Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2545
เมื่อไรจะจบ             
โดย ฐิติเมธ โภคชัย
 


   
search resources

บางจากปิโตรเลียม, บมจ.
ณรงค์ บุญยสงวน




เช่นเดียวกับหลายๆ คนที่ณรงค์ บุณยสงวน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม มีโอกาสหยุดพักผ่อน เพื่อเติมพลังในการต่อสู้กับภารกิจอันหนักหน่วงต่อไปในเทศกาลมหาสงกรานต์

ขณะที่หลายๆ คนมีโอกาสหยุดต่อยาวจนถึงวันที่ 17 เมษายน แต่บ่ายวันนั้นณรงค์ได้รับแจ้งจากทำเนียบรัฐบาลว่า ให้เตรียมตัวเข้ารายงานสถานการณ์บางจากต่อนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง ณ เวลานั้น ณรงค์ยังไม่มีรายละเอียดใหม่เลย แต่เขาไม่ได้ลำบากใจ เพราะสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วไปนำเสนอ

เช้าวันถัดมา ณรงค์เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลด้วยความมั่นใจ โดยเฉพาะโอกาสที่จะเห็นบางจากดำเนินกิจการต่อไป แต่ก่อนที่จะถึงเวลาอันสำคัญยิ่งต่ออนาคตของบางจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้บอกให้โทรศัพท์ไปตาม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ไม่มีตำแหน่งอะไรในบางจาก แต่มาในฐานะ "คนรักบางจาก" เข้ามาร่วมปรึกษาด้วย

การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อ พล.ต.จำลอง เนื่องเพราะในปีที่บางจากได้จัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2528 พล.ต.จำลอง ดำรงตำแหน่งเลขานุการ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่เข้าใจบางจากอย่างลึกซึ้ง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจึงคิดว่าจำเป็นที่จะต้องคุยกับฝ่ายคนรักบางจากด้วย

บรรยากาศภายในห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเป็นกันเองอย่างมาก โดยข้อมูลที่ณรงค์นำเสนอในวันนั้น บทสรุปอยู่ที่การมองไปในวันข้างหน้าว่า บางจากจะดำเนินการอย่างไรเพื่อความอยู่รอด ซึ่งรายงานเล่มนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรกตามที่ที่ปรึกษาปรับโครงสร้าง McKinsey & Company ศึกษาไว้ โดยกรอบการพิจารณาอยู่ที่บางจากควร "ดำเนินการหรือปิดกิจการ" ในที่สุดที่ปรึกษาได้เลือกข้อแรก แต่มีข้อแม้ว่าบริษัทต้องทำการเพิ่มทุนปรับโครงสร้างทาง การเงินให้เร็วที่สุด

ข้อมูลและตัวเลขที่กรรมการ ผู้จัดการใหญ่บางจากนำเสนอ ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการตัดสินใจไม่นำเงินจำนวน 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐไปลงทุนในการกลั่นน้ำมันแบบ Craking หากทำเช่นนั้น วันนี้จะไม่มีชื่อบางจากอีกต่อไป

"บางจากสู้ได้ทุกสถานการณ์ จะเอารูปแบบไหนมาสู้ก็สู้ได้" ณรงค์บอกกับนายกฯ

"โรงกลั่นในไทยทุกแห่งขาดทุนทั้งหมด" นายกรัฐมนตรีชี้

"แต่บางจากขาดทุนน้อยที่สุด" ณรงค์กล่าว

"แล้ว scale เป็นอย่างไร" นายกรัฐมนตรีถาม

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่น 5 แห่ง โดยบางจากมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ที่เหลือเฉลี่ยมีกำลังการกลั่น 1.5 แสนบาร์เรลต่อวันต่อโรงกลั่น รวมแล้วทุกวันนี้ภายในประเทศมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ใช้กันอยู่ระดับประมาณ 6.3 แสน บาร์เรลต่อวัน

ข้อมูลพื้นฐานที่ณรงค์รวบรวมแล้วนำมาอธิบายให้นายกรัฐมนตรีและพล.ต.จำลองฟังนั้น ถ้าหากจะดูเฉพาะรายละเอียดของบางจากแห่งเดียวอาจจะไม่ยุติธรรม ดังนั้นการเปรียบเทียบกับคู่แข่งจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาวะธุรกิจโรงกลั่นโดยรวม หากพิจารณากันแล้วโรงกลั่นอื่นๆ ขาดทุนมากกว่าบางจากประมาณ 2 เท่า นับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ และในปีสุดท้ายแห่งยุคเจริญรุ่งเรือง บางจากมีกำไรสูงสุด

"หากสถานการณ์เป็นอย่างนี้บางจากสามารถแข่งขันกับรายอื่นได้" นายกรัฐมนตรีให้ความเห็น

ความเข้าใจในความง่อนแง่นของบางจากที่นายกรัฐมนตรีแสดงออกคือ ยกย่องการทำงานของพนักงานโรงกลั่นแห่งนี้ "เก่งนะที่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้และสามารถแข่งกับโรงกลั่นอื่นๆ ได้"

สิ่งที่ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันมั่นใจในอนาคตของบางจาก เพราะมองเห็นความแข็งแกร่งทางการเงินแม้จะมีภาระหนี้สินอยู่ 23,994.43 ล้านบาท แต่ยังไม่มีปัญหาเรื่องการชำระดอกเบี้ยต่อปี ซึ่งสูงถึง 1,300 ล้านบาท แต่ด้วยความหวังในการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นจะส่งผลให้ภาระหนี้ลดลง

แม้ว่าการเข้าพบนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะเป็นการรายงานสถานการณ์บริษัทธรรมดาๆ แต่ในฐานะที่บางจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นข้างมาก ความกังวลในฐานะผู้นำรัฐบาลจึงมีค่อนข้างมากในธุรกิจน้ำมันแห่งนี้ แต่โดยลึกๆ แล้ว บางจากต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากฝ่ายรัฐบาล กรณีการค้ำประกันออกหุ้นกู้ 6,000 ล้าน บาท ซึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือแล้ว 3,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังออกจากห้องนายกรัฐมนตรีในวันที่ 18 เมษายน ฝ่าย พล.ต.จำลองออกมาอธิบายถึงประเด็นการพูดคุย โดยปฏิเสธว่าไม่ได้มาขอเงินจากรัฐบาล "ผมมาขอความเป็นธรรมเท่านั้นเอง ว่าทำไมรัฐบาลสามารถใส่เงินเข้าไปในโรงกลั่นแห่งอื่นในรูปแบบต่างๆ กัน แต่กับบางจาก ทำไมไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความสามารถในการแข่งขันแทบไม่มีเลย"

เช่นเดียวกับณรงค์ที่เชื่อมั่นถึงการเข้ามาโอบอุ้มจากฝ่ายรัฐบาล แต่ปัญหาอยู่ที่จะหาเม็ดเงินมาจากไหนกรณีบางจากเพิ่มทุน ที่สำคัญงบประมาณปี 2545 ได้ผ่านไปแล้ว ดังนั้น เร็วที่สุดที่ดำเนินการได้ต้องรอปีงบประมาณ 2546 ฉะนั้นปีนี้กระบวนการหาเงินจะเป็นอะไรที่ไม่ใช่ช่องทางการเพิ่มทุนแน่นอน หรือข้อจำกัดจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้เพียง 6 เท่าของส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เบ็ดเสร็จ

นับตั้งแต่บางจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2528 เป็น ต้นมา ได้เติบโตขั้นเรื่อยๆ มีกำไรตั้งแต่ระดับร้อยล้านบาทจนถึงพันล้านบาท ขณะที่รัฐบาลให้เงินมาเพียง 2,350 ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มต้นถึงสิ้นปี 2539 บริษัทคืนเงินให้กับรัฐบาลในรูปปันผล 4,116 ล้านบาท ภาษีเงินได้ 3,057 ล้านบาท

จุดเปลี่ยนแห่งความหายนะของบางจากเริ่มต้นใน ปี 2540 พร้อมๆ กับวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ลางร้ายได้จุดประกายขึ้นเมื่อรัฐบาลในช่วงปี 2534 มีนโยบายเปิดเสรีโรงกลั่นจากความสดใสทางด้านสภาวะเศรษฐกิจ ในขณะนั้น

เหตุการณ์อาจจะไม่รุนแรงหากรัฐบาลอนุญาตให้สร้างโรงกลั่นเพียงแห่งเดียว แต่สุดท้ายกลับให้มีถึง 2 แห่ง เมื่อการตัดสินออกมาในรูปดังกล่าว ผู้คร่ำหวอดในวงการน้ำมันรู้เลยว่า ลางร้ายกำลังเข้ามาเยือน แต่ด้วยความหวังว่า เศรษฐกิจจะดีตลอดไปการมองโลกในแง่ร้ายจึงถูกขจัดออกไปจากความรู้สึกทันที แต่วิกฤติเกิดขึ้นในปี 2540 ก็ได้ตอบคำถามทุกอย่างชัดเจน

เนื่องด้วยบางจากมีเงินกู้ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้ผลประกอบการไปกู้มาอย่างเดียว แม้ว่าในปี 2540 จะมีกำไรเกิดขึ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท แต่บริษัทโดนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นผลกระทบโดยตรง ไม่ใช่ทางบัญชี ทำให้สภาพคล่องหายไปทันที และไม่สามารถหาเงินในรูปดอลลาร์เข้ามาต่อชีวิตได้ ถ้าหากรัฐบาลไม่เข้ามาค้ำประกันเงินกู้จากการเรียกร้องของฝ่ายสถาบันการเงิน

บางจากไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไรที่จะให้รัฐบาลมาช่วยเหลือด้านการค้ำประกันเงินกู้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาต้องนำเงินสดไปซื้อดอลลาร์เพื่อนำไปคืนเงินกู้ และที่สำคัญไปกว่านั้น ฝ่ายรัฐบาลไม่รู้ว่าจะเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ด้วยวิธีการอย่างไร เนื่องจากยังตั้งตัวไม่ติดกับวิกฤติ

ขณะที่โรงกลั่นอย่างน้อย 2 แห่งประกาศพักชำระ หนี้ แต่ในฐานะรัฐวิสาหกิจอย่างบางจากไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ได้ ส่งผลให้ปี 2540 บางจากขาดทุนสุทธิ 3,785 ล้านบาทเป็นครั้งแรกนับแต่จัดตั้งบริษัท และนับตั้งแต่ปี 2539 ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเรื่อยๆ จากผลขาดทุน พอถึงปี 2542 โรงกลั่นแห่งอื่นๆ เริ่มเพิ่มทุนให้กับตนเอง โดยมีรัฐบาลสมัยนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่บางจากนับตั้งแต่ตั้งรัฐบาลยังไม่ได้ใส่เงินเข้ามา

นับตั้งแต่ณรงค์เข้ามารับผิดชอบบางจากตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนปีที่ผ่านมา ได้รู้ถึงสภาพบริษัทว่าย่ำแย่ขนาดที่ไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีสร้างความแข็งแกร่ง และการเข้าพบและเสนอความเป็นไปได้ต่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่โอกาสเดียวที่เขาทำ

ในฐานะผู้มีดีกรีปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคลุกคลีกับสายงานปฏิบัติในเอสโซ่ แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) มาโดยตลอดจนกระทั่งได้รับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการด้านการตลาด จากนั้นได้เข้ามาทำงานร่วมกับบางจากตั้งแต่ปี 2539 จากคำชวนของโสภณ สุภาพงษ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ขณะนั้นในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายกิจการโรงกลั่น และถูกโยกมาดูแลงานการตลาด ทำให้เป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าใจดีกับธุรกิจโรงกลั่น โดยเฉพาะสถานการณ์บางจากยุคปัจจุบัน

ด้วยกำลังการกลั่นภายในประเทศ มากกว่าความต้องการทำให้โรงกลั่นใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ ภารกิจแรกที่ณรงค์ในฐานะแม่ทัพของบางจาก คือ เดินไปหาโรงกลั่นแห่งอื่นเพื่อจ้างกลั่นน้ำมันเตาที่บริษัทผลิตได้ 30% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งจะได้น้ำมันใสออกมาแล้วแบ่งกันฝ่ายละครึ่ง ทุกวันนี้บางจากใช้บริการโรงกลั่นไทยออยล์ และเอสโซ่

"การทำงานแบบนี้จะมีไปอีกหลายปี" ณรงค์กล่าว การทำเช่นนี้ได้เพราะน้ำมันเตามีราคาต่ำกว่าน้ำมันดิบประมาณ 2-3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ผลลัพธ์ที่ได้คือ น้ำมันใสซึ่งมีราคาประมาณ 24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล "ไม่มีใครอยากซื้อน้ำมันดิบ ทุกวันนี้เราไม่มีน้ำมันเตาป้อนโรงกลั่นอื่นๆ ได้เพียงพอ"

การดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว ไม่สามารถทำให้บางจากดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากสภาวะธุรกิจน้ำมันโลกตกรูดลง มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีกำลังการผลิตล้นเกินวันละ 2 ล้านบาร์เรล ทำให้บางจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง

"นอกเหนือไปจากความตกต่ำของอุตสาหกรรมน้ำมัน ยังเจอกับเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายนที่สหรัฐอเมริกา และอีก 4 เดือนถัดมาเราต้องซื้อน้ำมันดิบราคาแพงแล้วขายน้ำมันสำเร็จรูปถูกตลอด" ณรงค์เล่า

จากเหตุการณ์ดังกล่าวบางจากสูญเสียเงินไปราว 1,565 ล้านบาท และปี 2544 ขาดทุนทั้งสิ้น 2,995 ล้านบาท แม้ว่าจะขายน้ำมันผ่านสถานีจำหน่ายตามริมถนนกว่า 600 แห่ง และผ่านสถานีสหกรณ์อีกประมาณ 500 แห่งก็ตาม

สิ่งที่ณรงค์ต้องการมากที่สุด คือ การปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งเป็นที่มาของการว่าจ้าง McKinsey เข้ามาหาความชัดเจนทางด้านการเงินและผลที่ออกมาบางจากต้องเพิ่มทุน ขณะเดียวกันต้องหารายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่าย หากจะอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไป และหากทำสำเร็จอาจจะมีพันธมิตรสนใจร่วมทำงานด้วย

"หน้าตาบางจากในวันนี้ไม่มีใครอยากเป็นพาร์ตเนอร์ ด้วย จะต้องทำกำไรขึ้นและให้ภาพของรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนชัดเจนก่อน" เป็นความเห็นของฝ่าย McKinsey

นอกเหนือจากนี้บางจากต้องดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน โดยณรงค์ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะกรรมการของบางจากนั่งประชุมอยู่ด้วย และจากข้อเสนอของฝ่ายบางจากเพียงพอที่จะทำให้สมใจนึกมองในแง่ดีต่อกิจการโรงกลั่น เพียงแต่มีความสงสัยว่าจะทำอย่างไรในการดูแลด้านการเงิน

"ถ้าบางจากไปเจรจาหนี้กับใครผมจะไปด้วย" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว นั่นหมายความว่าฝ่ายรัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนสำหรับอนาคตของบางจาก

มีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมบางจากไม่สามารถเพิ่มทุนได้ นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นและเห็นผลชัดเจน บางจากมีความพยายามที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยการขายหุ้นในส่วนที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลออกไป ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะได้พันธมิตรทางธุรกิจใหม่ แต่จากความขัดแย้งเชิงความคิดระหว่างฝ่ายบางจากที่ต้องการขายหุ้นให้กับคนไทยทั้งหมด ส่วนรัฐบาลอยากเปิดโอกาสขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างชาติด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์ที่หนักหน่วงรุนแรงส่งผลให้บางจากได้รับผลกระทบระดับเดียวกัน และในที่สุดไม่สามารถดำเนินการได้จากสภาพตลาดที่ซบเซา และราคาหุ้นบางจากทรุดลงอย่างต่อเนื่อง

นับจากนั้นเป็นต้นมาบางจากอยู่ในหลุมอากาศมาโดยตลอด เนื่องเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในทุกๆ กรณี ประกอบกับกลไกตลาดอุตสาหกรรมน้ำมันโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้ว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงิน ที่บริษัทออกหุ้นกู้แบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 3,000 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2544 ก็ตาม "กว่าฝ่ายรัฐบาลจะเข้ามาวันเวลาได้ผ่านไปนานแล้ว" ณรงค์ชี้

ปัจจุบันปัญหาเร่งด่วนที่บริษัทต้องการ คือ เงินจำนวน 2,660 ล้านบาท ที่ต้องนำไปชำระหนี้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ รัฐบาลยังอยู่ในช่วงการพิจารณาทางออกอันเหมาะสม ซึ่งบางจากจะต้องได้มาด้วยการค้ำประกันเงินกู้หรือการเพิ่มทุน แม้ว่าณรงค์จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้รับผิดชอบบางจากโดยตรงเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

แต่วราเทพได้เสนอแนะช่องทางอื่น นั่นคือ การค้ำประกันจากรัฐบาล หรือ bid finance เป็นช่องทางการหาเม็ดเงินมาให้รัฐวิสาหกิจในอัตราดอกเบี้ยต่ำคล้ายกับวงเงิน O/D ที่รัฐวิสาหกิจสามารถกู้โดยตรงจากกระทรวงการคลังมาใช้ก่อนที่จะได้เงินกู้เข้ามา

"ถ้าไม่พูดถึงการเพิ่มทุน ก็ต้องพิจารณาการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งเราจะต้องแบกภาระอัตราดอกเบี้ยสูงๆ" ณรงค์ ชี้ "หากเป็นเช่นนี้บริษัทไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้แล้วเมื่อไรผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผล"

นับตั้งแต่ณรงค์เข้ารับภาระสำคัญยิ่งในชีวิตการทำงาน ได้พยายามจะไม่ใช้วิธีเดิมในการขจัดอุปสรรค แต่จะใช้วิธีจากผลการศึกษาของ McKinsey ที่มองถึง business solution เพื่อให้ธุรกิจแข็งแรงในเวลาอันรวดเร็ว โดยเงื่อนไข ก็คือ บางจากต้องมีกำไรภายในปีหน้า ผลลัพธ์ถ้าหากบริษัท ไม่เพิ่มทุนที่ปรึกษารายนี้เชื่อว่าจะเห็นตัวเลขกำไร ปีละ 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางจากมีความเป็นไปได้ที่จะอยู่รอด แต่อย่าลืมประเด็นที่ บมจ.ปตท. ออกมาพูดถึงการขายหุ้นบางจากออกไปซึ่งจะนำไปสู่การปิดกิจการ และยังมีเหตุผลอื่น อาทิ โรงกลั่นตั้งอยู่ในเขตชุมชนเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่ฟังขึ้น ขณะที่ณรงค์กลับมองว่าการปิดกิจการ สิ่งสำคัญต้องดูตัวบริษัทเองว่าสามารถแข่งขันต่อไปได้หรือไม่

"ผมเรียนกับนายกฯ ว่า หากพบว่าไม่สามารถแข่งขัน ได้ ท่านนายกฯ ไม่ต้องสั่งการ ผมจะปิดกิจการด้วยตัวเอง"

ด้วยสถานการณ์อุตสาหกรรมน้ำมันโลกประกอบกับปัญหาภายในบางจาก และการตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลเป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครคาดเดาถึงอนาคตที่แท้จริงได้ มีสิ่งหนึ่งที่ณรงค์และพนักงานรับรู้มาโดยตลอด นั่นคือ วันนี้ไม่มีใครอยากแบกรับภาระอันหนักนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us