|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2548
|
|
การประชุม Public Symposium ขององค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 20-22 เมษายน 2548 ณ กรุงเจนีวา เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมปราศรัยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องสถานการณ์การค้าของโลกภายใต้กฎกติกาของ WTO ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
งานเริ่มโดยการกล่าวเปิดงานของดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ ผู้อำนวยการของ WTO คนปัจจุบัน ที่กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการสรุปการเจรจารอบโดฮาให้สำเร็จให้ได้ ภายในการประชุม WTO ครั้งที่ 6 ที่ฮ่องกงปลายปีนี้ โดยเน้นว่าการค้าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ ทุกประเทศจึงควรช่วยกันผลักดันให้การเจรจารอบนี้สำเร็จโดยเร็วที่สุด
การเจรจารอบนี้ต่างจากรอบอื่นๆตรงที่มีการนำประเด็นเรื่องการพัฒนาเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการเปิดตลาด โดยให้อภิสิทธิ์แก่ประเทศด้อยพัฒนามากหน่อย เพื่อให้เวลาปรับตัวตั้งรับการค้าเสรีเต็มพิกัดที่จะตามมาในอนาคต เพราะถ้าอยู่ๆ จะให้เขาเปิดพรมแดนอย่างเต็มที่ เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นที่พัฒนาข้ามหน้ากันไปหลายขุมแล้ว ก็เห็นจะไม่ยุติธรรม อย่างที่ ดร.Toufiq Ali ทูตจากบังกลาเทศประจำ WTO กล่าวไว้ว่า "บังกลาเทศยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา อยู่ จึงต้องการข้อผ่อนผันภายใต้กติกาของ WTO อีกมาก อย่าลืมว่าตอนที่ประเทศพัฒนาแล้วของท่านกำลังพัฒนาอยู่นั้น ท่านไม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ (การแข่งขันที่รุนแรง) อย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ เราไม่มีโอกาสอย่างที่ท่านเคยมี ไม่ใช่ว่าเราอยากจะขออภิสิทธิ์เป็นร้อยๆ ปี เพราะเราเองก็ต้องพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วเหมือนกัน...แต่สิ่งแวดล้อม (ทางการค้า) ในปัจจุบัน ต่างจากยุคก่อนๆ มาก"
คำพูดของท่านทูตสอดคล้องกับคำพูดอันนิ่มนวลแต่เชือดเฉือนของประธานาธิบดี Paul Kagame แห่งรวันดา ที่กล่าวว่า "เราคงต้องกลับมาตั้งคำถามกันใหม่ว่า การเจรจารอบโดฮานี่ ถือหลักการพัฒนาและการช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา เป็นหัวใจของการเจรจาจริงอย่างที่พูดกันหรือเปล่า หรือว่าเป็นแค่การพยายามจะยึดตลาดของประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น? การก่อตั้ง WTO นี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า จากนี้ไปการค้าของโลกจะเป็นการค้าไร้พรมแดนที่ทุกคนได้ประโยชน์... แต่เท่าที่ผ่านมาแอฟริกายังไม่มีโอกาสได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากระบบการค้าเสรีที่ว่านี้สักเท่าไร"
ผู้สนับสนุนการค้าเสรีมักมองว่า WTO เป็นระบบการค้าที่เป็นธรรม เพราะสมาชิกสามารถใช้กฎกติกาของ WTO มาโต้แย้งคู่กรณีได้ เช่น ระบบ Dispute Settlement Mechanism (DSM) ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่สามารถตั้งข้อพิพาทฟ้องร้องคู่กรณีต่อ WTO หากเห็นว่าตนได้รับการปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งข้อดีข้อนี้ผู้เขียนเห็นด้วย แต่ถ้าพิจารณากันลึกๆ จะเห็นได้ว่า ประเทศยักษ์ใหญ่ก็ยังมีอำนาจเหนือประเทศเล็กๆ อยู่ดี เพราะแม้จะมีระบบนี้ให้ใช้ แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟ้องร้องนั้นไม่ใช่น้อยๆ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่มีทุนและกำลังคนพอที่จะมาคอยจ้องจับผิดประเทศคู่ค้าว่าทำผิดกติกาหรือเปล่า
สุดท้ายก็อาจจะลงเอยเหมือนกับกรณีที่บริษัท Ricetec ของสหรัฐฯ จดทะเบียนสินค้าข้าวชื่อ "จัสมาติ" ของตน โดยผนวกคำว่าจัสมินไรซ์ หรือข้าวหอมมะลิของไทยกับข้าวบัสมาติของอินเดีย/ปากีสถานเข้าด้วยกัน ทั้งๆ ที่จัสมาติไม่มีส่วนประกอบของข้าวทั้งสองเลย สร้างความสับสนให้กับลูกค้าและเป็นการแย่งตลาดข้าวหอมของไทยในต่างแดนไปโดยปริยาย
ในระหว่างการอภิปรายเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เขียนได้ตั้งคำถามไปยัง Lynne Beresford รองผู้อำนวยการแผนกจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ (The US Patent and Trademarks Office- USPTO) ว่า ถ้า USPTO ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการปกป้องผู้บริโภค ไม่ให้เกิดความสับสนจากการลอกเลียนแบบชื่อและตัวสินค้า ระหว่างผู้ประกอบการกันเอง ซึ่งเขาย้ำนักหนาว่าเป็นปณิธานของ USPTO แล้วล่ะก็ทำไมเขาจึงอนุมัติการจดทะเบียนชื่อข้าวจัสมาติได้ ทั้งๆ ที่ชื่อนี้จงใจชักจูงให้ผู้บริโภคสับสนและเข้าใจผิดแท้ๆ แต่ Lynne Beresford ตอบว่า เขาไม่คิดว่าชื่อดังกล่าวสร้างความสับสนแก่ผู้บริโภคและไม่เห็นว่ามันจะคล้ายกับชื่อข้าวจัสมินของไทยแต่อย่างใด พร้อมกับตอกกลับมาอีกว่า USPTO มีระบบที่โปร่งใส ใครก็สามารถหาดูข้อมูลได้จากทางเว็บไซต์ของเขา
ส่วนข้ออ้างที่ว่าประเทศกำลังพัฒนา (อย่างเรา) ไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะคอยตรวจสอบระบบของเขานั้นฟังไม่ขึ้น เพราะถึงเราจะบอกว่าเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่เรากลับมีเงินนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ได้ปีละหลายล้านดอลลาร์! แต่ผู้เขียนคิดว่าระบบ "เธอตามผูก ฉันตามแก้" อย่างนี้ไม่ค่อยจะยุติธรรมเท่าไร
ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การขาดบุคลากรและทุนทรัพย์เป็นอุปสรรคกีดกันไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถใช้ประโยชน์จากระบบ (ที่ประเทศพัฒนาแล้วตั้งขึ้นมา) ได้อย่างเต็มที่ แม้จะมีเครื่องมืออย่างระบบ DSM มาช่วยให้เรามีปากมีเสียงกับเขาได้บ้างก็ตาม ในกรณีดังกล่าว รัฐไทยไม่มีทุนและบุคลากรพอที่จะไปคอยจับตาดูการจดทะเบียนการค้าในสหรัฐฯ ได้ตลอดกว่าจะรู้เรื่องข้าวจัสมาติ (โดยการติดตามเรื่อง ของไบโอไทย) ก็สายเสียแล้ว (แต่ ดร.Justin Hughes อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กแนะว่า ไทยยังน่าที่จะฟ้องขอยกเลิก ชื่อ "จัสมาติ" ได้อยู่ ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าชื่อ "จัสมินไรซ์" เป็นเครื่องหมายการค้าภายใต้กฎหมาย Common Law เหมือนกับกรณีของเหล้าคอนยัคที่ชนะความไปแล้ว ใครรู้เรื่องกฎหมายลองเก็บไปช่วยกันคิดด้วยค่ะ)
ถึงจะกล่าวกันว่า การเจรจารอบโดฮา มุ่งประเด็นไปที่การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา แต่จริงๆ แล้วยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและอียู ไม่ได้มาใส่ใจกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างจริงจังเลย จะสนใจก็แต่ผลประโยชน์ของตนเท่านั้น สังเกตจากการที่เวทีอภิปรายเกือบทุกเวทีของการประชุม Public Symposium ทั้งสามวัน ถูกยึดโดยผู้แทนการค้าจากสหรัฐฯ อียู และออสเตรเลีย เป็นส่วนใหญ่ ที่ต่างก็คอยโทษอีกฝ่ายว่าผิด แต่ตนถูกเสมอ เช่นสหรัฐฯ โทษอียูว่าไม่ยุติธรรมที่เสนอให้ชื่ออาหารอย่างเนยแข็งParmesan เป็นชื่อเฉพาะถิ่น (Geographical Indication-GI) ถ้าไม่ได้ผลิตในอิตาลี ห้ามใช้ชื่อนี้ แต่บริษัท Kraft ของสหรัฐฯ ผลิตเนย Parmesan ปีละหลายล้านตัน หากถูกห้ามใช้ชื่อนี้บริษัทจะเสียรายได้ไปปีละไม่น้อย จึงต้องล็อบบี้กับรัฐบาลของตนให้สู้คดีกับอียูให้สำเร็จ
จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ แต่พอผู้เขียนแย้งเรื่องข้าวจัสมาติขึ้นมา ผู้แทนสหรัฐฯกลับตอบกลับมาว่า ไทยผิดเองที่ไม่คอยตามเรื่อง โทษเขาไม่ได้ หรือพอตัวแทนประเทศกำลังพัฒนายกประเด็นเรื่องความยากจน และการกีดกันการนำเข้าอย่างไม่เป็นธรรมของประเทศพัฒนาแล้วขึ้นมาถกบ้าง ประเทศ ยักษ์ใหญ่ก็มักจะตอกกลับอยู่เสมอว่า WTO เป็นแค่องค์กรทางการค้า ไม่สามารถจะแก้ปัญหาทุกเรื่องให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ เรื่องความยากจนต้องไปถกกันที่เวทีอื่น ส่วนเรื่องการเปิดตลาดนั้น ประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวล้ำหน้าอีกหลายประเทศไปแล้ว จะต้องเปิดตลาดด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็คงยากที่ประเทศ พัฒนาแล้วของพวกเขาจะยินยอมสรุปการเจรจาด้วย
ดังนั้น WTO จะเป็นความหวังให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้แค่ไหน เราคงต้องจับตาดูกันต่อไป
|
|
|
|
|