Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2545
"ผมเป็นคนไม่ชอบเสี่ยง"             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 

   
related stories

GMM Grammy : The Idol Maker
Singing marketing
Grammy big รวมฮิตตลอดกาล
1 2 3 แกรมมี่ เฮ้!
เอ็กซ์ทรอกาไนเซอร์

   
search resources

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม




"ผู้จัดการ" พบกับไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ในช่วงค่ำของวันที่ 16 พฤษภาคม หลังจากเขาประชุมร่วมกับครีเอทีฟและนักร้องกลุ่มหนึ่ง ในห้องทำงานบนชั้น 42 ซึ่งเป็นชั้นเกือบบนสุดของอาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ศูนย์บัญชาการใหม่ของเขาที่ตกแต่งอย่างดี

"ผมเป็นคนชอบแต่งตัว ก็เลยชอบแต่งห้อง" คำทักทายแรกของไพบูลย์ เมื่อถูกถามถึงห้องทำงานใหม่ที่ถูกตกแต่งอย่างดี แต่เน้นความเรียบง่าย ด้วยสีแบบ two tone ไม่มีรูปภาพสะสมราคาแพง แต่ให้น้ำหนักไปกับการเลือกสรรเฟอร์นิเจอร์

"ห้องผมจะออกแบบง่ายๆ เฟอร์นิเจอร์ซื้อดีๆ แพงๆ มา 1 ชุด โต๊ะทำงาน 1 ตัว อย่างไม้ที่ทำโต๊ะนี้ก็เป็นไม้ไทย แต่ไปเอาคอนเซ็ปต์มาจากอิตาลี" ไพบูลย์บอกถึงความเป็นคนรู้จักเลือกสรรของเขา

แม้ว่าเป้าหมายและภารกิจของไพบูลย์ ไม่ลดน้อยลงไป แต่ดูเหมือนว่าการใช้ชีวิตในการทำงานในแต่ละวัน ของเขาในวัย 53 ปีจะคลี่คลายลงไปได้มากทีเดียว

"อย่างวันนี้ถือว่า semi retire แล้ว กว่าผมจะมาถึงที่ออฟฟิศก็บ่าย 3 โมง ก็ประชุม" ไพบูลย์เล่า

ชีวิตของไพบูลย์ในเวลานี้ จะเริ่มขึ้น 11 โมงเช้า จากนั้นอ่านหนังสือพิมพ์ สนใจข่าวการเมืองเป็นพิเศษ และข่าวบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาอีก 7-8 ฉบับ จากนั้นก็โทรศัพท์สั่งงาน มาถึงที่ทำงานตอนบ่าย 3 โมง ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการประชุม พอ 1 ทุ่มตรง ผมก็ไปออกกำลังกายแล้วที่โปโลคลับ

"3 ทุ่ม จะเป็นเวลากินข้าว พบปะกับเพื่อน จะไม่นัดหมายเรื่องธุรกิจ ถ้าจะคุยเรื่องงานต้องคุยที่บริษัท ยกเว้นศิลปินมาขอนัดกินข้าวด้วย"

เวลานี้ไพบูลย์ยังคงพบปะกับศิลปิน นักร้อง อยู่สม่ำเสมอ แม้ว่าจะไม่เหมือนกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ก็สามารถโทรปรึกษา ยิ่งในช่วงที่เขาหันมาดูแลงานด้านครีเอทีฟด้วยแล้ว การพบปะของเขากับครีเอทีฟและนักร้องจะมีอยู่ประจำ

ไพบูลย์มีเพื่อนฝูงในแวดวงธุรกิจที่คบหากันมานาน ในจำนวนนั้นก็คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และอนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งคบหากันมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ รู้จักกันมา 20 กว่าปีแล้ว

บุคคลทั้งสองมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในหลายๆ ครั้งของไพบูลย์ รวมทั้งการผลักดันให้เข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่สำหรับเขา

"ผมเป็นคนขี้ปอดอยู่แล้ว จะให้ผมเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น ไม่รู้จะมีใครมาหลอกหรือเปล่า ผมไม่รู้เรื่องตัวเลขบัญชี ท่านนายกทักษิณต้องนั่งอธิบายให้ผมฟัง ส่วนคุณอนันต์ก็เอาขึ้นกระดานอธิบาย พออีกเดือนผมก็ลืม ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่"

นอกจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร และอนันต์ อัศวโภคิน ที่เป็นกำลังหลักแล้ว ยังมีวิโรจน์ นวลแข และศุภเดช พูนพิพัฒน์ ผู้บริหารจากสถาบันการเงิน ที่เข้ามาช่วยเป็นหลักประกันจำหน่ายหุ้น

อนันต์นั่งเป็นกรรมการอิสระให้กับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มาตลอด จนเมื่องานมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาเป็นเดช บุลสุข แทน "แต่ก็ยังโทรศัพท์หากันได้ตลอดเวลา"

ก่อนหน้านี้ไพบูลย์จะมีเพื่อนนักธุรกิจ 8 คน ที่นัดกินข้าวกันเดือนละครั้ง ทักษิณ, บุญชัย เบญจรงคกุล, ธวัชชัย วิไลลักษณ์, ไชย ณ ศีลวันต์, ศุภเดช พูนพิพัฒน์, พันธ์เลิศ ใบหยก, วิทิต ลีนุตพงษ์

"ตอนหลังท่านนายกทักษิณไม่ค่อยว่าง ก็เลยห่างไป 3-4 เดือน อาจจะกินกันสักครั้ง แต่พวกเราก็มาบอกกันว่า ถ้าท่านนายกไม่ว่าง ก็กินกันเองก่อน ถ้าว่างเมื่อไร ท่านก็มาร่วม"

ทั้งที่อยู่ในสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ ไฟแนนซ์ รถยนต์ และคนเหล่านี้ก็มีผลต่อการตัดสินใจของเขาในหลายๆ ครั้ง

ท่ามกลางความโชคร้ายยังมีความโชคดี หลังจากเรวัตเสียชีวิตไปช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ แม่ของไพบูลย์ มาเสียชีวิตในวันที่ 2 กรกฎาคม และเป็นวันที่ค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งเป็นวันที่ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น หลังจากที่ฟุบมานาน และวันนั้นไพบูลย์ก็ได้เงินมา 1,000 ล้านบาท จากการขายหุ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

ไพบูลย์ นอกจากเป็นคนไม่ชอบเสี่ยงแล้ว เขายังไม่ชอบสะสมสิ่งของ รูปภาพราคาแพง การบริหารทรัพย์สินส่วนตัวของเขา จะเก็บในรูปของเงินสด ฝากธนาคารมีทั้งเงินฝากที่อยู่ในและต่างประเทศ

"บางคนบอกให้เอาไปลงทุน ผมบอกชีวิตปกติผม ก็ต้องเสี่ยงอยู่แล้ว พอเอากลับมาได้แล้ว นอนนิ่ง ดอกเบี้ยธนาคารจะต่ำยังไง ผมบอกไม่เป็นไร เพราะนี่เป็น saving ของเรา ไม่ต้องเสี่ยงแล้ว"

อสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของเขา คือ อาคารสำนักงาน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งเป็นการลงทุนส่วนตัว ในนามบริษัทมีฟ้า และบ้านพักตากอากาศ ที่หัวหิน ทั้งสองชิ้น ล้วนแต่เป็นความใฝ่ฝันของไพบูลย์ที่มีมาตลอด

อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เดิมชื่อ อาคารโรจนะ เป็นของหน่วยงานก่อสร้างรัฐบาลไต้หวัน สร้างเสร็จแล้ว แต่มาเจอวิกฤติเศรษฐกิจจึงบอกขาย ไพบูลย์ซื้อมาในราคา 1,200 ล้าน ต่ำกว่าราคาที่ถูกประเมินไว้ 2,000 ล้านบาท ตกแต่งอีก 300 ล้านบาท

"นี่เป็นสิ่งที่ผมพูดกับลูกน้องไว้นานแล้วคือ การมีตึกสูง ไม่ใช่ที่กว้างๆ นอกเมือง ผมชอบอยู่ในเมืองมากกว่า และวันนี้ผมก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพวกเขาแล้ว คืออยู่ตึกสวยๆ สิ่งที่สำคัญ ก็คือ ผมอยากสร้างบริษัทนี้ให้เป็นเซนจูรี่ เหมือนฝรั่ง"

พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ 60% ของอาคารหลังนี้จะถูกใช้สำหรับบริษัทในเครือของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ทั้งหมดที่เหลือจะเปิดให้คนนอกเช่า

วันที่ "ผู้จัดการ" ไปพบไพบูลย์ เป็นวันเดียวกับ โมเดลจำลองแบบบ้านเสร็จพอดี ที่ดินหัวหินผืนนี้เขาซื้อต่อจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในราคา 100 กว่าล้าน และจ้างให้นักออกแบบชาวสิงคโปร์ ตัก ฮก แปง เป็นที่ปรึกษา มนตรี บุนนาค เป็นสถาปนิก คาดว่าจะใช้เงินในการก่อสร้างอีก 100 กว่าล้าน

หากการก่อสร้างเสร็จในกลางปีหน้า ไพบูลย์ก็จะเป็นเจ้าของบ้านพักตากอากาศที่หรูหราบนหาดหัวหิน นอกเหนือจากขนาดที่ใหญ่เกือบ 10 ไร่แล้ว ที่ดินริมหาดที่ไพบูลย์บอกว่า เหลืออยู่ผืนเดียวที่สวยและใหญ่

ความพิเศษของบ้านหลังนี้ อยู่ที่ด้านในบ้านจะตกแต่งด้วย "อควอเรียม" ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน มีแมงกะพรุน ปลาทะเล ปะการัง ว่ายไปมา เรียกว่า ยกทะเลมาไว้ที่บ้าน

แม้จะเป็นคนไม่ชอบเสี่ยง แต่ความสำเร็จในการทำธุรกิจเพลง ทำให้ไพบูลย์มองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการลงทุนส่วนตัวเพื่อทำบะหมี่สำเร็จรูป ยี่ห้อ 4 me เครื่องสำอางและธุรกิจเสื้อผ้า

และการมองธุรกิจเพลงของไพบูลย์ ก็ไม่แตกต่างไปจากสินค้าคอนซูเมอร์ ที่ต้องมีระบบจัดจำหน่าย มีการใช้การตลาด การโปรโมตเข้าช่วย เช่นเดียวกับอาหาร เสื้อผ้า นั่นหมายความว่า เขาจะได้ประโยชน์จากความเป็นจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน โปรโมชั่น และการตลาด

ดูเหมือนว่า แรงบันดาลใจในการทำบะหมี่สำเร็จรูปของไพบูลย์ มาจากประสบการณ์ของการเคยทำงานร่วมกับ สหพัฒนพิบูล และทีมของไพบูลย์ก็เป็นผู้คิดคำว่า "มาม่า อร่อย" จนฮิตติดหูมาจนทุกวันนี้

ไพบูลย์มองว่าโอกาสของตลาดบะหมี่นี้มีอีกมาก ทั้งในและต่างประเทศ และการที่ได้สหพัฒนพิบูลมาร่วมหุ้น และได้โรงงานไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์มาผลิตให้ เท่ากับเป็นการการันตีทั้งเรื่องการผลิตและจำหน่าย

การลงทุนในธุรกิจบะหมี่ นอกจากให้สหพัฒน์ถือหุ้น 40% หุ้นอีก 20% ขายให้กับศิลปิน ส่วนไพบูลย์จะถือ 40% มีเงื่อนไขว่า ไพบูลย์จะคุมในเรื่องการบริหารแบรนดิ้ง และการทำตลาดและโปรโมชั่น

ส่วนการทำธุรกิจขายตรงเครื่องสำอางมาจากการที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีเมกอัพอาร์ทติสต์จำนวนมาก ที่จะมาช่วยในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาการผลิตจะจ้างโรงงานผลิต และดึงคนที่มีประสบการณ์จากบริษัทขายตรงมาช่วย

แนวคิดนี้ไม่ต่างไปจากธุรกิจเสื้อผ้า ที่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ มี costume artist ที่ดูแลเสื้อผ้าให้ศิลปินจำนวนมากมาช่วยในการออกแบบและผลิตเสื้อผ้า

"อย่างศิลปิน ใส่เสื้อใครสักตัว ก็ขายดี เบิร์ดใส่เสื้อ โสด ออกมิวสิกวิดีโอขายดีไปทั่วประเทศ ผมมีเครื่องมือ มีศิลปิน เสื้อผ้าผมก็ขายไม่แพง คนก็ก๊อบปี้ผมยาก"

ถึงแม้ว่าการใช้ชีวิตการงานจะคลี่คลาย แต่ดูเหมือนว่าภารกิจของเขายังไม่จบสิ้น และทศวรรษใหม่ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเขาต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us