เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 พฤษภาคม 2548) ผมนั่งลุ้นหน้าจอโทรทัศน์ว่าใครจะถูกกำจัดออกในรายการเรียลลิตี้รายการหนึ่งที่ชื่อว่า 86 My Restaurant Rules
รายการนี้เป็นรายการของออสเตรเลีย โดยจะมีตัวแทนของเมืองใหญ่ในห้ารัฐสำคัญของออสเตรเลีย คือ ซิดนีย์จากนิวเซาต์เวลส์, เมลเบิร์นจากวิกตอเรีย, บริสเบนจากควีนส์ แลนด์, อาดิเลดจากเซาต์ออสเตรเลีย และเพิร์ตจากเวสเทิร์นออสเตรเลีย
ทางรายการจะหาพื้นที่ตั้งร้านให้ และตัวแทนของแต่ละเมืองซึ่งมีเมืองละสองคน ซึ่งบ้างก็เป็นคู่แม่ลูก บ้างก็เป็นคู่แต่งงานใหม่บ้าง ก็เป็นแฟนหรือเพื่อนกัน ต่างก็มานำเสนอแนวทางว่าจะทำอะไรกับร้านนี้บ้าง ในรูปแบบไหน จากนั้นทางรายการก็จะให้เงินตั้งต้นจากผลการนำเสนอ ซึ่งเป็นการวัดความสามารถในขั้นต้นก่อนจะต้องวัดความสามารถในการเปิดร้านจริงๆ
ตลอดระยะเวลาก่อนเปิดร้าน ระหว่างตกแต่งร้าน ไปจนถึงเปิดร้าน จะมีกล้องคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีทั้งกล้องที่แอบถ่าย และกล้องที่มีตากล้องถือเดินตามไปมา และทุกคนที่เข้ามามีส่วนในร้านไม่ว่าจะเป็นพนักงาน และคนมารับประทานอาหาร ก็จะถูกกล้องจับทั้งภาพและเสียง
ช่วงที่ผ่านมา ตัวแทนจากเพิร์ตตกรอบไปแล้ว และล่าสุด บริสเบน ที่ผมตามเชียร์มาตลอดก็ตกรอบไปแล้วเช่นกัน
ผมมักจะใช้เวลาว่างในช่วงตอนเย็นนั่งดูรายการต่างๆ ทางโทรทัศน์ บางครั้งที่ผมไม่ว่าง ไม่ว่าจะเรียน ทำงานพิเศษ หรือต้องทำธุระใดๆ บางครั้งผมก็ตั้งวิดีโออัดรายการที่ดูอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีทั้งละคร, ซิทคอม, รายการประเภทเรียลลิตี้, หนัง และรายการพิเศษๆ ต่างๆ แล้วมานั่งดูภายหลัง
ที่ออสเตรเลียมีสถานีโทรทัศน์ประเภทฟรีทีวีหลักๆ ห้าช่องด้วยกัน คือ ช่องเก้า (Nine Network), ช่องสิบ (Ten Network), ช่องเจ็ด (Seven Network), ABC และ SBS
ปัจจุบันคนออสเตรเลีย 99% มีโทรทัศน์อย่างน้อยหนึ่งเครื่อง 65% มีอย่างต่ำสองเครื่อง และ 26% มีสามเครื่องขึ้นไป คนออสเตรเลียใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์ 3.2 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่คนออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 4.3 ชั่วโมง
ในปี 2004 ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ต่างๆ มีรายได้จากโฆษณารวมกัน 3,300 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (หนึ่งเหรียญออสเตรเลียประมาณ 29-30 บาทไทย) และคาดการณ์ว่า โทรทัศน์จะมีรายได้เติบโตสูงที่สุดเหนือสื่ออื่นๆ ในปีนี้ โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 13% นั่นคือรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,700 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นช่วงเดือนเริ่มต้นของการวัดเรตติ้งอย่างเป็นทางการของแต่ละปี (คล้ายๆ ปีงบประมาณในทางการเงิน) ซึ่งผมขอเรียกว่า ปีเรตติ้ง นั่นคือ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่แต่ละช่องนำเสนอรายการใหม่ๆ และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่อาจจะสามารถ ตัดสินว่า สถานีช่องนั้นๆ จะเติบโต, เสมอตัว, หรือย่ำแย่ในแต่ละปี ดังนั้นในช่วงก่อนจะถึงเดือนกุมภาพันธ์ จึงเป็นช่วงที่ขับเคี่ยวกันอย่างหนักระหว่างสถานีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเสนอผังรายการใหม่ให้แก่บริษัทต่างๆ ที่จะมาลงโฆษณา, การวิ่งวุ่นเพื่อหารายการดีๆ เรตติ้งสูงๆ จากต่างประเทศ ที่แน่นอนว่าจะต้องแย่งกันอย่างหนัก และการจัดโฆษณาประชาสัมพันธ์รายการเหล่านี้ให้กับผู้ชมทางบ้านเฝ้ารอคอยที่จะได้ชม
ต้องเข้าใจก่อนครับว่า รายการทีวีในออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นรายการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ
เนื่องจากประเทศออสเตรเลียใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพูดอยู่แล้ว การนำเข้ารายการจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษด้วยกันจึงเป็นเรื่องปกติ และง่ายต่อการจัดการ แต่ที่ยากคือ ค่าลิขสิทธิ์ในการนำมาฉายต่างหาก
นอกจากนั้นยังมีรายการกีฬา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการกีฬาที่แข่งในประเทศออสเตรเลียเอง ไม่ว่าจะเป็นรักบี้, ออสเตรเลียนฟุตบอล, คริกเกต, กอล์ฟ และเทนนิสออสเตรเลียนโอเพ่น ซึ่งถือเป็นกีฬาหลัก และมีแฟนๆ ติดตามอย่างหนาแน่น ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดจะต้องแย่งชิงกันระหว่างช่องฟรีทีวีต่างๆ และยังมีรายการกีฬาที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ, รถแข่ง, เทนนิส ฯลฯ ในขณะที่ซอกเกอร์ (หรือฟุตบอลของบ้านเรา) ไม่ค่อยได้รับความสนใจนัก
ปลายปีที่แล้ว ช่องเจ็ดเพลี่ยงพล้ำจากเรตติ้งที่ค่อนข้างย่ำแย่ โดยเรตติ้งของช่องเจ็ดสู้เรตติ้งช่องสิบยังไม่ได้ ซึ่งปกติช่องสิบถือว่ามีเรตติ้งรายการที่ไม่ค่อยดีนัก และมักจะถูกจัดอยู่ในอันดับสามของช่องที่มีคนดูในแต่ละปี ไม่ต้องพูดถึงช่องเก้าที่ปีกลายนำหน้าไปมาก ปลายปีที่แล้วนักวิเคราะห์ในวงการทีวีจึงไม่ฝากความหวังใดๆ ไว้กับช่องเจ็ด
แต่ช่องเจ็ดกลับเริ่มต้นปีนี้อย่างชนิดที่เรียกว่า เป็นการกลับคืนสู่สนามอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการนำสองรายการที่ถือว่าสามารถเรียกแฟนๆ กลับมาได้จริงๆ คือ Desperate House-wives และ Lost สองรายการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศสหรัฐอเมริกา
Desperate Housewives เป็นละครที่กล่าวถึงผู้หญิงห้าคนที่เป็นเพื่อนบ้านกันในหมู่บ้าน ชานเมืองที่ดูอบอุ่นแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมืองที่ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นล้วนอยู่ในความสนใจของทุกคน ละครเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยหนึ่งในห้าของเพื่อนผู้หญิงกลุ่มนี้ยิงตัวตาย จากนั้นเธอทำหน้าที่เป็นคนเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากการตายของเธอจากบนสวรรค์ เรื่องราวภายหลังการตายของเธอ ที่ตัวละครในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเธอ ไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงฆ่าตัวตายและพยายามหาสาเหตุ, เรื่องของเพื่อนบ้าน ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยหลายๆ อย่าง, ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก เพื่อนบ้าน, ความสับสนวุ่นวายในชีวิตประจำวันที่บางครั้งนำไปสู่จุดจบที่คาดไม่ถึง
Lost กล่าวถึงชีวิตของผู้รอดตาย 48 คน จากอุบัติเหตุเครื่องบินตกบริเวณใกล้ชายฝั่งของเกาะแห่งหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะที่มีเรื่องราวแปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงสัตว์ประหลาดที่คนดูอย่างเราๆ มองไม่เห็นรูปร่างหน้าตาที่แท้จริง ชีวิตของคนแต่ละคนในกลุ่มนั้นก็ผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ บ้างก็ลึกลับ แปลก และน่าติดตามค้นหา พวกเขาทั้งหมดต้องมาอาศัยอยู่บนเกาะด้วยกัน เกาะที่พวกเขายังไม่รู้ว่าอยู่ที่แห่งไหนบนโลก พวกเขาจึงเหมือน Lost ไปจากโลก และพวกเขาจะต้องพยายามหาทางที่จะกลับไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงให้ได้
สองรายการนี้ถือเป็นหมัดเด็ดของช่องเจ็ดอย่างแท้จริง เพราะนับจากเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นเดือนเริ่มต้นของปี เรตติ้งช่องเจ็ดเอาชนะช่องเก้าไปได้สี่ในหกสัปดาห์แรก โดยช่องเจ็ดมีส่วนแบ่งคนดูเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีกลาย ในขณะที่ช่องเก้ามีคนดูลดลง 10% และช่องสิบคนดูลดลงเช่นกัน 6%
ช่วง 6- 8 สัปดาห์แรกของปีเรตติ้งถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นช่วงที่คนดูจะตัดสินใจว่าจะดูอะไร ซึ่งบริษัทที่โฆษณาก็จะตัดสินใจได้ว่าจะเทงบโฆษณาไปที่ช่องไหน ปีที่แล้วช่องเจ็ดเริ่มต้นหกสัปดาห์แรกได้ย่ำแย่ ส่งผลให้เรตติ้งแย่ไปทั้งปี
ในขณะที่ช่องเก้า หลังจากที่ซีรี่ส์ Friends จบลงเมื่อปีกลายแล้ว ยังไม่มีรายการที่เรียกว่าเป็นหมัดเด็ดจริงๆ ถึงแม้ว่ารายการประเภทสืบสวนสอบสวนอย่าง CSI จะยังคงครองใจคนดูออสเตรเลียอยู่ก็ตาม
นอกจากนี้รายการเรียลลิตี้ทีวีในออสเตรเลียที่หลายๆ ช่องชอบนำมาฉายก็เรียกว่าอยู่ในขั้นทรงตัว หรือย่ำแย่ลง เพราะดูเหมือนจะมีมากจนล้นจอทีวี ทำให้คนดูเกิดความเบื่อหน่าย
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามดูการแข่งขันในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ที่ช่องสิบจะเริ่มต้นรายการ Big Brother ของปีนี้ ซึ่งรายการนี้ของช่องสิบถือว่าเรียกความสนใจของคนดูได้ตลอด นอกจากนี้สองสามเดือนถัดไปก็จะเป็น Australian Idol ซึ่งเป็นรายการประกวดร้องเพลงที่สร้างนักร้องชื่อดังคับประเทศมาแล้วก็จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งคนดูอีก
อย่างไรก็ดี มีสองสถานการณ์ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงในธุรกิจทีวีของออสเตรเลีย คือ เรื่องการเปลี่ยนสัญญาณที่ใช้ในการถ่ายทอดทีวีจากอนาล็อกเป็นดิจิตอล และการก่อกำเนิดของหน่วยงานกำกับวงการสื่อสารมวลชนหน่วยงานใหม่
เดิมออสเตรเลียมีหน่วยงานกำกับเกี่ยวกับการแพร่ภาพและการสื่อสารสองหน่วยงาน คือ Australian Broadcasting Authority (ABA) และ Australian Communications Authority (ACA) ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สองหน่วยงานนี้จะรวมตัวกันกลายเป็นหน่วยงานใหม่ที่ชื่อว่า Australian Comunications and Media Authority (ACMA)
ก่อนหน้านี้หน่วยงานกำกับสื่อทั้งสองของออสเตรเลีย ถูกมองว่าเป็นเสือกระดาษ เพราะดูเหมือนมีอำนาจ แต่ไม่สามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างแท้จริง ทำให้เกิดกรณีที่เป็นที่ถกเถียงในวงการสื่อมวลชนออสเตรเลียมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองข้ามสื่อของทีวี วิทยุ และ หนังสือพิมพ์ ซึ่งส่งผลทำให้ผู้เป็นเจ้าของสื่อมีอำนาจมากเกินไป, การพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์, การแปรรูป Telstra ซึ่งเป็นหน่วยงานคล้ายๆ กับองค์การโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทยของบ้านเราที่ยืดเยื้อมานานหลายปี การให้ใบอนุญาตในการทำกิจการบรอดแบนด์ บริการบนมือถือ 3G และอินเทอร์เน็ต
และหลายๆ คนก็กำลังดูว่า หน่วยงานใหม่นี้จะเป็นเสือกระดาษอีกหรือไม่
สำหรับเรื่องการเปลี่ยนสัญญาณถ่ายทอดทีวีนั้น ปัจจุบันเกือบทุกสถานีส่งสัญญาณในระบบดิจิตอลอยู่แล้ว ส่วนที่ช้าคือ ส่วนของผู้ชมที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2008 เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ทุกบ้านจะเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทั้งหมด
ตอนนี้ผมไม่ต้องนั่งลุ้นตัวแทนจากบริสเบนอีกแล้ว แต่ผมยังต้องติดตามดูว่า ทำไม Mary Alice Young ถึงฆ่าตัวตายในเรื่อง Desperate Housewives แล้วแจ็ค (พระเอกในเรื่อง Lost) จะนำเพื่อนๆ รอดพ้นจากเกาะประหลาดแห่งนี้ได้หรือไม่
|