส เช่น "บอยสเก๊าต์" หรือ เต๋า เข็มกลัด" โดยเฉพาะบอยสเก๊าต์ ยอดขายอัลบัมชุดแรกพุ่งเกือบล้านตลับในขณะที่ขจรศักดิ์ กับจิ๊บวสุกลับเป็นพลุด้าน

คำถามจึงมีอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้น?

อัลบัมชุดซน 1 และซน 2 เป็นแคมเปญพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีแกรมมี่นั้น ว่ากันว่าไม่ค่อยเป็นที่ประทับใจบรรดาแฟนเพลงสมกับที่ตั้งใจคอย ส่วนคริสติน่า อากีลาร์ ออกอัลบัมใหม่ชุด "รหัสร้อน" โชว์ทำนอง DANCE MUSIC ซึ่งเป็นจังหวะเต้นรำใหม่ที่เริ่มได้รับความนิยมกันมากโดยเฉพาะในหมู่แขก ก็ดูเหมือนจะเป็นการรีบร้อนออกเพื่อไล่กวดตลาดให้ทัน เหตุเพราะกลัวค่ายอื่นๆ ชิงตลาดไปหมดในทำนองที่คล้ายๆ กัน …ใช่หรือไม่?

จะว่าไปแล้วทำนองเพลงชุดใหม่ของคริสติน่านี้ คล้ายเหมือนอัลบัมชุดเมกาแด๊นซ์ของค่ายนิธิทัศน์ ซึ่งมีดอน สอนระเบียบ ก้อย และกุ้ง ตวงสิทธิ์เป็นผู้ร้อง และหากจะค้นไปหาต้นตอของการแพร่ระบาดแนวดนตรีทำนองนี้ ซึ่งกำลังเร่าร้อนและฮิตสุดขีด กลับพบว่ามีต้นตอมาจากค่าย "ออนป้า" ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยมีค่ายสมาร์ทบอมบ์นำแนวดนตรีนี้มาทำก่อนในอัลบัมของอัญมณี จนได้รับการตอบสนองจากผู้ฟังเท่าที่ควร ซึ่งหากจะกล่าวว่าทำนองเหล่านี้ล้วนลอกเลียนแบบมาจากเพลง BROKEN HEART WOMEN หรือ CAN'I HELP FALLING IN LOVE อย่างไม่มีผิดเพี้ยน ก็ไม่น่าจะผิดไปจากความเป็นจริง

คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ยอดขายของอัลบัมชุดซน อันเป็นแคมเปญพิเศษนี้ทางแกรมมี่คาดการณ์ว่า จะได้รับความนิยมจากตลาดอย่างมากมาย มีการตั้งเป้าหมายเอาไว้สูง แต่ผลที่ออกมายอดขายไปได้เพียงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายเท่านั้น หมายความว่าอัลบัมชุดซนซึ่งเป็นทีเด็ดครบรอบ 10 ปียังไปไม่ถึงดวงดาว แล้วอัลบัมชุดอื่นๆ จะเป็นเช่นไร

"อัลบัมหลายชุดของแกรมมี่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังถึงยุคเสื่อมสลาย หรือจุดอับแสงเข้าทุกที อัสนี-วสันต์ชุดล่าสุดขายไม่ออก เพลงไม่ติดหู แอมพอไปได้ ไมเคิล หว่อง เคลื่อนไหวช่วงแรกแล้วก็หยุด ใหม่กับเจเป็นตัวเด่น ยอดขายเดินเรื่อยๆ ศรัณย่าได้นิดหน่อย ส่วนขจรศักดิ์กับจิ๊บวสุไม่ต้องพูดถึง ไม่มีการถามหา ตกม้าตายไปตั้งแต่เริ่มออกแล้ว ซึ่งการดูว่าอัลบัมแต่ละชุดจะขายได้หรือไม่นั้น ประมาณ 1 เดือนหลังจากวางตลาดและโปรโมทอย่างหนักมาแล้ว ก็จะรู้ผลทันที" แหล่งข่าวในวงการเทปรายใหญ่คนหนึ่ง แสดงทรรศนะถึงความเคลื่อนไหวของสินค้าเทปค่ายแกรมมี่

การเติบโตของแกรมมี่มีวัฏจักรเหมือนอโซน่าในอดีตที่ดังสุดขีดเป็นขาใหญ่ของวงการ แต่อโซน่าก็ดังอยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดก็ดับลง โดยมีค่ายนิธิทัศน์เข้ามาดับรัศมีความยิ่งใหญ่ของอโซน่าได้สำเร็จ สามารถลบชื่ออโซน่าให้ตกไปจากเวทีอันดับ 1 ได้ นิธิทัศน์ครองบัลลังก์เวทีแชมป์หลายสมัยเอาชนะใจคนฟังได้ยาวนานพอสมควร จนกระทั่งในปี 2531 ชื่อของแกรมมี่ก็ถูกจารึกไว้ในวงการธุรกิจเทปว่าสามารถล้มนิธิทัศน์ ขึ้นไปยืนอยู่บนแป้นอันดับ 1 ของวงการได้อย่างงดงาม (ซึ่งในช่วงปี 2531 นี้เป็นช่วงที่แกรมมี่เริ่มทำตลาดเทปด้วยตนเอง)

นักการตลาดท่านหนึ่งกล่าวว่า แกรมมี่เคยรุ่งเรืองสุดขีดเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดสูงสุดยอดที่สุดแล้ว แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ อาจเรียกได้ว่าแกรมมี่เริ่มตกต่ำลงก็คงไม่ผิดนัก นักฟังเพลงโดยเฉพาะตลลาดวัยรุ่นซึ่งเป็นตลาดของแกรมมี่โดยเฉพาะ และเป็นตลาดที่สร้างขึ้นมาเองเริ่มลดความนิยมลง โดยตลาดกลุ่มนี้หันไปฟังเพลงของค่ายอื่นแทน

"เมื่อ 5 ปีก่อน แกรมมี่โชคดี ได้เบิร์ดเข้ามาในสังกัด อัลบัมแต่ละชุดของเบิร์ดมียอดขายเกินเป้าหมาย และชุดล่าสุดก่อนที่เบิร์ดจะหยุดการออกอัลบัมนั้น สามารถทำยอดขายได้ถึง 1.5 ล้านตลับ ซึ่งเป็นยอดขายสูงสุด อัสนี-วสันต์ได้ล้านตลับ แม้แต่เจชุดแร้บก็ได้ 8 แสนตลับ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ยังไม่เคยมีใครทำได้ล้านตลับอีกเลย ยอดขายที่ได้เหล่านี้นับว่าแกรมมี่ประสบความสำเร็จสูงสุด ณ ปีนั้น แต่ 2 ปีที่ผ่านมานี้อัลบัมส่วนใหญ่ไม่ได้ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นคริสติน่า นูโว ไมโคร อัสนี-วสันต์ แอม หรือนันทิดาเป็นต้น ยอดขายที่พอไปได้ดีจะมีก็แต่ใหม่และเจที่เป็นตัวชูโรงให้เท่านั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา"

อย่างไรก็ตามทั้งเจและใหม่ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ว่ากันว่าทั้งคู่กำลังจะหมดสัญญากับแกรมมี่ หากดาวเด่นทั้งคู่ของแกรมมี่ในขณะนี้ผละจากไปเหมือนที่ฐิติมา สุตสุนทร หรือ บิลลี่ โอแกนเคยเดินออกไปแกรมมี่จะทำอย่างไร

คำถามที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่นักฟังเพลงต้องการคำตอบจากแกรมมี่ ทว่าผู้ที่ต้องการคำตอบมากที่สุดในเวลานี้คือ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารสูงสุดของแกรมมี่นั่นเอง หรือว่าการแตกแขนงบริษัทในเครือภายใน 2 ปีได้กว่า 10 บริษัทที่เกิดขึ้น จะเป็นการกาคำตอบของไพบูลย์อยู่ในขณะนี้!!!

แกรมมี่ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2526 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท และหลังสุดได้เพิ่มทุนเป็น 25 ล้านบาทเมื่อปี 2533 การก่อตัวในขั้นต้นนั้น ไพบูลย์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เขามีความตั้งใจที่จะเข้าไปทำรายการทีวีอันเป็นความถนัดและความชอบ โดยมีการทำธุรกิจเทปเพลงเข้ามาเสริม ซึ่งการทำธุรกิจเทปเพลงของแกรมมี่ในช่วงแรกเป็นลักษณะโปรโมทเทปให้กับทุกค่าย จนกระทั่งได้พบกับเรวัติ พุทธินันท์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะได้ร่วมกันก่อสร้างแกรมมี่ขึ้นมา เรวัติได้นำเสนอแนวเพลงดนตรีตะวันตก เที่ยวเร่ขายให้ค่ายต่างๆ หลายค่าย แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

เรวัติเล่าว่า ก่อนนี้เขาเป็นนักดนตรีที่ฮาวายซึ่งเป็นที่ที่ดีที่สุดของผู้มีอาชีพนักดนตรี เพราะเป็นแหล่งรวมเกี่ยวกับธุรกิจดนตรี เขาใช้เวลา 1 ปีที่นี่ ตอนนั้นเรวัติอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นเขาก็ย้ายไปอยู่ที่ยุโรป ไปเป็นนักดนตรีอยู่ที่นั่นโดยใช้ชื่อวง "ดิ อิมพอสซิเบิล" ทัวร์ไปรอบยุโรป ส่วนใหญ่จะเล่นในดิสโก้ เธคและไนท์คลับ ขณะที่อยู่ในยุโรป เขาได้ซึมซับวิธีการทำธุรกิจดนตรีตะวันตกมามาก และเมื่อกลับมาเมืองไทยจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้เขาคิดที่จะทำธุรกิจดนตรี

ความคิดของเรวัติขณะนั้นคือ เมืองไทยยังมีบริษัทเทปที่ไม่กระจาย การตลาดไม่พัฒนา กระจุกตัวอยู่แต่ใน กทม. และมีความเป็นแนวเพลงลูกทุ่งเยอะไม่มีใครมองแนวร็อค หรือแนวป๊อบแบบที่เขามอง

"ผมกับเรวัติมีความคิดที่ตรงกันในเรื่องของแนวเพลงและการทำธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีการตลาดนำ เรวัติมองว่าดนตรีในเมืองไทยน่าจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต และมีแนวโน้มที่จะออกไปสู่นานาชาติได้เพราะดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเหมือนอาหารและเสื้อผ้า ดนตรีก็มีการพัฒนาตามวิถีชีวิต สะท้อนให้เห็นว่าโลกเล็กลงทุกวัน สื่อกันได้ทั่วโลก หากแนวความคิดเช่นนี้ผสมผสานกันระหว่างความเป็นนักโฆษณา และการตลาดแกรมมี่ก็น่าจะไปได้สวย" ไพบูลย์กล่าว

แกรมมี่เริ่มต้นฉายแววไปได้สวยจากศิลปินคนแรกของเขาคือ พญ. พันทิวา สินรัชตะนันท์ ตามด้วยชุดของเรวัติ พุทธินันท์ ซึ่งแนวเพลงเป็นการเล่าเรื่องราว ไม่มีสัมผัสเหมือนเพลงยุคก่อนๆ ทั้ง พญ. พันทิวาและเต๋อ 1 เต๋อ 2 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ตามด้วย นันทิดา แก้วบัวสาย ฐิติมา สุตสุนทร บิลลี่ โอแกน ชรัส เฟื่องอารมณ์ เป็นต้น

ณ วันนี้แกรมมี่มีศิลปินในสังกัดมากมาย ทั้งใหม่และเก่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินที่มีคุณภาพมากพอๆ กับแกรมมี่มีโปรดิวเซอร์มือดีอยู่ในมือมากมายเช่นกัน บุคลากรเหล่านี้ล้วนผลิตผลงานให้กับแกรมมี่ โดยผ่านการกรองก่อนออกสู่สาธารณชนจากเรวัติและไพบูลย์ทั้งสิ้น

หากย้อนไปพิจารณาการโปรโมทศิลปินในชุดแรกของเขา ไพบูลย์ใช้ความเป็นนักการตลาดและนักโฆษณาเข้าช่วย โดยการเป็นผู้ริเริ่มทำมิวสิควิดีโอ เผยแพร่ทางทีวีเป็นค่ายแรก สินค้าจากค่ายแกรมมี่จึงประสบความสำเร็จ และมีการพัฒนาคุณภาพของงานเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำดนตรี เนื้อหาของเพลง บุคลิกของศิลปินและการทำมิวสิควิดีโอ

โดยเฉพาะมิวสิควิดีโอนั้น ว่ากันว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการเป็นผู้ริเริ่มเป็นรายแรกของวงการ ในการทำมิวสิควิดีโอเพื่อโปรโมททางทีวีตั้งแต่ครั้งนั้น ทำให้ค่ายอื่นๆ ต้องโดดลงมาเล่นเต้นตามเพลงทำมิวสิควิดีโอโปรโมทเพลงไปกับแกรมมี่ด้วย

"การเป็นผู้ริเริ่มในการทำสิ่งใหม่ย่อมทำได้ง่ายพอๆ กับการได้ขึ้นเป็นสุดยอดของวงการ แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ การที่จะต้องเป็นผู้ริเริ่มไปให้ได้ตลอดในการเป็นผู้นำ ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งเป็นความยากพอๆ กับการรักษาระดับสุดยอดให้คงอยู่ดังเดิม ก็เหมือนกับแกรมมี่เมื่อมาใหม่ริเริ่มทำสิ่งใหม่ คนตื่นตัว แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาเริ่มไว้อย่างไร ณ วันนี้ แกรมมี่ก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนั้น เหมือนกำลังหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรือเหมือนกำลังอยู่ในวังน้ำวน หาหนทางออกไม่เจอ และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าขณะนี้แกรมมี่ไม่มีอะไรใหม่ เป็นแต่เพียงพัฒนาเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปอีกนานละก้อ แกรมมี่จะยังคงรักษาระดับสูงสุดของวงการเอาไว้ไม่ได้อย่างแน่นอน" คนในวงการแสดงทรรศนะด้วยความเป็นห่วงเป็นใย"

ทรรศนะดังกล่าวสอดคล้องกับนักการตลาดท่านหนึ่ง ซึ่งวิเคราะห์สถานะของแกรมมี่ในปัจจุบันว่าไม่ต่างอะไรจากเมื่อแรกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของไพบูลย์ ที่ยังคงต้องเป็นกระบี่มือหนึ่งของแกรมมี่หรือผู้ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย หรือผลงานเพลงที่ออกสู่ตลาด ณ วันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 10 ปีที่ผ่านมาจึงดูไม่ยิ่งใหญ่อย่างที่คิด ปีที่ 11 จึงกลายเป็นการสร้างภาพลวงตาให้สาธารณชนเชื่อถือในความยิ่งใหญ่ของตนเอง

ปัญหาในขณะนี้ของแกรมมี่คือ 1. แกรมมี่ไม่มีศิลปินใหม่ในมือ หรือมีศิลปินใหม่แต่เพลงไม่ส่งก็ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด 2. โปรดิวเซอร์เก่งๆ ออกไปจากแกรมมี่หลายคน ส่วนที่เหลืออยู่ก็เริ่มวนหาจุดยืนไม่ได้ 3. การวางโปรโมชั่นอัดเต็มแรงเกิดเพื่อให้อัลบัมชุดนั้นดังติดหูคนฟัง เช่นชุดของมอสซึ่งไม่เป็นที่ประทับใจวัยรุ่นดังคาด ในขณะที่แกรมมี่ต้องเสียค่าโปรโมทไปกว่า 10 ล้านบาท ยอดขายที่ได้กลับมาไม่ถึง 1.5 แสนตลับซึ่งถือเป็นมาตรฐานของจุดคุ้มทุนในการทำเพลงแต่ละอัลบัมของศิลปินหน้าใหม่ แม้ว่าแกรมมี่จะมีสื่อของตนเอง อย่างไรก็ตามหากคิดตามหลักการตลาดแล้ว การรับภาระค่ามีเดียที่ถือไว้อยู่ในมืออย่างมากมาย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตขององค์กรให้เดินผิดแนวหรือหยุดอยู่กับที่ได้เช่นกัน

โดยทั่วไปการทำธุรกิจเทปประสบความสำเร็จได้อยู่ที่ปัจจัยสำคัญ 4 ประการคือ 1. ศิลปิน 2. โปรดิวเซอร์ 3. โปรโมชั่น 4. การวางตลาด แกรมมี่จะประสบความสำเร็จได้เพราะมีทั้ง 4 ปัจจัยประกอบและพัฒนาคุณภาพของปัจจัยทั้ง 4 ดังกล่าวตลอดเวลาหรือไม่

คำตอบนี้คือใช่เมื่อ 5 ปีก่อน และไม่ใช่ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แหล่งข่าวในวงการต่างวิเคราะห์กันว่า ถึงเวลานี้ก็นับว่าแกรมมี่เริ่มสอบตกหากยึดเอา 4 ปัจจัยเป็นหลัก ในการพิจารณา ในขณะที่ไพบูลย์แย้งว่า

"เรามีพัฒนาการทั้ง 4 ปัจจัยไม่ว่าจะเป็นตัวศิลปิน โปรดิวเซอร์ การโปรโมทหรือการวางตลาดก็ตาม" ไพบูลย์ยืนยันเช่นนั้น เพราะปัจจัยทั้ง 4 ต่างมีผู้รับผิดชอบตามหน้าที่ เช่นการตลาด เอ็มจีเอจะเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์หรือประเมินตลาด สรุปแนวโน้มเพื่อป้อนให้กับฝ่ายผลิต หรือฝ่ายโปรโมชั่น โปรดิวเซอร์และศิลปินจะมีเรวัติเป็นผู้ดูแล หรือแม้แต่คุณภาพของเพลง แกรมมี่ก็ได้มีการพัฒนาคุณภาพมาโดยตลอด

เพราะเหตุแห่งการพัฒนาคุณภาพของผลงานเพลงนี่เอง ได้กลายเป็นคมดาบคืนกลับมายังแกรมมี่ ไพบูลย์และเรวัติเป็นผู้มีความสามารถ เขามีความต้องการที่จะพัฒนาผลงานเพลงออกมาให้ได้คุณภาพ จนลืมนึกไปว่า ตลาดที่ตนเองสร้างไว้แต่แรกนั้นคือตลาดแนวเพลงแบบเรียบง่าย ฟังโดยไม่ต้องคิดเป็นคำพูดที่ตรงๆ และนำมาพูดเล่นติดปากกันตลอดเวลา แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายแรกของตนเองจะโตขึ้นหรือกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามาแทน ก็ไม่ได้หมายความถึงความเปลี่ยนแปลงรสนิยมในการฟังเพลง หูคนฟังไม่ได้พัฒนาคุณภาพตามเพลง หากกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงรสนิยมการฟังให้เหนือกว่าระดับเดิม นั่นหมายความว่า พวกเขาจะต้องเปลี่ยนแนวหรือสไตล์ไปโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ผลงานเพลงของขจรศักดิ์ ที่ออกสู่ตลาดนั้น เป็นการพัฒนาคุณภาพของเนื้อหาและท่วงทำนอง ซึ่งความต้องการของแกรมมี่คือพัฒนาเพลงสำหรับวัยรุ่นให้มีระดับเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ฟังง่ายเพียงกลองดังประโคมลั่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และนี่เองคือคำตอบที่ว่า ทำไมวัยรุ่นจึงคลั่งไคล้บอยสเก๊าต์ นักร้องวัยรุ่นค่ายอาร์เอสที่มีบุคลิกแบบปอน…ปอน ปนคิขุอโนเนะหรือเต๋า เข็มกลัดมากกว่า ขจรศักดิ์ หรือจิ๊บวสุเสียอีก

จะว่าไปแล้วหากพิจารณาการเจริญเติบโตของแกรมมี่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้น่าจะเป็นการเจริญเติบโตอย่างมีระบบ ภายใต้การกำหนดนโยบายและการวางแผนอย่างมีหลักการ แต่ในความเป็นจริงแกรมมี่ไม่มีระบบที่แน่นอนตายตัวตามหลักสากล ไม่มีการกำหนดนโยบายที่เป็นรูปแบบชี้เฉพาะและไม่มีการวางแผนล่วงหน้า

แกรมมี่เติบโตภายใต้การบริหารงานและการตัดสินใจของไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเรื่องนี้ไพบูลย์ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ตัดสินใจในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องงานเพลงเป็นหน้าที่ของเรวัติจะเป็นผู้ตัดสินใจ เขาไม่มีระบบการบริหารแบบสากลเข้ามาช่วยเช่นบริษัทอื่นๆ และไพบูลย์เองก็เชื่อว่าในทุกค่ายเพลงหรือในวงการธุรกิจเทปเพลงด้วยกันแล้ว ไม่มีค่ายใดที่มีระบบการบริหารงานแบบสากล ทุกค่ายล้วนมีนายคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น อาร์เอสซึ่งบริหารโดยสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ นิธิทัศน์ โดยวิเชียร อัศว์ศิวะกุล หรือค่ายเล็บโซ่น้องใหม่แห่งวงการเพลงก็เห็นมีวิศาล เลาแก้วหนู เป็นผู้ตัดสินใจอยู่คนเดียว เป็นต้น

นั่นหมายความว่า แกรมมี่โตขึ้นมาได้อย่างไร้ระบบ และการแตกแขนงออกเป็นกว่า 10 บริษัทของแกรมมี่ (ดูรายละเอียดบริษัทในเครือจากผังโครงสร้าง) ก็เป็นการแตกแขนงแบบไร้กระบวนท่าเช่นเดียวกัน

จะว่าไปแล้วการแตกแขนงของบริษัทในเครือทีเดียวหลายบริษัทในเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้ นับว่าเป็นประเด็นที่น่าพิจารณาลงไปลึกๆ อยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตามนับจากนี้ต่อไป แกรมมี่จะไม่มีแม่ทัพคือไพบูลย์เพียงคนเดียวในการนำทัพแบบรวมศูนย์อีกต่อไป เพราะขณะนี้แกรมมี่ได้แบ่งแยกกระบวนทัพแตกแขนงออกไปหลายขบวน ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีขุนพลนำทัพแต่ละเหล่าแต่ละฝ่าย เพื่อไปให้บรรลุถึงเป้าหมาย เช่น เอ็มจีเอ มีเรวัติ เป็นผู้นำ แกรมมี่ไดเร็ค มี สาธินี โมกขเวช เป็นผู้นำเป็นต้น

การปรับกระบวนทัพแต่งหน้าตาใหม่ของแกรมมี่ให้เป็นระบบมาตรฐาน การบริหารงานครั้งนี้ว่ากันว่าเป้าหมายลึกๆ ก็เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นทางออกทางหนึ่งของแกรมมี่ ในการขยายกิจการเพื่อหาหลักที่มั่นหลักต่อไป นอกเหนือจากธุรกิจเพลงซึ่งนับวันจะเป็นธุรกิจที่ทำยากมากขึ้นทุกวัน อันมีสาเหตุมาจากความเห็นของเรวัติที่ว่า โลกเล็กลง สามารถสื่อกันได้เร็ว หมายความว่า การมีเคเบิล มีดาวเทียม ทำให้ผู้ฟังมีหนทางเลือกมากกว่าเดิม การป้อนเพลงฝรั่งเข้าสู่ตลาดเมืองไทย จะทำให้เพลงฝรั่งเหล่านี้กลับเข้ามาติดตลาดเมืองไทยอีกครั้ง เหมือนเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากนี้มูลค่าตลาดเทปเพลงในปัจจุบันซึ่งอยู่ระหว่าง 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปีนั้นปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง เทปเป็นสินค้าที่มีอายุสั้น หมายความว่าตลาดจะมีการเคลื่อนไหวนับจากอัลบัมชุดใหม่ออกวางตลาดไม่เกิน 6 เดือน และใช้เวลาในการโปรโมท 1 เดือนเต็มจึงจะรู้ผลว่าตลาดยอมรับหรือไม่ ในขณะที่ต้องใช้เวลาในการผลิตที่ยาวนาน 8-10 เดือนเป็นอย่างต่ำ ขณะเดียวกันก็มีค่ายเทปเกิดขึ้นใหม่หลายค่าย ไปรอดบ้างไม่รอดบ้าง ส่วนค่ายใหญ่ๆ ซึ่งครบวงจรและมีสายป่านยาวก็ชิงกันปีนสู่ยอด โดยกว้านหาศิลปิน โปรดิวเซอร์มือดี และจังหวะของตลาดเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด กันอยู่ไม่น้อย

ว่ากันว่าแกรมมี่ครองส่วนแบ่งการตลาดในปีที่ผ่านมาประมาณ 50% ของตลาดเพลง โดยมีฐานอยู่ที่ตลาดระดับและกลาง ตามด้วยอาร์เอส และนิธิทัศน์ตามลำดับ แต่ในปี 37 นี้ คนในวงการวิเคราะห์กันว่า ค่ายแกรมมี่อาจจะต้องลงจากเวทีอันดับ 1 โดยมีค่ายอาร์เอสขึ้นแทนที่ได้อย่างงดงาม เพราะอาร์เอสส่งเต๋าจับตลาดล่างโดยเฉพาะกลุ่มเด็กช่างกลซึ่งเป็นฐานที่ใหญ่ หรือบอยสเก๊าต์จับตลาดวัยรุ่นแรกรเริ่ม ก็นับว่าเป็นตลาดที่มีฐานใหญ่เช่นเดียวกัน ในขณะที่ขจรศักดิ์จับตลาดสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายนี้เริ่มหันเหรสนิยมการฟังเพลงไปบ้างแล้ว จึงทำให้แกรมมี่สูญเสียฐานของตนเอง ส่วนนิธิทัศน์ก็จับตลาดต่างจังหวัด จะว่าไปแล้วตลาดต่างจังหวัดนี้เป็นตลาดที่มีฐานใหญ่และมั่นคง จึงเท่ากับว่านิธิทัศน์ทุกวันนี้ยังคงเป็นน้ำซึมบ่อทรายที่ไม่มีวันเหือดแห้ง ทว่าไม่เอ่อล้นเร็วอย่างที่คิด

จะด้วยสาเหตุของตลาดที่เริ่มมีการแข่งขันสูง และนับวันการสร้างสรรค์เพลงจะยากมากขึ้นทุกวันนี้หรือไม่ ทำให้ค่ายแกรมมี่เริ่มสนใจที่จะผลักดันบริษัทตนเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อหาฐานที่มั่นคงและขยับขยายฐานไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากวงการบันเทิงเท่านั้น??

ไพบูลย์กล่าวว่า โดยความเป็นจริงแล้ว เขาไม่มีความสนใจที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เหมือนเช่นบริษัทอื่นเขาทำกัน ซึ่งล้วนมีเป้าหมายในการระดมเงินทุนเพื่อมาขยายกิจการ แต่แกรมมี่ไม่มีความจำเป็นต้องระดมเงินทุนมากมายเช่นนั้น

"ทุกวันนี้ผมยังคิดไม่ออกว่าจะนำเงินที่ได้มาทำอะไร เพราะเงินที่นำมาลงทุนในการผลิตเทปเพลงแต่ละชุดหรือรายจ่ายประจำของพนักงาน ส่วนหนึ่งเป็นเงินสดหมุนเวียนที่ได้จากการขายสินค้าของเรา จะมีเงินกู้อยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

นอกจากนี้สินทรัพย์ของแกรมมี่เองก็มีไม่มาก ที่มีอยู่ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินได้คือ ลิขสิทธิ์เพลงเก่าๆ ที่ผลิตสู่ตลาดไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับรวมได้กว่า 2,000 เพลง ไพบูลย์มองว่า เพลงเก่าเหล่านี้เป็นอมตะที่มีมูลค่าอยู่ในตัวของมันเองตลอดเวลา หยิบขึ้นมาใช้เมื่อไรก็สามารถทำเงินได้เมื่อนั้น และนอกจากลิขสิทธิเพลงเก่าแล้วก็ยังมีที่ดินและตึก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานแกรมมี่ที่สุขุมวิทซอย 39 ในปัจจุบันนี้เท่านั้นที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินมีค่า เพราะที่ดินแถวนี้มูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็น่าจะนับว่าเป็นทรัพย์สินที่นับวันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตามปีนี้เขาก็วางแผนเอาไว้ว่า ธุรกิจที่จะมุ่งเน้นให้มากที่สุดนั้นไม่ใช่แกรมมี่เอนเตอร์เทนเม้นท์ แต่จะเน้นไปที่ธุรกิจกีฬาคือ แกรมมี่สปอร์ตขายสินค้าเกี่ยวกับเครื่องกีฬา โดยเฉพาะเครื่องกีฬากอล์ฟ เป็นจุดใหญ่ โดยให้เรวัติเป็นผู้ดูแล ขณะเดียวกันด้านมีเดีย หรือรายการทีวีก็จะเป็นสิ่งที่แกรมมี่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวไพบูลย์เองเขามีความฝันที่ต้องการจะทำหนังสือพิมพ์รายวัน อันเป็นความใฝ่ฝันในชีวิตที่อยากจะทำหนังสือพิมพ์ดีๆ ขึ้นมาหนึ่งฉบับ ที่ไม่ใช่ลักษณะสาดโคลนเข้าใส่กัน หรือเขียนด่าเขาวันนี้พรุ่งนี้เช้าก็ตามแก้ข่าว โดยกำหนดในการทุ่มทุนให้กับการทำหนังสือพิมพ์รายวันนี้อย่างต่ำปีละ 100 ล้านบาท วางเป้าหมาย 3 ปี หากภายใน 3 ปีขาดทุนไป 300 ล้านบาทแล้วไม่ได้ผลก็อาจจะเลิก แต่ถ้าหากไปต่อได้ก็จะเดินตามอุดมการณ์ที่วางไว้ไม่เสื่อมถอย

"ผมเป็นคนมีอุดมการณ์ แต่ผมก็ยังไม่ได้นำอุดมการณ์ของตนเองออกมาใช้ ก็หวังว่าในปีนี้หากทุกอย่างลงตัวคงจะสร้างหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นมาฉบับหนึ่ง และลงมือทำด้วยตนเอง"

นี่คือคำตอบของคำถามแรกในการหาเส้นทางสายใหม่ ที่แยกออกจากถนนสายดนตรีของแกรมมี่

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us