"ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" วัดใจธรรมาภิบาลรัฐบาล ไม่หวั่นคลังเดินหน้าเซ็นสัญญาปตท.และพันธมิตรซื้อหุ้นทีพีไอ 1 มิ.ย. นี้ ลั่นหากมีปัญหาเกิดขึ้นผู้บริหารแผนฯต้องรับผิดชอบโดยส่วนตัว เผยมั่นใจแผนผนึกพันธมิตร "ซิติกกรุ๊ป" จากจีน ทุกฝ่ายจะได้ผลประโยชน์จากทีพีไอทั่วหน้า การันตีเจ้าหนี้ได้เงินคืน แถมสามารถตัดสำรองหนี้สงสัยจะสูญได้ทันทีไม่ต้องรอ 12 ปีเหมือนแผนของคลัง หนุนฐานะของแบงก์ให้แข็งแกร่งขึ้น ขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่ถูกกระทบ เผยด้วยศักยภาพยักษ์ใหญ่ปิโตรเคมีของจีนจะส่งผลให้ทีพีไอ สร้างยอดกำไรในปีแรกไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้าน
ในวันพุธที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ การฟื้นฟูกิจการของ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ผู้ดำเนินธุรกิจ ปิโตรเคมีรายใหญ่ของไทยที่สร้างตำนานประวัติศาสตร์เป็นองค์กรเอกชนที่ได้รับผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีภาระหนี้ผูกพันกว่าแสนล้านบาท จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง โดยกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับพันธมิตร ที่นำโดยบริษัท ปตท.
ทว่า จากกรณีที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมและหรือผู้ค้ำประกันภาระหนี้ของลูกหนี้และบริษัทในเครือของลูกหนี้ทั้งหมด 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.08 แสนล้านบาท เพื่อขอชำระหนี้ดังกล่าว โดยมีกลุ่มซิติกกรุ๊ป (China International Trust and Investment Corp :Citic) จากจีนเป็นพันธมิตร เมื่อวันที่ 25 พ.ค.48 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาในวันเดียวกัน ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้นายประชัยนำเงินที่จะชำระหนี้ แก่เจ้าหนี้มาวางที่ศาลก่อนเพื่อจะพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไปนั้น ถือเป็นปัจจัยแทรกเข้ามาใหม่ที่ไม่อาจมองข้ามได้
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า การเซ็นสัญญาระหว่างคลังกับพันธมิตรที่จะมีขึ้นวันที่ 1 มิ.ย.นี้ไม่ใช่ประเด็นที่เขา ต้องกังวลเพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่คลังต้องการ ซึ่งกระบวนการต่างๆ ผ่านศาลมาแล้ว แต่ผู้บริหารแผนฯต้องไม่ลืมว่า ถ้าการเซ็นสัญญาไป แล้วทุกอย่างดีก็ดีไป แต่ถ้าหากมีปัญหาติดขัดเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากล่าสุดศาลมีคำสั่งออกมาพร้อมกับแจ้งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึง แผนการชำระหนี้ที่ตนได้ดึงกลุ่มซิติกกรุ๊ปมาร่วม เป็นพันธมิตรที่จะใช้เวลาไม่เกิน 90 วันจากนี้ตรวจสอบฐานะสินทรัพย์และหนี้สิน (ดิวดิลิ-เจนซ์) ผู้บริหารแผนก็ไม่อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบส่วนบุคคลได้
นายประชัยกล่าวว่า หลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าวทำให้มีความมั่นใจว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในทีพีไอที่มีมาอย่างยาวนานจะลงเอยด้วยดี ซึ่งรัฐบาลจีนเองก็ส่งสัญญาณ พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเงินที่ศาลต้องการให้เขาและผู้ร่วมทุนใหม่มาวางนั้นไม่มีปัญหาเลย ขณะที่ได้ติดต่อสถาบันการเงินที่จะให้กู้เงินเพื่อจะชำระหนี้ 2.7 พันล้าน เหรียญสหรัฐได้ทันที พร้อมกับจะลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
"ทีพีไอเป็นบริษัทที่โปร่งใสมาก ไม่มีอะไรจะบิดพลิ้วได้เพราะผ่านการชำแหละมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว การตรวจสอบคาดว่าไม่เกิน 1-2 เดือนนี้น่าจะจบ จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาอย่างไรต่อไป หากมีเหตุขัดข้องเนื่องจากคำสั่งศาลในอนาคตย่อมส่งผลต่อการซื้อขายหุ้นให้ปตท.และพันธมิตรที่เซ็นกันไปแล้ว ผู้บริหารแผนต้องรับผิดชอบโดยบุคคล เช่น เมื่อขายหุ้นออกไป ก็ต้องไปหาหุ้นมาให้ปตท. และพันธมิตรเอง ไม่เกี่ยวกับทีพีไอ"
วัดใจธรรมาภิบาลของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมกิจการของทีพีไอเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า การยื่นคำร้องของนายประชัยจะไม่ส่งผลต่อการเซ็นสัญญากับ ปตท.ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เพราะการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอขณะนี้เงินไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การให้สัมภาษณ์ของนายสมคิดก็ขัดแย้งกันเองกับครั้งก่อนหน้านี้เขาเคยระบุว่า จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนใครก็ตามหรือ แม้แต่นายประชัยในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ก่อตั้งกิจการทีพีไอเข้ามาลงทุนในทีพีไอได้ หากสามารถชำระหนี้เจ้าหนี้ได้ พร้อมกับเปิดเผยแหล่งเงินและพันธมิตรที่ชัดเจนมาแสดงต่อกระทรวงการคลัง
ในวันเดียวกัน นายประชัยได้กล่าวตอบโต้ในประเด็นนี้ว่า คลังทำผิดมารยาท และขัดต่อหลักธรรมาภิบาลที่รัฐบาลชุดนี้แถลงเป็นนโยบายสำคัญในการบริหารประเทศ ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งให้เขาและพันธมิตรแสดงแหล่งเงินที่จะเข้ามาฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ สมควรอย่างยิ่งที่กระทรวงการคลังต้องเลื่อนการเซ็นสัญญาซื้อหุ้นเพิ่มทุนออกไปก่อน
เดิมนั้น นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ทีพีไอ ระบุว่า จะสามารถเซ็นสัญญากับ ปตท. และพันธมิตรได้ราววันที่ 20 มิ.ย.นี้ โดยการเลื่อนมาเซ็นสัญญาเร็วขึ้นมาเป็นวันที่ 1 มิ.ย.ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลพยายามเร่งปิดทางนายประชัยให้เร็วที่สุด ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังชงแผนการจัดสรรหุ้นของทีพีไอให้ ครม.รับทราบ ยิ่งเพิ่มน้ำหนักความเชื่อนี้ให้มีมากขึ้นไปอีก
"ขณะนี้มีนักลงทุนจำนวนมากติดต่อมาทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อขอซื้อหุ้นทีพีไอ ซึ่งได้รับฟังไว้ แต่ผมไม่มีคำตอบให้ เพราะมั่นใจว่าเดินถูกทาง ปตท.เป็นกิจการของรัฐ ผมเชื่อว่าจะทำให้ทีพีไอแข็งแกร่งขึ้น ขอยืนยันว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม คือในวันที่ 1 มิ.ย.นี้จะลงนามซื้อขายหุ้น หลังจากนั้นจะให้นำเงินเข้ามาให้เร็วที่สุดเพื่อใช้หนี้" เป็นคำยืนยันจากนายสมคิดถึงท่าทีที่ชัดเจนในการเลือก ปตท.เข้ามาถือหุ้นในทีพีไอ
ชี้เป็นเกมการเมือง คลังอาจตั้งแง่
แหล่งข่าวจากศาลล้มละลายกลาง กล่าวว่า เหตุผลที่เปิดโอกาสให้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะลูกหนี้ทีพีไอ ดำเนินการหาเงินมาแสดง เพื่อให้เห็นความสามารถในการชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้จำนวน 2,700 ล้านดอลลาร์นั้น เพื่อเป็นการลดแรงกดดันต่อนายประชัย แต่ถึงแม้ว่านายประชัยจะสามารถหาเงินมาแสดงต่อศาลตามที่ศาลมีคำสั่งก็ใช่ว่าทุกอย่างจะลงเอยได้ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องให้ผู้บริหารแผนฯหรือคลัง พิจารณาตามกฎหมายที่กำหนดไว้
กล่าวคือ ตามกฎหมายล้มละลายได้ระบุว่า การจะทำอะไรที่นอกเหนือจากแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้บริหารแผนก่อน และหากมีการปรับเปลี่ยนแผนก็ต้องเสนอเรื่อง ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้รับทราบด้วย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา
"มองในแง่ของความเป็นไปได้ ถ้าคุณประชัยนำเงินก้อนโตมาชำระหนี้ ก็ใช่ว่าคลังจะไม่มีสิทธิ์ โดยคงต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารจัดการ เงื่อนไขของคุณประชัยเกี่ยวกับส่วนได้เสียภายในทีพีไอ อย่าลืมว่าคดีนี้เป็นคดีการเมือง และวุ่นวายมากๆ แน่นอนจากข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นจุดยืนของคลังที่จะไม่ยอมอย่างชัดเจน และหากมองในแง่ของรัฐบาลสามารถมีข้ออ้างได้ โดยใช้นโยบายและกฎหมายเข้ามาดำเนินการ เช่น ธุรกิจปิโตรเลียมเป็นธุรกิจหนึ่งในทีพีไอที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ และมีศักยภาพในเชิงการ แข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวยอมรับว่า ในกระบวนการพิจารณาการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลไม่ได้มองแค่เฉพาะตัวลูกหนี้อย่างเดียว แต่จะเน้นในเรื่องสังคม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทุกอย่างต้องดูให้รอบคอบ คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่งคนทั่วไปจะไม่เข้าใจเหตุผลของศาลว่าเพราะอะไรจึงทำเช่นนี้
"เกมนี้คงเหนื่อยอีกนาน ซึ่งประเด็นหากมีการเซ็นบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้แล้ว หากลูกหนี้หาเงินมาได้ ตรงนี้ไม่ชัวร์เหมือนกันเอ็มโอยูที่เซ็นไปจะเป็นโมฆะ หรือไม่ และหากคุณประชัยอ้างว่าหากต้องรอผู้ร่วมทุนจากฝ่ายของผู้บริหารแผนอาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ ตรงนี้ทุกๆ คนมีเหตุผลมาอ้างได้แต่ศาลก็มีเหตุผลของศาล" แหล่งข่าวกล่าว
ย้ำคนบริหารทีพีไอต้องรู้จักธุรกิจ
นายประชัยกล่าวว่า การเข้ามาถือหุ้นทีพีไอของ ปตท.ซึ่งปัจจุบันแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนการย้อนกลับไปสู่วงจรความเป็นรัฐวิสาหกิจที่จะสร้างความสับสนใจแก่นักลงทุน และไม่มีธรรมาภิบาลที่ดีตามที่รัฐบาลประกาศนโยบาย
นายประชัยเชื่อว่าเขาและซิติกกรุ๊ปซึ่งจะร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเข้ามาถือหุ้นในทีพีไอ ย่อมจะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนได้ดีกว่า เพราะหากเปรียบเทียบความเป็นเจ้าของและเชี่ยวชาญในธุรกิจปิโตรเคมีแล้วรู้ดีว่าจะต้องทำอย่างไรกับธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น การประหยัดต้นทุน ซึ่งผู้บริหารที่เข้าใจย่อมประหยัดได้มากกว่าแน่นอน และที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ตั้งแต่ช่วงแรกสมัยของบริษัทเอฟเฟ็คทีฟแพลนเนอร์ (EP) เข้ามาบริหารแผนในยุคแรกได้ถลุงเงินทีพีไอไปมหาศาล
"อีพีว่าถลุงเงินของทีพีไอไปเยอะแล้ว ภายใต้การบริหารแผนของผู้บริหารแผนชุดนี้ 2 ปี กลับใช้เงินมากถึง 2 พันล้านไปแล้ว" นายประชัยกล่าว
เชื่อแผนใหม่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ กล่าวว่า แผนของเขาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นเดิม รวมทั้งดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
"ผมมั่นใจว่า ภายในปีแรกเราจะทำกำไรได้อย่างต่ำ 5 หมื่นล้าน ขณะที่แผนการชำระหนี้เจ้าหนี้จะได้รับเงินคืนทันที ไม่ต้องพะวงการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพราะตัดออกไปได้ทันทีเช่นกัน แบงก์ที่เป็นเจ้าหนี้ก็จะแข็งแรงขึ้น ผลดีจะตกแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตรงกันข้ามกับแผนฟื้นฟูฯฉบับคลังที่เจ้าหนี้จะได้เงินคืนในเวลา 12 ปี ซึ่งถือว่าช้ามาก แบงก์ก็จะมีปัญหาหนี้ต่อไปอีกยาว" นายประชัยกล่าว
ตามแผนฟื้นฟูกิจการของคลัง จะดำเนินการลดทุนทีพีไอจาก 78,489 ล้านบาท ลงเหลือ 7,848 ล้านบาท แล้วออกหุ้นใหม่ 11,651 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมที่เจ้าหนี้ถืออยู่ 5,898 ล้านหุ้นจัดสรรให้ ปตท. 30% กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) 10% ธนาคารออมสิน 10% กองทุนวายุภักษ์ 10% จัดสรรให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ในราคาเบื้อง ต้นหุ้นละ 3.30 บาท ที่เหลือเตรียมจัดสรรให้พวก เจ้าหนี้ที่ต้องการแปลงเป็นหุ้นรวมทั้งพนักงานทีพีไอ เพื่อระดมเงินใช้หนี้ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เบื้องต้นหากเซ็นสัญญากับ ปตท. และพันธมิตรในวันที่ 1 มิ.ย. นี้แล้ว กว่าที่ทีพีไอจะได้เงินจาก ปตท.อย่างเร็วคาดว่าภายในเดือน พ.ย.นี้หลังจากบริษัทพ้นจากสถานะฟื้นฟูกิจการ ขณะที่หนี้ส่วนที่เหลือจะจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ได้ภายใน 12 ปีข้างหน้า ส่วนการทำกำไรของทีพีไอ คาดว่าในปีแรกจะทำได้ราว 1 หมื่นล้านบาท และปีต่อๆ ไปเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5-6 พันล้านบาทเท่านั้น
นายประชัยกล่าวว่า แผนของตนที่ยื่นต่อศาลจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ของทีพีไอที่ดีกว่าคลัง ขณะเดียวกัน ผู้ถือหุ้นเดิมก็จะได้รับการดูแลที่ดี ซึ่งตามแผนไม่ต้องระดมทุนจากการออกหุ้นเพิ่มทุนมากเหมือนแนวทางของคลัง หุ้นที่อยู่ในมือของเจ้าหนี้ หรือผู้ถือหุ้นเดิมจึงไม่ต้องถูกลดค่าลง ตรงกันข้ามมูลค่าของหุ้นก็สูงขึ้นกว่าปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
"ผมคำนวณดูแล้วเราจะใช้เงินซื้อหุ้นไม่มากไม่น่าจะเกิน 2.5 พันล้านบาท ขณะที่คลังดึงพันธมิตรมามากมายระดมเงินสูงถึง 3.8 หมื่นล้าน แต่ผู้ถือหุ้นเดิมถูกทำลายไปหมด เราจะใช้เงินซื้อส่วนที่เกินมาไม่เกิน 5% จากนั้นจะระดมเงินมาใช้หนี้เจ้าหนี้ทันที เราทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ เมื่อเอาเงินมาโชว์แล้วจึงถือว่านี่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ตามกฎหมาย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอกล่าว
แผนของนายประชัยดังกล่าวเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมาหลังจากที่เขาได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่า ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท ซิติก รีซอร์ส โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มซิติกกรุ๊ปที่รัฐบาล จีนถือหุ้นใหญ่ จะร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่เพื่อเข้าถือหุ้นในทีพีไอในสัดส่วน 70% โดยซิติก รีซอร์สฯ จะนำเงิน 900 ล้านเหรียญสหรัฐมาชำระหนี้ทีพีไอ และจัดหาเงินกู้อีก 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐมาชำระหนี้ที่เหลือ ภายในไม่เกินเดือนธันวาคม 2548
ทั้งนี้คาดว่าจะเสนอขายหุ้นละ 6-6.50 บาท และจัดสรรหุ้น 5% ให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ปัจจุบันถืออยู่เพียง 25% ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมถือหุ้น 30% เท่ากับที่คลังจัดสรร โดยทีพีไอไม่ต้องออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งนายประชัยมั่นใจว่า แผนดังกล่าวนี้จะทำให้ราคาหุ้น "TPI" ดีดขึ้นไปอยู่ที่ 30-40 บาท/หุ้นไม่ได้
นายประชัยกล่าวถึงทิศทางของทีพีไอ หากกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาร่วมบริหารสำเร็จว่า จะทำให้ทีพีไอกลายเป็นผู้ส่งออกปิโตรเคมีราย ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับมีแผนที่จะทำให้ทีพีไอก้าวไปสู่การ เป็น "ออยล์ฮับ" หรือศูนย์กลางน้ำมันของภูมิภาค โดยจะขยายกำลังการกลั่นน้ำมันอีก 150,000 บาร์เรลต่อวันจากปัจจุบันมี 2 ยูนิตผลิตได้รวมกัน 215,000 บาร์เรลต่อวัน
|