ควอลิตี้เฮ้าส์ คาดปลายปี 2548 ถึงต้นปี 2549 ธปท.ให้ไลเซนส์เปิดให้บริการแบงก์เพื่อรายย่อย หนุนธุรกิจอสังหาฯกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ครบวงจร เน้นให้บริการสินเชื่อบ้าน ขณะนี้เตรียมเพิ่มทุนเครดิตฟองซิเอร์ แลนด์ 1,400 ล้านบาท ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 ล้านบาท นำไปซื้อหุ้นบุคคลัภย์ คาดปี 2550 อัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วหากรัฐดึงสภาพคล่องส่วนเกิน 4-5 แสนล้านบาท ใช้ในโครงการเมกะโปรเจกต์ เชื่อปี 2548- 2549 ดอกเบี้ยขึ้นไม่แรง
นายรัตน์ พานิชพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" การเข้าร่วมถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ว่า ประมาณปลายปี 2548 หรือต้นปี 2549 คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ตามขั้นตอนบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ซึ่ง QH ถือหุ้นอยู่ 27% และบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ถือ 43% จะต้องมีการเพิ่มทุนประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยสัดส่วนการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว แบ่งเป็น LH จะลงทุนประมาณ 661.36 ล้านบาท ส่วน QH ลงทุนประมาณ 414.96 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท โดยจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าวไปซื้อหุ้นของบริษัทเงินทุน บุคคลัภย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BC หลังจากนั้นจึงจะมีการติดตั้งระบบต่างๆ ให้เป็นตามข้อบังคับของ ธปท.
สำหรับเงินทุนในการเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธปท. ระบุไว้ว่าจะต้องมีทุนขั้นต่ำ 250-5,000 ล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยที่กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์จะร่วมจัดตั้งขึ้นจะมีเงินทุน 1,400 ล้านบาท และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 ล้านบาท
นายรัตน์ กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ที่ตั้งขึ้นจะเน้นการให้บริการสินเชื่อบ้าน เพราะเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญ ซึ่งจะทำให้กลุ่มบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจะพบว่า บริษัทเงินทุนที่มีการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ ใหม่นั้นจะประกอบธุรกิจลิสซิ่ง หรือเช่าซื้อรถยนต์
"การที่ QH และ LH ร่วมกันเข้าไปถือหุ้น บง. บุคคลัภย์ โดยบริษัทจะมีการรับโอนบุคลากรและสินทรัพย์จาก บง.บุคคลัภย์ ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท และจะดันให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นธนาคารพาณิชย์ในอนาคต เนื่องจากมองว่าจะช่วยสนับสนุนการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มได้ในอนาคต เน้นการ ปล่อย สินเชื่อซื้อบ้านที่บริษัทมีความถนัด แต่ขณะเดียว กันก็จะให้บริการสินเชื่อประเภทอื่นด้วยเช่น กัน"
อย่างไรก็ตาม ในการให้บริการสินเชื่อบ้านดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อตามมาตรฐานแบงก์พาณิชย์และกฎเกณฑ์ ธปท. ตลอดจนมีวินัยในการปล่อยสินเชื่อ นอกจากนี้ยังมองว่าบ้านเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เสื่อม แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทรงหรือมูลค่าเพิ่มขึ้นจากทำเลเท่านั้น อีกทั้งที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ทั่วไปก็ต้องการลูกค้าโครงการ ของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ไปเป็นลูกค้าสินเชื่อค่อนข้างมาก เนื่องจากลูกค้าบ้านของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์เป็นหนี้ที่มีปัญหาน้อยมาก
ขณะนี้ยังไม่มีการสรุปว่าธนาคารพาณิชย์ที่จะจัดตั้งขึ้นจะใช้ชื่อว่าอะไร โดยสถานที่ตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยจะอยู่ที่อาคารเฮ้าส์ ลุมพินี
ทั้งนี้โครงสร้างการบริหารของธนาคารพาณิชย์ เพื่อรายย่อย มีนายอนันต์ อัศวโภคิน เป็นประธานกรรมการ, นายชีระ สุริยาศศิน เป็นประธานกรรมการ บริหารและกรรมการผู้จัดการ, ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ, นายไพโรจน์ ไพศาลศรีสมสุข, นางสุวรรณา พุทธประสาท, นายนนท์จิตร ตุลยานนท์ และกรรมการตรวจสอบ ได้แก่ นายศิริ การเจริญดี นายอดุลย์ วินัยแพทย์, นายพิภพ วีระพงษ์
นายรัตน์ กล่าวแสดงความเห็นว่า ในช่วงปี 2548 และปี 2549 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ 400,000-500,000 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลดึงเม็ดเงินส่วนนี้ไปใช้เร็ว ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ เมกะโปรเจกต์ ซึ่งมูลค่า 1.75 ล้านล้านบาท จะทำให้ในอีกปีครึ่งข้างหน้านี้หรือประมาณ ปี 2550 สภาพคล่องส่วนเกินนี้ก็จะหมดลง
ดังนั้นในปี 2550 ดอกเบี้ยก็จะมีการปรับตัวที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทย ห่างจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา 0.5% ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพราะยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ ซึ่งขณะนี้ ธปท.มีเงินอยู่ประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็มีการสังเกตุว่าหากไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเม็ดเงินจะมีการไหลออกไปต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากเม็ดเงินไหลออกจริงธปท.ก็จะต้องทราบก่อนหน่วยงานอื่น
สำหรับการที่รัฐบาลจะต้องมีการลงทุนในสาธารณูปโภคต่างๆไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจจะมีการชะลอตัว การที่ภาคเอกชนไม่มีการลงทุน เนื่องจาก ในช่วงวิกฤตนั้นภาคเอกชนมีการลงทุนในจำนวนที่มาก ซึ่งในปัจจุบันก็จะเป็นลักษณะการสานต่อ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนเพิ่ม
|