|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บอร์ดกสท ปลด "วิทิต" พ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ หลังกฤษฎีกาตีความขาดคุณสมบัติและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ตั้งปลัดกระทรวงไอซีทีเป็นประธานสรรหาเอ็มดีใหม่ภายใน 60 วัน ด้านประธานบอร์ดยันไม่กระทบแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
พล.ท.อนุสรณ์ เทพธาดา ประธานกรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคมกล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดว่าที่ประชุมพิจารณาตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายวิทิต สัจจพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้นายวิทิตพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา และให้นายพิศาล จอโภชาอุคม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหาร รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน
ทั้งนี้ กฤษฎีกาตีความว่านายวิทิตขาดคุณสมบัติทั่วไปในประเด็นที่ต้องไม่เป็นหรือภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนวันที่ได้รับแต่งตั้ง ไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัท กสท โทรคมนาคมเว้นแต่การเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในนิติบุคคลดังกล่าวโดยการมอบหมายจากบริษัท กสท โทรคมนาคม
โดยนายวิทิตได้กรอกรายละเอียดในใบสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ (CEO) ไว้ชัดเจนว่า ในปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่ง "ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซิฟเอ็กเซล ดังนั้น เมื่อบริษัท เซิฟเอ็กเซล ได้เข้าเป็นคู่สัญญาดำเนินการทดสอบบริการ Voice Over Internet Protocal (VoIP) ขาเข้าประเทศไทยกับบริษัท กสท โทรคมนาคม เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2546 บริษัท เซิฟเอ็กเซล จึงมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมของบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นกิจการหลักของรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ และเป็นการมีประโยชน์ได้เสียในทางตรงด้วย เนื่องจากบริษัท เซิฟเอ็กเซล เป็นคู่สัญญาและมีรายได้หลักจากสัญญาดังกล่าว
แม้นายวิทิตจะได้ลาออกจากบริษัทนั้นแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 แต่นับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 แล้วยังไม่ถึง 3 ปี นายวิทิตจึงเป็นกรรมการผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการในบริษัท เซิฟเอ็กเซล ที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของบริษัท กสท โทรคมนาคม ภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันที่ได้รับแต่งตั้ง
พล.ท.อนุสรณ์กล่าวว่าสำหรับการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่นั้น จะให้นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นประธานในการสรรหา โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน
"การสรรหาใหม่อาจได้ผู้บริหารที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับด้านโทรคมนาคม เพราะเงื่อนไขเดิมที่กำหนดเวลา 3 ปี ส่วนใหญ่ผู้บริหารในวงการโทรคมนาคมก็จะต้องมีการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว"
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะแก้ไขหรือไม่ หรือยังคงให้ใช้ระเบียบเดิมต่อไป แต่ที่สำคัญคือต้องเร่งสรรหาโดยด่วนเนื่องจากปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมมีการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยที่บอร์ดอยากได้ผู้บริหารที่ทำงานเร็ว สามารถประสานงานภายในองค์กรได้และจะต้องเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้าพอสมควร
พล.ท.อนุสรณ์กล่าวถึงการสรรหาที่ผ่านมาว่าไม่ได้พิจารณาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในบริษัท เซิฟเอ็กเซลของนายวิทิต ซึ่งเป็นคู่สัญญากับกสทในการทดสอบบริการวอยซ์ โอเวอร์ ไอพี ซึ่งหากจะหาว่าใครผิดในขณะนี้คงไม่สามารถระบุได้เพราะทุกอย่างได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการนำกสทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯคงจะไม่มีผลกระทบและสามารถเดินหน้าตามขั้นตอน เพื่อเข้าจดทะเบียนภายในไตรมาส 3 นี้ได้อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องการแปรสัญญาสัมปทาน ถือว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะกสทมีรายได้จากสัญญาสัมปทานไม่มากและจะไม่นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในการเข้าจดทะเบียนในตลาดด้วย
ส่วนเรื่องการลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดกสทนั้น เป็นไปตามวาระ ครบ 1 ปี 1 ใน 3 ของบอร์ดต้องมีการจับฉลากออก แต่เมื่อไม่มีใครต้องการจะออก จึงแสดงสปิริตด้วยการลาออกเอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่กฤษฎีกาตีความ แต่บังเอิญว่าเป็นช่วงเดียวกัน โดยกระบวนการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังว่าจะให้คนอื่นมาแทนหรือจะให้ดำรงตำแหน่งต่อไป
ด้านนายวิทิต กล่าวว่า เมื่อบอร์ดมีมติออกมาเช่นนั้นก็ต้องยอมรับ และรู้สึกตัวเบาขึ้นมาก เพราะไม่ต้องไปแบกรับภาระหนักใน กสท หลังจากนี้ไป ก็คงจะใช้เวลาพักผ่อนสักระยะก่อนที่จะพิจารณาหางานอย่างอื่นทำต่อไป ขณะเดียวกันก็เห็นว่างานในกสทไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะเป็นองค์กรใหญ่ไม่มีตนก็คงไม่มีผลกระทบอะไร
"ช่วงแรกคิดจะลาออกทุก 2 อาทิตย์ เพราะงานยุ่งยากมาก แต่มีพนักงานให้กำลังใจก็เลยทำมาเรื่อยๆ จนครบ 11 เดือน ก็มีพนักงานกสทให้การยอมรับมากยิ่งขึ้น"
|
|
|
|
|