นัดหมายแถลงข่าวมีขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 8 พฤษภาคม หลังจากผู้สื่อข่าวใช้เวลารอพักใหญ่
เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ นำทีมพร้อมกับผู้บริหารอีก 3 คน ที่ถูกเลือกในการดูแลธุรกิจ
4 กลุ่มหลักของเอชพีใหม่ เข้ามาร่วมตอบข้อซักถาม
สำหรับในไทย สิ่งแรกที่ถูกจับตามอง ก็คือ ระหว่างเชิดศักดิ์ และก้องเกียรติ
หวังวีระมิตร ใครจะเป็นผู้นั่งเก้าอี้ผู้จัดการทั่วไปประจำสำนักงานเอชพีใหม่
ทั้งเชิดศักดิ์ และก้องเกียรติ ก็เป็นที่รู้จักในวงการคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี
แต่เชิดศักดิ์มีข้อได้เปรียบตรงที่ประสบการณ์ในธุรกิจที่กว้างและหลากหลายกว่า
เคยร่วมงานกับเอทีแอนด์ทีประเทศไทย เป็นอดีตผู้บริหารมือ 1 ของกลุ่มชินคอร์ป
ในช่วงเข้าตลาดหุ้น ก่อนหน้ามาร่วมงานกับเอชพี ก็ค้าขายระบบสื่อสารอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ
เชิดศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของ
New HP ที่จะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์องค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise Systems Group - ESG)
เชิดศักดิ์เป็นหัวหน้ากลุ่ม
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ต่อพ่วงและการพิมพ์ (Imaging and Printing Group -
IPG) ประเสริฐ จรูญไพศาล เป็นหัวหน้ากลุ่ม
กลุ่มธุรกิจบริการ HP Services (HPS) มยุรี ชาติเมธากุล เป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ดูแล
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ (Personal System Group - PSG) อโณทัย
เวทยากร เป็นหัวหน้ากลุ่ม
สิ่งที่พวกเขาต้องทำ ก็คือ การทำให้การควบรวมกิจการภายในองค์กร มีความราบรื่นมากที่สุด
ชื่อใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ พวกเขาเรียกตัวเองสั้นๆ ว่า New HP
นอกเหนือจากการจัดกลุ่มธุรกิจ ใหม่ สิ่งที่ต้องทำสำหรับ New HP ก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่ทับซ้อนกันระหว่างเอชพี
และคอมแพค ข้อสรุปที่ได้เวลานี้ก็คือ
ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โน้ตบุ๊ค จะใช้แบรนด์ของคอมแพคเป็นตัวชูโรง
คือ เพรสซาริโอ และคอมแพควีโว่ เนื่องจากคอมแพค แข็งแกร่งในตลาดนี้ดีอยู่แล้ว
ส่วนผลิตภัณฑ์ต่อพ่วงและการพิมพ์ จะใช้แบรนด์ของเอชพี เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์เวิร์คสเตชั่น
และสินค้าบางประเภท
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ส่วนเอชพี และคอมแพค ยังคงขายควบคู่กันไป จนกระทั่งไตรมาสที่
3 จะมีการประเมินอีกครั้งว่า จะ re-brand ใหม่ เพื่อให้เหลือเพียง brand
เดียว หรือควบรวมแบรนด์สินค้า เช่นกรณีของคอมพิวเตอร์มือถือ จะเปลี่ยนเป็นเอชพีไอแพคพ็อกเก็ตพีซี
นั่นหมายความว่า ความชัดเจนในเรื่องของสายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด จะต้องรอไปอีกพักใหญ่
เช่นเดียวกับกระบวนการ อื่นๆ เช่น การจัดองค์กร การคัดเลือกทีมงาน ที่เกิดจากตำแหน่งงานที่ซ้ำซ้อนกัน
วัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่าง ล้วนแต่เป็นรายละเอียดของการควบรวมกิจการทั้งสิ้น
"เรามีคนเยอะ กว่าจะเรียบร้อยจริงๆ คงต้องใช้เวลา แต่บางหน่วยงานที่ต้องดูแลลูกค้าก็เสร็จไปแล้ว
บางส่วนที่คนเยอะก็ต้องใช้เวลา" เชิดศักดิ์บอก
"ถามว่าหนักใจหรือไม่ เราก็แข่งมาตลอดอยู่แล้ว แต่แข่งรอบนี้กำลังเราเยอะขึ้น
ความมั่นใจก็สูงขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนักใจของเขาอยู่ที่ความวิตกกังวลของผู้บริหาร และพนักงานที่อาจได้รับผลกระทบ
"หลายคนกังวลใจเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ผมต้องพยายามให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
และไม่จำเป็นต้องเป็นสูตรสำเร็จเหมือนกับในต่างประเทศ"