|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2548
|
 |

ผลการศึกษาล่าสุดเผยคำตอบว่า ความหลากหลายแบบใดที่ต้องมีในทีม จึงจะทำให้ทีมเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์
ประธานาธิบดี George W. Bush ได้รับเสียงชื่นชมไปทั่ว ที่ได้จัดตั้งรัฐบาลที่มีความหลากหลายอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเขาแต่งตั้ง Condo leezza Rice สตรีผิวดำคนแรก เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
ใช่จะเป็นเพราะความหลากหลายทางเชื้อชาติเช่นนี้หรือไม่ ที่จะทำให้รัฐบาลชุดนี้สามารถจะคิดหาวิธีใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโลกได้ ตามที่เชื่อกันมานานในแวดวงการบริหารจัดการว่า การที่ทีมงานมีสมาชิกที่มีความหลากหลายจะเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์
เป็นความคิดง่ายๆ ที่เชื่อกันมานานหลายปีว่า หากคนที่มีมุมมองที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกัน พวกเขาจะตั้งคำถามถึงวิธีคิดและวิธีทำงานซึ่งกันและกัน และการปะทะกันของความแตกต่างในวิธีการมองโลกที่หลากหลายนี้เอง คือบ่อเกิดของความคิดใหม่ๆ หรือความคิดสร้างสรรค์
ทว่าความหลากหลายในรูปแบบใดเล่า ที่มีความสำคัญที่สุด และจะเป็นแหล่งกำเนิดความคิดสร้างสรรค์ได้จริงๆ และนี่คือสิ่งที่นักวิจัยแห่ง Northwestern University ได้ลงมือค้นหาคำตอบ
และผลการศึกษาที่ได้ ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Science เมื่อไม่นานมานี้ก็ชี้ว่า แม้ว่าความหลากหลายของสมาชิกในทีมจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความหลากหลายในแง่ของความต่างเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือเพศของสมาชิกภายในทีม อาจไม่ใช่ความหลากหลายที่สำคัญที่สุด ที่จะเป็นแหล่งกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์
นักวิจัยศึกษาเรื่องนี้ด้วยการเปรียบเทียบทีมที่ประสบความสำเร็จกับทีมที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่า เพื่อดูว่าแต่ละทีมมีองค์ประกอบของสมาชิกในทีมต่างกันอย่างไร
นักวิจัยเลือกศึกษาทั้งในแวดวงวิชาการและในแวดวงศิลปะ โดยการศึกษาในวงวิชาการกำหนดว่า ทีมที่ประสบความสำเร็จคือทีมที่เอกสารทางวิชาการของทีมได้รับการอ้างอิงมากกว่า
ส่วนในแวดวงศิลปะ ได้เลือกศึกษาละครเพลง Broadway โดยดูว่า ทีมสร้างละคร Broadway ซึ่งต่างก็มีการผสมผสานผู้ประพันธ์ทำนอง คำร้อง ผู้กำกับและตำแหน่งอื่นๆ แตกต่างกันไป มีผลต่อความสำเร็จของละครเรื่องหนึ่งๆ อย่างไร โดยวัดจากจำนวนสัปดาห์ละครเพลงนั้นได้ลงโรง
สิ่งที่นักวิจัยค้นพบคือ ทีมที่ประสบความสำเร็จมากกว่าจะมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ 2 อย่าง อย่างแรก ทีมเวิร์กที่ประสบความสำเร็จ จะเป็นทีมที่มีการผสมผสานระหว่างสมาชิกที่มีประสบการณ์กับสมาชิกใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
ผลการค้นพบนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วว่า เลือดใหม่หรือคลื่นลูกใหม่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความสำเร็จ
แต่สิ่งที่น่าประหลาดอยู่ที่การค้นพบประการที่สอง นักวิจัยได้ค้นพบว่า ทีมที่ประสบความสำเร็จทุกทีม จะมีคุณสมบัติประการที่สองเหมือนกัน นั่นคือ สมาชิกกลุ่มที่เป็นพวกที่มีประสบการณ์จะเป็นคนที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนเลย
Luis Amaral นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัย Northwestern และหนึ่งในสองเจ้าของผลงานวิจัยดังกล่าวชี้ว่า ปกติแล้ว เรามักต้องการจะทำงานร่วมกับเพื่อน หรืออีกนัยหนึ่งคือ คนที่เราเคยทำงานด้วยมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลการวิจัยของเขากำลังชี้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด
ตัวอย่างที่ยืนยันในการค้นพบข้อนี้อย่างชัดเจน คือละครเพลง Broadway เรื่อง West Side Story ซึ่งถือเป็นละครเพลงที่มีนวัตกรรมก้าวหน้ามากที่สุดเรื่องหนึ่ง ไม่เพียงท่าเต้นและดนตรีที่แปลกใหม่ที่ใช้ในการเล่าเรื่องเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของทีมงานที่สร้างสรรค์ละครเพลงเรื่องนี้ ยังประกอบด้วยคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยทำละคร Broadway มาก่อน (Steven Sondheim ผู้เขียนคำร้อง) ผสมผสานกับผู้ที่มีประสบการณ์อีกหลายคนที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน (Leonard Bernstein ผู้ประพันธ์ไม่เคยทำงานร่วมกับ Peter Gennaro ผู้ออกแบบท่าเต้น)
ตรงข้าม ผู้วิจัยค้นพบว่าช่วงระหว่างปี 1920-1930 คือช่วงเวลาที่ละครเพลง Broadway ตกต่ำมากที่สุดนั้น กลับเป็นช่วงที่มีแต่ผลงานของมือระดับพระกาฬของ Broadway ทั้งนั้น (Cole Porter, Gilbert, Sullivan, Rodgers และ Hammerstein)
ปัญหาก็คือ ผู้คร่ำหวอดเหล่านี้มักเลือกที่จะทำงานร่วมกับคนที่พวกเขาเคยร่วมงานด้วยครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งผลให้ช่วง 10 ปีนั้น 87% ของละคร Broadway ประสบความล้มเหลว (ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยความล้มเหลวของละครเพลงซึ่งอยู่ที่ 75%)
ผลการศึกษานี้ยังพบอย่างน่าสนใจด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ทำงานด้านการประดิษฐ์คิดค้น เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าเหตุใด Silicon Valley ชุมชน ซึ่งเป็นที่รวมของบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดังของสหรัฐฯ จึงสามารถให้กำเนิดบริษัทแปลกๆ ใหม่ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลการศึกษาก็ชี้ว่าเป็นเพราะใน Silicon Valley ประกอบด้วยคนจำนวนมาก ซึ่งเคยรู้จักกันมาก่อน ในช่วงที่เริ่มชีวิตการทำงานใหม่ๆ
ตรงข้าม หากคนยังเลือกที่จะทำงานร่วมกับคนหน้าเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา พวกเขาก็มักจะแยกตัวออกจากเพื่อนร่วมอาชีพที่อยู่ในบริษัทอื่นๆ ซึ่งก็จะทำให้ชุมชนนั้นๆ ไม่สามารถผลิตนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ๆ ออกมาได้เหมือนอย่างที่ Silicon Valley ทำได้
การศึกษานี้ยังแนะด้วยว่า เราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดหาทีมเวิร์กที่มีความหลากหลาย ในแง่ของคนที่มีประสบการณ์เหมือนกันแต่ยังไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนได้
บริษัท Tacit Knowledge Systems ในแคลิฟอร์เนียได้คิดระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ที่มีความสนใจในอาชีพเดียวกันได้ โดยระบบดังกล่าวจะติดตาม email ทั้งหมดภายในบริษัทหรือองค์กร และตรวจดูว่าพนักงานมีความสนใจในเรื่องใด
เมื่อใดที่พนักงานคนใดต้องการหาทีมงาน เขาสามารถจะสอบถามจากระบบนี้ เพื่อให้หาคนที่เหมาะสมที่จะมาร่วมงาน โดยระบบจะแจ้งให้ทราบเมื่อค้นพบผู้ที่เหมาะสม ซึ่งมีความสนใจร่วมกันแต่ยังไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน
หนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่องค์กรต้องเผชิญอยู่เสมอ คือการพยายามหาวิธีที่จะทำให้สามารถดึงศักยภาพในการคิดสร้างสรรค์ขององค์กร ออกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด และผลการศึกษานี้ ซึ่งช่วยให้เรารู้ว่าควรจะจัดหาสมาชิกในทีมอย่างไร จึงจะทำให้ทีมสามารถสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ได้ ก็อาจจะเป็นก้าวแรกสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว
แปลและเรียบเรียงจาก Newsweek May 9, 2005
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
|
|
 |
|
|