คำว่าโรงภาพยนตร์ระบบดิจิตอลในเมืองไทย เริ่มต้นมาจากระบบเสียงก่อน เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงภาพยนตร์เริ่มกลับมาตื่นตัวอีกครั้ง
จากการรุกเข้ามาบุกเบิกตลาดของกลุ่มอีจีวี ตามติดด้วยเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์
ลูกพี่ลูกน้อง ตระกูลพูลวรลักษณ์ ตลอดจนกลุ่มเอสเอฟ
การเข้ามาของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิวัติโฉมหน้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่อยู่ในแบบเดิมๆ
ไปสู่โรงภาพยนตร์ให้ทันสมัย ทั้งการออกแบบตกแต่งอย่างดี และยังเป็นศูนย์กลางความบันเทิง
และก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มของการนำระบบเสียงดิจิตอลมาใช้
วิวัฒนาการจากระบบเสียงที่เป็น mono ธรรมดามาสู่ระบบ stereo ตามมาด้วยระบบดิจิตอล
มีทั้งระบบ SRD, DTS, THX และ SDDS ของโซนี่
สิทธิพร ศรีสงวนสกุล ผู้อำนวยการ บริษัท GOLDENDUCK ผู้นำเข้าและติดตั้งอุปกรณ์เสียงและภาพระบบดิจิตอลสำหรับโรงภาพยนตร์
เล่าว่า ระบบเสียงของโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยเวลานี้อยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชีย
นอกจากทำซับไตเติ้ลเป็นภาษาไทยแล้ว ด้วยเหตุนี้ บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่จากฮอลลีวู้ด
ไม่ว่าจะเป็น ฟ็อกซ์ ดิสนีย์ โคลัมเบีย จึงให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางในการ
mix เสียงเป็นภาษาอื่นๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ก่อนที่จะนำไปฉายในประเทศเหล่านี้
หลังจากที่บรรดาคอหนังได้อรรถรสในเรื่องของระบบเสียงดิจิตอลมาพักใหญ่แล้ว
ก็มาถึงระบบภาพดิจิตอล ซึ่งเป็นเรื่องที่พัฒนาได้ยากกว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การถ่ายทำ
เพราะปัจจุบันภาพยนตร์หลายเรื่องก็ถ่ายทำระบบดิจิตอลแล้ว ซึ่งหมายความว่า
ภาพยนตร์เรื่องนั้นแทนที่จะถ่ายลงบนฟิล์ม ก็จะเปลี่ยนมาเป็นไฟล์ข้อมูล และบรรจุอยู่ใน
hard disk แทน ไม่แตกต่างไปจากระบบคอมพิวเตอร์
แต่เมื่อถึงเวลาจะต้องนำไปฉายในโรงภาพยนตร์แล้วกลับต้องเจออุปสรรค เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉายภาพยนตร์
หรือโปรเจกเตอร์ที่เป็นระบบดิจิตอล ยังมีขีดความสามารถไม่เทียบเท่ากับการใช้ฟิล์ม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแสง หรือความละเอียดของภาพ
จนกระทั่งบริษัท Texas Instrument บริษัทพัฒนาและวิจัยด้านเทคโนโลยี ได้พัฒนาชิปขึ้นมา
เรียกว่า digital light processing หรือ DLC มีลักษณะคล้ายกระจกเงาสะท้อนแสง
โดยชิปที่ว่านี้มีขนาดแค่นิ้วกว่าๆ แต่ความสามารถในเรื่องของภาพ คือ มีความละเอียดได้เท่ากับฟิล์ม
"ระบบดิจิตอล เราต้องมองอยู่ 2-3 จุด คือ ความละเอียดของภาพเทียบเท่ากับฟิล์ม
แต่ความนิ่งเหนือกว่าฟิล์ม ภาพจะมีความนิ่งมากกว่า" สิทธิพรเล่า
เมื่อ ชิป DLC ถูกพัฒนาออกมาสำเร็จ ภาพยนตร์ที่ถูกถ่ายทำด้วยระบบดิจิตอล
แต่เมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ต้องแปลงกลับมาเป็นแผ่นฟิล์ม เนื่องจากขีดความสามารถของโปรเจกเตอร์ที่เป็นระบบดิจิตอล
ยังมีประสิทธิภาพไม่ดีพอ ก็จะไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป
ภาพยนตร์ที่เคยอยู่ในรูปของแผ่นฟิล์ม จะถูกเปลี่ยนเป็นไฟล์ข้อมูลที่เก็บอยู่ใน
hard disk เมื่อต้องการนำไปฉายในโรงภาพยนตร์ในที่ต่างๆ ก็ download ใส่แผ่น
DVD หรือส่งผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยิงดาวเทียม นำมาฉายผ่านเครื่อง Digital
Projector ที่เป็นเครื่อง server สำหรับเก็บข้อมูลภาพยนตร์ หรือที่เรียกว่า
Digital Movie Storage
สิทธิพรบอกว่าข้อดีของระบบดิจิตอล คือ คุณภาพของภาพยนตร์ที่ปรากฏอยู่ในโรงภาพยนตร์จะเหมือนกับที่อยู่ในสตูดิโอถ่ายทำ
นอกจากนี้ไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะถูกนำออกฉายกี่รอบ และกี่วันก็ตาม จนกระทั่งวันสุดท้าย
คุณภาพของภาพจะไม่เปลี่ยน
"ไม่เหมือนกับฟิล์ม พอฉายไปเรื่อยๆ ก็จะมีเกิดเส้น หรือเพราะฟิล์มจะมีการสึกกร่อนไปเรื่อยๆ
ภาพที่ฉายวันแรกกับวันสุดท้ายที่ออกจากโรงจะไม่เหมือนกัน"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครื่องฉายระบบดิจิตอล ที่จะทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับอรรถรสของคำว่า
ดิจิตอลเธียเตอร์ ที่เป็นทั้งเสียงและภาพ แต่ก็ยังไม่เห็นถึงความแตกต่างมากนัก
อาจจะเป็นเพราะสไตล์ของภาพยนตร์ และเป็นปกติของอุปกรณ์ไอทีที่เป็นรุ่นแรกๆ
ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อเนื่อง
แต่อุปสรรคสำคัญของการฉายภาพยนตร์ระบบดิจิตอล อยู่ที่การทำซับไตเติ้ลยังเป็นปัญหาอยู่
เนื่องจากเป็นระบบใหม่ ผู้นำเข้าภาพยนตร์ยังไม่สามารถทำได้เอง ไม่เหมือนกับระบบฟิล์มที่ทำเองได้ในไทย
กรณีของภาพยนตร์เรื่อง Star Wars : Episode II ต้องส่งไปทำซับไตเติ้ลที่สหรัฐอเมริกา
"เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเวลาและต้นทุน" สิทธิพรบอก กรณีของ Star Wars
: Episode II จึงต้องใช้เวลา 10 วัน และเงินลงทุนหลักล้านในการส่งไปทำซับไตเติ้ลที่สหรัฐอเมริกา
ก่อนจะนำมาเปิดฉายก็เรียกว่าหวุดหวิดเต็มที
สิทธิพรเล่าว่า การทำซับไตเติ้ลภาษาไทยในระบบดิจิตอลนั้น ไม่เหมือนกับระบบฟิล์ม
ที่เป็นการซ้อนภาพตัวอักษรลงบนแผ่นฟิล์ม แต่กรณีของภาพยนตร์ในระบบดิจิตอลนั้นทำเช่นนั้นไม่ได้
จะต้องบันทึกอักษรลงบนภาพใหม่ทั้งหมด
แม้ว่าจะมีความยุ่งยากในบางขั้นตอน และยังไม่เห็นความแตกต่างของภาพมากนัก
เมื่อเทียบกับการใช้ฟิล์ม ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะเข้าที่เข้าทาง
ฟิล์มอาจจะลดความสำคัญลง
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโรงภาพยนตร์ที่ใช้เครื่องฉายระบบดิจิตอล ที่มี
94 โรงในโลก ก็คือ การทำกิจกรรมในโรงภาพยนตร์ เช่น การเปิดตัวสินค้าใหม่ของต่างประเทศ
จะสามารถถ่ายทอดสัญญาณแบบเรียลไทม์มาที่โรงภาพยนตร์ได้ทันที
และนี่คือผลต่อเนื่องที่เกิดจากพัฒนาการของคำว่า Digital Cinema