กลุ่มสามารถ คอร์ปอเรชั่นตั้งบริษัทร่วมทุนกับทีมงานมืออาชีพที่มาจากฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ชื่อ "วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้" รุกธุรกิจระบบความปลอดภัยไฮเทค รองรับแนวโน้มความปลอดภัยที่กำลังมาแรง พร้อมโชว์ผลประกอบการไตรมาส 1 รอบปี 2548 ที่พลิกจากขาดทุนสะสมในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2547 ที่ 81 ล้านบาท เป็นกำไร 56 ล้านบาท
นายธวัชชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มสามารถได้ตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ "วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้" เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดระบบรักษาความปลอดภัยและระบบสื่อสารด้านภาพและเสียงทั้งแบบมีสายและไร้สาย โดยจะให้บริการเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การจำหน่ายและรับเหมาติดตั้ง พร้อมซ่อมบำรุงด้วยทีมงานคุณภาพ และเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทจากธุรกิจนี้ในอนาคตอันใกล้
"เรื่องความปลอดภัยกำลังมาแรง แต่ไม่มีใครทำแบบใหญ่ๆ"
วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยสามารถ คอร์ปถือหุ้น 70% อีก 30% กลุ่มบุคคลที่นำโดยนายสมหมาย ดำเนินเกียรติ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดังกล่าวพร้อมทีมงานที่รู้ใจ และเชี่ยวชาญระดับมืออาชีพที่ออกมาจากบริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ หลังมีการปิดแผนกฟิลิปส์ โปรเจกต์เพราะเห็นว่าไม่ใช่ธุรกิจหลัก และไม่ทำกำไร จากนั้นทีมของนายสมหมายได้ไปร่วมงานกับบริษัท เอ็มซีเอส ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัย ระยะหนึ่งก่อนจะมาร่วมทุนกับสามารถคอร์ป
ส่วนซอฟต์แวร์ที่จะนำมาให้บริการคือ ไนซ์ วิชัน (Nice Vision) ของบริษัท ไนซ์ ซิสเต็ม จากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ควบคุมและเห็นการทำงานของการวิเคราะห์ภาพจากวิดีโอ
"ผู้ที่ให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัยมากๆ จะมีการติดกล้องวงจรปิดจำนวนมาก ผู้ดูแลหรือตรวจตราก็ต้องมาก และอาจเกิดการเมื่อยล้าจนอาจจะทำให้เผอเรอจากสิ่งผิดปกติได้ แต่ระบบของเราเมื่อเกิดผิดปกติระบบจะเตือน ซึ่งผู้รักษาความปลอดภัยสามารถเรียกดูจากระบบได้ทันที" นายสมหมายกล่าว และยกตัวอย่างให้เห็นว่า สมมติมีผู้ถือกระเป๋าเข้าไปวางทิ้งไว้ ระบบจะเตือนผู้รักษาความปลอดภัยสามารถคลิกไปที่กระเป๋าว่าอยู่จุดนั้นได้อย่างไร หรือคลิกไปที่คนก็บอกได้ว่าเข้ามาทางไหนอย่างไรในวินาทีนั้น เป็นต้น
ส่วนลูกค้ากลุ่มเป้าหมายขณะนี้ นายสมหมายได้เข้านำเสนอให้ผู้ที่เห็นความสำคัญของระบบความปลอดภัยสูง เช่น สนามบิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงลูกค้าทั่วๆ ไปด้วย
สามารถพลิกจากขาดทุนเป็นกำไร
พร้อมกันนี้ กลุ่มสามารถ คอร์ป ได้เปิดเผยถึงผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกรอบปี 2548 ว่า มีรายได้รวมทั้งสิ้น 4,235 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีรายได้รวม 2,665 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการโต 59% และมีกำไรสุทธิ 138 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีกำไรสุทธิ 117 ล้านบาท หรือโตขึ้น 18% ส่วนรายได้รวมและกำไรสุทธิที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่จำนวน 81 ล้านบาท ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นกำไรจำนวน 56 ล้านบาท
การที่กลุ่มบริษัทสามารถล้างขาดทุนสะสมเป็นกำไรได้นั้น เนื่องจากมีรายได้จากทุกสายธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา รายได้รวมของสายธุรกิจมือถือและสื่ออินเตอร์ แอ็กทีฟ เพิ่มขึ้น 58% ขณะที่สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมทำรายได้เพิ่มขึ้น 52% สายธุรกิจสื่อสารไอที มีรายได้เติบโตขึ้นถึง 288% และบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิคเซอร์วิส ซึ่งอยู่สายธุรกิจ อื่นๆ ก็สร้างรายได้เพิ่มจากจำนวนเที่ยวบินที่มากขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 10.3%
ส่วนผลประกอบการของบริษัทสามารถ ไอโมบาย ในช่วง ไตรมาส 1 ของปี 2548 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,670 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 81 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 104 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2547 มีการรับรู้กำไรจากการขายหุ้นของบริษัท บลิสเทล และไทยทิคเก็ต มาสเตอร์ จำนวน 50 ล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบผลกำไรจากการดำเนินงาน บริษัทมีกำไรสูงขึ้นถึง 50% รายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท เป็นผลมาจากจำนวนมือถือที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 98% โดยมียอดขายรวมในไตรมาสแรกทั้งสิ้น 350,000 เครื่อง บวกกับรายได้จากธุรกิจบริการข้อมูล (Content) ที่มีการเติบโตขึ้นถึง 41%
ผลประกอบการของบริษัท สามารถเทลคอม ในช่วงไตรมาส 1 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 520 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวมของช่วงเดียว กันของปีก่อนที่มีรายได้จำนวน 343 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้น 52% และมีกำไรสุทธิจำนวน 55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 31 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นอัตราการโต 77%
การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายธุรกิจทางด้านการดูแลระบบเครือข่าย หรือ Network Outsourcing และจากความสำเร็จในการประมูลโครงการใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย โครงการ Soft Switch หรือการติดตั้งระบบสื่อสารโทรคมนาคมและอุปกรณ์ต่อเชื่อมเครื่องโทรศัพท์ IP ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการ School Net หรืออินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 10,000-14,000 โรงเรียน มูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท
นายธวัชชัยเชื่อว่า ไตรมาส 2 ของปีนี้ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทจะยังคงมีการโตอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีการรับรู้รายได้จาก โครงการต่อเนื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการระบบบริหารจัดการข้อมูล (Airport Information Management System) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ, โครงการทางด้านไอทีของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีงานที่รอการประมูลอีกหลายโครงการ ขณะที่ตลาดคอนซูเมอร์ สามารถ ไอโมบาย ก็มีแผนที่จะเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่มากกว่า 20 รุ่นในปีนี้ ที่ยังคงเน้นหนักในการนำเสนอ House brand I-mobile ที่มีคุณภาพบวกกับการขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าในทุกภูมิภาคของประเทศ และยังมีแผนลงทุนเพื่อขยายธุรกิจด้านคอนเทนต์ด้วย
|