|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ผลกระทบโครงการปลูกยางล้านไร่เหนือ-อีสานของ "กรมวิชาการเกษตร" ที่จับมือ "ซีพี" ผูกขาดการขายกล้ายางปรากฏเป็นภาพชัดในภาคใต้ เผยการทำ "กล้ายางตาสอย" กระจายเกลื่อนทั่วพื้นที่ ชี้เกิดจากความต้องการกล้ายางกว่า 90 ล้านต้น จึงมีการเข้าไปกว้านซื้ออย่างหนัก ส่งผลให้ผู้เพาะพันธุ์ ชาวสวน นายทุน คนทำอาชีพอื่นๆ แห่เข้ามาผลิตกล้ายางไม่ได้คุณภาพเพื่อแชร์ผลประโยชน์เพียบ ปชป.เตรียมตั้งคณะทำงานตรวจสอบทุจริตกล้ายางล้านไร่ พร้อมจี้รัฐผลักดัน พ.ร.บ.ยางแห่งประเทศไทยเพื่อการแก้ปัญหายางเป็นระบบไม่ใช่เอาการตลาดเป็นตัวนำ
ท่ามกลางการตั้งคณะกรรมการหลายชุดขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการส่งเสริมการปลูกยางล้านไร่ในภาคอีสานและเหนือของรัฐบาล ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานโครงการ และได้ทำสัญญาซื้อกล้ายางจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพีไปแล้ว 90 ล้านต้น โดยกำหนดให้มีการส่งมอบระหว่างปี 2547-2549 แต่เวลาผ่านไปเพียงแค่ปีเศษโครงการนี้ก็ได้เกิดปัญหาขึ้นมามากมาย
โดยเฉพาะกล้ายางที่ซีพีได้รับมอบและส่งต่อให้เกษตรกรในภาคอีสานและเหนือมีการตายจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการปลอมปนกล้ายางไม่ได้คุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตและรายได้ของเกษตรกรโดยตรงในอนาคต 6-7 ปี เมื่อมีการกรีดน้ำยางของต้นยางในโครงการฯ และที่สำคัญในช่วงเวลากว่าปีมานี้ก็ได้เกิดกระบวนการกว้านซื้อต้นกล้าพันธุ์ยางในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศ จนเกิดการปั่นป่วนในวงการค้าต้นกล้ายางในภาคใต้อย่างหนัก
จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดกล้ายางในพื้นที่ภาคใต้ของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่า ในช่วงปีเศษที่รัฐบาลทำโครงการส่งเสริมการปลูกยางล้านไร่ และมีความต้องการกล้ายางสูงถึงกว่า 90 ล้านต้น ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกล้ายางแหล่งใหญ่ของประเทศ ขณะนี้ในหลายจังหวัดได้เกิดการแพร่ระบาดของแปลงยางตาสอยอย่างเกลื่อนกลาดและพบเห็นได้ชัดเจน ซึ่งแปลงยางตาสอยส่วนใหญ่ในจำนวนนี้จะนำไปสู่การผลิตกล้ายางด้อยคุณภาพจัดส่งให้เกษตรกรในภาคอีสานและเหนือนั่นเอง
หวั่นกระทบ ศก.และรากหญ้า
ข้อมูลจากเอกสารการจัดงาน "วิจัยยางพารา.. สู่สังคม" ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางพารา จ.สงขลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จะร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 มิ.ย.นี้ที่ มอ.ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยาง 12.6 ล้านไร่ มีคนเกี่ยวข้อง 6 ล้านคน หรือ 10% ของประชากรทั้งประเทศ และไทยส่งออกยางดิบเป็นอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา
จากข้อมูลนี้ แหล่งข่าวหลายรายในวงการยางของภาคใต้เปิดเผยตรงกันว่า การเกิดขึ้นของโครงการส่งเสริมการปลูกยางล้านไร่ในภาคอีสานและเหนือในเวลานี้ได้ส่งผลสะเทือนวงการยางในภาคใต้ด้วยนั้นไม่ใช่เพียงแต่ปัญหาที่อาจจะมีการทุจริตในโครงการเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของกล้ายางตาสอยในเวลานี้จะมีอิทธิพล ทำให้ปัญหาต่างๆ ขยายวงไปด้วยในอนาคต
จับตา 5 จังหวัดแหล่งใหญ่ในใต้
มีสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนจากการขับรถตระเวนสำรวจคือ หลายพื้นที่ของ จ.ตรังเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการเพาะพันธุ์กล้ายาง รวมถึงชาวสวนยางเองด้วยเริ่มที่จะหันมาทำการผลิตกล้ายางตาสอยกันมากขึ้น โดยเป็นผลจากมีนายหน้าของนายทุนใหญ่เข้าไปชักชวนและโน้มน้าวให้เกษตรกรในพื้นที่เข้าสู่การผลิตกล้ายางตาสอย มีทั้งรูปแบบที่ผู้ประกอบการเพาะพันธุ์กล้ายางรายเดิมยอมจำนนต่อผลประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงการเข้าไปขอเช่าสวนยางชาวบ้านของบรรดานายหน้าเพื่อทำแปลงยางตาสอยผลิตกล้ายางด้อยคุณภาพ
ส่งมอบให้บริษัทยักษ์ใหญ่
จากการสำรวจพบว่า มีแปลงปลูกยางของชาวบ้านเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แปลงยางที่ชาวสวนได้เปิดหน้ายางเพื่อกรีดหน้ายางไปแล้ว ไม่ว่าจะเพิ่งกรีด หรือต้นยางแก่ที่ถูกกรีดไปแล้วหลายปี หลายแปลงมีสภาพการถูกรอนยอดและกิ่งออกไปทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้รอให้เกิดยอดขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้นำยอดยางจากต้นแก่เหล่านั้นไปทำกล้ายางกิ่งตาสอยอีกทอดหนึ่ง
จากการตระเวนดูสวนยางใน จ.ตรังพบว่า ในหลายตำบลของ อ.ปะเหลียน อ.กันตรัง อ.สิเกา อ.ห้วยยอด และอ.เมืองตรัง รวมถึง อ.เฉลิมพระ-เกียรติ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ถ้ำพรรณรา และ อ.นาบอนของ จ.นครศรีธรรมราช ได้มีสวนยางของชาวบ้านที่ถูกทำเป็นแปลงยางตาสอยแล้วจำนวนมากมาย ซึ่งภาพเหล่านี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในหลายพื้นที่ แม้กระทั่งที่อยู่ริมถนนสายหลักก็ตาม
"ความจริงแล้วไม่ใช่แปลงยางตาสอยจะแพร่กระจายอยู่ในตรังและนครศรีธรรมราชเท่านั้น หากคุณตระเวนดูให้ทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ผมเชื่อว่าจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เอาแค่ 5 จังหวัดภาคใต้ที่มีการปลูกยางเกิน 1 ล้านไร่ก็ได้ นอกจาก 2 จังหวัดที่ กล่าวมาแล้วก็ยังมีที่สุราษฎร์ธานี สงขลา และนราธิวาส เพราะเมื่อความต้องการมันมีมหาศาล ใครๆ เขาก็พร้อมจะทำเพราะรายได้ดีมากๆ" นายสมศักดิ์ พงศ์ภัณฑารักษ์ นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช และประธานคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรบางขัน จำกัด อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงยังเป็นนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยบอกเล่าให้ฟัง
"กล้าตาสอย" สู่ยุคทองแค่ปีเศษ
การทำกล้ายางตาสอยในพื้นที่ภาคใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาเคยมีผู้ประกอบการเพาะพันธุ์ต้นกล้ายางขายบางรายแอบทำกันบ้างในช่วงที่การผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่ส่วนมากจะเป็นรายเล็กๆ ขณะที่รายใหญ่จะยึดมั่นในการผลิตกล้ายางคุณภาพอย่างเหนียวแน่น เพราะห่วงในแบรนด์เนมของตนจะได้รับผลกระทบ อีกทั้งชาวสวนยางที่เป็นลูกค้าหลักในพื้นที่ก็ใช่ว่าจะตบตากันได้ง่ายๆ
ผู้ประกอบการเพาะพันธุ์กล้ายางในภาคใต้หลายรายให้ข้อมูลตรงกันว่า การแพร่ระบายของกล้ายางตาสอยในภาคใต้เพิ่งจะบูมในช่วงกว่าปีมานี้เอง โดยแรงจูงใจสำคัญที่สุดมาจากโครงการส่งเสริมการปลูกยางล้านไร่ ต้องการกล้ายางกว่า 90 ล้านต้นของรัฐบาลเพื่อส่งให้เกษตรกรภาคอีสานและเหนือ
จากการสำรวจมีชาวสวนยางหลายรายบอกเล่าให้ฟังว่า เวลานี้มีนายหน้าของบริษัทใหญ่เข้ามาขอเช่าสวนยางที่เคยมีการกรีดยางแล้วแบบยกสวนเพื่อนำต้นยางไปทำเป็นแปลงกล้ายางตาสอย โดยให้ราคานับหมื่นบาทต่อปีดีกว่าที่ชาวสวนจะลงทุนกรีดยางเองด้วย เมื่อตกลงกันแล้วก็จะมีคนงานมาตัดยอดต้นยางทั้งหมดเพื่อให้แตกยอดใหม่ ซึ่งยอดใหม่เหล่านี้จะนำไปติดตาเป็นกล้ายางตาสอย
"มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้ามคือ ปัจจัยหนึ่งทำให้ทั้งผู้ผลิตกล้ายางคุณภาพขายและชาวสวนที่เคยแต่กรีดยางในบ้านเรา ตอนนี้หันมาร่วมกันทำกล้ายางตาสอยกันมากขึ้นก็คือ เขาโจษขานกันว่าทำๆ ไปเถอะเพราะมันได้ราคาดี การที่เขาจะรวบรวมกันส่งไปให้คนอีสานและเหนือปลูก คนพวกนั้นจะไปรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องยาง และมันก็ไม่กระทบบ้านเราด้วย" ผู้ประกอบการเพาะพันธุ์กล้ายางรายใหญ่รายหนึ่งของภาคใต้กล่าวและว่า
การที่คนภาคใต้คิดแบบนี้จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคตแน่นอน ต่อไปพันธุ์ยางของภาคใต้จะไม่ได้รับความเชื่อถือ เพราะในความเป็นจริงแล้วเดี๋ยวนี้คนอีสานและเหนือไม่ใช่คนโง่ ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับเรื่องยางมีการกระจายอย่างแพร่หลาย แถมมีคนอีสานและเหนือจำนวนมากที่เคยมาค้าแรงงานในสวนยาง ในแปลงเพาะพันธุ์กล้ายางในภาคใต้ ขณะนี้ได้นำความรู้ความเข้าใจกลับไปสร้างเป็นธุรกิจยางใหญ่โตในบ้านเกิด
ปัจจัยเสริมทางเศรษฐกิจที่น่าวิตก
การที่มีนายหน้าของซีพีเข้ามากว้านซื้อกล้ายางในภาคใต้ช่วงกว่าปีมานี้ ไม่เฉพาะแค่ส่งผลให้ผู้ประกอบการเพาะพันธุ์กล้ายางและชาวสวนยาง หันเห มาร่วมกันผลิตกล้ายางตาสอยเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ผู้คนในอาชีพอื่นๆ ต่างก็เห็นช่องทางในการประกอบอาชีพใหม่ หรือแม้แต่หันมาร่วมวงเพื่อสร้างรายได้เสริมกันอย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะความต้องการที่มีมากมายมหาศาลสามารถปั่นราคาให้เกิดการกระจายของเงินได้อย่างแพร่หลาย
"ช่วงปีสองปีมานี้คนในอาชีพอื่นหันมาร่วมขอแชร์ผลประโยชน์ในธุรกิจกล้ายางส่งบริษัทใหญ่กันมากมาย จริงอยู่เม็ดเงินที่มันกระจายอยู่มันจูงใจ แต่หากพิจารณาให้ดีมันมีปัจจัยผลักดันมาจากสภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมด้วย อย่างนากุ้งล่มสลาย พวกนายทุนนากุ้งก็หันมาหาธุรกิจนี้กันเกือบหมด หรือชาวสวนชาวบ้านธรรมดาก็พอใจที่จะเข้าไปค้าแรงงาน ในแปลงยางตาสอย เพราะรายได้ดีแค่ติดตาเขาจ่ายกัน 1-1.5 บาท/ต้น ยังจะมีรายได้จากค่าถอนหรือค่าขนหรืออะไรอื่นๆ อีกที่ล้วนเป็นเงินทั้งนั้น"
นายชัยฤทธิ์ ถ่ายถ้วน รองประธานชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด และเลขานุการเครือข่ายสหกรณ์กองทุนจังหวัดตรัง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การบูมขึ้นของผู้ผลิตกล้ายางตาสอยในภาคใต้เวลานี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน ก่อนหน้านี้การทำแบบเป็นล่ำเป็น สันแบบแพร่หลายอย่างนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน จะมีบ้างที่ผู้ประกอบการบางรายแอบทำกันเท่านั้น และก็ไม่ได้เน้นขายให้ชาวสวนในประเทศไทยด้วย
"ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 6-7 ปีมาแล้ว เคยมีผู้ประกอบการในภาคใต้ทำยางตาสอยส่งไปขายที่ประเทศลาวและเขมร เป็นเรื่องของเอกชนกันเองไม่เกี่ยวกับรัฐบาล บริษัทใหญ่ๆ เขาสั่งซื้อมา เมื่อทำกล้ายางคุณภาพไม่ทันก็มียางตาสอยปนไปด้วย ความจริงในเวลานี้เราน่าจะส่งคนไปศึกษาที่ลาวและเขมรนะว่าผลกระทบจากกล้ายางตาสอยที่นั่นเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้มันคงโตพอที่จะเปิดหน้ายางกรีดเอาน้ำยางกันแล้ว"
หลากกรรมวิธีทำ "กล้ายางตาสอย"
แหล่งข่าวนักธุรกิจเพาะพันธุ์กล้ายางรายใหญ่ในภาคใต้ ซึ่งมีตลาดอยู่ทั่วประเทศ กล่าวเปรียบเทียบกรรมวิธีทำกล้ายางพันธุ์คุณภาพกับกล้ายางตาสอยว่า โดยภาพรวมการทำกล้ายางที่ตนพบเห็นในพื้นที่ภาคใต้มีด้วยกัน 5 วิธี ในจำนวนนี้มีเพียง 1 วิธีเท่านั้น จัดว่าเป็นการทำกล้ายางให้ได้คุณภาพ ที่เหลืออีก 4 วิธีล้วนเป็นการทำกล้ายางตาสอยทั้งหมด
การทำกล้ายางคุณภาพให้ได้มาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนดนั้น ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะมีแปลงปลูกยางพันธุ์ดีเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้น้ำยางมาก เช่น พันธุ์ RRIM 600 หรือ RRIT 251 และต้องเว้นระยะห่าง 1.5-2 เมตร ต้นยางพันธุ์เหล่านี้จะต้องรานกิ่งตลอดไม่ให้สูงเกินกว่า 1.2 เมตร ซึ่งกิ่งที่แตกใหม่เมื่อโตพอก็จะตัดไปติดตากับต้นตอยางที่เตรียมไว้ ซึ่งกรรมวิธีนี้จะได้กล้ายางพันธุ์ที่มีคุณภาพแน่นอน
ส่วนการทำกล้ายางตาสอย คือ การไปสอยกิ่งพันธุ์จากต้นยางขนาดใหญ่ โดยเฉพาะต้นยางที่มีการเปิดหน้ายางกรีดแล้วถือว่ายิ่งจะทำให้คุณภาพต่ำลง ผู้ประกอบการมักไม่ค่อยมีแปลงเพาะเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่จะไปขอเช่าสวนยางชาวบ้าน และมีแม้กระทั่งพวกมือใหม่สอยเอาจากที่อื่นๆ ซึ่งมี 4 วิธี ได้แก่ 1.ไปเช่าสวนชาวบ้านแล้วเอาต้นยางที่กรีดแล้ว รอนกิ่งให้แตกกิ่งใหม่เพื่อนำไปติดตา จะเห็นว่าต้นยางจะมีขนาดใหญ่และสูงชะลูด 2.ตามข้างสวนชาวบ้านโดยเฉพาะตามแนวเสาไฟฟ้าจะมีการตัดกิ่งยาง ทำกิ่งตาสอย แบบนี้ก็คือไปหาเก็บกิ่งที่แตกใหม่มาติดตา 3.ใช้สวนยางที่มีการกรีดแล้ว ใส่ปุ่ยเร่งให้เกิดการแตกยอดใหม่เพื่อนำไปติดตา และ 4.เพาะต้นกล้ายางจากเมล็ดเพื่อทำเป็นตอสำหรับติดตา เมื่อต้นโตได้ขนาดแล้วก็ตัดเอากิ่งยอดของต้นตอนั้นมาติดตากับต้นตอตัวเอง
"ในทางวิชาการแล้ววิธีการทำกิ่งตาสอยแบบที่ 4 นั่นหนักหนาสาหัสสุดๆ เพราะแทบไม่ต้องไปลงทุนอะไรเลย ที่ตัดกิ่งของต้นตอแล้วไปทาบกับต้น ตัวเองก็เพื่อให้มีสภาพที่จะพร้อมขายเท่านั้น น้ำยางจากกล้ายางแบบนี้จะได้น้อยมากๆ เลย ขณะที่กล้ายางตาสอยแบบอื่นๆ ยังประมาณการได้ว่าปริมาณน้ำยางที่จะให้น่าจะลดลงเพียงประมาณ 30% เท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว
จี้หน่วยงานรัฐเร่งแก้ปัญหา
"เรื่องนี้หากเป็นภาพที่พบเห็นกันได้อย่างโต้งๆ ในหลายพื้นที่ของภาคใต้จริง ทำไมไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจัดการเลย ทั้งๆ ที่การกระทำอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง" นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคม สหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าว
พร้อมกับเพิ่มเติมว่า ใน พ.ร.บ.ควบคุมยาง หมวด 2 การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต มาตรา 21 ผู้ใดขยายพันธุ์เพื่อการค้าต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตและผู้รับใบอนุญาตต้องขยายพันธุ์ต้นยางจากต้นยางพันธุ์ดี นอกจากนี้ ในหมวดบทกำหนดโทษ มาตรา 50 ยังระบุด้วยว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ปชป.ตั้งชุดสอบทุจริตกล้ายาง
ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาทุจริตกล้ายางในโครงการปลูกยางล้านไร่ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่า ตนได้ท้วงติงมาตลอดตั้งแต่ต้นว่า การปล่อยให้บริษัทฯที่ไม่มีความรู้เรื่องการทำกล้ายางอย่าง ซีพีจะทำให้เกษตรกรได้รับต้นกล้าที่ไม่ได้คุณภาพ ทั้งยังใช้วิธีกว้านซื้อกล้ายางจากทั่วประเทศ ซึ่งความสามารถในการผลิตเพื่อตอบ สนองไม่เพียงพอต่อการส่งมอบเป็นล็อตใหญ่ 18-20 ล้านต้น จึงทำให้มีการปลอมปนยางด้อยคุณภาพ
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงทั้งสุราษฎร์ธานี ตรัง ฯลฯ ก็ได้รับผลกระทบกล้ายางขาดแคลนทำให้ราคาต่อต้นสูงขึ้นมา จากที่ซื้อได้ในราคา 11 บาท ก็ขึ้นเป็น 15-18 บาทแล้วแต่พันธุ์ยาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดหากมีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนเพียงรายเดียวและไม่มีความรู้เรื่องการทำกล้ายางเป็นคนดำเนินการ
"พรรคประชาธิปัตย์ได้รับทราบปัญหานี้และติดตามอย่างต่อเนื่องพบความไม่ชอบมาพากลมากมาย ซึ่งได้หารือกันว่าจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบโดยเฉพาะ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกร ซึ่งไม่ได้กระทบเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้กล้ายางไม่ได้คุณภาพไปแล้ว ในส่วน ของภาคใต้เองก็ต้องรับผลกระทบกล้ายางแพงอีกด้วย" นายชินวรณ์กล่าว
นายชินวรณ์กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รัฐบาลต้องเร่งผลักดัน พ.ร.บ. ยางแห่งประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่หวังเพียงจะทำการตลาดแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมองถึงกฎหมายที่จะมารองรับด้วย หากคิดจะทำการตลาดก็ต้องรอบคอบรอบด้าน ไม่ใช่จะทำอะไรก็ทำ สำหรับแผนที่จะรองรับควรต้องมีความชัดเจนในเรื่องของโครงสร้างในการที่จะกำหนดผลผลิตของยาง ในอนาคต โดยต้องดูประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วย
"รัฐบาลต้องส่งเสริมการใช้ยางในประเทศด้วย เพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องของเสถียรภาพ เพราะขณะนี้เราพึ่งพาจากภายนอกประเทศถึง 90% นอกจากรัฐบาลควรเร่งทำให้มีมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ต้นยาง น้ำยาง และไม้ยางให้เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องมีความจริงใจคือ การผลักดัน พ.ร.บ. ยางให้เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหายางทั้งระบบ และเป็นที่น่าเสียใจว่าจนถึงขณะนี้ยังไปไม่ถึงไหน" นายชินวรณ์กล่าว
|
|
|
|
|