|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2548
|
|
อีกไม่นานตำนานเรื่องใหม่ของโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งบนที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม หรืออาคารศุลกากร ซึ่งเคยสวยงามและทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมมานานกว่า 100 ปี
อาคารหลังนี้มีพื้นที่ตั้งติดกับสถานทูตฝรั่งเศสต่อเชื่อมกับ โรงแรมโอเรียนเต็ลและตึกอี๊สต์เอเชียติ๊ก ปัจจุบันเป็นที่ทำการของตำรวจน้ำ และสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และด้วยข้อจำกัดของงบประมาณในการดูแลรักษา ตัวอาคารเลยดูเก่าแก่ร่วงโรย ความสวยงามที่เคยเป็นที่เลื่องลือเห็นได้แต่เพียงรางเลือน
ทางกรมธนารักษ์ประกาศให้เอกชนเข้าร่วมประมูล เพื่อพัฒนามาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยมีบริษัทพัฒนาที่ดินกลุ่มที่ทำคะแนนขับเคี่ยวกันมาโดยตลอดคือ กลุ่มแนเชอรัล พาร์ค (ประกอบไปด้วยบริษัทอามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซลลิมิเต็ด และบริษัทซิลเวอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด) และกลุ่มที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเป็นเจ้าของตึกอี๊สต์เอเชียติ๊ก และศูนย์การค้าโอ.พี.เพลส ในซอยโอเรียนเต็ลในบริเวณริมน้ำอยู่แล้ว
ในที่สุดกรมธนารักษ์ได้คัดเลือกให้กลุ่มแนเชอรัล พาร์ค เป็นผู้ได้รับสิทธิและทำการลงนามในสัญญาร่วมทุน เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2548 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า เสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด และมีแนวคิดของรูปแบบในการพัฒนารวมทั้งแผนด้านการตลาดน่าสนใจที่สุด
โดยจ่ายเงินให้ทางกรมธนารักษ์ในเรื่องค่าธรรมเนียมจัดหาผลประโยชน์ 125 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารชดเชยกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังมูลค่าประมาณ 153 ล้านบาท ผลตอบแทนค่าเช่ารายปี รวมเวลา 30 ปี 1,346.3 ล้านบาท
ในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่นี้ แนเชอรัล พาร์ค จะพัฒนาเป็นโรงแรมหรูในเชิงอนุรักษ์โบราณสถาน (Heritage Development) ที่ต้องถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณีของไทย และมีจำนวนห้องพักไม่มากนักเพียง 33 ห้อง โดยหวังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายระดับเอบวก
โรงแรมใหม่นี้ชื่อว่า 'อามันรีสอร์ท กรุงเทพ" ประกอบด้วยอาคารโบราณเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 หลัง และสร้างใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 อาคาร อาคารเดิมหลังแรกสูง 4 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 1,080 ตารางเมตร จัดให้เป็นห้องแสดงสินค้าโอทอป (OTOP) ห้องแสดง งานศิลปะ ร้านอาหาร และสปา หลังที่ 2 สูง 4 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,200 ตารางเมตร เป็นห้องอาหาร ห้องประชุม ห้องสมุด ห้องฝึกโยคะ ห้องทำสมาธิ รวมทั้งห้องสวีตหรู จำนวน 3 ห้อง หลังที่ 3 สูง 2 ชั้น พื้นที่เพียง 520 ตารางเมตร ถูกจัดให้เป็นส่วนบริการต่างๆ
ส่วนอาคารที่สร้างใหม่หลังแรกสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น พื้นที่ทั้งหมด 9,800 ตารางเมตร ทอดยาวไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ประกอบไปด้วยห้องสวีตหรู 30 ห้อง พื้นที่แต่ละห้อง เฉลี่ยแล้วไม่เกิน 100 ตารางเมตร
หลังที่ 2 เป็นส่วนสำนักงานสูง 5 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น พื้นที่ 750 ตารางเมตร มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานไปกับอาคารโบราณเดิม
Edward Tuttle สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของกลุ่มอามันรีเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบร่วมกับบริษัท Tandem Architects ผลงานของ Edward เช่น โรงแรมอามันปุรีที่ภูเก็ต โรงแรมอามันกิลาที่อินโดนีเซีย หรือการบูรณะโรงแรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กลับมาใช้งานที่สอดคล้องกับรูปลักษณ์อาคารอีกครั้งหนึ่งของโรงแรม พาร์ค ไฮแอท มิลาน
เมื่อได้ 'แบรนด์" ของอามันรี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหนึ่งในผู้บริหารโรงแรมหรูแห่งหนึ่งของโลก เข้ามาร่วมทุนและบริหาร เสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการบริษัทแนเชอรัล พาร์ค จึงมั่นใจว่ามูลค่าการลงทุน 1,120 ล้านบาทนั้น สามารถคืนทุนได้ในเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยจะเริ่มลงมือก่อสร้างเร็วๆ นี้ และใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีในการพัฒนา
และเมื่อถึงเวลานั้นหากไม่มีอะไรผิดพลาด ภาพความรุ่งเรืองแห่งอดีตของอาคารที่เคยใช้เป็นที่เลี้ยงต้อนรับแขกต่างประเทศ เป็นสถานที่เต้นรำเมื่อคราวพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งงานสมโภชเมื่อพระองค์เสด็จนิวัตจากยุโรปครั้งที่ 2 ก็จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
|
|
|
|
|