ความน่าสนใจของ Duke Alumni Club ในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่องค์ประกอบของบรรดาศิษย์เก่า
ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะอดีตนักศึกษาบริหารธุรกิจจาก Fuqua School of Business
เท่านั้น หากแต่ประกอบด้วยศิษย์เก่าที่มีภูมิหลังการศึกษาแตกต่าง และกระจายอยู่ในเกือบทุกสาขาอาชีพ
ทั้งนักกฎหมาย วิศวกร สถาปนิก รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ โดยมี วรวีร์ หวั่งหลี
ซึ่งเคยเป็นนักศึกษาในวิทยาลัยบริหารธุรกิจของ Duke เมื่อครั้งที่ยังไม่สถาปนาเป็น
Fuqua เป็นหัวแรงใหญ่ในการชุมนุมศิษย์เก่าครั้งนี้
"เราพยายามจะรวมกลุ่มสำหรับทำกิจกรรม เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของ Duke ให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ของสาธารณชนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบันศิษย์เก่าของ Duke ในประเทศไทยก็มีไม่น้อย และต่างกระจายตัวทำประโยชน์ต่อสังคม
ตามความรู้ความสามารถที่ได้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง" วรวีร์ ซึ่งร่วมในงานเลี้ยงอาหารค่ำเปิดตัว
Duke Alumni Club ในประเทศไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
งานชุมนุมครั้งนี้ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของการแข่งขัน
ระหว่างสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ ที่นอกจากจะมุ่งเน้นไปที่ความเป็นเลิศทางวิชาการแต่ละแขนงแล้ว
ประเด็นว่าด้วยเครือข่ายศิษย์เก่า ดูจะเป็นกรณีที่แต่ละสถาบันพยายามขับเน้นให้เห็นถึงการมีอยู่ของประชาคมศิษย์เก่า
และเกี่ยวเนื่องไปสู่การสร้าง role model จากศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้
"ในอนาคต Duke Alumni Club อาจเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมให้มีนักศึกษาจากประเทศไทยไปเรียนที่
Duke มากขึ้น แต่ในเบื้องต้นนี้ คงต้องเน้นการจัดกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องและมีประโยชน์
คุ้มค่าต่อการสละเวลาของศิษย์เก่าสมาชิกในการเข้าร่วมเสียก่อน" พากพูม วัลลิสุต
ผู้ร่วมก่อตั้ง The Quant Group บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ในฐานะศิษย์เก่าจาก
Fuqua School of Business และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง Duke Alumni
Club ในประเทศไทย กล่าวเสริมกับ "ผู้จัดการ"
ศิษย์เก่าของ Duke ที่เข้าร่วมในงาน reunion ในครั้งนี้ กล่าวในทำนองเดียวกันว่าจำนวนของนักศึกษาไทยที่เดินทางไปเรียนในมหาวิทยาลัย
Duke ในแต่ละปีมีไม่มากนัก ซึ่งทำให้นักศึกษาไทยส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยกันตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา
"ช่วงปี 1996-1997 อาจเป็นช่วงที่มีนักศึกษาไทยเรียนที่ Duke มากที่สุด
เฉพาะชั้นเรียนที่ Fuqua แห่งเดียวก็มีมาก ถึง 7-8 คนซึ่งนับว่ามากเป็นประวัติการณ์
แต่หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจทุกอย่างก็กลับไปเป็นอย่างเดิมคือ ปีละคน
สองคน" ศิษย์เก่า Duke จากวิทยาลัยธุรกิจ Fuqua เล่าให้ฟัง
การเปิดตัว Duke Alumni Club ในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ยังสอดประสานกับแผนการประชา สัมพันธ์ และการเดินทางเยี่ยมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย
Duke ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ William H. Chafe ที่ดำรงตำแหน่ง Vice-Provost
for Undergraduate Education และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ โดย William
H. Chafe ซึ่งเข้าร่วมงานในฐานะแขกพิเศษได้บรรยายถึงความคืบหน้าและการพัฒนามหาวิทยาลัย
เพื่อคงสถานะการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นเลิศด้วย
ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย Duke ในประเทศไทย แม้จะไม่โดดเด่นเหมือนมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นนำ
แต่สำหรับแวดวงการศึกษาระดับนานาชาติแล้ว มหาวิทยาลัย Duke ก็จัดอยู่ในระดับแนวหน้าแห่งหนึ่งของโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาลัยธุรกิจ Fuqua School of Business ซึ่งแม้จะเป็นสถาบันที่มีความเป็นมาสั้นที่สุดในบรรดาวิทยาลัยธุรกิจชั้นนำของสหรัฐอเมริกา
แต่ก็สามารถได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 วิทยาลัยธุรกิจที่ดีที่สุดของอเมริกาเลยทีเดียว
และมีแนวโน้มที่จะไต่อันดับขึ้นไปเป็น Top 5 ในอนาคต
ความสำเร็จของมหาวิทยาลัย Duke โดยองค์รวมกล่าวได้ว่าในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายเชิงรุกที่เริ่มต้นขึ้นในปี
1994 ภายใต้แผนการพัฒนา Shaping Our Future ก่อนที่จะต่อเนื่องความเป็นเลิศทางวิชาการภายใต้แผน
Building on Excellence ซึ่งเป็นแผน 5 ปี ระยะที่สองระหว่างปี 2001-2005
โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัย ที่ดีที่สุดในมิติของการเรียนการสอนและการวิจัย
รวมถึงการขยายเครือข่ายไปสู่การเป็นสถาบันระดับนานาชาติ
ยุทธศาสตร์การขยายตัวของมหาวิทยาลัย Duke ในกรณีดังกล่าวดูจะไม่แตกต่างจากสถาบันการศึกษาแห่งอื่นๆ
ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดวิทยาเขตสำหรับวิทยาลัยธุรกิจในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
และดูจะเป็นปรากฏการณ์ปกติในโลกธุรกิจทุนนิยม โดยในปี 1999 มหา วิทยาลัย
Duke ได้เปิดวิทยาเขต Fuqua School of Business Europe ขึ้นที่ Frankfurt
เยอรมนี เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดหลักสูตรบริหารธุรกิจข้ามทวีป
และการบริการหลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้บริหารระดับสูง (Executive Education)
ซึ่งเป็นแหล่งรายได้จำนวนมหาศาลอย่างไม่ต้องสงสัย
การพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศทั้งในเชิงวิชาการ และการบรรลุเป้าหมายการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับ
Top 5 ภายใต้แผน Building on Excellence ดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัย Duke
ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และดูเหมือนว่า
เป้าหมายของมหาวิทยาลัย Duke ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของการลงทุนขนาดมหึมาดังกล่าวอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายนัก
เพราะจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัย Duke สามารถระดมทุนได้เพียง 38% ของจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องการในการบรรลุแผนสู่ความเป็นเลิศนี้
การแสวงหาการสนับสนุนจากบรรดาศิษย์เก่า เพื่อเชื่อมประสานเป็นโครงข่ายการระดมทุน
จึงอาจเป็นอีกส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยในครั้งนี้
และนี่อาจเป็นอีกมิติหนึ่งของการพัฒนาเครือข่ายธุรกิจ ที่มิได้เป็นไปเพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ศิษย์เก่าเท่านั้น
หากสถาบันการศึกษาก็พร้อมจะรับประโยชน์โดยตรงจากเครือข่ายเหล่านี้ด้วย