|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2548
|
|
10 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดว่า ธวัช เชิดสถิรกุล จะสามารถพลิกฟื้นผืนดินที่เคยใช้เป็นที่ตั้งโรงบ่มใบยาสูบเก่าที่เลิกกิจการไปแล้วนำมาปรับปรุงใหม่เป็น boutique hotel ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้เหมือน
โรงบ่มใบยาสูบจำนวน 6 หลังจากที่มีอยู่ทั้งหมด 50 หลัง ซึ่งถูกสร้างเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ภายในพื้นที่ 43 ไร่ ริมถนนเชียงใหม่-ฮอด ถูกนำมาปรับปรุงทันทีที่ธวัช เชิดสถิรกุล ตัดสินใจว่าจะยุติกิจการโรงบ่มใบยาสูบเก่าแก่อายุกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นกิจการที่เขาซื้อต่อมาจากเพื่อนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
โรงบ่มทั้ง 6 หลัง ถูกปรับปรุงเป็นห้องพัก โดยในระยะแรกเขาคิดเพียงว่าจะใช้เพื่อต้อนรับพรรคพวกเพื่อนฝูงที่จะมาเยี่ยมเยียน หรือมาเที่ยวที่นี่
ด้วยความที่ยังไม่เคยทำธุรกิจโรงแรมมาก่อน การปรับแต่งสถานที่ จึงทำโดยไม่ได้มีแบบแผน และทำโดยค่อยๆเป็นค่อยๆ ไป
ธวัชเป็นคนที่รักต้นไม้ ตอนที่เขาซื้อกิจการแห่งนี้มาจากเพื่อนใหม่ๆ หลายคนเคยสงสัยว่า ทำไมเขายังเก็บต้นไม้ใหญ่ๆ หลายต้นที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้เอาไว้ ไม่ยอมโค่นทิ้ง
ตรงกันข้าม เขากลับปลูกเพิ่มขึ้นอีกจนพื้นที่ที่เคยเป็นโรงบ่มใบยาโล่งๆ มีสภาพคล้ายกับป่า ที่มีโรงเรือนของโรงบ่มใบยาตั้งอยู่เป็นตัวประกอบ
จนเมื่อมาถึงวันนี้ ต้นไม้เหล่านี้ กลับกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของพื้นที่ ที่เขากำลังปรับปรุงใหม่ให้เป็นที่พักของนักท่องเที่ยว เพราะต้นไม้แต่ละต้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี บางต้นอาจถึง 100 ปี
ด้วยความที่ธวัชเป็นคนที่ชอบสะสมของเก่า ของสิ่งใดที่ดูแล้วเข้ากับห้องพักที่ถูกปรับปรุงขึ้นมาใหม่ได้ ก็จะถูกนำไปจัดวางไว้ทันที
เขาใช้เวลาปรับปรุงโรงบ่มใบยาทั้ง 6 หลัง อยู่ประมาณ 3 ปีก็เริ่มเปิดให้บริการ
ปรากฏว่าคนที่ได้มาใช้บริการต่างชอบใจกับคอนเซ็ปต์ของโรงแรมที่สร้างขึ้นจากโครงสร้างของโรงบ่มใบยาสูบเก่าที่เลิกกิจการไปแล้วของเขา และเริ่มพูดถึงแนะนำกันแบบปากต่อปาก จนในที่สุดก็เริ่มมีเอเย่นต์ในธุรกิจท่องเที่ยวของเชียงใหม่เข้ามาติดต่อ เพื่อขอส่งลูกค้ามาให้
ทั้งหมดข้างต้นมาจากคำบอกเล่าของจักร์ เชิดสถิรกุล บุตรชายคนเล็กของธวัชกับ "ผู้จัดการ" เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นเขาเพิ่งมีอายุเพียง 15 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวของ "เก๊าไม้ล้านนา"
"ผมโตมากับที่นี่" จักร์บอก
ทุกวันนี้เก๊าไม้ล้านนา ถือเป็น boutique hotel ที่ได้รับความนิยมอีกแห่ง หนึ่ง เป็น 1 ใน 6 สมาชิกของกลุ่ม Hotel de Charm และถือได้ว่าเป็นสมาชิกที่เอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากผู้อื่น
เป็นตัวอย่างของการประยุกต์นำทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่ของธุรกิจใบยาสูบ ซึ่งเป็นธุรกิจเก่าแก่ที่อยู่คู่กับแผ่นดินล้านนา มามากกว่า 100 ปี แต่ต้องล่มสลายไปตามวัฏจักร ส่วนสัญลักษณ์ที่หลงเหลืออยู่กลับกลายเป็นจุดขายให้กับอีกธุรกิจหนึ่ง ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ คือธุรกิจท่องเที่ยว ที่เพิ่งเข้ามาสู่แผ่นดินแห่งนี้เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว
"ที่นี่คอนเซ็ปต์มันชัดมาตั้งแต่ต้น คือมีโรงบ่มใบยาสูบ คุณพ่อรักต้นไม้ ความเป็นล้านนามันมีอยู่แล้วในตัว ทั้ง 3 สิ่งนี้ต่างผสมผสานกันอยู่ที่นี่ แล้วเราก็เกาะอยู่กับ 3 สิ่งนี้มาตลอด"
จักร์ได้เข้ามาช่วยธวัชดูแลกิจการเก๊าไม้ล้านนา เมื่อต้นปี 2546 หลังจากเรียนจบเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2544 และไปเรียนต่อที่เมืองจีนอีก 1 ปี
ธวัช บิดาของจักร์เป็นคนเชียงใหม่ ส่วนขนิษฐา มารดาเป็นคนอุดรธานี ทั้งคู่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเริ่มต้นทำธุรกิจขายเคมีภัณฑ์การเกษตร ในนามร้านเคมีกิจเกษตรอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่
ทุกวันนี้ธวัชใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่เก๊าไม้ล้านนา โดยมีจักร์คอยช่วย ส่วนกิจการเคมี กิจการเกษตร ขนิษฐาคอยดูแลอยู่เป็นหลัก
ปัจจุบัน จักร์เพิ่งอายุ 25 ปี ถือว่าหนุ่มที่สุดในสมาชิกของ Hotel de Charm
ในวันที่เขาสนทนากับ "ผู้จัดการ" เป็นวันที่เขาต้องเตรียมตัวเพราะอีกเพียง 3 วัน เขาต้องเดินทางเพื่อไปศึกษาต่อ MBA สาขา Entrepreneurship ที่ Babson College แมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี โดยจะมีขัตติรัตน์ พี่สาวซึ่งเพิ่งจบปริญญาโท สาขา Cultural Management จากฝรั่งเศส กลับมาเปลี่ยนมือช่วยบิดาดูแลกิจการเก๊าไม้ล้านนาต่อในเดือนมิถุนายน
"ที่นี่อาจมีจุดด้อยอย่างหนึ่ง คือไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ใกล้ๆ แม้จะเป็นทางสำหรับไปขึ้นดอยอินทนนท์ แต่จุดเด่นของที่นี่คือมีประวัติศาสตร์ เรามีเรื่องราวของที่นี่ ผมสามารถชี้ได้หมดเลยว่าตึกไหนใช้ทำอะไรมาก่อน รวมทั้งมีบ่อน้ำที่มีมาตั้งแต่ก่อนสร้างโรงบ่ม เป็นแหล่งน้ำที่เดียวของที่ดินกว่า 40 ไร่ย่านนี้ในอดีต" เขาบอกถึงจุดเด่นจุดด้อยของโครงการ
"การพัฒนาที่นี่ต่อไป ก็คงจะเป็นการดึงเรื่องราวมาเป็นจุดเด่น แขกที่มาที่นี่เราไม่อยากให้เขารู้สึกว่าแค่เป็นโรงแรม แต่มีเรื่องราวมีธรรมชาติให้เขาศึกษา ไม่ใช่ให้มาเพียงเพื่อพักผ่อนอย่างเดียว เพราะถ้าต้องการอย่างนั้น เขาไปที่ไหนก็ได้"
ปัจจุบันจากโรงบ่มใบยาที่มีอยู่ 50 กว่าหลัง ถูกนำมาปรับปรุงเป็นห้องพักเพียง 18 หลัง แบ่งออกเป็น 36 ห้อง โรงบ่มส่วนที่เหลืออีก 30 กว่าหลัง อยู่ในแผนการขยายงาน ซึ่งมีการร่างแบบแผนคร่าวๆ เอาไว้เรียบร้อยแล้ว
แผนดังกล่าวจะมีการนำโรงบ่มใบยามาปรับปรุงอีกประมาณ 5 หลัง แต่รูปแบบการปรับปรุง คงไม่ให้เป็นลักษณะอพาร์ตเมนต์เหมือนกับ 18 หลังแรก แต่จะพยายามสร้างจุดเด่นของแต่ละหลังให้แตกต่างกัน นอกจากนี้อาจจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับ ใบยา และโชว์รูมของเก่าที่บิดาของเขายังคงมีสะสมเอาไว้อยู่
อีก 1 ปีข้างหน้า เมื่อจักร์เรียนจบทางด้าน Entrepreneurship ได้กลับมาอยู่คู่กับขัตติรัตน์พี่สาว ที่มีดีกรีทางด้าน Cultural Management พร้อมหน้าพร้อมตากันกับบิดา-มารดาแล้ว รูปแบบการพัฒนาเก๊าไม้ล้านนา คงจะเพิ่มเสน่ห์และสีสันมากขึ้นกว่านี้ไปอีก
|
|
|
|
|