คงรู้จักหนังสือพิมพ์ฉบับนี้กันนะคะ เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) แม้บางคนอาจจะไม่เคยอ่าน แต่อย่างน้อยก็คงเคยได้ยินชื่ออยู่บ้าง
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของโลก
และทรงอิทธิพลอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ว่ากันว่า เมื่อเรื่องใดได้ขึ้นหน้าหนึ่งของนิวยอร์กไทมส์ล่ะก็
จะต้อง "เป็นเรื่อง" ขึ้นมาทันที
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์บอสตันโกลบ (Boston Globe)
ได้เจาะลึกเรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายของพระคาทอลิก
ซึ่งปล่อยปละละเลยกันมานาน แม้จะทำได้ดีมากแต่ก็ไม่ฮือฮาเท่าใดนัก แต่เมื่อนิวยอร์กไทมส์หยิบเรื่องนี้มาขึ้นหน้าหนึ่ง
กลับส่งผลสะเทือนออกไปอย่างกว้างขวาง
เมื่อเป็นเช่นนี้ การเป็นบรรณาธิการ ใหญ่ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จึงไม่อาจถือ
ว่า "ธรรมดา"
นิวยอร์กไทมส์เพิ่งเปลี่ยนตัวบรรณาธิการบริหาร หรือ Executive Editor ไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
และเนื่องจากเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐฯ เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในช่วงเดียวกัน
จึงอาจจะทำให้หลายคนไม่ได้รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
บรรณาธิการคนใหม่เป็น "ลูกหม้อ" ไม่ใช่ "คนนอก"
เฮาว์เอลล์ เรนส์ (Howell Raines) ค่อนข้างจะต่างจากบรรณาธิการบริหารคนก่อนหน้าเขาอยู่บ้าง
เพราะอย่าง โจ ลีลิเวลด์ (Joe Lelyveld) ก็จบจาก Harvard ส่วน แมกซ์ แฟรงเกล
(Max Frankel) ก็จบจาก Columbia แต่เรนส์จบปริญญาตรีจาก Birmigham-Southern
College (BSC) และจบปริญญาโททางด้านภาษาอังกฤษที่ University of Alabama
ซึ่งทั้งสองแห่งไม่ใช่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับไอวีลีก (Ivy League) ของสหรัฐฯ
นอกจากนั้น เรนส์ยังไม่ได้มีเชื้อสายของคนหนังสือพิมพ์มาแต่ดั้งเดิม
เรนส์มาร่วมกับนิวยอร์กไทมส์ เมื่อ ปี 2521 ในฐานะผู้สื่อข่าวประจำที่แอตแลนตา
และในปีถัดมา เขาก็ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าสำนักงานที่นั่น จนถึงปี 2524 จึงได้ย้ายไปเป็นผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว
ในระหว่างปี 2528 ถึง 2530 เรนส์เป็นรองบรรณาธิการประจำสำนักงานที่กรุงวอชิงตัน
ดี.ซี. หลังจากนั้น ก็ข้ามแอตแลนติกไปเป็นหัวหน้าสำนักงานที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เรนส์อยู่ที่ลอนดอนเกือบ 2 ปี ก่อนจะย้ายกลับมาเป็นหัวหน้าสำนักงานที่วอชิงตัน
ดี.ซี. และได้รับแต่งตั้งให้เป็นบรรณาธิการหน้าบทบรรณาธิการ (Editorial Page
Editor) ในเดือนมกราคม 2536
เป็นที่ทราบกันดีว่า หน้าบทบรรณาธิการของนิวยอร์กไทมส์นั้นมีชื่อเสียงมาก
และได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่านอย่างสูง
เรนส์เป็นชาวแอละแบมา เมื่อตอนอายุ 10 ขวบ ระหว่างที่แม่ของเขารื้อกองจดหมายและโยนนิตยสาร
"Field & Stream" ไปที่โต๊ะกินข้าว ด้วยติดตาต้องใจในหน้าตาของหนังสือ
เรนส์ถึงกับออกปากว่า สักวันหนึ่งเขาจะทำงานกับนิตยสารแบบนี้ ซึ่งผู้เป็นแม่ก็ตอบสนองลูกชายว่า
ไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะทำไม่ได้...
อาชีพนักหนังสือพิมพ์ของเรนส์เริ่มขึ้นในปี 2507 ที่ The Birmingham Post-Herald
ขณะเดียวกัน ก็ทำงานให้กับ The Tuscaloosa News และ WBRC-TV ในเบอร์มิงแฮม
ก่อนที่จะได้ร่วมงานกับนิวยอร์กไทมส์
ย่างก้าวบนเส้นทางอาชีพของเขา ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
เรนส์ได้ชื่อว่าเป็น "มืออาชีพ" ที่ไม่เข้าใครออกใคร...
สมัยที่เขาเป็นผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว เรนส์ได้สร้างความเดือดดาลให้กับทีมงานของประธานาธิบดีโรนัลด์
เรแกน (Ronald Reagan) อยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ ว่ากันว่า คนของเรแกนแทบจะไม่อยากได้ยินชื่อของเขาเลย
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขามีอคติกับรีพับลิกัน เพราะหลังจากเรแกน เขาก็มีความสัมพันธ์
อันดีกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George Bush) บิดาของประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ
พอมาถึงยุคของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน (Bill Clinton) ที่เดโมแครตครองอำนาจ
เรนส์ก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาจี๋จ๋ากับคลินตัน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
เมื่อมีเรื่องไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรณีไวต์วอเตอร์
(Whitewater) หรือกรณีของโมนิกา ลูวินสกี (Monica Lewinsky) เรนส์ซัดคลินตันเต็มเหนี่ยว
จนทำให้คลินตันเชื่อว่าเรนส์ซึ่งเป็น "คนใต้" ไม่พอใจกับความสำเร็จของเขา
และพลอยขนาดเกลียดหน้า บทบรรณาธิการของนิวยอร์กไทมส์ไปเลยทีเดียว
ในขณะที่เรนส์เองมองว่า เขาไม่ยอมเอาชื่อเสียงของหน้าบทบรรณาธิการนิวยอร์กไทมส์
ไปสนับสนุนนโยบายที่ไม่ดีและพฤติกรรมที่น่าสงสัยอย่างเด็ดขาด!
เรนส์ใช้มาตรฐานเดียวกันหมดทั้งกับรีพับลิกันและเดโมแครต!
มาถึงยุคที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิล ยู. บุช (George W. Bush) ขึ้นนั่งทำเนียบขาว
บรรดาที่ปรึกษาของบุชมองว่า เรนส์ เป็น "มืออาชีพ" แต่กระนั้น ก็ไม่วายที่จะจับตามองนิวยอร์กไทมส์ในยุคของเรนส์อย่างไม่วางตา
เรนส์วัย 59 ปี เป็นนักข่าวระดับมือรางวัล เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer
Prize) ในปี 2535 จากสารคดีเรื่อง "Grady's Gift" ซึ่งเขาเขียนให้กับนิตยสารนิวยอร์กไทมส์
(The New York Times Magazine) สารคดีชิ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำในวัยเด็กของเขา
และแกรดดี ฮัตชินสัน (Grady Hutchinson) แม่บ้านของครอบครัว
พูดถึงรางวัลพูลิตเซอร์ซึ่งถือกันว่าเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติที่สุดสำหรับสื่อมวลชน
สหรัฐฯ นิวยอร์กไทมส์นับเป็นองค์กรสื่อในสหรัฐฯ ที่ได้รับรางวัลนี้มากที่สุด
ตัวเลขล่าสุดที่ดิฉันมีอยู่ในมือ นิวยอร์กไทมส์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์มาจนถึงปีนี้รวม
108 รางวัลด้วยกัน
สำหรับงานเขียนอื่นๆ ของเรนส์ก็มีอยู่พอสมควร ปี 2536 เขาเขียนหนังสือเรื่อง
"Fly Fishing Through the Midlife Crisis" โดยก่อนหน้านั้น เขาเคยเขียนนวนิยายเรื่อง
"Whiskey Man" และเขียนบันทึกประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าเกี่ยวกับขบวนการสิทธิพลเมืองเรื่อง
"My Soul is Rested" ซึ่งสองเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2520 และมีผลงานในหนังสือ
"Campaign Money" ตีพิมพ์ในปี 2519
ที่นิวยอร์กไทมส์ ทุกวันนี้เรนส์ต้องประชุมข่าววันละ 3 รอบ
รอบแรกเวลา 10.30 น. เป็นการประชุมระหว่างเรนส์กับบรรณาธิการของห้องข่าวจำนวน
9 คน หลังจากนั้น เวลา 12.00 น. จะประชุมร่วมกับบรรณาธิการของส่วนแยกต่างๆ
และพอถึงเวลา 16.30 น. พร้อมหน้ากันอีกครั้ง เพื่อตัดสิน ใจร่วมกันว่า เรื่องใดจะได้ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้น
เกล คอลลินส์ (Gail Collins) ผู้ซึ่งขึ้นมาเป็นบรรณาธิการหน้าบทบรรณาธิการแทนเรนส์บอกว่า
เรนส์เป็นบรรณาธิการที่ดีที่สุดที่เธอเคยร่วมงานด้วย
ขณะที่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ มองว่า เรนส์เป็นบรรณาธิการประเภทเรียกร้องต่อเพื่อนร่วมงานสูง
และชอบรุกเร้า คนที่ชอบ ก็จะบอกว่าการร่วมงานกับเรนส์เต็มไปด้วยความตื่นเต้น
แต่บางคนพาลกลัวเขาไปเลยก็มี กระนั้น เขาก็มีความเป็นนักการทูตสูง...
เรนส์บอกว่าคนของนิวยอร์กไทมส์ทุกคนล้วนเป็นดาราสำหรับเขา
บอกแล้วไงคะว่า ไม่ธรรมดา!