Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2526








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2526
เสรี ทรัพย์เจริญ             
 


   
search resources

Financing
เสรี ทรัพย์เจริญ
ราชาเงินทุน




เผยอย่างอาจหาญเป็นครั้งแรกถึงการฆ่าราชาเงินทุน เป็นต้นเหตุของการล้มของทรัสต์ต่างๆ

มีคนสัมภาษณ์เสรี ทรัพย์เจริญ มากก็มากพอสมควร เสรีเองก็เคยพูดออกมาหลายครั้งในเรื่องของราชาเงินทุน ครั้งนี้ เสรีคุยกับ “ผู้จัดการ” อย่างทะลุปรุโปร่ง จบทุกกระบวนความ ตั้งแต่เบื้องหน้าเบื้องหลังของการที่ราชาเงินทุนถูกคุมกำเนิดไม่ให้เกิดอีกเพราะอะไร

นอกจากนั้น เสรียังแนะวิธีแก้ปัญหาของวิกฤตการณ์ทรัสต์ต่างๆ อย่างมีเหตุผล และแยบยลพอสมควร

อ่านสัมภาษณ์เสรีครั้งนี้แล้ว ไม่ต้องไปอ่านที่ไหนอีก

ผู้จัดการ: อยากทราบว่าที่คณะกรรมการเชิญไปที่สภาเมื่อเดือนที่แล้ว ได้เชิญคุณเสรีไปชี้แจงเรื่องอะไร?

เสรี: ปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจการเงิน

ผู้จัดการ: เกี่ยวกับเรื่องที่มีสถาบันการเงินล้มไปแล้วหลายแห่ง แล้วทำท่าจะล้มตามอีกใช่ไหม

เสรี: ใช่

ผู้จัดการ: คุณเสรีมองปัญหานี้อย่างไร

เสรี: ผมเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ มีชาวบ้านเสียหายมาก ถ้าแก้ไขไม่ดีจะพังกันไปทั้งระบบ

ผู้จัดการ: ที่อ้างว่าอำนาจตามกฎหมาย ที่ใช้ในปัจจุบันไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้บริษัทเงินทุนต้องเลิกล้มกิจการนั้นจริงหรือไม่

เสรี: ผมคิดว่าไม่จริง เป็นข้อแก้ตัวมากกว่า แต่เดิมนั้นกฎหมายควบคุมบริษัทเงินทุน ก็คือประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ใช้มาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปี 2522 ใช้อยู่ 7 ปี ไม่มีบริษัทเงินทุนล้มสักบริษัทเดียว ต่อมากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนขึ้นใหม่ อ้างว่าไม่มีกฎหมายควบคุมโดยเฉพาะ มีแต่ประกาศคณะปฏิวัติยังไม่รัดกุมพอทำให้ประชาชนเสียเปรียบและไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องร่างกฎหมายใหม่โดยเฉพาะ ควบคุมการประกอบธุรกิจดังกล่าว เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน นี่เป็นเหตุผลที่แสดงไว้เป็นหมายเหตุต่อท้ายกฎหมายควบคุม ฉบับปี 2522 กฏหมายนี้ใช้เพียง 4 ปี ก็มีบริษัทใหม่ล้มไปหลายแห่ง แล้วทำท่าจะล้มตามกันอีกแยะ ผมจึงเห็นว่าบริษัทเงินทุนล้มนั้นไม่ใช่ เพราะกฎหมายไม่ดี มันอยู่ที่คนใช้กฎหมายมากกว่า

ผู้จัดการ: อำนาจควบคุมตามกฎหมายสองฉบับที่ว่านั้นแตกต่างกันอย่างไร

เสรี: ผมจำไม่ได้หมด จำได้ว่ากฎหมายใหม่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และพนักงานเจ้าหน้าที่ ไว้ล้นฟ้าครอบจักรวาล คือสามารถออกคำสั่งให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติอย่างไรก็ได้ จะสั่งให้บริษัทเงินทุนปฏิวัติอย่างไร ก็ได้ จะสั่งควบคุมโดยไม่ให้กรรมการและพนักงานของบริษัทกระทำกิจการของบริษัทเลย แล้วตั้งกรรมการและพนักงานเข้าดำเนินการเองทั้งหมดก็ยังได้เลยครับ

ผู้จัดการ: แล้วกฎหมายเก่าล่ะ

เสรี: ประกาศคณะปฏิวัติไม่ได้ให้อำนาจไว้มากมายเหมือนในกฎหมายใหม่ คือจะไปถอดถอนคณะกรรมการหรือผู้จัดการบริษัทออกไม่ได้ จะไปควบคุมโดยห้ามไม่ให้คณะกรรมการและพนักงานกระทำกิจการบริษัทไม่ได้ จะตั้งคนเข้าไปทำเองก็ไม่ได้อีก อำนาจของรัฐมนตรีมีแต่เพียงกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทเงินทุนที่กระทำความเสียหาย ทำการแก้ไขในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็ถือว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นสุด จะกระทำกิจการเงินทุนไม่ได้อีกต่อไป พูดง่ายๆ ว่าตามกฎหมายนั้นซึ่งเป็นประกาศคณะปฏิวัติ บริษัทเงินทุนยังมีอำนาจที่จะกระทำการแก้ตัวก่อนถูกล้มละลาย แต่ตามกฎหมายใหม่นั้นจะมีโอกาสกระทำการแก้ตัวหรือไม่นั้น อยู่ที่ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐมนตรีและพนักงานเจ้าหน้าที่

ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีความสามารถเหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่หรือเป็นผู้กระทำการโดยไม่สุจริต ก็จะทำความเสียหายแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ดังที่ได้เกิดมา 4 ปี แล้ว และมีผลเสียหายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและยังจะเสียหายต่อไปอีกในอนาคต

ผู้จัดการ: ความเสียหายที่ว่านี้เกี่ยวกับบริษัทราชาเงินทุน จำกัด หรือไม่

เสรี: ใช่ครับ

ผู้จัดการ: เรื่องราวเป็นอย่างไร

เสรี: กฎหมายควบคุมฉบับปัจจุบันเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2522 พอถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 ก็ออกคำสั่งควบคุมบริษัทราชาเงินทุน จำกัด มีผลทำให้กรรมการและพนักงานของบริษัทกระทำกิจการของบริษัทอีกต่อไปไม่ได้

ผู้จัดการ: ถ้าฝืนทำล่ะ?

เสรี: ก็ติดคุกน่ะซิครับ ผมโดนมาแล้ว แต่ขึ้นไปนั่งเป็นประธานการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น ผมถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับอีก 20,000 บาท ยังดีที่โทษจำศาลท่านกรุณาให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี พอดีครบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชบัญญัติล้างมลทินออกมา ผมเลยรอดตัวไม่ต้องมีใบแดงแจ้งโทษติดตัวไปตลอดชีวิต

ผู้จัดการ: เมื่อสั่งควบคุมแล้วทำอย่างไร?

เสรี: ทางราชการก็ตั้งคนเข้ามาจัดการแทน

ผู้จัดการ: ท่านตั้งใครเข้ามาบ้างครับ?

เสรี: ท่านก็ตั้งนายสมพงศ์ ธนะโสภณ ตอนนั้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายประทีป วัชรางกูร ตอนนั้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และนายไกรศรี จาติกวนิช ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบริษัทเงินทุนโดยตรง แล้วก็มีนายตามใจ ขำภโต และนายสำราญ กัลยาณรุจ ที่เป็นคนภายนอก รวมกัน 5 คนด้วยกัน ให้เข้ามามีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัท ราชาเงินทุน จำกัด ได้ทุกประการ ตามที่กฎหมายควบคุมฉบับใหม่บัญญัติไว้

ผู้จัดการ: ท่านเข้ามาแค่ 5 คน ท่านจะทำงานได้หรือ?

เสรี: ท่านตั้งพวกพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยอีกหลายสิบคนเข้ามาเป็นพนักงาน มีนายกมล จิระธันว์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันนี่แหละครับ เป็นหัวหน้าทีมของพวกแบงก์ชาติที่เข้ามาทำงานเป็นพนักงาน

ผู้จัดการ: แล้วทางกรรมการและพนักงานบริษัทเดิมยังทำงานอยู่หรือเปล่า?

เสรี: ทำอะไรไม่ได้หรอกครับ ขืนทำโดยท่านไม่ได้มอบหมายก็มีหวังติดคุก อย่างที่ผมโดนนั่นซิครับ

ผู้จัดการ: พวกแบงก์ชาติเข้ามาท่านทำอะไรบ้าง?

เสรี : ความจริงตามกฎหมายควบคุมฉบับใหม่นี่ ท่านมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทได้ทุกประการ หน้าที่ที่จะต้องดำเนินกิจการต่อไป มีระบุอยู่ในมาตรา 59 แต่ท่านไม่ทำหน้าที่หรอกครับ

ผู้จัดการ: ทำไมล่ะ?

เสรี : พวกท่านทำไม่เป็น ท่านเคยแต่กำกับและตรวจสอบไม่เคยลงมือเอง พนักงานและกรรมการบริษัทจะช่วยทำก็ไม่ได้ เพราะท่านไม่ยอมมอบหมาย งานการก็หยุดชะงักหมด พวกท่านก็ทำแต่งานที่ท่านถนัด คือจับผิดลูกเดียว งานการก็เลยเละตุ้มเป๊ะไปหมด

ผู้จัดการ: ทำไมบริษัท ไม่ทักท้วง?

เสรี: ผมจะไปทักท้วงกับใครได้ เพราะผู้มีอำนาจกำกับและตรวจสอบเขาทำผิดเสียเอง

ผู้จัดการ: ไม่มีกฎหมายห้ามหรือ?

เสรี: ไม่มีตามประกาศคณะปฏิวัติ แต่ตามกฎหมายควบคุมฉบับใหม่ได้บัญญัติห้ามไว้ ตามมาตรา 22 อนุ 7 ต้องแบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างผู้ลงมือทำและผู้ตรวจสอบ จึงห้ามมิให้ข้าราชการซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบริษัทเงินทุน หรือพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามามีอำนาจในการจัดการ หรือเป็นพนักงาน บริษัทเงินทุน เพราะตามปกติบุคคลเหล่านี้มีหน้าที่กำกับและตรวจสอบความถูกต้องในการปฏิบัติงานของบุคคลเหล่านี้ได้ อีกกฎหมายจึงห้ามเด็ดขาดมิให้บริษัทเงินทุนตั้งเองหรือยอมให้คนอื่นตั้ง แม้ว่าผู้ตั้งจะเป็นรัฐมนตรีก็มิได้มีกฎหมายบัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ตั้งบุคคลต้องห้ามพวกนี้ได้เลย

ผู้จัดการ: เมื่อทางการตั้งเข้ามาอย่างนี้แล้วไม่ผิดกฎหมายหรือ?

เสรี: ผิดชัดเจนเลยครับ แต่เมื่อผู้ใช้กฎหมายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง ผู้ทำหน้าที่กำกับผิดกฎหมายเสียเอง ผู้มีหน้าที่กำกับและตรวจสอบก็เข้ามาร่วมกระทำความผิดด้วย จึงเละเทะกันไปหมด ราษฎรธรรดาๆ อย่างพวกเรา จะไปร้องแรกแหกกะเฌอที่ไหน ก็ไม่มีใครเขารับฟังหรอกครับ

ผู้จัดการ: มีอำนาจมากมายอย่างนี้ คือสามารถออกคำสั่งให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติอย่างไรก็ได้ จะสั่งให้บริษัทถอดถอนประธานกรรมการ หรือผู้จัดการก็ได้ จะควบคุมโดยไม่ให้กรรมการและพนักงานของบริษัทกระทำกิจการของบริษัท เลยตั้งกรรมการและพนักงานเข้ามาดำเนินการเองทั้งหมดก็ยังได้ แล้วยังมีอำนาจอะไรเหลือที่ต้องการเพิ่มเติมอีกสำหรับใช้ป้องกันไม่ให้บริษัทเงินทุนล้มอีก?

เสรี: ท่านคงต้องการตัดอนุ 7 ของมาตรา 22 ออก เพื่อให้พวกท่านที่เป็นข้าราชการ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบริษัทเงินทุน หรือพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามามีอำนาาจในการจัดการ หรือเป็นพนักงานบริษัทเงินทุนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ท่านทำผิดไว้ในกรณีราชาเงินทุน จะได้ถูกกฎหมายเสียที แล้วต่อไปเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ที่บริษัทใด ท่านจะได้มีอำนาจเข้าไปดำเนินการได้ แล้วตรวจสอบเอง เมื่อยึดอำนาจในบริษัทให้เป็นของพรรคพวกตัวเองไม่ได้ ก็จะได้ทำรายงานให้รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้เอง ให้มันเสร็จเด็ดขาดไปเลย

ผู้จัดการ: แสดงว่าอำนาจตามกฎหมายควบคุมฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ มีอยู่พอแล้วใช่ไหม

เสรี: ผมคิดว่าเกินพอเสียแล้วด้วยซ้ำ

ผู้จัดการ: แล้วทำไมเมื่อใช้กฎหมายเท่าที่เป็นประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 อยู่ 7 ปี ไม่มีบริษัทเงินทุนล้มแม้แต่บริษัทเดียว พอเปลี่ยนมาใช้กฎหมายควบคุมที่คุณเสรีว่ามีอำนาจอยู่เกินพอนั้น จึงมีบริษัทเงินทุนหลายแห่งล้มลง แล้วทำท่าจะล้มตามไปอีกหลายบริษัทได้อย่างไร?

เสรี: ผมจึงบอกว่า ที่ว่ากฎหมายไม่พอนั้นไม่จริง กฎหมายควบคุมฉบับปัจจุบันมีพอใช้ได้อยู่แล้ว ความบกพร่องอยู่ที่ความสุจริตใจและความสามารถของผู้ใช้ กฎหมายว่ามีอยู่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่หรือไม่เท่านั้น

ผู้จัดการ: คุณเสรีจึงเห็นว่าการแก้กฎหมายนั้นยังไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนใช่ไหม?

เสรี: ครับ เพราะถ้ามัวแก้กฎหมายกันอยู่ จะต้องมีบริษัทเงินทุนล้มไปอีกหลายบริษัท กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว จึงต้องรีบทำการแก้ไข มิฉะนั้นจะพังกันไปทั้งระบบและเป็นหน้าที่ของผู้รับมีอำนาจใช้กฎหมายควบคุมที่มีอยู่จะต้องรับใช้อำนาจนั้น “เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” อย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นไปตามเหตุผลที่ได้ร่างกฎหมายควบคุมฉบับนี้ขึ้นมาใช้

ผู้จัดการ: จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา คุณเสรีเห็นว่าผู้มีอำนาจตามกฎหมายมิได้ใช้อำนาจ “เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” อย่างนั้นใช่ไหม?

เสรี: ผมเห็นอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้มหรือไม่ล้มนี่เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณากันให้รอบคอบ เพราะมีที่ทั้งเสียหายโดยตรงและผลกระทบทางอ้อม

ผู้จัดการ: อย่างการล้มราชาเงินทุนนี้ เขาว่าเสียหายเป็นหมื่นล้านจริงไหม?

เสรี : จริงครับ ความเสียหายโดยตรงไม่เท่าไร แต่ผลกระทบนั้นมหาศาลทีเดียว ธนาคารชาติเองได้ทำรายงาน เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2522 แจกแจงความเสียหายและผลกระทบไว้อย่างละเอียด

ผู้จัดการ: แล้วรายงานของธนาคารชาติฉบับนั้น สรุปว่าควรล้มหรือไม่?

เสรี: รายงานธนาคารชาติสรุปว่าไม่ล้ม โดยอ้างจากประสบการณ์ในอดีตว่าได้เคยประคับประคองมาแล้วตั้งธนาคาร และบริษัทเงินทุน เช่น ธนาคารมณฑล ธนาคารเกษตร และบริษัทการเงินสยาม เป็นต้น ธนาคารและบริษัทเงินทุนเหล่านี้ยังอยู่ได้ และประชาชนผู้ฝากเงินก็ไม่เสียหาย และยังป้องกันผลกระทบต่อเนื่องไว้ได้ทั้งระบบ

ผู้จัดการ: ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อ่านรายงานของธนาคารชาติฉบับนี้หรือเปล่า?

เสรี: ได้อ่านครับ

ผู้จัดการ: แล้วทำไมจึงสั่งล้มเล่า?

เสรี: ก็มีคนเสนอ

ผู้จัดการ: ใครเสนอ?

เสรี: ผู้เสนอก็คือกรรมการ 5 คนชุดที่ทางราชการตั้งเข้ามาบริหารงานแทนกรรมการที่ผู้ถือหุ้นตั้งนั่นแหละครับ

ผู้จัดการ: ชุดที่คุณสมพงศ์ ธนะโสภณ เป็นประธาน ที่คุณเสรีว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมายควบคุมมาตราอะไร?

เสรี: มาตรา 22 อนุ 7 ครับ

ผู้จัดการ: แล้วคำสั่งล้มจะสมบูรณ์หรือครับเนี่ย ผู้เสนอมีคุณสมบัติที่กฎหมายห้ามไว้

เสรี: ผมไม่รู้ซิ แต่มันก็ล้มไปแล้ว

ผู้จัดการ: ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารชาติเสนอให้ล้ม ทั้งๆ ที่ธนาคารชาติได้รายงานไว้ว่า มีแต่ความเสียหายอย่างนั้นหรือ?

เสรี: ครับ

ผู้จัดการ: แล้วรัฐมนตรีที่สั่งล้มน่ะได้อ่านรายงานความเสียหายที่ธนาคารชาติเสนอนั้นแล้วหรือยัง?

เสรี: อ่านแล้ว

ผู้จัดการ: แล้วก็ยังสั่งล้มอีก

เสรี: ครับ

ผู้จัดการ: ผู้เสนอกับผู้สั่งล้มนี่รู้กันหรือเปล่า?

เสรี: ผมก็ไม่รู้ซิ

ผู้จัดการ: ที่คุณเสรีเคยพูดว่าบริษัทเงินทุนล้ม ไม่ใช่เพราะกฎหมายไม่ดี แต่อยู่ที่คนใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลอย่างไรต่างหากใช่ใหม?

เสรี: ครับ ถ้าผู้ใช้กฎหมายมีความสุจริตใจและมีความสามารถเหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่ ก็สามารถใช้กฎหมายควบคุมฉบับนี้คุ้มครองประโยชน์ของประชาชนได้ เพราะกฎหมาย ได้ให้อำนาจไว้เพียงพอที่จะเลือกใช้เอาได้

ผู้จัดการ: แล้วการล้มราชาเงินทุนนี่คุ้มครองประโยชน์ของประชาชนหรือเปล่า?

เสรี: ไม่คุ้มครองเลยมีแต่คนเสียหาย

ผู้จัดการ: รัฐไม่ช่วยเลยหรือ?

เสรี: ไม่ช่วยเหลือเลย

ผู้จัดการ: ได้ข่าวว่าช่วยผู้ถือตั๋ว 20% ไม่ใช่หรือ?

เสรี: ไม่ได้ช่วยครับ เป็นการให้ยืม 20% แล้วขอรับโอนสิทธิ์ทั้งหมด ผู้ยืมหมดสิทธิเป็นเจ้าหนี้ไปแล้ว ต่อไปอาจจะต้องใช้หนี้เงินยืมมา 20%

ผู้จัดการ: ทางราชการเคยออกข่าวว่าจะตั้งบริษัทมหาชนขึ้นรองรับความเสียหายมิใช่หรือ?

เสรี: มีแต่ข่าวที่ทางราชการแถลง แต่ไม่มีคนรับผิดชอบ

ผู้จัดการ: แล้วพวกที่เดือดร้อน เสียหาย ไม่คิดจะช่วยตัวเองบ้าง!

เสรี: ทุกคนดิ้นรนอยากช่วยตนเองทั้งนั้น แต่ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายไม่ยอมเปิดทางให้

ผู้จัดการ: แล้วทำไมคุณเสรีไม่ดิ้นรน?

เสรี: ดิ้นรนจนเกือบติดคุกไปครั้งหนึ่งแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังดิ้นรนอยู่ เพราะคนเดือดร้อนกันมากเหลือเกิน

ผู้จัดการ: เมื่อตอนที่ล้มนั้นได้ยินทางราชการแถลงข่าวว่าคุณเสรี ไม่ให้ความร่วมมือ?

เสรี: ผมร่วมมือจนหมดตัวแล้ว เดี๋ยวนี้ยังติดหนี้ธนาคารอยู่หลายสิบล้าน เพราะไปค้ำประกันเอาเงินมาให้ราชาเงินทุนตอนก่อนถูกสั่งล้ม

ผู้จัดการ: เขาว่าคุณเสรีปั่นหุ้นราชา จนถึงหุ้นละ 2,470 บาท รวยอื้อซ่าไปเลย

เสรี: ผมมีแต่คอยห้ามไม่ให้แย่งกันซื้อเพราะทำให้ราคาสูง ผมจะปั่นให้ราคาสูงไปทำไม ในเมื่อผมมีตั้งเจ็ดแสนกว่าหุ้นแล้วไม่ขาย ถ้าผมปั่นจริงผมก็ต้องขาย ตอนราคาสูงจะได้เงินตั้งพันกว่าล้าน

ผู้จัดการ: มีคนเขาว่า คุณเสรีล้มบนฟูกจริงไหม?

เสรี: อย่าว่าล้มบนฟูกเลย เสื่อสักผืนก็ไม่มี ล้มบนคอนกรีตแท้ๆ ขัดยอกไปทั้งตัว

ผู้จัดการ: ที่คุณเสรีบอกว่าติดหนี้ธนาคารหลายสิบล้าน พอจะเปิดเผยธนาคารได้มั้ย
เสรี: บอกก็ได้ เรื่องของผมเองไม่ผิดมารยาทอะไร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทั้งต้นและดอกเข้าไป 40 กว่าล้าน ธนาคารไทยพาณิชย์อีก 10 กว่าล้าน ทั้งต้นทั้งดอกไม่เคยใช้เขาเลย เดี๋ยวนี้ยอดรวมแล้วเท่าไรก็ไม่รู้

ผู้จัดการ: ก่อนล้มทำไมไม่ถอนเงินออกมาซะบ้าง

เสรี: มีแต่รวบรวม เงินไปฝากเพิ่มของตัวเองยังไม่พอ ของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่สนิท ไปขอร้องเอาเขามาหมด ตอนล้มนี่ ผมเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วรายใหญ่ที่สุด

ผู้จัดการ: ราชาเงินทุนตอนนั้นมีปัญหาอะไร?

เสรี: ขาดสภาพคล่อง เพราะคนตื่นไปถอนเงินกันมาก

ผู้จัดการ: ก่อนจะล้มยังเป็นหนี้พวกถือตั๋วเขามากหรือ?

เสรี: เขาถอนกันไปแล้วส่วนใหญ่ เหลือเจ้าหนี้สุทธิ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินไม่ถึง 500 ล้าน

ผู้จัดการ: แล้วพวกสถาบันการเงินล่ะ!

เสรี: ประมาณ 200 ล้าน

ผู้จัดการ: จำได้ว่ เมื่อวันที่สั่งล้ม คุณชาญชัย ลี้ถาวร ตอนนั้นเป็นทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกโทรทัศน์ชี้แจงประชาชนว่า ถ้าจะช่วยราชาเงินทุนจะต้องใช้เงินภาษีอากรของประชาชน เข้าไปช่วยเหลือถึง 2,000 ล้านบาท ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เสรี: มีหนี้สุทธิ จะต้องใช้เพียง 70 ล้านจะเอาเงินภาษีอากรช่วยตั้ง 2,000 ล้าน จะเอาเข้าไปทำอะไรกัน ความจริงพวกสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ประมาณ 200 ล้าน นั้นตกลงที่จะเลื่อนชำระหนี้ให้แล้ว และยังมีบริษัทเงินทุนอีกประมาณ 50 บริษัท มีหนังสือขอร้องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ขอมิให้เลิกล้มกิจการบริษัทราชาเงินทุน จำกัด โดยบริษัทเหล่านั้นยินดีจะให้กู้ยืมเพิ่มเติมอีก ตัวผมเองได้ติดต่อให้กับบริษัทเหล่านั้นและธนาคารอีกบางธนาคารเหล่านั้น มียอดที่จะให้กู้ยืมเป็นการช่วยเหลือประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับสถานการณ์ได้

ผู้จัดการ: หนี้ผู้ถือตั๋วสุทธิมีตั้งเกือบ 500 ล้าน!

เสรี: ใช่ แต่ที่ใช้เพียง 300 ล้าน ก็พอแล้ว เพราะยอดอีก 200 ล้าน เป็นของตัวเองและพวกญาติพี่น้อง และพรรคพวกที่สนิท ซึ่งผมขอร้องไม่ให้ถอนได้

ผู้จัดการ: แล้วทำไมคุณเสรีถึงไม่เข้าไปแก้ปัญหาให้มันเรียบร้อย?

เสรี: เมื่อบริษัทถูกราชการเข้าควบคุม กรรมการบริษัทที่ผู้ถือหุ้นแต่งตั้งขึ้นยังคงจะเข้าไปจัดการไม่ได้ ขืนเข้าไปยุ่งก็ติดคุก

ผู้จัดการ: เลยทำอะไรไม่ได้?

เสรี: ผมก็ได้แต่เสนอให้กรรมการที่ทางราชการแต่งตั้ง ซึ่งมีคุณสมพงศ์เป็นประธาน ใช้หุ้นที่ผมมีอยู่เจ็ดแสนหุ้นเศษ ให้วางเป็นประกันหนี้ที่สถาบันการเงินจะให้กู้ยืมตามที่ผมติดต่อไว้ ถ้าหลักประกันยังไม่พอ ผมจะไปขอร้องจากคนอื่นมาเพิ่มเติมให้อีก มีอยู่คนหนึ่งซึ่งผมซึ้งน้ำใจอยู่เดี๋ยวนี้คือ คุณสุระ จันทร์ศรีชวาลา เสนอบริษัทเงินทุนอื่นๆ ว่า ยินดีจะเอาหลักทรัพย์ของตนเองเข้าค้ำประกันผมเต็มที่เลย

ผู้จัดการ: แล้วทำไมแก้ปัญหาไม่ได้ล่ะ?

เสรี: ผมเข้าไปจัดการไม่ได้ เพราะกฎหมายควบคุมห้ามอยู่ ต้องให้คุณสมพงศ์เป็นผู้จัดการ เพราะเป็นผู้ที่ทางราชการแต่งตั้งให้มีอำนาจเข้ามาจัดการบริษัทราชาเงินทุน ระหว่างที่ถูกทางราชการควบคุม คุณสมพงศ์ได้บอกผมว่า ตามที่ผมเสนอนี้ผมทำไม่ได้ผมถามว่าเพราะอะไร คุณสมพงศ์ก็ไม่บอก

ผู้จัดการ: แล้วทำอย่างไรต่อไป?

เสรี: คุณสมพงศ์บอกผมว่าทางที่จะทำได้ มีอยู่ทางเดียวต้องให้ผมเซ็นตราสารโอนหุ้นส่วนตัวของผมทั้งหมดมอบให้คุณสมพงศ์ไปจัดการโอนขายเพื่อนำเงินที่ได้มาชำระหนี้แก้เจ้าหนี้

ผู้จัดการ: แล้วยอมหรือเปล่า?

เสรี: ยอมซิครับ

ผู้จัดการ: ทำไมยอม?

เสรี: ผมคิดแล้ว ถ้าผมไม่ยอมเซ็นเขาบอกว่าจะเสนอให้รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาต พวกเจ้าหนี้ ผู้ถือตั๋ว มี 2,000 กว่าราย และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 1,000 กว่าราย เขาจะต้องเดือดร้อน ถ้าผมยอมเสียสละของผมเพียงคนเดียว ช่วยพวกเขาไว้ได้ทั้งหมดผมจึงยอมเซ็น

ผู้จัดการ: แล้วต่อไปล่ะ?

เสรี: เขาก็เอาหุ้น ไปโอนขายแบ่งกันอยู่ในกลุ่มพวกเขา ซื้อขายกลับไปกลับมาหลายทอด ในราคาหุ้นละ 200 บาท มีผู้ขอซื้อหุ้นละ 700 บาท ก็ไม่ยอมขาย

ผู้จัดการ: ทำไม?

เสรี: ผมทราบว่ามีเงินค่าหุ้นเอาไปเปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาถนนศรีอยุธยา แล้วพวกกรรมการควบคุมเขาก็ยักย้ายถ่ายเทกันอย่างไรผมไม่ทราบ แทนที่พวกเจ้าหนี้จะได้เงินตามตั๋ว กลับกลายเป็นลูกหนี้ 20% แล้วต้องเซ็นโอนตั๋วให้เขาไป

ผู้จัดการ: เมื่อเจ้าหนี้ไม่ได้เงิน แล้วคุณเสรีได้หุ้นคืนหรือเปล่า?

เสรี: ไม่ได้ครับ


ผู้จัดการ: เขาเอาหุ้นคุณเสรีไปทำอะไร?

เสรี: เขาเอาไปโอนขายในพรรคพวกของเขา แล้วใช้สิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2522

ผู้จัดการ: ประชุมเพื่อประสงค์อะไร?

เสรี: พวกเขารับโอนหุ้นส่วนตัวของผมไปหมดแล้ว เขาต้องการใช้สิทธิจากหุ้นของผมเอง ไล่ผมออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ แล้วตั้งคุณตามใจ ขำภโต เป็นประธานกรรมการแทนผม

ผู้จัดการ: สำเร็จไหม?

เสรี: ไม่สำเร็จ

ผู้จัดการ: เขาว่าคุณเสรีขัดขวาง!

เสรี: ผมจะขัดขวางเขาได้อย่างไร? หุ้นของผมก็โอนให้เขาไปหมดแล้ว!

ผู้จัดการ: แล้วทำไมคุณตามใจไม่ได้เป็นประธานกรรมการแทนคุณเสรี?

เสรี : ผู้ถือหุ้นรายย่อยซิครับ รวมตัวกันตั้งพันกว่าคน เขาเห็นใจผม รวมหัวกันลงมติเป็นเอกฉันท์ไม่ยอมให้ถอดผมออก คุณตามใจเลยไม่ได้เป็น

ผู้จัดการ: คุณตามใจเขาเป็นกรรมการที่ทางราชการแต่งตั้งชุดเดียวกับคุณสมพงศ์ไม่ใช่หรือ?

เสรี: ครับ

ผู้จัดการ: เขามีอำนาจอยู่แล้ว ทำไมจะต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งอีก?

เสรี: ที่เขาเป็นอยู่เป็นเรื่องทางราชการสั่งควบคุมเท่านั้น จะให้ถาวรต้องให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้ง

ผู้จัดการ: เมื่อตั้งคุณตามใจเป็นประธานบริษัท แทนคุณเสรีไม่ได้ กรรมการควบคุม เขาทำอย่างไร

เสรี: เขาโกรธมากเดินหน้าม้วนออกจากที่ประชุม วิ่งไปฟ้องนายกเกรียงศักดิ์ว่า ผมขัดขวางการประชุม ซึ่งความจริงเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นรายย่อยพันกว่าคน เขาลงมติไม่ยอมเป็นเอกฉันท์

ผู้จัดการ: คุณเสรีออกเสียงลงมติกับเขาหรือเปล่า?

เสรี: เปล่าเลย เพราะหุ้นของผมโอนให้เขาไปแล้ว

ผู้จัดการ: เมื่อเขาวิ่งไปฟ้องนายก แล้วนายกทำอย่างไร

เสรี: ก็สั่งตำรวจให้มาจับผมใส่ห้องขังอีกในคืนนั้นเลย ไม่ยอมให้ประกันตัวด้วย ผมมาขอประกันตัวได้ในชั้นศาล

ผู้จัดการ: ข้อหาอะไร?

เสรี: ขัดขวางเจ้าพนักงานแล้วก็กระทำกิจการบริษัทโดยคณะกรรมการควบคุมที่ทางราชการแต่งตั้งไม่ได้มอบหมาย

ผู้จัดการ: แล้วศาลตัดสินอย่างไร?

เสรี: ขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ศาลว่าผมไม่ผิด ส่วนข้อหากระทำกิจการบริษัทโดยคณะกรรมการควบคุมที่ทางราชการแต่งตั้งไม่ได้มอบหมายนั้น ศาลตัดสินว่าผมมีความผิดตามกฎหมายควบคุม บริษัทเงินทุนที่ออกมาใหม่ที่ยังใช้อยู่จนเดี๋ยวนี้

ผู้จัดการ: ผิดตรงไหน?

เสรี: ผิดตรงที่ขึ้นไปทำหน้าที่ประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยคณะกรรมการควบคุมที่ทางราชการแต่งตั้งไม่ได้มอบหมายให้ผมขึ้นไป

ผู้จัดการ: ศาลลงโทษอย่างไร?

เสรี: ทั้งปรับทั้งจำเลยครับ แต่โทษจำคุกนั้นศาลกรุณาให้รอลงอาญาไว้

ผู้จัดการ: ก็คุณเสรีขึ้นไปเป็นประธานที่ประชุม ทำให้เขาประชุมกันได้ไม่ใช่หรือ?

เสรี: ใช่ครับ ผมขึ้นไปเป็นประธานตามหน้าที่ที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง

ผู้จัดการ: ถ้าคุณเสรีไม่ขึ้นเป็นประธานในวันนั้น เขาจะประชุมกันได้ไหม?

เสรี: ตามประมวลกฎหมายแพ่ง เขาจะประชุมกันไม่ได้

ผู้จัดการ: แสดงว่ากฎหมายควบคุมฉบับนี้ให้กับอำนาจทางราชการไว้เหลือเฟือจริงๆ
เสรี: ครับ

ผู้จัดการ: ทราบว่าก่อนที่คุณเสรีจะถูกนายกเกรียงศักดิ์สั่งจับครั้งนี้ คุณเสรีเคยถูกนายกสั่งจับมาแล้วครั้งหนึ่งใช่ไหม?

เสรี: ใช่ครับ

ผู้จัดการ: เรื่องอะไร?

เสรี: ผมไม่ทราบว่าคณะกรรมการควบคุมที่ทางราชการแต่งตั้งไปรายงานนายกเกรียงศักดิ์ว่าอย่างไร ท่านนายกเลยตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงเรื่องราชาเงินทุน มีคุณประเทือง กีรติบุตร ซึ่งขณะนั้นเป็นทั้งอธิบดีกรมอัยการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง แล้วก็มีคนอื่นๆ ร่วมด้วย อีก 5-6 คน

ผู้จัดการ: กรรมการสอบข้อเท็จจริงคนอื่นๆ มีใครบ้าง?

เสรี: ผมจำไม่ได้หมด ที่จำได้ มีคุณสำราญ กัลยาณรุจ

ผู้จัดการ: เป็นกรรมการควบคุมที่ทางราชการแต่งตั้งมาดำเนินงานบริษัทราชาเงินทุน ด้วยใช่ไหม?

เสรี: ใช่ครับ

ผู้จัดการ: แล้วคนอื่น พอจำใครได้อีกไหม?

เสรี: ก็มีคุณไพศาล กุมาลย์วิสัย ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย อีกคนหนึ่ง เป็นทั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเลขานุการด้วย

ผู้จัดการ: คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรียกคุณเสรีไปสอบถามเรื่องอะไรกันบ้าง?

สรี: ไม่เคยเรียกไปสอบถามเลย

ผู้จัดการ: แล้วกรรมการของบริษัทคนอื่นๆ ถูกเรียกไปสอบข้อเท็จจริงบ้างหรือเปล่า?

เสรี: ก็ไม่เคยเรียกอีกนั่นแหละ

ผู้จัดการ: พนักงานบริษัทถูกเรียกไหม?

เสรี : ไม่ถูกเรียกไปสอบข้อเท็จจริงเหมือนกัน

ผู้จัดการ: แล้วคณะกรรมการสรุปข้อเท็จจริงได้อย่างไร?

เสรี: ก็สรุปเอาตามที่คุณสำราญและกรรมการที่ทางราชการแต่งตั้ง เข้าไปดำเนินงานเพียงไม่กี่วันเป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงให้

ผู้จัดการ: ธนาคารชาติเคยส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเป็นประจำก่อนหน้าที่ บริษัทจะถูกควบคุมไม่ใช่หรือ?

เสรี: มีหน่วยตรวจสอบที่บริษัทเป็นประจำ และได้ทำรายงานให้บริษัททราบข้อบกพร่องทุกครั้งที่มาตรวจสอบ

ผู้จัดการ: เคยมีทักท้วงว่า ราชาฯ ทำผิดเรื่องใหญ่ๆ บ้างไหม?

เสรี: ไม่เคยมี ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดในข้อกฎหมาย หรือระเบียบปฏิบัติ
เล็กๆ น้อย

ผู้จัดการ: แล้วคราวนี้ทำไมจึงผิดมาก?

เสรี: เป็นเรื่องตามรายงานของคณะจับผิดของผู้ช่วยผู้ว่าการสมพงศ์ ธนะโสภณ ที่เข้าไปดำเนินงานเพียงไม่กี่วัน

ผู้จัดการ: แล้วพวกที่ตรวจสอบประจำอยู่เดิม หายไปไหนหมด?

เสรี: เขาหาว่าบกพร่อง ที่จับผิดบริษัทเรื่องใหญ่ๆ ไม่ได้ เขาเลยสั่งย้ายไปหมด

ผู้จัดการ: เป็นการลงโทษใช่ไหม?

เสรี: ก็ทำนองนั้น คือย้ายไปทำงานในตำแหน่งเหมือนกัน แต่ความสำคัญน้อยกว่า หัวหน้าที่ตรวจสอบราชาเงินทุนตอนนั้น ดูเหมือนชื่อคุณวรทิน เสียใจมากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเลยลาออกจากแบงก์ชาติไปเลย

ผู้จัดการ: เมื่อสั่งย้ายคุณวรทินและพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบออกแล้ว ธนาคารชาติตั้งใครเข้ามากำกับและตรวจสอบการงานของบริษัทราชา เงินทุน ระหว่างที่คุณสมพงส์และคณะทำหรือเปล่า?

เสรี: จะตั้งใครเข้ามากำกับตรวจสอบ และควบคุมได้อีกเล่าครับ คุณสมพงศ์ขณะนั้นท่านก็เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ คุณประทีปเป็นรองผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน เป็นผู้เข้ามาดำเนินกิจการบริหารบริษัทราชา เงินทุนด้วยตนเอง แล้วยังมีนายกมล จิระธันว์ ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีของธนาคารชาติ และพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับและตรวจสอบอีกหลายสิบคน ได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นพนักงาน ช่วยกันดำเนินกิจการของบริษัท สนุกกันใหญ่ครับ ทำกันเอง แล้วก็กำกับตรวจสอบควบคุมกันเอง ในที่สุดก็เสนอล้มเสียเอง ทำผิดกฎหมายทั้งนั้น ตั้งแต่ต้นจนจบ คนอื่นเข้าเกี่ยวข้องไม่ได้เลย ผมว่าขณะที่เขาทำกันทำ พวกเขาเองก็ไม่รู้ตัวว่าขณะใดสวมหมวกใบไหนอยู่ มีกฎหมายบังคับให้พวกเขาสวมหมวกได้ใบเดียว แต่เขาก็สวมกันคนละใบสองใบ โก้จริ ๆ คนอื่นไม่มีความสามารถทำอย่างพวกเขาได้หรอกครับ

ผู้จัดการ: ทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการควบคุม ไม่ใช่หรือ เข้าดำเนินกิจการบริษัท ราชา เงินทุน ได้อย่างไร?

เสรี: ตรงนี้แหละครับที่ยังสับสน และเข้าใจผิดกันอยู่ เพราะกฎหมายบัญญัติเรื่องบุคคลที่ทางราชการแต่งตั้งให้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการบริษัทได้ทุกประการ ชื่อคณะกรรมการควบคุม ชื่อมันไม่ตรงกับอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คุณสมพงศ์ คุณประทีป คุณไกรศรี และพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศมีอำนาจหน้าที่ควบคุมบริษัทเงินทุนแล้ว ถ้ากรรมการควบคุมมีอำนาจหน้าที่เฉพาะควบคุมตามชื่อที่เรียกเท่านั้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ มาตรา 59 บัญญัติให้คณะกรรมการควบคุมมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทที่ถูกควบคุมได้ จึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 22(7) มิให้ตั้งเป็นกรรมการควบคุม และพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีลักษณะต้องห้าม มิให้ตั้งเป็นพนักงานควบคุม ด้วยเหตุผลและข้อกฎหมายข้อเดียวกัน พูดให้ฟังกันง่ายๆ ก็คือกฎหมายห้ามสวมหมวก 2 ใบ คือถ้าสวมหมวกใบหนึ่งอยู่แล้ว จะเอาหมวกอีกใบครอบหมวกใบเก่าไม่ได้ กล่าวคือ มาตรา 22 (7) ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนตั้ง หรือยอมให้สวมหมวกมีหน้าที่ควบคุ บริษัทเงินทุนอยู่ใบหนึ่ง แล้วเข้ามาสวมหมวกเป็นพนักงาน หรือผู้มีอำนาจจัดการอีกใบหนึ่ง เพราะมีหน้าที่ขัดแย้งกัน คือถ้ายอมให้คนควบคุมทำเองได้ ก็จะไม่มีใครควบคุมนั่นเอง

ผู้จัดการ: เมื่อคณะกรรมการไม่ยอมเรียกไปสอบถามข้อเท็จจริง แล้วคุณเสรีทำอย่างไร?

เสรี: ผมก็ไปติดต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมและชี้แจงข้อเท็จจริง

ผู้จัดการ: แล้วคณะกรรมการยินยอมให้ชี้แจงไหม?

เสรี: ไม่ยอม เขาบอกว่าคณะกรรมการประชุมกันแล้ว เห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้ผมชี้แจง ให้ผมเก็บข้อเท็จจริงไว้สำหรับต่อสู้คดีชั้นศาลดีกว่า

ผู้จัดการ: เป็นข้อเท็จจริงจากฝ่ายเดียว?

เสรี : ผมเห็นใจคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหมือนกัน คือมีพวกประจบสอพลออยากได้หน้าบางคนรีบแอบไปรายงานท่านนายกเกรียงศักดิ์ด้วยวาจาก่อน ท่านนายกก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์โครมเลยว่า จะจับกุมผมเพื่อดำเนินคดี ก่อนที่คณะกรรมการจะประชุมสรุปข้อเท็จจริงเสนอ ผมก็พอจะระแคะระคายอยู่บ้างแล้วว่า เขาใส่ไฟผมไว้เรื่องอะไรบ้าง ถ้าเปิดโอกาสให้ผมเข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเต็มคณะ ผมมั่นใจว่าผมสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาทุกข้อของพวกกระต่ายตื่นตูม ที่ต้องการจับผิดเพื่อไปเสนอเอาหน้ากับผู้ใหญ่ได้ ถ้าผลสรุปของคณะกรรมการสรุปข้อเท็จจริงเกิดกลับตาลปัตรออกมาว่าผมไม่ผิด แล้วท่านนายกจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน เพราะให้สัมภาษณ์เต็มปากเต็มคำไปแล้วว่า ผมผิดต้องจับ

ผู้จัดการ: เขาเลยไม่ยอมให้ชี้แจงและแนะนำให้เก็บข้อเท็จจริงไว้ต่อสู้คดี ขึ้นศาลอย่างนั้นใช่ไหม?

เสรี: ครับ ยังขู่ให้ผมหนีไปต่างประเทศด้วย บอกว่าถ้าไม่หนีจะจับแน่ เขากลัวผมจะแก้ข้อกล่าวหาได้

ผู้จัดการ: แล้วทำอย่างไร?

เสรี: ผมไม่ยอมหนีหรอกครับ ผมต้องการพิสูจน์ตัวเอง แต่ผมแปลกใจที่ท่านนายกบอกว่าจะจับผมนั้น ท่านนายกให้สัมภาษณ์ตอนที่ท่านกำลังเมาอยู่หรือเปล่า ผมเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งจับผมได้เลย

ผู้จัดการ: นายกรัฐมนตรีมีตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหาร ทำไมจึงไม่มีอำนาจ?

เสรี: การใช้อำนาจต้องมีกฎหมายรองรับ ผมเคยอ่านหนังสือชีวประวัติคุณหลวงอดุลย์ สมัยที่ท่านเป็นอธิบดีตำรวจ จับกุมรัฐมนตรีร่วมคณะของจอมพล ป. เมื่อท่านนายกจอมพล ป. สั่งให้ปล่อย นอกจากคุณหลวงอดุลย์จะไม่ยอมปล่อย แล้วยังบอกว่าแม้แต่ท่านนายกเองถ้าทำผิดก็จะจับ แสดงว่าท่านเป็นคนตงฉิน ซื่อตรงต่อหน้าที่ ถ้าทำถูกแล้วไม่เกรงกลัวอิทธิพลหน้าไหนทั้งสิ้น ผมนับถือท่านจริงๆ แสดงว่าเรื่องจับเรื่องปล่อยนั้น อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจเต็มที่ นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายเลย

ผู้จัดการ: แล้วเรื่องคุณเสรี เมื่อท่านนายกสั่งจับแล้ว อธิบดีกรมตำรวจทำตามคำสั่งท่านนายกใช่ไหม?

เสรี: อธิบดีตำรวจคนนี้ ท่านไม่ใช่คุณหลวงอดุลย์ ท่านสั่งตั้งกรรมการขึ้นทันที มีนายตำรวจรวมสิบกว่านาย ทำเรื่องผมโดยเฉพาะเลย

ผู้จัดการ: ไม่มีการสวบสวนก่อนสั่งจับกุมเลยหรือ?

เสรี: ไม่เลยครับ เมื่อนายกเป็นผู้สั่ง เขาก็เชื่อตามรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเลย

ผู้จัดการ: รายงานที่สอบข้อเท็จจริงจากฝ่ายกล่าวหาฝ่ายเดียว!

เสรี: ครับ

ผู้จัดการ: ก็เลยถูกจับ

เสรี: คนอย่างผมไม่ต้องให้ตำรวจลำบากลำบนมาจับหรอกครับ ไปติดต่อขอมอบตัวต่อสู้คดีเลย ชวนลูกชายคนโตไปเป็นเพื่อนด้วยอีกคนหนึ่ง เท่านั้นเอง แต่ผมไม่ได้ติดต่อขอมอบตัวแล้วขอต่อสู้คดีอย่างเดียวนะครับ ในวันนั้น ผมจำได้ คือวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 ผมได้ยื่นหนังสือขอร้องทุกข์ กล่าวหานายสมพงศ์ ธนะโสภณ และนายตามใจ ขำภโต ซึ่งเป็นกรรมการควบคุม ว่ากระทำผิดฐานปลอมเอกสาร ซึ่งอธิบดีกรมตำรวจคนที่ชื่อ พล.ต.อ. มนต์ชัย พันธ์คงชื่น เป็นผู้แต่งตั้ง ขอร้องว่าท่านได้รับแต่งตั้งให้มาดำเนินคดีกับผม จึงรับคำร้องทุกข์ที่กองปราบปรามสามยอด ผมก็ได้ไปร้องทุกข์ที่กองปราบฯ ตามคำแนะนำของท่าน ผมทราบว่าคดีที่ผมร้องทุกข์ไว้นั้นได้มีการเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนไปหลายคนแล้ว จนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ยังมิได้สรุปสำนวนสั่งฟ้อง หรือคำสั่งไม่ฟ้อง ผมจึงทราบว่าอันกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นหาใช่บริการที่คนอย่างผมจะสามารถอาจเอื้อมขึ้นไปใช้บริการได้เลย

ผู้จัดการ: แล้วคดีที่คุณเสรีไปมอบตัวต่อสู้คดี มีข้อหาอะไร?

เสรี: ข้อหายักยอกเพียงข้อหาเดียว ข้อหาอื่นๆ ตามรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่าฉ้อโกงประชาชน และทำผิดเรื่องอื่นใดๆ อีกมากมายหลายเรื่อง ยังไม่มีใครแจ้งความ

ผู้จัดการ: ข้อหายักยอกนั้น ใครไปแจ้งความ?

เสรี: คุณสำราญ กัลยาณรุจ เขาเป็นทั้งกรรมการควบคุม และกรรมการสอบข้อเท็จจริง เขารับมอบอำนาจจากคุณสมพงศ์ในฐานะประธานกรรมการควบคุม เป็นผู้แทนบริษัท ราช เงินทุนตามกฎหมายควบคุมไปแจ้งความ

ผู้จัดการ: กล่าวหาว่ายักยอกเรื่องอะไร?
เสรี: มี 2 เรื่อง ด้วยกัน เรื่องแรก ยักยอกเงินที่ให้บริษัทคลังสินค้าตะวันออกกู้ยืมไป

ผู้จัดการ: อีกเรื่อง เป็นเรื่องอะไร?

เสรี: เรื่องซื้อหุ้นปูนซีเมนต์นครหลวงมาหุ้นละหกร้อยกว่าบาท แล้วขายไปหุ้นละสามร้อยกว่าบาท หาว่าผมยักยอก ไปเป็นประโยชน์ของผมเอง หรือผู้อื่น ประมาณห้าหกสิบล้านบาท

ผู้จัดการ: เมื่อคุณเสรีไปมอบตัวสู้คดีนั้น เขาแจ้งข้อหาแล้วยอมให้ประกันตัวหรือเปล่า?

เสรี: ไม่ยอมหรอกครับ นายกสั่งจับผู้ต้องหาสำคัญต้องขังไว้ก่อน

ผู้จัดการ: แก้ข้อหายังไง?

เสรี: ง่ายมาก เรื่องบริษัท คลังสินค้าตะวันออก 233 ล้าน ไม่ต้องแก้ข้อกล่าวหาเลย เพียงแต่ขอให้พนักงานสวบสวนดูหลักฐานที่บริษัท แล้วให้หัวหน้าส่วนบัญชีชี้แจง หนักงานสวบสวนก็เข้าใจ เงินไม่ได้หายไปไหน

ผู้จัดการ: แก้ข้อหาได้อย่างไร?

เสรี: เป็นช่วงระหว่างที่มีการปิดสมุดทะเบียนพักโอนหุ้น หุ้นที่ผมซื้อมาหุ้นละหกร้อยกว่าบาทนั้นมีสิทธิซื้อหุ้นใหม่ราคาถูกเพียงหุ้นละ 150 บาท ได้อีก 2 หุ้น เมื่อเฉลี่ยต้นทุนแล้ว ก็เพียงหุ้นละสามร้อยบาทเศษๆ ราคาที่ผมขาย ไปแทนที่จะขาดทุนประมาณห้าหกสิบล้าน ตามที่เขากล่าวหา กลับปรากฏว่าผมทำกำไรให้บริษัทหลายล้านบาท พอผมชี้แจงให้พนักงานสวบสวนฟังก็เข้าใจ

ผู้จัดการ: เจ้าหน้าที่กำกับและตรวจสอบของธนาคารชาติ และคณะกรรมการควบคุมล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ เคยผ่านงานมามากมาย ทำอย่างไรจึงเข้าใจผิดพลาดทีละเป็นสิบเป็นร้อยล้านได้?

เสรี: เจ้าหน้าที่กำกับและตรวจสอบนั้นไม่ใช่รอบรู้ไปหมดทุกคน คนเก่งจริงๆ ก็มี แต่ส่วนใหญ่พวกที่ทำงานธนาคารชาตินั้นเป็นพวกเรียนหนังสือเก่ง จบปริญญาโทเยอะแยะ จบปริญญาเอกเป็นดอกเตอร์ก็มาก จึงมักจะเป็นพวกนักวิชาการที่จำตำราแม่น แต่ขาดประสบการณ์ เนื่องจากเป็นพวกเรียบจบปริญญาสูงๆ มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่เรียนมา จึงไม่ใคร่ยอมไต่ถามหาประสบการณ์จากผู้ไม่มีปริญญาหรือได้ปริญญาต่ำกว่า

ผู้จัดการ: ทั้งสองเรื่องนี้ไม่เคยสอบถามคุณเสรีมาก่อนเลยหรือ?

เสรี: ไม่เคยเลยครับ ถ้าผมถามเสียหน่อยก็ไม่มีเรื่อง ผมขอชี้แจงก็ไม่ยอมอีก ความจริงนั้นไม่ต้องถามผมก็ได้ เรื่องคลังสินค้าตะวันออก ถามคุณบุญสืบ หัวหน้าส่วนบัญชี ก็ชี้แจงได้ ส่วนเรื่องหุ้นบุริมสิทธิของปูนซีเมนต์นครหลวงนั้น ถามคุณธัญญาหัวหน้าส่วนหลักทรัพย์ ก็คงจะชี้แจงได้เช่นกัน แต่คงจะมุ่งจับผิดกันเกินไป เมื่อเห็นอะไรไม่ชอบมาพากลเป็นยอดเงินสูงๆ ก็เลยกลายเป็นกระต่ายตื่นตูมรีบรายงานเอาความดีความชอบใส่ตัว เป็นเรื่องเด็กอยากก้าวหน้า เห็นตัวอย่างคนจับผิดไม่ได้ถูกย้ายมาแล้ว


ผู้จัดการ: อย่างนั้นต้องโทษผู้รวบรวมรายงานอย่างคุณกมล จิระธันว์ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนายการฝ่ายผู้รับรายงานอย่างคุณสมพงศ์นั้น เป็นถึงผู้ช่วยผู้ว่าการและเคยเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ด้วย คุณสำราญนั้นทราบว่าเคยเป็นรองประธานตลาดหลักทรัพย์ ทั้งสองท่านนี้น่าจะเข้าใจเรื่องหุ้นสุทธิปูนซีเมนต์นครหลวงได้ดี ทำไมจึงพลาดได้?

เสรี: คุณคิดว่าคนที่ทางราชการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ นั้นรู้เรื่องตลาดหลักทรัพย์ทุกคนหรือ ส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องหรอกครับ พอเกิดปัญหาขึ้นจึงแก้กันไม่ถูกเรื่องถูกราว อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้นั่นแหละ

ผู้จัดการ: เมื่อข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์กลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดของผู้มาร้องทุกข์ไปแล้ว คุณสำราญแจ้งข้อหาอื่นๆ อีกหรือเปล่า

เสรี: พอปล่อยไก่ออกมาวิ่งเพ่นพ่านที่กองบัญชาการสวบสวนกลาง 2 ตัว แล้วคุณสำราญก็ต้องระมัดระวังข้อหาอื่นๆ นอกจากยักยอกทรัพย์ตามที่คุณสำราญเคยเสนอให้คณะกรรมการสวบสวนข้อเท็จจริง สรุปความเห็นว่า ผมได้ทำผิดกฎหมายอีกหลายบทหลายมาตรานั้น คุณสำราญก็ยังไม่กล้าแจ้งความ คงกลัวไก่จะหมดเล้า

ผู้จัดการ: แล้วคณะพนักงานสวบสวนทำอย่างไรต่อไป

เสรี: หัวหน้าพนักงานสวบสวนให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ขอให้ประชาชนที่ถูกผมฉ้อโกงไปร้องทุกข์ เพื่อจะได้ดำเนินคดีกับนายเสรี ฐานฉ้อโกงประชาชน ให้ลงหนังสือพิมพ์ซ้ำอยู่สองวัน แทนที่จะมีประชาชนไปแจ้งความ กลับมีพวกลูกค้ารวบรวมโฉนดไปขอประกันตัวผม พนักงานสอบสวนจึงยังตั้งข้อหาว่าผมฉ้อโกงประชาชนไม่ได้

ผู้จัดการ: เมื่อไม่มีชาวบ้านไปแจ้งความ คุณสำราญก็ไม่กล้าแจ้งเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนทำอย่างไรต่อไป?

เสรี: ทราบว่าเขาประชุมหารือกัน และมีพนักงานสอบสวนบางคนมีความเห็นว่า ผมมิได้กระทำผิดยักยอกทรัพย์ดังกล่าวหา ควรจะปล่อยตัวผมพ้นข้อหาไปก่อน เมื่อมีหลักฐานว่าผมกระทำผิดในข้อหาอื่น จึงจะเริ่มต้นคดีใหม่ แต่มีผู้คัดค้านว่า เป็นการดำเนินคดีตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หลักฐานจะพอฟ้องหรือไม่นั้นไม่สำคัญ ให้สรุปสำนวนสั่งฟ้องไปทุกคดี เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย และยังมีบางคนเสนออีกว่า ถ้ายังไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผมกระทำผิด อันเป็นเหตุให้ควบคุมตัวผมไว้ต่อไปแล้ว ก็ควรจะควบคุมตัวผมไว้ด้วยการตั้งข้อหา “บุคคลผู้เป็นภัยต่อสังคม” แต่ข้อเสนอนี้พนักงานสอบสวนผู้มีใจเป็นธรรมส่วนใหญ่ยังไม่เห็นชอบด้วย แล้วในที่สุดคณะพนักงานสอบสวนจึงให้ผมตกเป็นผู้ต้องหาตามนโยบายต่อไป แต่ได้กรุณาอนุญาตให้ผมได้ประกันตัว หลังจากที่ถูกขังฟรีไปแล้ว 4 วัน ระหว่างนั้น พล.ต.ต. อุดม ลัดพลี ได้ขอลาออกจากการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน โดยอ้างว่ามีญาติเป็นผู้ถือหุ้น มีส่วนได้เสียกับบริษัทราชาเงินทุน แต่ผมเข้าใจว่าเหตุผลที่ไม่ต้องการทำงานตามนโยบาย ซึ่งขัดกับมโนธรรมของตัวท่านเองมากกว่า

ผู้จัดการ: แล้วพนักงานสวบสวนคนอื่นๆ มีความรู้สึกอย่างไร

เสรี: มีหลายคนเมื่อรู้ความจริงแล้ว ได้มาปรารถให้ผมฟังว่าไม่อยากทำเรื่องนี้ต่อไป ถ้าสามารถจะหลีกเลี่ยงได้ก็จะไม่ขอทำ เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผมตามความเห็นโดยสุจริตของเขาได้ จึงขอรามือต่อไป ต่อมาได้มีการตั้งพนักงานสอบสวนเข้ามาช่วยงานเพิ่มเติมอีกหลายคน จึงเหลือแต่ผู้ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ได้ และผู้ที่หวังจะได้ความดีความชอบพิเศษจากการทำคดีใหญ่เรื่องนี้เพียงบางคนเท่านั้นที่ทำคดีเรื่องนี้ต่อมา

ผู้จัดการ: ในการต่อสู้คดีเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า?

เสรี: ผมทราบว่าพนักงานสอบสวนจะมีความเห็นสั่งฟ้องผมทุกคดีตามนโยบายที่วางไว้ ผมจึงไม่ยอมให้มีการเพิ่มเติมอีก เพราะจะให้การอย่างไรก็ไม่ทำให้ความเห็นของพนักงานสอบสวนที่จะสั่งฟ้องเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็เป็นความจริงดังที่ผมทราบมา กล่าวคือพนักงานสวบสวนได้สรุปความเห็นสั่งฟ้องผมทุกสำนวน ทั้งนี้ผมให้การและไม่ให้การต่อสู้ทุกคดี แม้แต่คดีฉ้อโกงประชาชนที่ไม่มีประชาชนไปร้องทุกข์แม้แต่คนเดียว ก็ยังสั่งฟ้องด้วย

ผู้จัดการ: แต่กรมอัยการจะต้องตรวจสอบสำนวนก่อนสั่งฟ้องมิใช่หรือ?
เสรี: ใช่ครับ

ผู้จัดการ: แล้วคุณเสรีได้รับความเป็นธรรม หรือเปล่า?

เสรี: สำนวนแรกๆ ผมคิดว่าได้รับความเป็นธรรม แต่ต่อมาได้มีการกระทำที่ส่อเจตนาจะไม่ให้ความเป็นธรรมกับผม คือมีอัยการที่มีตำแหน่งใหญ่โตพอสมควร ได้กระทำการ “ตั้งแท่น” ให้ท่านอธิบดีกรมอัยการลงนามเห็นชอบในการสั่งฟ้องคดีที่ผมเป็นผู้ต้องหา เป็นการผูกมัดท่านอธิบดีไว้ก่อนที่ท่านอธิบดีจะใช้อำนาจตามกฎหมายวินิจฉัยคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องต่อไปในภายหน้า ท่านอธิบดี รู้ทันจึงได้ขีดข้อความที่มีผู้ “ตั้งแท่น” ออก เปลี่ยนข้อความเป็นแต่เพียงรับทราบ แล้วจึงลงนาม เมื่อมีผู้กล้าทำกับท่านอธิบดีถึงเพียงนี้ ผมก็เชื่อว่าผู้นั้นคงจะกล้าใช้ อิทธิพลที่มีอยู่กับอัยการที่เป็นผู้วินิจฉัยคดีให้สั่งฟ้องผมด้วย

ผู้จัดการ: แล้วร้องเรียนเรื่องนี้หรือเปล่า?

เสรี: ผมทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปที่ท่านอธิบดีกรมอัยการ ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นเวลา 3 เดือน เศษแล้ว ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อไปหรือไม่

ผู้จัดการ: มีความรู้สึกเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นที่ได้รับมาอย่างไร

เสรี: มีแต่ความขมขื่น ผมยังเป็นปุถุชนจึงมีความรู้สึกว่าความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ออกจะเป็นเรื่องที่สูงเกินกว่าที่ผมจะเอื้อมไปสัมผัสได้

ผู้จัดการ: แล้วยังมีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไปอีกหรือ?

เสรี: ผมยึดมั่นว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” จึงเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรมในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน

ผู้จัดการ: เขาว่ากันว่า คุณเสรีเป็นคนดื้อ ชอบเอาหัวชนกำแพง

เสรี: ผมมีคติประจำใจของผมอยู่ว่า “เสียเงินเรื่องเล็ก เสียชื่อเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเสียกำลังใจ กลัวจะเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่าง” ผมจะมีกำลังใจมั่นคงเสมอ เมื่อต้องยืนหยัดต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ผมจะไม่ใช้วิธีการสกปรกเป็นอันขาด ผมต้องการชนะอย่างขาวสะอาด ถ้ากรรมการลำเอียงทำให้ผมแพ้ผมก็ยังภูมิใจที่ชนะใจคนดู

ผู้จัดการ: เคยได้ยินว่าเมื่อวันที่คุณเสรีเซ็นตราสารโอนหุ้นพันกว่าล้าน ยกให้คณะกรรมการควบคุมเอาไปขายนั้นพอเซ็นโอนแล้ว คุณเสรีก็ไปตีกอล์ฟสบายใจจริงไหม?

เสรี: เรื่องตีกอล์ฟ ผมนัดเขาไปก่อนแล้วนี่

ผู้จัดการ: ไม่เสียดายหรือ!

เสรี: ผมคิดว่าผมตัดสินใจดีที่สุด ตั้งใจช่วยไม่ให้คนเดือดร้อนตั้งหลายพันคน ของนอกกายไม่ตายก็หาใหม่ได้

ผู้จัดการ: เมื่อคุณเสรีโอนหุ้นใหญ่ให้คนอื่นไปขาย แล้วบริษัทก็ไม่ใช่ของคุณเสรีอีกต่อไป คุณเสรียืนหยัดต่อสู้ให้บริษัทดำรงอยู่ต่อไปเพื่ออะไรกัน?

เสรี: ถือหุ้นที่ผมเซ็นโอนไปขายได้เงินมาแล้ว คณะกรรมการควบคุมใช้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้เรียบร้อย ผมก็คงจะวางมือ ที่ทางราชการแต่งตั้งเข้ามาดำเนินกิจการของบริษัทราชาเงินทุน มิได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน พวกเจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วเงินเขายังไม่ได้ เงินหายไปไหนหมด แล้วมาโมเมจัดหนี้สูญที่หนึ่งพันกว่าล้าน ขอให้บริษัทล้มละลายนั้น เขาไม่เห็นด้วย เสียงส่วนใหญ่ของเจ้าหนี้ลงมติเห็นด้วยกับการล้มละลาย และได้ลงมติแต่งตั้งผมเป็นเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์ คือเป็นตัวแทนของเขานั่นเอง ผมก็เลยต้องทำตามความประสงค์ที่พวกเขาตั้งผม คือร้องศาลขอให้สั่งยกเลิกล้มละลาย คดียังคาศาลอยู่ เรื่องมันยังไม่จบ ผมจึงยังปลีกตัวออกไปไม่ได้ พวกเจ้าหนี้เขาไว้วางใจให้ทำแทนเขา ผมถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูง ผมต้องทำให้เขาเต็มที่เลย

ผู้จัดการ: พวกถือหุ้นรายย่อย ก็รวมกันมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คุณเสรีเป็นประธานราชาเงินทุนต่อไปด้วยใช่ไหม?

เสรี: ใช่ครับ

ผู้จัดการ: คุณเสรีได้รับเลือกเป็นประธานบริษัทราชาเงินทุน ที่เป็นลูกหนี้ แล้วคุณเสรียังได้รับเลือกให้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ คือเป็นตัวแทนของบรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทด้วย จะเป็นการสวมหมวก 2 ใบ คือทำ 2 หน้าที่ ซึ่งมีประโยชน์ขัดกัน อย่างที่คุณเสรีเคยว่าไว้เองไหม?

เสรี: กรณีของผมนั้นประโยชน์มันสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันครับ ไม่ขัดกันเลย คือบริษัทราชาเงินทุนที่เป็นลูกหนี้ก็ไม่ต้องการเป็นบุคคลล้มละลาย และบรรดาเจ้าหนี้ก็ไม่ต้องการให้บริษัทราชาเงินทุนล้มละลาย ความประสงค์ตรงกันอยู่แล้ว

ผู้จัดการ: นอกจากทำหน้าที่ตัวแทนเจ้าหนี้ร้องศาลขอให้ยกเลิกการล้มละลายแล้ว คุณเสรีได้ทำหน้าที่ในฐานะประธานบริษัทลูกหนี้ที่จะไม่ให้บริษัทราชาเงินทุนล้มละลายบ้างหรือไม่?

เสรี: นอกจากผมจะเสียสละหุ้นส่วนตัวของผม เจ็ดแสนกว่าหุ้นที่เคยมีราคาพันกว่าล้าน ให้คณะกรรมการควบคุมนำไปขาย เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เมื่อศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ราวๆ ปลายปี 2523 ผมร่วมกับคุณบุญเลอ เจริญพิภพ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทอีกท่านหนึ่ง ได้ยื่นขอประนอมหนี้ในนามของบริษัทราชาเงินทุน ขอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เต็ม 100% เพื่อให้บริษัทราชาเงินทุนไม่ต้องถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

ผู้จัดการ: เมื่อเจ้าหนี้ไม่ต้องการให้บริษัทล้มอยู่แล้ว ก็น่าจะตกลงประนอมหนี้กันได้?

เสรี: ไม่ได้หรอกครับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์บอกว่า รับคำขอประนอมหนี้ของผม และคุณบุญเลอ ซึ่งเป็นกรรมการที่ผู้ถือหุ้นตั้งไม่ได้ ผู้ชำระหนี้ที่รัฐมนตรีว่าการกระกระทรวงการคลังแต่งตั้งตามกฎหมายควบคุมฉบับปี 2522 เท่านั้น จึงจะมีอำนาจยื่นขอประนอมหนี้ ในเมื่อเขาเป็นผู้ร้องให้บริษัทล้มเอง เขาจะยื่นขอประนอมหนี้ทำไม บริษัทราชาเงินทุนก็เลยต้องล้มละลาย เพราะผู้มีอำนาจตามกฎหมายพิเศษเขาไม่ยื่นขอประนอมหนี้

ผู้จัดการ: ต่อมาคุณเสรียื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกล้มละลายตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ใช่ไหม?

เสรี: ครับ

ผู้จัดการ: แล้วผลเป็นอย่างไร?

เสรี: เมื่อศาลไต่สวนคำร้องแล้ว ก็สั่งยกเลิกการล้มละลาย

ผู้จัดการ: มีเหตุผลอะไร?

เสรี: ศาลเห็นว่างบดุลที่ผู้ชำระบัญชี ทำขึ้นฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าบริษัทราชาเงินทุนมีทรัพย์สินไม่พอจะชำระหนี้ และการให้บริษัทลูกหนี้ดำรงอยู่และดำเนินกิจการต่อไป จะเป็นประโยชนแก่เจ้าหนี้ยิ่งกว่าให้ล้มละลายไป

ผู้จัดการ: เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี?

เสรี: ไม่จบง่ายๆ หรอกครับ ผู้ชำระบัญชีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้ง เขาไม่ยอม เขายื่นอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลเพื่อให้บริษัทล้มละลายให้ได้

ผู้จัดการ: เขาไม่ฟังประชาชนบ้างหรือ?

เสรี: เขาไม่ฟังหรอกครับ เขาต้องการให้ล้มลูกเดียวมาตั้งแต่วันประชุมเจ้าหนี้แล้ว ประนอมหนี้เขาก็ไม่ยอม

ผู้จัดการ: พวกเขาเป็นพวกที่ราชการแต่งตั้งขึ้น มาทำหน้าที่ “คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” ตามเหตุผลที่ได้ตราพระราชบัญญัติเป็นกฎหมายพิเศษขึ้นมิใช่หรือ?

เสรี: ใช่ครับ

ผู้จัดการ: เมื่อเขาไม่ทำหน้าที่คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ทำไมไม่ถอดออกเสียจากตำแหน่ง?

เสรี: ถ้าเป็นผู้ชำระบัญชีที่ตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่ง ผู้ถือหุ้นสามารถประชุมกันแล้วลงมติถอดออกจากตำแหน่งได้ แต่กฎหมายพิเศษนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ใช้อำนาจที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น บรรดาผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนขอให้ถอดผู้ชำระบัญชีออกจากตำแหน่ง เพื่อให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไปได้ ทางสำนักงานนายกฯ ตอบหนังสือว่าได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาตั้งแต่ ปี 2525 ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ รอกันมาถึงต้นปี 2526 พลโท วีรพันธ์ รังคะรัตน์ ผู้แทนเจ้าหนี้ ได้มีหนังสือเตือนไปอีก ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจนกระทั่งบัดนี้

ผู้จัดการ: ทำไมกระทรวงการคลังจึงไม่ตอบ?

เสรี: ผมว่าเป็นเรื่องผิดปกติของกระทรวงการคลัง

ผู้จัดการ: หนังสือร้องเรียนมีมากไหม?

เสรี: เมื่อต้นปี 2525 เขาร้องกันไปหลายแห่งครับ มีร้องไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ และที่นายกฯ ด้วย ซึ่งผมทราบมาว่าทางสำนักนายกฯ ได้รวบรวมหนังสือร้องเรียนทั้งหมดส่งให้กระทรวงการคลังพิจาณา รวมหนังสือร้องเรียนอยู่ที่กระทรวงการคลังทั้งหมด ผมว่าเป็นพันฉบับ

ผู้จัดการ: ใครเป็นคนเก็บเรื่องของผู้เดือดร้อนดองไว้?

เสรี: น่าจะเป็นปลัดกระทรวง?

ผู้จัดการ: คุณพนัสน่ะหรือ?

เสรี: คุณชาญชัย ลี้ถาวร และคุณพนัส สิมะเสถียร รับหน้าที่ต่อเนื่องกัน

ผู้จัดการ: ทราบแต่ว่าคุณพนัสเป็นประธานผู้ชำระบัญชี ทำไมมีคุณชาญชัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เสรี: คุณชาญชัยเป็นปลัดกระทรวงมาตั้งแต่ก่อนเกิดเรื่องราชา เงินทุน เมื่อปี 2522 ผมเคยกราบเรียนถามอาจารย์สุพัฒน์ว่า เหตุใดจึงลงนามแต่งตั้งผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 22 (7) เป็นกรรมการควบคุมซึ่งผิดกฎหมาย

อาจารย์สุพัฒน์เล่าให้ผมฟังว่า ปลัดชาญชัยเขาเสนอมา ก็ไว้ใจเขาว่า คงจะดูมารอบคอบแล้วว่าไม่ผิดกฎหมาย จึงได้ลงนามแต่งตั้งไป ต่อมาคุณชาญชัยนอกจากเป็นปลัดกระทรวงอยู่แล้วยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเสียเอง คุณชาญชัยจึงเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นการใช้อำนาจล้มราชาเงินทุนมาตั้งแต่ต้น จนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต และการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี เมื่อวันสั่งเพิ่มถอนใบอนุญาตนั้น คุณชาญชัยได้ออกโทรทัศน์ชี้แจงประชาชนว่าการจะช่วยบริษัทเงินทุนให้อยู่ได้นั้นจะต้องใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ถึง 2 พันล้านบาท อันเป็นการกล่าวเท็จต่อสาธารณชน ความจริงนั้นสถาบันการเงินเขาตกลงช่วยอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้เงินภาษีอากรเลย เขาลงขันช่วยกันประมาณ 300 ล้านบาทก็พอแล้ว ข้อขัดข้องที่ทำไม่ได้นั้น อยู่ที่คณะกรรมการควบคุมชุดขาดคุณสมบัติที่คุณชาญชัยเป็นผู้เสนอให้ตั้งเข้ามานั่นเอง กล่าวคือ นอกจากจะไม่เปิดโอกาสให้เขาช่วยกันให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไปได้แล้ว ยังเสนอให้เพิกถอนใบอนุญาตล้มบริษัทเสียเองอีกด้วย เมื่อคณะกรรมการควบคุมชุดขาดคุณสมบัติที่คุณชาญชัยเป็นผู้เสนอให้ตั้งเข้ามาหมดอำนาจไป คุณชาญชัยก็เป็นผู้เสนอแต่งตั้งคณะผู้ชำระบัญชี มีคุณวิโรจน์ เลาหะพันธ์ เป็นประธานผู้ชำระบัญชีคนแรก และคุณพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานผู้ชำระบัญชีคนต่อมาทำหน้าที่อยู่จนถึงปัจจุบันนี้

ผู้จัดการ: เมื่อต้นปี 2525 มีหนังสือร้องเรียนเป็นพันฉบับนั้น ใครเป็นปลัดกระทรวงการคลัง?

เสรี: คุณชาญชัยยังเป็นอยู่?

ผู้จัดการ: หนังสือร้องเรียนเลยถูกเก็บดองไว้ใช่ไหม?

เสรี: ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น

ผู้จัดการ: ทำไมจึงไม่ค้นเรื่องเก่าที่เคยร้องเรียนไปขึ้นพิจารณา

เสรี: เรื่องมันชี้แจงไม่ได้นะซิครับ คุณพนัสเข้ามาเป็นประธานผู้ชำระบัญชี แต่ไม่เคยมีการจดทะเบียนเลิกบริษัท

ผู้จัดการ: กฎหมายควบคุมพิเศษ มียกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือ?

เสรี: ไม่มียกเว้นและยังมีบทบัญญัติว่าการชำระบัญชีให้เป็นไปไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย

ผู้จัดการ: เมื่อไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท เขาจดทะเบียนผู้ชำระบัญชีไว้กับอะไร

เสรี: เขาจดไว้ลอยๆ

ผู้จัดการ: จดได้หรือ!

เสรี: รองอธิบดีกรมทะเบียนการค้าเป็นผู้ชำระบัญชีอยู่ด้วยเขาจดได้

ผู้จัดการ: แล้วผู้ชำระบัญชีชุดนี้หรือที่ไปร้องขอให้กับบริษัทราชาเงินทุนล้มละลาย!

เสรี: ใช่ครับ

ผู้จัดการ: ใครเป็นผู้ร้อง

เสรี: คุณพนัส กับคุณไพศาล

ผู้จัดการ: คุณไพศาลไหน คุณไพศาล กุมาลย์วิสัย ที่เป็นฝ่ายกฎหมายของแบงก์ชาติน่ะหรือ?
เสรี: ใช่ครับ

ผู้จัดการ: ทำกันได้อย่างไร?

เสรี: ผมก็ไม่รู้

ผู้จัดการ: สรุปแล้วทั้งคุณชาญชัยและคุณพนัสชี้แจงไม่ได้ว่าถ้าเลิกชำระบัญชี ถอดผู้ชำระบัญชีออกตามที่ผู้เดือดร้อนร้องเรียนมาแล้ว จะเสียหายต่อทางราชการอย่างไร ก็เลยเก็บเรื่องดองไว้เฉยๆ

เสรี: ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น กฎหมายเขาให้อำนาจคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน “แต่ได้ใช้อำนาจนั้นให้มีผลสวนทางกับประโยชน์ของประชาชนมาครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อประชาชนเขาทนไม่ไหว เขาจึงขอความกรุณาว่าโปรดอย่าใช้อำนาจที่อ้างว่าเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เดือดร้อนนั้นได้กลายเป็นเครื่องกีดขวางที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เงินทองเขาก็ไม่ได้ขอให้ช่วย ใบอนุญาตเขาก็ไม่ต้องการขอคืน เพราะเขากลัวว่าจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เหลือล้น มาทำความเดือดร้อนให้เขาอีก” พูดกันชัดๆ ก็คือ พวกที่เดือดร้อนเขาไม่หวังอะไรจากทางราชการอีกแล้ว ขอแต่เพียงสั่งให้ผู้ที่ทางราชการแต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชี เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของเขาไปให้พ้นๆ เสียที เขาจะได้ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายกันเองได้

ผู้จัดการ: ตามปกติอำนาจถอดถอนผู้ชำระบัญชีนั้นเป็นอำนาจของใคร?

เสรี: ถ้าเป็นการชำระบัญชีตามปกติ ก็เป็นอำนาจที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

ผู้จัดการ: แล้วทำไมต้องมาเรียนให้ทางราชการถอดถอน?

เสรี: ผู้ถือหุ้นใช้อำนาจที่ประชุมใหญ่เองไม่ได้ กฎหมายควบคุมบริษัทเงินทุนมาตรา 66 บัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ผู้จัดการ: แล้วทำไมรัฐมนตรีไม่ใช้อำนาจหน้าที่มีผู้ร้องเรียนกันมาตั้งมากมาย?

เสรี: ผมเข้าใจว่าปลัดกระทรวงเขาไม่เสนอ เพราะเป็นเรื่องที่เสนอจะให้ถอดตัวเขาเองออกจากตำแหน่งประธานผู้ชำระบัญชีตามที่ชาวบ้านร้องเรียนมาได้อย่างไร เมื่อการถอดถอนนั้น ก็มิได้ทำความเสียหายแก่ทางราชการ จึงไม่มีเหตุผลที่จะชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจได้ว่าจะขออยู่อีกต่อไปเพื่ออะไร เมื่อจะออกก็เสียหน้า ครั้นจะอยู่ต่อไปก็ไม่มีเหตุผลที่จะชี้แจง ก็เหลืออยู่ทางเดียวเท่านั้น คือเก็บเรื่องดองไว้เฉยๆ

ผู้จัดการ: ไม่มีทางแก้ทางอื่นอีกหรือ?

เสรี: เมื่อผู้ที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ยอมใช้อำนาจนั้นคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนตามเหตุผลที่ได้ร่างกฎหมายขึ้นใช้บังคับเสียแล้ว คนอื่นที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายจะช่วยได้อย่างไร?

ผู้จัดการ: เห็นอ้างกันว่ากฎหมายที่มีอยู่ ให้อำนาจไว้ไม่พอนี่?
เสรี: เห็นพูดกันเสียจริง เรื่องอำนาจไม่พอนี่อยากรู้ว่าใครเป็นคนอ้าง

ผู้จัดการ: ฝ่ายกฎหมายของธนาคารชาติ ชื่อ คุณไพศาล กุมาลย์วิสัย ใช่ไหมครับ?

เสรี: คุณไพศาล เป็นผู้ร่างกฎหมายควบคุมฉบับนี้ขึ้นมาเองเมื่อปี 2522 ตอนนั้นก็อ้างว่า มีแต่ประกาศคณะปฏิวัติยังไม่รัดกุมพอ แต่ก็ไม่เห็นมีบริษัทเงินทุนบริษัทไหนต้องล้มไปตามกฎหมายเก่าที่อ้างว่า ยังไม่รัดกุมพอสักบริษัทเดียว พอเกิดมีบริษัทเงินทุนล้มกันหลายบริษัทแล้ว จะไปโทษกฎหมายใหม่ ผมว่ามันไม่ถูก ผมเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ดีพอสมควร ให้อำนาจหน้าที่ไว้มากทีเดียว แต่คนใช้ไม่สุจริต หรือใช้ไม่เป็นคือไม่ได้คุ้มครองประโยชน์ของประชาชนจึงได้เกิดความเสียหายขึ้น

ผู้จัดการ: ในเมื่อคุณไพศาลร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาเอง ทำไมจึงไม่รู้จักวิธีใช้ให้เกิดประโยชน์สมความมุ่งหมายที่ร่างขึ้นมา?

เสรี: คนที่ร่างกฎหมายขึ้นมานั้น ไม่แน่ชัดหรอกที่จะเข้าใจกฎหมายที่ร่างขึ้นทั้งหมด และใช้กฎหมายนั้น เป็นคนร่างกฎหมายที่ลอก หรือแปลงกฎหมายอื่นมามีอยู่ถมเถไป

ผู้จัดการ: เขาต้องการให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขึ้นอีก คุณเสรีมีความเห็นอย่างไร?

เสรี: อำนาจนั้นเป็นดาบสองคม ถ้าให้ไว้มาก แล้วไม่มีการควบคุมให้ดี จะเกิดความเสียหายได้มาก อย่างในกรณีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายกับบริษัทราชาเงินทุน อย่างไรก็ดี ผมขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่ากฎหมายควบคุมฉบับปัจจุบันนี้ ดีพอใช้ การจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ความสุจริตใจ และความสามารถของผู้ใช้กฎหมายว่ามีอยู่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่หรือไม่เท่านั้น

ผู้จัดการ: คุณเสรีคิดว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งระบบหรือ?

เสรี: แก้ได้ซิครับ

ผู้จัดการ: จะทำอย่างไร?

เสรี: ปัญหาใหญ่ในปัจจุบันนี้อยู่ตรงที่ประชาชนขาดความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบ จึงต้องสร้างความเชื่อถือขึ้นมาให้จงได้

ผู้จัดการ: จะสร้างความเชื่อถือขึ้นมาได้อย่างไร เดี๋ยวล้ม เดี๋ยวล้ม บริษัทเก่ายังแก้ปัญหาไม่เสร็จ บริษัทใหม่ทำท่าจะล้มอีกแล้ว!

เสรี: ความจำเป็นที่จะต้องรีบแก้ไขด่วนอยู่ตรงนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เป็นไปแล้ว 4 ปีเศษๆ มานี่ ก็จะต้องมีการล้มตามกันไปอีก เพราะเราไม่เคยมีการกระทำที่เรียกขวัญหรือความเชื่อถือของประชาชนคืนมาได้เลย มีแต่การซ้ำเติมให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

ผู้จัดการ: เขาอ้างกันว่า นักการเมืองหรือรัฐมนตรีคนก่อนออกใบอนุญาตให้ตั้งบริษัทเงินทุนขึ้นมากเกินไป มีตั้งร้อยกว่าบริษัท บริษัทไหนทำไม่ดี ก็ปล่อยให้ล้มไปเสียบ้าง คุณเสรีเห็นเป็นอย่างไร?

เสรี: นี่เป็นตัวอย่างการพูดที่ต้องการปัดความรับผิดชอบ อย่าลืมว่าใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนนั้น รัฐเป็นผู้ออกให้ มีกฎหมายคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ผู้ทำธุรกิจติดต่อกับผู้ได้รับใบอนุญาตจะถือว่ารัฐมนตรีคนใหม่ไม่ต้องรับผิดชอบใบอนุญาตที่รัฐมนตรีคนเก่า เป็นผู้ลงนามกระนั้นหรือ ถ้าถือว่ากล่าวอ้างเช่นนี้ถูกต้องแล้วล่ะก็พันธบัตรที่รัฐบาลก่อนๆ เป็นผู้ออกมากู้เงินชาวบ้านเขาไป รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ย หรือจ่ายเงินต้นคืนเหมือนกัน อ้างได้เลยว่ารัฐบาลเก่าออกพันธบัตรกู้เงินมากเกินไป ถ้าผู้รับผิดชอบพูดพล่อยๆ อย่างนี้ จะสร้างความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบได้อย่างไร ประชาชนหวั่นไหวเรื่องเดี่ยวล้ม เดี๋ยวล้ม อยู่แล้ว มาได้ยินอย่างนี้ ก็จะยิ่งตื่นไปกันใหญ่

ผู้จัดการ: แล้วที่พวกแบงก์ชาติเขาอ้างว่าในสังคมการเงินมีทั้งสุภาพบุรุษและโจร ที่เขาจับโจรไม่ได้ เพราะโจรจับเอาประชาชนมาเรียกค่าไถ่ คือเอาเจ้าหนี้ผู้ที่เดือดร้อนมาข่มขู่เท่านั้น มีความเห็นอย่างไร?

เสรี: เป็นข้อแก้ตัวที่กล่าวอ้างขึ้นมาอย่างหน้าด้านที่สุด ทำไมไม่ลองสำรวจตัวเองดูว่าบกพร่องตรงไหน จึงไม่สามารถควบคุมให้บริษัทเงินทุนทำงานอยู่ในกรอบที่ตนเองต้องการ อำนาจก็มีอยู่เหลือเฟือ เมื่อใช้ไม่เป็น คุมเขาไม่ได้ จะไม่เป็นการพาลไปหน่อยหรือ ในทุกวงการย่อมมีทั้งคนดีและคนชั่วปะปนกันอยู่ แม้แต่พวกแบงก์ชาติก็ไม่ใช่จะมีแต่คนดีทั้งหมด ที่รู้เห็นเป็นใจหากินกับโจรก็มี การออกข่าวพล่อย ๆ ว่ามีโจรปะปนอยู่ในสังคมการเงินที่แบงก์ชาติควบคุมอยู่ แล้วไม่มีน้ำยาที่จะไปจัดการกับโจร แถมยังยอมรับว่าอยู่ใต้อิทธิพลการข่มขู่ของโจรด้วย อย่างนี้จะเป็นเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติอยู่ต่อไปได้หรือ ถ้าแบงก์ชาติยังมีคนอย่างนี้อยู่ก็จะแก้ไขความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?


ผู้จัดการ: เมื่อคุณเสรีได้ชี้ถึงปัญหาแล้วอยู่ตรงที่ประชาชนขาดความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบที่ล้มไปแล้วยังแก้ปัญหาไม่เสร็จก็มี กำลังทำท่าจะล้มตามมาอีกก็มี สถานการณ์ยุ่งเหยิงอย่างนี้จะเริ่มแก้กันที่ตรงไหน

เสรี: เมื่อเราจะแก้กันทั้งระบบ ก่อนอื่นเราจะต้องศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วทางราชการได้แก้ปัญหาของแต่ละบริษัทอย่างไร สามารถ “คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” สมดังเจตนารมณ์ที่ได้ตราพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ 2522 ออกใช้บังคับหรือไม่?

ผู้จัดการ: แล้วจะเริ่มศึกษาปัญหาของบริษัทใดก่อน?

เสรี: บริษัทแรกที่ราชการได้ใช้อำนาจตามกฎหมายใหม่เข้ามาแก้ปัญหาก็คือ บริษัทราชาเงินทุน จำกัด

ผู้จัดการ: ทางราชการใช้อำนาจตามกฎหมายใหม่อย่างไร?

เสรี: ออกคำสั่งควบคุมทำให้กรรมการและพนักงานของบริษัท กระทำกิจการบริษัทอีกต่อไปไม่ได้ ทางราชการตั้งคณะกรรมการควบคุมเข้ามาจัดการแทน

ผู้จัดการ: ชุดคุณสมพงศ์ ธนะโสภณ ที่ว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมายนั้นหรือ?

เสรี: ครับ ทั้งๆ ที่บริษัทควรจะดำเนินการต่อไปได้ แต่คณะกรรมการชุดคุณสมพงศ์ไม่ยอม ท่านเสนอให้รัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาต ทำการชำระบัญชี

ผู้จัดการ: แล้วผู้ชำระบัญชีทำอย่างไรต่อไป?

เสรี: ประธานผู้ชำระบัญชีที่ชื่อคุณพนัส สิมะเสถียร ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงการคลังร่วมกับคุณไพศาล กุมาลย์วิสัย ร้องขอให้บริษัทล้มละลายไปเลย

ผู้จัดการ : มีมาตรการอะไรคุ้มครองประโยชน์ประชาชนบ้างหรือไม่?

เสรี: ไม่มีเลย เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เสียหาย

ผู้จัดการ: ประชาชนเสียหายมากไหม?

เสรี : เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นเสียหายรวมกันหลายพันล้านบาท

ผู้จัดการ: พวกเดือดร้อนทำอย่างไร

เสรี: เขาร้องเรียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจเข้าไปแก้ปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของเขาเอง

ผู้จัดการ: แล้วผลการร้องเรียนเป็นอย่างไร ยอมถอนผู้ชำระบัญชีให้เขาไหม?

เสรี: ผู้เดือดร้อนรอมาเกือบ 2 ปีแล้ว ยังถ่วงเวลาอยู่ ไม่ยอมให้ผู้เดือดร้อนเขาช่วยตัวเอง

ผู้จัดการ: นอกจากเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นเสียหายร่วมกันหลายพันล้านบาท แล้วมีผลกระทบอีกมากไหม

เสรี: ธนาคารชาติได้เคยทำรายงานไว้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2522 ว่ากระทบกระเทือนถึงความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบ ให้บริษัทเงินทุนอื่นๆ ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง อาจต้องเลิกล้มกิจการตามไปในที่สุด

ผู้จัดการ: แล้วธนาคารชาติว่ายังมีผลกระทบอย่างอื่นอีกหรือไม่?

เสรี: กระเทือนกิจการตลาดหลักทรัพย์ และธุรกิจหลักทรัพย์ ทำให้ราคาหลักทรัพย์ตกต่ำ ปริมาณการซื้อขายลดลง ลูกหนี้บริษัทหลักทรัพย์จะไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ยืมไปซื้อหลักทรัพย์ได้

ผู้จัดการ: ราคาหลักทรัพย์ที่ตกต่ำลงนี้ เสียหายกันมากไหม?

เสรี: เป็นหมื่นล้านบาท!

ผู้จัดการ: ธนาคารชาติและกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสมพงศ์และพลเอก เกรียงศักดิ์ ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย ทราบถึงความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อนการถอนใบอนุญาตล้มราชาเงินทุนหรือเปล่า?

เสรี: ทราบ

ผู้จัดการ: ถ้าไม่เสนอล้ม และไม่สั่งล้ม ปล่อยให้ผู้เดือดร้อนเสียหายทำกันเองจะทำกันได้ไหม?

เสรี: ทำได้ เดี๋ยวนี้เขายังขอทำกันเองอยู่ ไม่ได้ขอเงินช่วยเหลือเลย แต่ก็ไม่ยอมให้เขาทำ เป็นการบังคับให้เขาต้องยอมรับความเดือดร้อนเสียหาย

ผู้จัดการ: ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย ในกรณีราชาเงินทุนนี้มิได้ใช้อำนาจเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเลยหรือ?

เสรี: ครับ แถมยังขัดขวางไม่ยอมให้เขาช่วยตัวเองอีกด้วย

ผู้จัดการ: แล้วมีมาตรการแก้ไขผลกระทบอย่างไร?

เสรี: ทางราชการใช้เงินไปหลายพันล้านบาท ตั้งกองทุนส่งเสริมสภาพคล่องและกองทุนพัฒนาตลาดหลักทรัพย์

ผู้จัดการ: แก้ไขได้ผลหรือไม่?

เสรี: ความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบ และความเชื่อถือในตลาดหลักทรัพย์ได้รับความกระทบกระเทือนมาก การแก้ไขไม่ได้ผลคุ้มกับเงินที่เสียไป

ผู้จัดการ: มีผลกระทบกระเทือนไปถึงบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่นๆ อีกหรือไม่

เสรี: มีผลกระทบกระเทือนต่อเนื่องไปอีก 3 บริษัท ที่ต้องขาดทุนเพราะหลักทรัพย์ตกต่ำ และลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมไปซื้อหลักทรัพย์ได้ และประสบปัญหาสภาพคล่องด้วย มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เงินทุนสากล บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ และบริษัท ลีกวงมิ้ง หรือแคปปิตอล ทรัสต์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ

ผู้จัดการ: ทางราชการแก้ปัญหาอย่างไร?

เสรี: ขอร้องให้ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาซื้อหุ้น และธนาคารชาติช่วยเหลือให้เงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ ที่เรียกว่า Soft Loan จึงสามารถคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ผู้ถือตั๋วไม่ต้องได้รับความเสียหาย

ผู้จัดการ: ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทอื่นๆ อีกไหม?

เสรี: มีที่บริษัท เครดิต ฟองซิเอร์ ธนกิจ บริษัท เครดิต ฟองซิเอร์ เสรีสากล ธนกิจ

ผู้จัดการ: ทางราชการแก้ปัญหาอย่างไร?

เสรี: ให้เปลี่ยนตั๋วเงินเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจริญกรุง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทย

ผู้จัดการ : แก้ปัญหาคราวนี้เรียบร้อยไหม?

เสรี : ยังไม่ทันจะเรียบร้อย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทย ที่รับเปลี่ยนตั๋วมาก็เกิดมีปัญหาขึ้นเอง พร้อมๆ กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ พัฒนาเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บ้านและที่ดินไทย ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน

ผู้จัดการ: แล้วทางราชการจะแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป?

เสรี: จะให้ลูกค้า 3 บริษัทนี้ไปเปลี่ยนตั๋วเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สหธนกิจไทย โดยไม่ได้รับดอกเบี้ยผ่อนชำระต้นเงินภายในกำหนด 10 ปี และเงื่อนไขต่างๆ ยังต่อรองกันอยู่

ผู้จัดการ: ทางธนาคารต่างๆ ช่วยเหลือบริษัทสหธนกิจไทยอย่างไร ในการเข้ามารับภาวะแก้ปัญหา?

เสรี: คงจะให้เงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ

ผู้จัดการ: การแก้ปัญหา 3 บริษัทนี้ เรียบร้อยเป็นที่พอใจกันหรือยัง?

เสรี: เจ้าหนี้ส่วนมากยังไม่พอใจ ยังต่อรองเงื่อนไขต่างๆ กันอยู่

ผู้จัดการ: แสดงว่ายังแก้ปัญหาไม่เรียบร้อย มีปัญหาเกิดขึ้นที่บริษัทอื่นอีกหรือไม่?

เสรี: มีอีก ขณะนี้บริษัทเงินทุนเยาวราช และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก หยุดจ่ายเงินอีกแล้ว และยังมีอีกหลายแห่งทำท่าไม่ค่อยดี

ผู้จัดการ: ทางราชการเข้าไปแก้ปัญหาอย่างไรหรือยัง?

เสรี: ยังไม่มีแถลงข่าวจากทางราชการ ทราบแต่ว่าบริษัทหยุดจ่ายเงินไปแล้วเท่านั้น

ผู้จัดการ: เมื่อพิจารณาถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละบริษัทแล้ว คุณเสรีมีความเห็นอย่างไร?

เสรี: ผมเห็นว่าผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายใช้มาตรการแก้ปัญหาแตกต่างกันมากในแต่ละกรณี ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าประโยชน์ของเขาไม่ได้รับความคุ้มครองจากผู้ใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรมเสมอกัน

ผู้จัดการ: ในกรณีราชาเงินทุนนั้นใช้มาตรการอะไรแก้ปัญหา?

เสรี: ใช้มาตรการการสั่งควบคุม

ผู้จัดการ: เห็นว่าเป็นอย่างไร

เสรี: ก็ชอบด้วยเหตุผลแล้ว!

ผู้จัดการ: แล้วมันผิดพลาดที่ตรงไหน

เสรี: ตั้งคนผิด ไปตั้งคนที่มีหน้าที่ควบคุมอยู่แล้ว คือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายเข้ามาดำเนินกิจการบริษัท

ผู้จัดการ: ผลเป็นอย่างไร?

เสรี: นอกจากแก้ปัญหาราชาเงินทุนไม่ได้แล้ว ยังสร้างปัญหาไว้ให้แก้อีก ก็เรื่องที่จะล้มกันใหญ่นี่แหละ กำลังจะพังกันทั้งระบบ

ผู้จัดการ: กลัวอะไร?

เสรี : กลัวจะต้องเข้ามารับผิดชอบเมื่อแก้ไขไม่สำเร็จ

ผู้จัดการ: ยกตัวอย่างให้ดูได้ไหม?

เสรี: ก็กรณีราชาเงินทุนนั่นแหละ ใช้มาตรการควบคุมก็ชอบด้วยเหตุผลแล้ว แต่ไปตั้งคนผิดเข้ามาเกี่ยวข้องก็เลยแก้ปัญหาไม่ได้ ผู้ที่เข้ามาทำเรื่องราชาเงินทุน ตั้งแต่รัฐมนตรี ผู้สั่งเพิกถอนใบอนุญาต ลงมาจนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็เลยถูกผู้คนเขาสาปแช่งจนเสียผู้เสียคนไป ความกลัวยังฝังใจอยู่ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดเรื่องจะทำความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนขึ้นอีกไม่ว่าจะร้ายแรงขนาดไหน ก็ไม่กล้าใช้มาตรการสั่งควบคุมอีกเลย เรียกว่ากลัวขึ้นสมอง เข็ดจนตายว่างั้นเถอะ

ผู้จัดการ: ความจริงนั้นไม่ใช่ความผิดของมาตรการสั่งควบคุม

เสรี: มันผิดที่คน แต่สันดานคนไม่ยอมรับผิด ก็เลยป้ายความผิดไปลงที่มาตรการสั่งควบคุมเลิกใช้กันไปเลย

ผู้จัดการ: แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นก็มีอีกมาก แก้กันอย่างไร

เสรี: จะใช้มาตรการสั่งควบคุมก็กลัว จึงใช้วิธีขอร้องแกมบังคับไปยกให้ธนาคารพาณิชย์ มีเงื่อนไขที่ธนาคารชาติจะให้ ธนาคารพาณิชย์มีเงื่อนไขที่ธนาคารชาติจะให้เงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำเป็นเครื่องจูงใจ ขอร้องกันบ้าง บีบบังคับกันบ้าง ก็พอจะแก้ปัญหาเรียบร้อยกันไปได้ 3 บริษัท

ผู้จัดการ: ที่เหลือยังไม่เรียบร้อยอีกหลายบริษัท!

เสรี: ครับ เมื่อกลัวจนไม่กล้าใช้มาตรการสั่งควบคุมกฎหมาย เขามีไว้ให้ใช้แก้ปัญหา ก็ปัดสวะเอาตัวปัญหาไปยกให้คนอื่นเขาแก้ให้ ใช้เงื่อนไขที่ธนาคารชาติจะให้เงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำเป็นเครื่องต่อรอง กรณีบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ ธนกิจ ก็เอาไปยกให้บริษัทเงินหลักทรัพย์ เจริญกรุง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์บ้านที่ดินไทย ยังไม่ทันจะเรียบร้อยดี บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บ้านและที่ดินไทย ก็เกิดมีปัญหาขึ้นเอง พร้อมๆ กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ พัฒนาเงินทุน และบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ บ้านและที่ดินไทย ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน ก็เลยเอาปัญหาทั้งห้าบริษัทไปยกให้ธนาคารกรุงเทพ และสินเอเซีย เมื่อเขาเข้าไปแล้วเห็นว่าประโยชน์ไม่คุ้ม เขาก็ไม่รับ บีบให้เขารับก็ไม่ได้ เพราะเขาใหญ่พอตัว ก็เลยผลักภาระเอาไปยกให้บริษัทสหธนกิจไทย จะออกหัวออกก้อยก็ยังไม่รู้ เลยเกิดมีปัญหาใหม่เกิดซ้อนขึ้นมาอีกแล้ว คือมีหลายบริษัทหยุดจ่ายเงิน และทำท่าจะล้มตามกันอีก ยังไม่ทราบว่าจะใช้มาตรการอะไรเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ ของเก่าที่ยังแก้ไม่ตก ก็เอาไปรวมๆ กัน คือหมักหมมสะสมเอาไว้ ปัญหาก็ใหญ่ขึ้นๆ ทุกที พวกธนาคารชาติและกระทรวงการคลังเหมือนกับนักมวยที่ถูกต่อยเสียงงจนเข้ามุมไม่ถูก ถ้าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีขาดความรับผิดชอบอย่างนี้ ต่อไปก็มีหวังพังกันหมดทั้งระบบ ความเสียหายมีมากยิ่งกว่าน้ำท่วมครั้งนี้หลายสิบเท่านัก ความเสียหายเพราะน้ำท่วมเป็นภัยที่เกิดจากธรรมชาติไม่ปรานี แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงกว่าในครั้งนี้เกิดจากการกระทำของคนที่ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ผู้จัดการ: มีข้อแนะนำในการแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างไร?

เสรี: ผมได้พูดย้ำไว้หลายครั้งว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่ตัวผู้ใช้กฎหมายนั้นเองจะต้องเป็นผู้มีความสุจริตและมีความสามารถเหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่

ผู้จัดการ: ใครเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะเป็นผู้ใช้กฎหมายพิเศษนี้?

เสรี: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้จัดการ: คิดว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้มีความสุจริตและมีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ของท่านหรือไม่?

เสรี: ก็คงจะพิสูจน์ได้จากการแก้ปัญหาในครั้งนี้ แต่ผมอดเป็นห่วงท่านทั้งสองไม่ได้ เพราะท่านรัฐมนตรีมีปลัดกระทรวงชื่อคุณพนัส สิมะเสถียร และท่านผู้ว่าการมีรองผู้ว่าชื่อ คุณสมพงศ์ ธนะโสภณ มีผู้ช่วยผู้ว่าชื่อคุณกมล จิระธันว์ และมีผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายชื่อคุณไพศาล กุมาลย์วิสัย ทั้งสี่ท่านที่ผมกลัวมานานนี้ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาบริษัทราชาเงินทุนจนเสียหายยับเยิน อันมีผลกระทบที่สร้างปัญหาไว้ให้แก้กันอยู่นี่แหละ ท่านจะมีความสุจริต และท่านจะมีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่จะเป็นผู้ใช้กฎหมายพิเศษนี้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากการกระทำที่ท่านเคยทำมาแล้วด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ว่าท่านได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนสมดังความมุ่งหมายที่ได้ตรากฎหมายพิเศษนี้ขึ้นใช้บังคับหรือไม่

ผู้จัดการ: สมมุติว่า ได้ใช้กฎหมายที่มีความสุจริตและมีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป?

เสรี: ก่อนอื่นจะต้องกำหนดเป้าหมายก่อนว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายแก้ปัญหานั้น จะต้องกระทำเพื่อ “คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” อย่างแท้จริง

ผู้จัดการ: แล้วขั้นตอนต่อไป!

เสรี: ขั้นตอนต่อไป คือการกำหนดมาตรการที่ใช้แก้ปัญหานั้น จะต้องเป็นมาตรการที่คงเส้นคงวาเพื่อให้ประโยชน์ของประชาชนได้รับความคุ้มครองด้วยความเป็นธรรมเสมอหน้ากัน

ผู้จัดการ: มีข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้ไหม?

เสรี: ผมเห็นว่ามาตรการสั่งควบคุมนั้นยังเหมาะสมที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาได้ เมื่อมีปัญหาขาดสภาพคล่องเกิดขึ้นที่บริษัทใด ก็ควรจะสั่งควบคุมบริษัทนั้น

ผู้จัดการ: แล้วกรรมการควบคุมเล่าครับจะตั้งใคร พวกแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง กลัวกันจนแหยงไปหมดแล้ว!

เสรี: อย่าตั้งพวกแบงก์ชาติกระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นกรรมการควบคุมอีกเป็นอันขาด มันฝ่าฝืนกฎหมายชัดๆ

ผู้จัดการ : แล้วจะตั้งใครกันล่ะ?

เสรี: เมื่อต้องการใช้กฎหมายเพื่อ “คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” ก็ควรให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาแก้ปัญหา เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของเขาเองให้มากที่สุด ควรจะให้พวกเจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วเขาเลือกผู้แทนเข้ามาเป็นกรรมการควบคุม มีอำนาจดำเนินกิจการของบริษัทได้

ผู้จัดการ: แล้วพวกพนักงานเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ทำอะไร?

เสรี: ก็ทำหน้าที่กำกับ ตรวจสอบ และควบคุมไปตามปกติ ถ้าจะช่วยแนะนำหรือคอยเป็นพี่เลี้ยงคณะกรรมการควบคุม ก็ไม่เสียหายอะไร

ผู้จัดการ: การควบคุมนั้นควรมีเงื่อนไขอะไร?

เสรี: ควรมีเงื่อนไขสั่งห้ามชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทุกประเภท เพื่อมิให้ต้องเสียเวลาวุ่นวายกับการถูกทวงหนี้ และป้องกันเจ้าหนี้ผู้เป็นกรรมการจ่ายชำระหนี้แก่ตนเอง หรือพวกพ้อง ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ

ผู้จัดการ: แล้วกรรมการและพนักงานผู้บริหารอยู่เดิมเล่าครับ จะทำอย่างไร?

เสรี: กฎหมายห้ามไม่ให้ทำอะไร เว้นแต่คณะกรรมการควบคุมจะมอบหมายให้เขาทำ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการควบคุมด้วย ถ้าผู้บริหารเดิมเป็นโจรก็ควรให้กรรมการควบคุมที่เป็นเจ้าหนี้เขาจัดการดำเนินคดีปราบโจรกันเอง ถ้าผู้บริหารเดิมไม่ใช่โจร ก็ควรจะร่วมมือกับกรรมการควบคุมผู้คัดเลือกมาจากเจ้าหนี้ ช่วยกันแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ ถ้าปัญหาเพียงแต่ขาดสภาพคล่อง แต่ไม่ขาดทุน ก็คงจะแก้ไขไม่ยาก

ผู้จัดการ: ถ้าขาดทุนมากจะแก้ปัญหาอย่างไร

เสรี: ก็ควรจะหารือกันเองในบรรดาผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ อาจจะแก้ปัญหาด้วยการลดมูลค่าหุ้น หรือลดทุน หรือเพิ่มทุน เรียกหุ้นเพิ่มเติม หรือแปลงสภาพหนี้สินเป็นทุนบ้างก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่จะเหมาะสมแก่ฐานะ และการดำเนินงานของแต่ละบริษัทอย่างไร ไม่ใช่เอาเรื่องของหลายๆ บริษัท ซึ่งมีปัญหาไม่เหมือนกันเลยมารวมๆ กัน ทำให้เกิดปมยุ่งเหยิงจนสางไม่ออก แก้ไขอะไรไม่ได้ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ผู้จัดการ: หมายความว่าคุณเสรีเห็นว่าควรแยกปัญหาของแต่ละบริษัทออกมาใช้มาตรการสั่งควบคุมแต่ละบริษัทไป ทั้งที่ยังมีปัญหาอยู่และที่จะมีปัญหาต่อไปข้างหน้าด้วย เพื่อให้ต่างคนต่างเข้าไปดูแลผลประโยชน์ แก้ปัญหาของตนเองได้อย่างนั้น ใช่ไหม?

เสรี: ครับ มาตรการสั่งควบคุมนี้ควรใช้กับทุกบริษัทที่มีปัญหา คือใช้ได้ทันทีกับห้าบริษัทที่กำลังผลักภาระไปยกให้บริษัทสหธนกิจไทย ซึ่งยังต่อรองเงื่อนไขกันอยู่ก่อน และควรใช้มาตรการสั่งควบคุมอย่างเดียวกันกับ บริษัทเงินเยาวราช และบริษัทอื่นๆ ที่หยุดจ่ายเงิน แล้วทางราชการยังไม่รู้จะทำอย่างไร เพื่อให้เป็นมาตรการที่คงเส้นคงวา สำหรับใช้แก้ปัญหาของทุกบริษัท ด้วยความเป็นธรรมเสมอหน้ากันหมด การส่งเสริมและให้อำนาจเจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วเข้าไปเป็นกรรมการควบคุมได้มีโอกาสเข้าไปรับรู้และแก้ปัญหา เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของเขาเองนี้ จะทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับทางราชการ ยิ่งกว่าที่ทางราชการส่งคนเข้าไปจัดการเสียเอง หรือจะมอบหมายผลักภาระให้ผู้อื่น ดังเช่น ขอร้องแกมบังคับบริษัทสหธนกิจไทย เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ เพราะการที่จะต่อรองเงื่อนไขให้เป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่ายนั้น เป็นไปได้ยาก และตัวบริษัทสหธนกิจไทยเองก็ไม่เต็มใจที่จะเข้าไปรับภาระแก้ปัญหา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่อาจพ้นข้อครหาว่า ดีแต่ผลักภาระความรับผิดชอบไปให้ผู้อื่น โดยตัวเองไม่ยอมรับผิดชอบตามภาระหน้าที่ที่มีอยู่ได้เลย

ผู้จัดการ: แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยควรทำหน้าที่อย่างไร?

เสรี: นอกจากทำหน้าที่กำกับ ตรวจสอบ และควบคุมตามปกติแล้ว ก็ควรจะทำหน้าที่เป็นกรรมการคอยดู และประสานผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย เพื่อ “คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” อย่างแท้จริงให้จงได้

ผู้จัดการ: ธนาคารแห่งประเทศไทยควรให้ความช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษบ้างไหม?

เสรี: ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษ ช่วยเท่าที่เคยช่วยบริษัทเงินทุนสากล บริษัทนวธนกิจ บริษัทธนชาติ มาแล้ว และที่กำลังจะช่วยบริษัทสหธนกิจไทยต่อไปเท่านั้น นั่นก็คือให้ความช่วยเหลือในเรื่องให้เงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำตามควรแก่กรณี ถือเป็นมาตรการที่คงเส้นคงวาสำหรับใช้ แก้ปัญหาของแต่ละบริษัท ด้วยความเป็นธรรมเสมอหน้ากันหมดก็เพียงพอแล้ว

ผู้จัดการ: แล้วในกรณีราชาเงินทุนถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ล้มไปจะแก้ไขอย่างไร?

เสรี: กรณีราชาเงินทุนผ่านพ้นขั้นตอนใช้มาตรการสั่งควบคุมไปแล้ว ปัญหาราชาเงินทุนแก้ไม่ยาก เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นมีความเห็นตรงกัน คือไม่ต้องการให้บริษัทล้มอยู่แล้ว แต่ขัดข้องอยู่ที่ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษนี้บางคนเท่านั้นที่เกรงว่าบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นมาพิสูจน์ความผิดพลาดของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหามาตั้งแต่ต้น ถ้าจะแก้ปัญหาความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบ ก็มีความจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาบริษัทราชาเงินทุนด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยเองได้ทำรายงานเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2522 ไว้ชัดเจนว่า การล้มเลิกกิจการบริษัทราชาเงินทุน จำกัด นั้น กระทบกระเทือนถึงความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบ ทำให้บริษัทเงินทุนอื่นๆ ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง อาจต้องเลิกล้มกิจการตามไปในที่สุด เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา 4 ปีเศษๆ นี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ผลกระทบว่า เป็นจริงดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยเสนอรายงานไว้ ถ้าสามารถแก้ไขให้บริษัท ฃราชาเงินทุน จำกัด กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา นอกจากการเป็นการ “คุ้ม” นอกจากช่วยบรรเทาความเสียหายของเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นเป็นส่วนรวมแล้ว ยังจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบและกิจการของตลาดหลักทรัพย์ให้ดีขึ้นได้

ผู้จัดการ: ถ้าแก้ไขตามขั้นตอนและมาตรการที่กล่าวมาแล้ว คิดว่าจะสามารถแก้ไขความเสียหายทั้งหมดได้หรือ?

เสรี: แก้ไขความเสียหายทั้งหมดคงไม่ได้ แต่ผมคิดว่าสามารถบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมิให้ลุกลามต่อไป มันสำคัญอยู่ที่ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายจะต้องสั่งการให้เป็นไปตามมาตรการที่วางไว้ ผู้ปฏิบัติตามแผนจะต้อง “แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด” และ ยึดถือเป้าหมาย “คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” เป็นสำคัญ

ผู้จัดการ: ต่อไปจะทำอย่างไรอีก?

เสรี: ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจมาตรการที่จะใช้แก้ปัญหาว่า ได้กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ด้วยความเป็นธรรมเสมอหน้ากันหมด แถลงข่าวการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ให้ประชาชนทราบทุกระยะ เมื่อประชาชนเห็นผลแล้ว ความเชื่อถือในบริษัทเงินทุนทั้งระบบจะค่อยๆ เกิดมีเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับเอง

ผู้จัดการ: ถ้าปล่อยให้การแก้ไขไม่มีทิศทาง หรือมาตรการที่แน่นอน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเรื่อยๆ ไป ผลจะเป็นอย่างไร?

เสรี: ถ้าปล่อยสภาพความเป็นอยู่ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ต่อไป โดยไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างอื่นที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าแล้ว จะต้องมีการล้มเลิกกิจการกันต่อไปอีก จนพังกันไปทั้งระบบ เนื่องจากธุรกิจการเงินเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ ที่สูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงกิจการอื่นๆ การล้มเลิกกิจการของธุรกิจการเงินหลายสิบบริษัทในเวลาใกล้เคียงกัน จะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อเนื่องไปถึงกิจการอื่นๆ ให้มีอันเป็นไปจนถึงกับต้องเลิกล้มตามกันไปอีกมาก ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เป็นภัยต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ธุรกิจการเงินที่เหลือจะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยเพียงไม่กี่คน ทำให้อิทธิพลของคนกลุ่มน้อยนี้ไม่เพียงแต่สามารถผูกขาดธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่จะมีอิทธิพลผูกขาดธุรกิจอื่นๆ ไว้ในอุ้งมือต่อไปอีกด้วย การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม จะต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง และสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสถาบันการเงินขาดสภาพคล่องนั้น เกิดจากประชาชนขาดความเชื่อถือในธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ทั้งระบบ ที่ทางราชการอ้างว่า เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ควบคุมยังไม่รัดกุมพอนั้น ไม่เป็นความจริง พิสูจน์ได้จากเมื่อใช้ ประกาศปฏิวัติฉบับที่ 58 เป็นกฎหมายควบคุมนั้น ประชาชนยังให้ความเชื่อถือธุรกิจการเงินทั้งระบบอยู่ ต่อมาได้มีการแก้กฎหมายควบคุมให้รัดกุมขึ้น คือทางราชการได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 ออกใช้บังคับนั้น ได้มีผู้ใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติ ทำให้บริษัทราชาเงินทุนต้องเลิกล้มกิจการไป ส่งผลกระทบกระเทือนถึงความเชื่อถือธุรกิจการเงินทั้งระบบ และมีผลกระทบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ความผิดพลาดจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ผู้ใช้กฎหมายต่างหาก ดังนั้นจึงต้องแก้ไขที่ตัวผู้ใช้กฎหมาย และมาตรการที่จะใช้กฎหมายนั้นให้มีประสิทธิภาพ

ผู้จัดการ: อยากทราบความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ประกันเงินฝากว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ไหม?

เสรี: มีทั้งผลดีและผลเสีย ยังไม่มีข้อยุติ ผมคิดว่าสายเกินไปที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนอยู่ในขณะนี้

ผู้จัดการ: เรื่องแก้ไขกฎหมายควบคุมที่ใช้อยู่ มีความเห็นอย่างไร?

เสรี: ผมไม่ทราบว่าเขาจะแก้ตัวกันอย่างไร จึงออกความเห็นไม่ได้ แต่ผมเห็นว่าปัญหา ที่เกิดขึ้นแล้วนั้น คอยต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะกฎหมายมิใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ ให้เสร็จในสองสามวัน ในเมื่อเรามีกฎหมายออกมาบังคับใช้เพื่อ “คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” อยู่แล้ว จะต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่แก้ปัญหาให้ได้ก่อน นี่เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของผู้ใช้กฎหมายที่สำคัญ มีอยู่ 2 คน คือ รัฐมนตรี และผู้ว่าการธนาคารชาติ เราก็คงจะได้เห็นกันในครั้งนี้ว่า ท่านทั้งสองเป็นผู้มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่หรือไม่   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us