นับตั้งแต่สถาบันการเงิน ทั้งบริษัทเงินทุน และบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งถูกปิดกิจการ
เนื่องจากผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจ มาถึงวันนี้สินทรัพย์ที่ติดตัวบริษัทเหล่านั้น
โดยเฉพาะใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ กำลังเป็นสิ่งที่มีราคาเป็นที่หอมหวนอีกครั้งหนึ่ง
การที่ธนาคารไทยธนาคารตัดสินใจขายหุ้นสามัญ บล.ธนสยาม ในราคา 540 ล้านบาท
ให้กับกิตติศักดิ์ ชัยวิกรัย และการขายหุ้นสามัญ บล.วชิระซีเคียวริตี้ส์
ให้กับกลุ่มของชัชวาลย์ เจียรวนนท์, มนตรี สิหนาทกถากุล, สุพร วัธนเวคิน
และกวิน เจียมอุดม ในราคา 80 ล้านบาท อาจดูเป็นเรื่องปกติสำหรับคนวงในการการเงิน
เนื่องเพราะเป็นการมองโลกในแง่ดี สำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นไทย
เพราะนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภาวะตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และยังมีแนวโน้มจะสดใสต่อไปได้อีกในช่วงหลังจากนี้ โดยมีปัจจัยเด่นคือ นโยบายของรัฐบาล
ที่ทยอยออกมาตรการกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยหวังว่าการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น
จะเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ตลอดจนการเปลี่ยนตัวกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้คนที่มีความรู้
และประสบการณ์ในการทำงานกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่แท้จริงมาดำรงตำแหน่ง
หลายปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้การซื้อขายหุ้นมีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น
จนดัชนีราคาหุ้นสามารถสร้างสถิติใหม่ได้ตลอดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
เมื่อผสมผสานกับสถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนในประเทศฝั่งตะวันตก ที่มีความผันผวน
ทำให้นักลงทุนในตลาดเหล่านั้น มองเห็นโอกาสการลงทุนของประเทศในฝั่งตะวันออกที่สดใสมากกว่า
เม็ดเงินจากนักลงทุนเหล่านี้ จึงเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในตลาดหุ้นย่านนี้อย่างต่อเนื่อง
ตลาดหุ้นไทยจึงได้รับการต้อนรับและสร้างความคึกคักไปด้วย สังเกตจากในบางวันมูลค่าการซื้อขายพุ่งทะลุระดับ
10,000 ล้านบาท
เมื่อเป็นเช่นนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้ซบเซามาตลอดปี 2544 จึงเริ่ม active
ตามไปด้วย เห็นได้จากกรณีการเข้ามาเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ของ บล.ฟินันซ่า
ที่ในอดีตไม่ค่อยให้ความสนใจกับการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มากนัก ทั้งๆ
ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจก็ตาม
แต่ทุกวันนี้ บล.ฟินันซ่ากลับให้ความสนใจมากขึ้นตามลำดับ
นอกเหนือไปจากนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก
จากการเข้ามาดำเนินธุรกิจของนักลงทุนต่างประเทศ และกำลังมีอิทธิพลสูงในตลาดหุ้นไทย
ทำให้นักลงทุนท้องถิ่นที่มีเงิน ต่างต้องการกระโดดเข้ามาร่วมขอแย่งส่วนแบ่งด้วย
เพราะมองเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ จึงได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากแทบจะกลายเป็นเศษกระดาษ
ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ใหม่ๆ
การได้ใบอนุญาตครบทั้ง 4 ใบจาก บล.ธนสยามด้วย ราคา 540 ล้านบาท ของกิตติศักดิ์
หากพิจารณากันแล้วถือว่ากิตติศักดิ์ได้กำไรตั้งแต่ยังไม่ได้ดำเนินกิจการ
เนื่องจากบริษัทแห่งนี้มีสินทรัพย์ซ่อนอยู่ (Hidden Asset) คือ สินทรัพย์หมุนเวียนประมาณ
300 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่กำลัง จะครบกำหนดอีกหลายร้อยล้านบาท
เช่นเดียวกับ บล.วชิระซีเคียวริตี้ส์ ซึ่งหากผู้ถือหุ้นใหม่ กลับเข้ามาทำธุรกิจอีกครั้ง
และสามารถสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดได้ การได้มาซึ่งใบอนุญาตด้วยต้นทุนระดับนี้ถือว่าไม่แพงเลยทีเดียว
ย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 2543-2544 นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของวงการหลักทรัพย์ไทย
เพราะนอกจากภาวะตลาดหุ้นที่ซบเซาแล้ว ธุรกิจหลักทรัพย์ยังต้องเผชิญกับมาตรการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหุ้น
ทำให้หลายกิจการเริ่มถอดใจในการทำธุรกิจ
ส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ ก็จำเป็นต้องประคองกิจการ ด้วยการ มองหาพันธมิตร
ซึ่งหลายรายมีผลลงเอยด้วยกระบวนการควบรวมกิจการกัน ไม่ว่าจะเป็น บล.ดีบีเอส
ไทยทนุ รวมกับ บล.นววิคเคอร์ บัลลาส หรือ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่จับมือกับบล.หยวนต้า
(ประเทศไทย)
ภาวะที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีดังกล่าว มีผลให้มีจำนวนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เหลืออยู่เกินความจำเป็น
ผู้ที่ถือครองไว้พยายามทำให้เกิดเป็นรายได้ด้วยการหาทางขายใบอนุญาตดังกล่าวออกไป
จนกระทั่ง การกลับมาในวงการนี้อีกครั้งของตระกูลโสภณพนิช ด้วยการซื้อใบอนุญาตทำธุรกิจหลักทรัพย์ของ
บล. บีโอเอมาจากธนาคารเอเชีย ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็น บล.บัวหลวง หรือความพยายามของนักลงทุนที่ต้องการซื้อ
บล.ไทยซากุระ หลัง จากถูกยกเลิกกิจการ และมีการขายให้กับกลุ่มธนาคารอาร์เอชบี
จากมาเลเซีย ตลอดจนการนำใบอนุญาตของ บล.บุคคลัภย์ มาจัดตั้งเป็น บล.ทรีนีตี้ของกลุ่มผู้บริหารมืออาชีพจากบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงเดิม
ที่นำโดยภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์
ล้วนแสดงให้เห็นว่ายังมีนักลงทุนอีกหลายรายที่มีความต้องการดำเนินธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
นั่นหมายความว่าใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ยังมีมูลค่าที่แท้จริงซ่อนอยู่
ทั้งในแง่ภาพลักษณ์และขอบข่ายอำนาจการดำเนินงาน ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายหุ้นที่เริ่มเอื้ออำนวย
ความต้องการทำธุรกิจหลักทรัพย์ของนักลงทุนเหล่านั้น ต่างมีความเชื่อในอนาคต
มากกว่าการลงทุนในปัจจุบัน เพราะแนวโน้มของธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จะสามารถทำงานได้หลากหลายกว่า
ไม่จำกัดเฉพาะแค่การเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นเท่านั้น
ในอนาคตอันใกล้ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ยังเหลืออีกเพียงไม่กี่ใบ
กำลังจะมีราคาเพิ่มขึ้น