"เอ้า! นับหนึ่ง สอง สาม จับจังหวะให้ดี ดนตรีเริ่ม" ทันทีที่เสียงของครูฝึกเต้นรำบอกจบ
เหล่าลูกศิษย์ตัวน้อยทั้ง 20 คน ก็เริ่มยกขา ย่อขาขึ้น-ลงตามจังหวะเพลง ในขณะที่ครูผู้ช่วยเข้าไปช่วยจับขาให้เข้าที่
แม้ว่าจะต้องผ่านการเรียนในห้องเรียนมาแล้ว ตั้งแต่เช้าจรดเย็น และยังต้องรีบมาฝึกเต้นต่ออีก
2 ชั่วโมง และต้องมาให้ทันกับเวลาฝึกซ้อม ที่เริ่มขึ้น 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม
มีวันหยุดวันเดียว แต่ดูเหมือนว่า เด็กเหล่านี้ยังไม่ทีท่าว่าจะเหน็ดเหนื่อย
"ไม่เคยบ่นเลย อยากมาฝึก นี่พอ 4 โมงเย็น ก็วิ่งมาขึ้นรถเลย" ผู้ปกครองของเด็กเล่า
เพราะกว่าจะมาเป็น "ศิลปินฝึกหัด" ในโครงการแกรมมี่ จูเนียร์ ได้เด็กเหล่านี้จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกจากเด็กเกือบ
1,000 คนมาแล้ว
โครงการแกรมมี่ จูเนียร์ เป็นโครงการพิเศษ ที่บริษัทเอ็กซ์ทรอกาไนเซอร์
ร่วมกับโรงเรียนสอนดนตรีมีฟ้า และบริษัทอราทิสท์ แมเนจเม้นท์ จัดทำขึ้นมา
ภายใต้หลักสูตรที่ชื่อ "Pre professional course"
"โจทย์ของอราทิสท์ คือ หาวัยรุ่นหน้าใหม่ แล้วมาฝึกออกเทป แต่โครงการนี้เป็นเป้าหมายระยะยาว
เราจะไม่รีบออกเทป มันดีกว่าในแง่ที่ว่า แต่จะฝึกให้เขาแน่นในระยะยาว จนกว่าเขาจะโตพอจะออกเทป
หรือไปเป็นนักแสดง" สันติสุข จงมั่นคง กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็กซ์ทรอกาไนเซอร์
ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการแกรมมี่ จูเนียร์ บอก
เด็กเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเต็มในการฝึกอบรม ในช่วงหลังเลิกเรียน
เริ่มตั้งแต่การฝึกหัดพื้นฐาน การร้องเพลงดนตรี การเรียนจะเริ่มตั้งแต่ 5
โมงเย็น จนถึง 1 ทุ่ม แบ่งเป็นจันทร์ พุธ เสาร์ เรียนเต้นส่วนอังคาร พฤหัส
จะฝึกร้องเพลง
แม้ว่าอราทิสท์ยังคงความสำคัญในฐานะของการเป็น "ผู้ปั้น" ในการสร้างศิลปิน
แต่มีความยากลำบากในการสรรหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น
และการขยายตัวของกลุ่มผู้ฟัง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ก่อนวัยรุ่นก็เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้จีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่ ต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการ "ปั้น" ศิลปิน
การฝึกฝนตั้งแต่ในวัยเด็ก ภายใต้ระยะเวลาที่ยาวนาน จะทำให้การบ่มเพาะตรงกับเป้าหมาย
และแนวทางในระยะยาวมากกว่า
"แทนที่จะรอหาเด็กที่มีพื้นฐาน ซึ่งหายาก แต่แบบของเรา เอาเด็กที่มีศักยภาพ
เด็กทั้ง 20 คนก็มีโอกาสมากขึ้น"
"เมล็ดพืช" ที่ถูกหว่านลงไปเหล่านี้ จะเติบโตขึ้นเพื่อจะเก็บเกี่ยว กลายเป็นนักร้องในอนาคตอย่างเห็นผลหรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม