Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2526








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2526
" ต้องแพ้เสียก่อน เราถึงจะชนะได้" เข้าสู่สังคม เอ๊กเซ็คคิวทีฟ             
 

   
related stories

ต้องแพ้เสียก่อนถึงจะชนะได้

   
search resources

สนธิ ลิ้มทองกุล
News & Media
Printing & Publishing




ผมออกจากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ปลายเดือนธันวาคม 2518 ปีใหม่นั้น เป็นปีที่ผมคิดว่าหนักว่า ชีวิตจะเดินไปทางไหนดี

พ่อแม่และทุกคนในครอบครัว คิดว่าผมน่าจะทำงานกับฝรั่งคงจะไปได้ดี แต่ผมรู้ว่าทุกคน เป็นห่วงชีวิตผมกับงานหนังสือพิมพ์ เพราะในระหว่างที่ผมทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยนั้น ชีวิตมันแขวนอยู่บนเส้นด้ายจริงๆ เพราะยุคนั้นเป็นยุคมืดยุคหนึ่ง

อาจารย์สนองถูกยิงตายขณะกำลังเลี้ยวรถเข้าบ้านแถววิภาวดี

มีการขว้างระเบิดขวดใส่ผู้ว่าธวัช มกรพงศ์ ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดพังงา ตายไปหลายคน

เทอดภูมิถูกยิงเอาซึ่งๆ หน้า แต่ก็รอดได้แถวๆ วิสุทธิ์กษัตริย์

ผมเองก็เคยถูกมอเตอร์ไซด์ขี่ตามรถหลายครั้ง แต่ก็ได้ระวังตลอดเวลา พอผมลาออกมาได้ ครอบครัวผมก็โมทนาสาธุ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าผมรักการทำหนังสือเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่เมืองนอกแล้ว ผมกลับไปหาทัสมิน สมิธ ที่ดีมาร์อีก เขาส่งผมไปให้ผู้จัดการใหญ่จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน สัมภาษณ์ เพื่อเป็น Product manager

คงจะเป็นเพราะบุญผมไม่ถึงที่จะไปนั่งบริหารสินค้าเบบี้ออยล์กระมัง พอผู้จัดการใหญ่บอกว่า เขาจะให้ผมทำสินค้าเบบี้ออยล์ ผมก็เลยบอกเขาไปว่า ผมไม่เอา เขาเองก็แปลกใจมาก ถึงกลับถามว่า เงินเดือนที่ให้หนึ่งหมื่นสองพันบาทไม่พอใจหรือ?

ผมเตะฝุ่นอยู่ประมาณสองเดือน ก็พอดีคุณลุงอรุณ แสงสว่างวัฒนะ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิททางคุณพ่อภรรยาผมบอกว่า ถ้าผมต้องการ คุณลุงจะให้นิตยสารยานยนต์มาทำ ตอนนั้นคุณลุงให้ณรงค์ เกตุทัต ทำนิตยสารยานยนต์อยู่ ด้วยความไม่คิดหน้าคิดหลัง ผมรับปากว่า ผมอยากทำ ก็ไปดึงเอานิตยสารยานยนต์จากณรงค์มาทำต่อ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้น เป็นการไม่ควรอย่างยิ่ง และผมเองก็เสียใจจนทุกวันนี้

ที่ไม่ควร เพราะผมไปแย่งณรงค์เขามา จริงอยู่ ผมมีสิทธิ์เพราะคุณลุงอรุณเป็นเจ้าของหัวหนังสือ และมีสิทธิ์จะให้ผม แต่ในความถูกต้องแล้วผมไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะเท่ากับผมใช้สิทธิ์อันนี้ไปรังแกณรงค์เขา ซึ่งต่อมาภายหลังอีกหลายปี ผมก็ได้รับกรรมที่ผมเคยทำเช่นนี้มา

ในเวลานั้นต้องยอมรับว่า ผมไม่มีพื้นฐานทางการค้าเลย เงินแม้แต่บาทเดียวผมก็ไม่มี ภรรยาผมก็เป็นคนที่ไม่อยากให้ผมต้องอึดอัดใจไปเที่ยวกู้ยืมใคร ก็เลยเอาสมบัติซึ่งเป็นที่ดินของเธออยู่ผืนหนึ่ง ประมาณ 100 ตร.วา ในซอยอินทามระ 41 ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักเอาไปหาเงิน

อาจารย์โพธิ์ จรรย์โกมล ส่งผมไปหาคุณโพธิพงษ ์ ล่ำซำ ที่เมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งก็รับจำนองที่เอาไว้ เป็นเงิน 100,000 บาท

ผมก็เรียกหุ้นส่วนเข้ามาอีก 2 คน คนหนึ่ง คือ วีระเวช กู้ตลาด ซึ่งดึงเอาเพื่อน คือ อังกูร เทพวัลย์ เข้ามาร่วมด้วย โดยจะลงกันคนละเท่าๆ กัน แต่ภายหลังสองคนนั้นลงไม่ครบ ผมก็เลยถือหุ้นใหญ่

ในระหว่างที่ทำนิตยสารยานยนต์อยู่ได้ 2 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ขึ้น เหตุการณ์หนึ่งซึ่งทำให้ผมต้องเปลี่ยนการเดินทางของชีวิตไปอีกทางหนึ่ง

ในราวเดือนเมษายน หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยได้ไล่พนักงานกอง บ.ก. ฝ่ายโฆษณา และช่างเรียง ออกหมดร้อยกว่าคน เพราะผู้บริหารชุดใหม่ นำโดย ปีย์ มาลากุล ซึ่งณรงค์ เกตุทัต เอาเข้ามาแทนผม ต้องการปรับปรุงกองบรรณาธิการ แต่โดนกองบรรณาธิการขัดขืน ก็เกิดการแตกหักขึ้น คนที่โดนในช่วงนั้นก็มีเช่น จันทิมา ชัยนาม, ไพบูลย์ สุขสุเมฆ, สุชีพ ณ สงขลา และอีกมากที่ผมจำชื่อไม่ค่อยได้

ด้วยความเป็นห่วงบรรดาผู้ที่เคยร่วมงานกันมา ผมคิดว่าน่าจะหาทุนทำหนังสือพิมพ์รายวันสักฉบับ เพราะเรามีกำลังคนพร้อมแล้ว และด้วยความที่บริสุทธิ์ต่อโลกอย่างไร้เดียงสา ผมก็คิดเลยเถิดไปอีกว่า หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่นี้ น่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่มหาชนถือหุ้นอยู่ ด้วยความช่วยเหลือของศาสตราจารย์เผด็จ และภรรยา พี่ชนพรรณ สิทธิสุนทร เราก็พยายามรวบรวมหุ้นไปพูดในที่ประชุมเพื่อขายหุ้น หนังสือพิมพ์ที่ชื่อ “สุภาพบุรุษ” ทำกันแทบตาย ได้เงินค่าหุ้นมาแค่ 8 พันกว่าบาท

ในที่สุดผมก็ต้องเปลี่ยนความคิดจากการหามหาชนมาร่วมเป็นนายทุนเข้ามา และเราก็มองว่า ต้องเป็นนายทุนที่ใช้ได้ คุณหมอประสาน ต่างใจ ก็เลยแนะนำว่าไปหาคุณบุญชู โรจนเสถียร

ตอนนั้นคุณบุญชูเป็นเพียง ส.ส จากชลบุรี หลังจากที่ได้เป็นรัฐมนตรีคลังมาแล้ว คุณบุญชู ก็นัดเจอ สไตล์คุณบุญชูคือห้องอาหาร คัสติเลียน ที่ดุสิตธานี มื้อนั้นเป็นมื้อเที่ยง ทางผมก็มีคุณหมอประสาน ต่างใจ, อาจารย์ปราโมทย์ นาครทรรพ และอีก 2-3 คน รวมทั้งผมด้วย สรุปง่ายๆ เป็นทีมพลังใหม่ เจอกับตัวแทนกิจสังคม

คุณบุญชู โรจนเสถียร ในฐานะที่ผมเคยรู้จักจากสื่อมวลชน มีภาพลักษณ์ของนายทุนเต็มตัว ผู้มุ่งหวังแต่กำไรท่าเดียว

แต่บุญชู โรจนเสถียร ตัวจริง กลับดูเป็นคนที่มีเหตุผล และเป็นคนที่สามารถเข้าใจปัญหาขั้นพื้นฐานได้ไม่ยาก

ข้าวมื้อเที่ยงมื้อนั้น พิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดว่า คนมีเงินมีทองสามารถจะเปล่งเสียงให้คนไม่มีเงินไม่มีทองรับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจเต็มที่ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยในบางประการ แต่ราศีของเงินทองก็จะกลบเกลื่อนความไม่เห็นด้วยให้สลายมลายไปสิ้น

บุญชู โรจนเสถียร พูดถึงการทำหนังสือพิมพ์ด้วยสัจธรรมอันหนึ่งซึ่งยังคงตราตรึงผมมาจนทุกวันนี้ เขาพูดว่า “หนังสือพิมพ์ที่ดีๆ ยังหาได้น้อยมาก สมควรจะทำขึ้นมาสักฉบับ แต่ทำอย่างไรที่จะให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง”

อาหารมื้อเที่ยงนั้นจบลงด้วยความหวังที่ทุกคนคิดว่า บุญชูคงจะช่วยให้หนังสือพิมพ์ดีๆ เกิดขึ้นมาได้สักฉบับหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงแล้ว บุญชูไม่ได้สัญญาอะไรทั้งสิ้นเลย

หลังจากนั้นอีก 2 เดือน ผมได้มีโอกาสพบและรู้จัก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ซึ่งกำลังหาเสียงภายใต้ธงพลังใหม่อยู่ในกทม. และดร.อาทิตย์เองก็คงจะรู้ว่า ผมอยากจะทำหนังสือพิมพ์อย่างมากๆ ก็เลยแนะนำและนัดหมายให้ผมไปพบคุณสุธี นพคุณ ที่สำนักงานพีเอสเอ ซึ่งในปีนั้น เป็นเพียงห้องเล็กๆ ไม่กี่ห้อง บนชั้น 7 ของตึกเคี่ยนหงวน ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า ตึกเชลล์

ในช่วงนั้นพีเอสเอกำลังอยู่ในระยะขยายตัว และในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้นแหละ แทบจะไม่มีใครในวงการธุรกิจจะไม่รู้จักพีเอสเอเลย

ผมได้พบสุธี นพคุณ ซึ่งอยู่ในเสื้อนอก และห้องทำงานที่ค่อนข้างจะหรูหรามาก ยังไม่ทันพูดอะไรกันดี ก็มีคนคน หนึ่งโผล่เข้ามาทักทายด้วยท่าทางเป็นมิตร พูดแต่ภาษาอังกฤษ คนนั้นคือ พร สิทธิอำนวย หรือพอล

ในความรู้สึกครั้งแรกที่ผมเจอพอล ผมคิดว่า เขาเป็นญี่ปุ่น เพราะการหวีผมที่เสยขึ้นไปและหนวดเรียว ประกอบกับแว่นสายตาสั้น ทำให้เขาน่าจะเป็นนายทากายาม่า หรือนายฮิโร โตเม่ มากกว่าที่จะเป็นพอล

พอลรู้ว่า ผมจะมาขอกู้เงินทำหนังสือพิมพ์ เขาหัวเราะก๊ากออกมาแล้วบอกผมว่า “เอาเงินไปถวายวัดดีกว่า เจ๊งแน่ๆ”

พอลซักถามผมอย่างละเอียดถึงการทำงาน และประวัติความเป็นมา โดยไม่เปิดโอกาสให้ผมได้พูดเรื่องของผมเลยแม้แต่น้อย

พอลเป็นคนพูดเร็ว และความคิดเปลี่ยนไปแทบจะทุกนาที การพูดคุยของพอลอาจจะดูเหมือนเป็นการพูดคุยธรรมดา แต่โดยเนื้อแท้แล้วกลับเป็นการสัมภาษณ์ไปในตัว

พอลสนุกสนานกับการคุยกับผมมาก ถึงกับลากผมไปห้องทำงานของเขาแล้วซักต่อ แล้วจู่ๆ หลังจากคงจะพอใจกับคำตอบแล้ว พอลพูดสั้นๆ ว่า “มาทำงานกับผมไหม” ผมถามกลับว่า “จะให้ผมทำอะไร ผมต้องการทำหนังสือ เพราะผมคิดว่าหนังสือเป็นงานที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคม และถ้าทำดีๆ ก็จะเป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งสามารถจะเจริญก้าวหน้าไปได้” พอลบอกผมว่าเขาอยากทำสำนักพิมพ์ แต่ไม่ทำหนังสือพิมพ์ เขาจะทำต่อเมื่อสำนักพิมพ์อยู่ตัวแล้ว และมีบุคลากรที่เขาไว้ใจได้จริงๆ ถึงจะทำหนังสือพิมพ์ พอผมบอกว่าผมมีสำนักพิมพ์อยู่แล้วทำหนังสือรถยนต์ เขาก็บอกว่าของเขาก็มี WHO'S WHO IN THAILAND อยู่เหมือนกัน เขาให้เอามารวมกันตั้งเป็นบริษัทใหม่ แล้วให้หุ้นผม 40%

ผมยอมรับว่า ข้อเสนอนี้มันเป็นเรื่องที่เย้ายวนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนหนุ่มที่พ่อแม่ไม่รวย ไม่มีทุนรอน สำหรับพอลเองมันก็เข้าหลักของเขาในการที่เขาไม่สามารถจะทำงานเองได้ เขาจะแบ่งผลประโยชน์ให้คนที่ทำงาน

พอตกลงกันได้ ก็มาถึงตอนสำคัญ คือเรื่องเงินเดือน

ผมเป็นคนขี้เกรงใจคน เพระผมไม่รู้จริงๆ ในขณะนั้นว่าในท้องตลาดอัตราเงินเดือนขนาดนั้น มันควรจะเป็นเท่าไร

ผมรู้อย่างเดียวว่าผมเพิ่งถูก offer เงินเดือนหนึ่งหมื่นสองพันบาทมาหยกๆ เมื่อต้นปี จากจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และการเจรจาต่อรองเรื่องเงินเดือนวันนั้น ทำให้ผมเรียนรู้จิตวิทยาในการตั้งเงินเดือนอีกมากในภายหลัง

แทนที่จะเสนอเงินเดือนมาให้ผม หรือให้ผมเสนอเงินเดือนออกไป พอลกลับถามคำถามผมหนึ่งคำถาม ที่บีบบังคับให้ผมไม่มีทางเลือก นอกจากต้องพยายามประมาณตน

พอลถามว่า “คุณต้องใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ จึงจะพออยู่ได้”

ผมจำได้ว่า ผมแทบสะอึกกับคำถามนั้น พอลเล่นชกผมอย่างไม่ให้ตั้งตัว เพราะว่า:

1. ถ้าผมบอกว่า จำนวนสูงๆ ผมก็จะกลัวว่า เขาจะมองว่าผมฟุ่มเฟือย

2. ถ้าผมบอกต่ำมาก ผมจะต้องเจ็บปวดกับมัน

ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้ ผมคงจะต้องถามพอลกลับไปว่า “ในงานขอบข่ายเช่นนี้ บวกกับโครงการที่ขยายต่อไป คุณคิดว่าผมอยู่ในราคาเท่าไหร่ต่อเดือน” เพื่อจะได้ให้ผมเตรียมรุกบ้าง อันนี้ก็เป็นบทเรียนในการเจรจาต่อรองเรื่องประโยชน์กับนายจ้าง

คุณผู้อ่านที่เป็นนักบริหารหนุ่ม ถ้าถูกทาบทามให้ไปบริหารงานใหญ่ หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ผมมีข้อแนะนำว่า:-

1. สำรวจราคาตลาดในขณะนั้นว่าราคามาตรฐานอยู่ที่ไหน

2. ราคามาตรฐานนี้รวมสิทธิพิเศษอะไรบ้าง เช่น รถประจำตำแหน่ง คนขับรถ พักร้อน รักษาพยาบาล หรือโบนัส ฯลฯ ด้วยหรือเปล่า

3. ถ้าคุณไม่พอใจในผลตอบแทนที่เขาเสนอให้ตรงข้อไหน อย่าเก็บไว้ในใจ พูดออกมาทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนเป็นข้อๆ ไป ถ้าเขารับไม่ได้ และคุณเองก็รับไม่ได้ ก็ให้มันสิ้นสุดกันตรงนั้นดีกว่าจะต่อเนื่องไปแล้วคุณจะรู้สึกกดดัน

4. วิธีที่ดีที่สุด อาจจะเป็นการพบกันครึ่งทาง แล้วใช้ผลงานคุณเป็นเครื่องวัด เพื่อปรับค่าตอบแทนหลังจากพ้นระยะเวลาหนึ่งไปแล้ว แต่ข้อนี้จำเป็นต้องพูดกันให้แน่ชัดไปก่อน

สรุปแล้วผมกับพอลตกลงกันหลังจากคุยกันในวันนั้น ซึ่งแสดงว่า พอลเป็นคนตัดสินใจเร็วมาก แต่ก็เป็นบางเรื่องเท่านั้น

ในเวลานั้น พอลมีบริษัทสยามเครดิต ซึ่งให้ภรรยาคือวนิดา หรือเอด้า สิทธิอำนวย เป็นผู้ดูแลโดยตรง มีพัฒนาเงินทุนที่อื้อฉาวอยู่ทุกวันนี้ ให้สุธี นพคุณ ดูแล มีบริษัทแอ๊ดว้านซ์โปรดักส์ ซึ่งเป็นเทรดดิ้ง คัมปะนี โดยสุธี นพคุณ และให้สมชาย ถิรธรรม อดีตผู้จัดการฝ่ายโฆษณาธนาคารกรุงเทพ ซึ่งลาออกมาอยู่กับพอลเป็นผู้บริหาร นอกจากนั้นแล้วอาณาจักรพอลก็กำลังจะขยายอยู่

ในปี 2519 นั้น เป็นปีที่พีเอสเอกำลังจะเข้าไปในเครดิตการพาณิชย์ และอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดของการ Take over กลุ่มบริษัท ทัวร์รอแยล นอกจากนั้นก็ยังมีรามาทาวเวอร์ ซึ่งขณะนั้นไฮแอทเป็นผู้บริหารอยู่ในเครือ

ปี 2519 ก็เป็นปีที่พอลดึงตัวผู้บริหารหนุ่มมาจากที่ต่างๆ เพราะเขามีปรัชญาว่า อยากใช้คนหนุ่มเพราะคนหนุ่มมีอนาคต ถึงจะมีโอกาสทำพลาดมากกว่าคนแก่ แต่คนหนุ่มถ้าทำพลาดเสียบ้าง แล้วสามารถจดจำบทเรียนที่ผิดพลาดได้ พอลคิดว่า เขาจะมีทีมนักบริหารที่เก่งมากๆ ทีมหนึ่ง

คนหนุ่มที่เขาดึงมาก็มี สุรินทร์ ลิมปานนท์ ซึ่งเคยอยู่กรุงเทพธนาทร เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเครดิตการพาณิชย์ ยุทธ ชินสุภัคกุล อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ของบริษัท เฟตเตอร์ มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ รูดี อัลวิโซ นักบัญชี นักบริหาร ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งทำงานอยู่เอสจีวี ณ ถลาง มาคุมกลุ่มทัวร์รอแยล ส่วนสุธี นพคุณ เองก็ดึงวัฒนา ลัมพะสาระ มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ มาร่วมทำพัฒนาเงินทุน แล้วเตรียมสร้างบริษัทบ้านและที่ดินไทยขึ้นมา

กลางปี 2519 ผมก็เป็นคนหนุ่มในหลายคนหนุ่ม ที่กำลังเดินเข้าไปสัมผัสกับกลุ่มธนกิจ ซึ่งใน 3 ปี ขยายจากฐานสินทรัพย์เพียง 6-700 ล้านบาท มาเป็น 3,000 ล้านบาท ในเวลาอันสั้น

คนหนุ่มพวกนี้เป็นคนหนุ่มที่ไม่ได้มีสกุลรุนชาติ นายทุนใหญ่ที่เพียงแต่อาศัยนามสกุลตัวเองก็สามารถจะเป็นผู้บริหารได้ แต่คนหนุ่มพวกนี้ได้ถูกให้โอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง บางคนก็ค่อนข้างพร้อมเพราะมีการฝึกในด้านนี้มาก่อน บางคนเช่นผม มีพื้นฐานธุรกิจน้อยอย่างมาก ๆ พวกเราเหมือนถูกจับโยนเข้าไปในกรงเสือ เพื่อทดสอบความแข็งแกร่ง

แต่ความท้าทายในงานทำให้คนหนุ่มเหล่านี้ลืมนึกถึงความกลัวไป ทุกคนมีแต่ความกระเหี้ยนกระหือที่จะเข้าไปในสนามรบ โดยที่ไม่มีความรู้เลยว่า ในปี 2519 นั้น เรามีกระสุนปืนอยู่จำกัดมาก

แต่ทุกคนก็พร้อม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us