Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2545
GMM Grammy : The Idol Maker             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 

 
Charts & Figures

โครงสร้างธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
แผนภาพแสดงมูลค่าตลาดเพลงในประเทศ
งบการเงิน
ค่ายเพลง รายชื่อศิลปิน
ค่ายเพลง รายชื่อศิลปิน
ค่ายเพลง รายชื่อศิลปิน

   
related stories

เพลงสุดท้ายของแกรมมี่
ถึงเวลาที่แกรมมี่จะต้องทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง
แกรมมี่ เน็ตเวิร์ค ส่ง “IMAGINE” ตีตลาดธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์

ต้นอ้อ-แกรมมี่ ปฏิบัติการกินรวบธุรกิจการศึกษา
"ผมเป็นคนไม่ชอบเสี่ยง"
Singing marketing
Grammy big รวมฮิตตลอดกาล
1 2 3 แกรมมี่ เฮ้!
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม "ผมเป็นคนที่รวยที่สุดในตลาดหุ้น"
2 ปีกับเก้าอี้ CEO
อราทิสท์ แมเนจเม้นท์ ผู้ปั้นศิลปิน
อัสนี โชติกุลแห่งมอร์ มิวสิค Entrepreneur 2002
เอ็กซ์ทรอกาไนเซอร์
งบการเงิน GMM Grammy
รวมรายชื่อศิลปินแกรมมี่และค่ายเพลงที่สังกัด

   
www resources

โฮมเพจ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
www.taipeitimes.com
The American Music Center
Record Industry Association of America (RIAA)

   
search resources

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, บมจ.
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
บุษบา ดาวเรือง
กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ
Musics




จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นองค์กรธุรกิจหนึ่งของไทย ที่สามารถสร้าง "นักร้อง" และ "ดารา" ที่สามารถสะท้อนไลฟ์สไตล์ และกระแสสังคมได้มากที่สุด ด้วยกระบวนการจัดการที่รัดกุม ทำให้มีนักร้องในสังกัดมากที่สุด ความน่าสนใจของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงไม่ได้อยู่ที่การเป็นบริษัทในตลาดหุ้น หรือการสร้างให้ผู้ก่อตั้งเป็นผู้ร่ำรวยในสังคม แต่ที่น่าสนใจคือ ความสามารถในการกำหนดรสนิยมของสังคม ผ่านกระบวนการสร้าง "นักร้อง" และ "ดารา" ที่เป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด

โครงสร้างธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงเป็นมากกว่าการมีเครือข่ายช่องทางจำหน่าย หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสื่อในรูปแบบต่างๆ แต่อยู่ที่การบริหาร สินทรัพย์ที่เป็นคน คำถามก็คือ พวกเขาจะรักษาความสามารถเหล่านี้ต่อไปได้อย่างไร

"อยากจะร้องดัง ดัง" ท่อนเพลงฮิตติดหูในเพลงเอกเพลง หนึ่งของ "ปาล์มมี่" นักร้องลูกครึ่งไทยเบลเยียม ที่โด่งดังขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็ว จากอัลบั้ม "PALMY" ที่ฮิตติดหู และอาจเรียกว่าประสบความสำเร็จอีกชุดหนึ่งของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

ปาล์มมี่ไม่แตกต่างไปจากนักร้องในสังกัดของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คนอื่นๆ ที่เดินเข้ามาพร้อมกับเดโมเทป พร้อมกับพกพาความหวังในการเป็น "นักร้อง" ไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่กว่าจะได้อัลบั้มเพลงออกวางขายในตลาด และกลายเป็นนักร้องที่ฮิตติดอันดับ ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี

ในขณะที่บางคนอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี กว่าจะได้ออกอัลบั้มเพลง และบางคนอาจต้องเปลี่ยนไปเป็นนักแสดง พิธีกร

ใครจะรู้บ้างว่า เส้นทางสู่ดวงดาวของนักร้องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปาล์มมี่ หรือแม้แต่นักร้องรุ่นแรกๆ อย่าง ธงไชย แมค อินไตย์, มอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์, ใหม่ เจริญปุระ, นิโคล เทริโอ, ดาจิม ไม่ใช่เพราะความบังเอิญ หรือเป็นเพราะโชคช่วย แต่ต้องผ่านกระบวนการจัดการที่ถูกจัดทำขึ้นแล้วมาเป็นอย่างดี

มีค่ายเพลงไม่น้อยที่สามารถแจ้งเกิดและสร้างชื่อขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องปิดฉากลงในเวลาไม่นาน เมื่อไม่สามารถปั้นนักร้องให้โด่งดังอย่างต่อเนื่อง หรือคู่แข่งหน้าใหม่ที่สลับสับเปลี่ยนเข้าสู่ตลาดด้วยแล้ว โอกาสก็ยิ่งยากมากขึ้น

ปี 2546 จะเป็นปีที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เติบโตขึ้นมามีอายุครบ 20 ปี

คำถามคือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยืนหยัดอยู่ในธุรกิจที่เป็นสินค้าวัฒนธรรม เกี่ยวข้องกับรสนิยมคนฟังที่แปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ต่อเนื่องมาจนถึง 2 ทศวรรษนี้ สร้างนักร้อง ป้อนสู่ตลาดกว่า 300 ราย มี new release อัลบั้มออกไปแล้วกว่า 900 อัลบั้ม รวมแล้วไม่น้อยกว่า 9,000 เพลงได้อย่างไร

"เริ่มต้น ผมคิดเลยว่า ปัจจัยจะทำธุรกิจเพลงมีอะไรบ้าง ก่อนอื่นผมต้องวางแผนก่อน ธุรกิจนี้ต้องพึ่งพาคนที่เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง ต้องมีนักร้องที่ดี มีนักการตลาด มีโปรโมชั่น มีสื่อสนับสนุน มีระบบจัดจำหน่ายที่จะนำสินค้าเราไป นี่คือ โมเดลแรกที่คิด"

ถึงแม้ว่าไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะมีประสบการณ์และทีมงานด้านการตลาด และโปรโมชั่น มีรายการโทรทัศน์ ที่เป็นองค์ประกอบของธุรกิจเพลง แต่สิ่งที่เขาขาดคือ "นักร้อง" ครีเอทีฟซึ่งเป็นหัวใจและกำลังสำคัญ เขาจึงต้องพึ่งพาและหาจากภายนอก นั่นก็คือที่มาของการให้ผลตอบแทนที่ดี

"นักร้อง ก็เหมือนกับคนทำงานทั่วไป เขามาหาเราเพื่ออะไร เพื่อมีงานทำ มีรายได้ มีค่าตอบแทนที่ดี อยากได้เงิน มีชื่อเสียง นี่คือการดูแลลูกน้อง" ไพบูลย์บอกถึงหลักการพื้นฐาน

20 ปีที่แล้ว เรื่องลิขสิทธิ์ยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมไทยในเวลานั้น บริษัทเทปเพลงส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นแค่ธุรกิจครอบครัว ในลักษณะของเถ้าแก่บริหาร การจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับนักร้อง และศิลปินไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีที่มาที่ไป

แต่สำหรับไพบูลย์ไม่ใช่ ด้วยพื้นฐานความคิดที่ต้องการทำให้เพลงเป็นธุรกิจ ที่มีระบบโครงสร้างจัดการมาช่วยทำเป็นธุรกิจ บวกกับความต้องการในเรื่องของทีมงานครีเอทีฟ และนักร้องเข้ามาร่วมงาน ประกอบกับประสบการณ์การใช้ชีวิตของเรวัต พุทธินันทน์ หรือ "เต๋อ" นักร้องนักแต่งเพลง คู่คิดคนสำคัญของไพบูลย์ ที่ซึมซับธุรกิจเพลงจากโลกตะวันตก ทำให้ไพบูลย์ให้ความสำคัญในเรื่องของลิขสิทธิ์เพลง และการแบ่งรายได้ให้กับนักร้องและครีเอทีฟ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในเวลาต่อมา

"ผมรู้ตั้งแต่เปิดบริษัทเลยว่า ธุรกิจนี้คือทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่วันแรกที่ผมคุยกับพี่เต๋อและทีมงาน ผมเอาพวกพี่มาทำงาน ผมต้องมีค่าจ้างแรงงาน ค่าจ้าง เขียนเพลง ต้องมีส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ไปจนถึงสิ้นสุดอายุของลิขสิทธิ์ นักร้อง นักดนตรี ก็ต้องเซ็นสัญญาเป็นเจ้าของร่วมกับผม ถ้าเป็นฝรั่ง สิ่งนี้ คือ publisher"

การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ "ร่วม" ตามความหมายของไพบูลย์ ก็คือการที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะสามารถบริหารจัดการลิขสิทธิ์เพลง ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของศิลปินและนักร้องนักแต่งเพลง ผ่านกระบวนการจัดการที่บริษัทจัดเตรียมไว้ ตั้งแต่การกำหนดคอนเซ็ปต์ของแนวเพลง ผลิตเป็นเทปเพลงขาย ช่องทางจำหน่าย การโปรโมต และทำตลาด

โครงสร้างที่เกิดขึ้น เมื่อทีมงานโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง (ทำนอง, เนื้อร้อง และเรียบเรียง) แต่งเนื้อร้องและทำนองออกมา จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะซื้อลิขสิทธิ์ผลงานเหล่านั้น และมอบให้ครีเอทีฟของบริษัทมาวางคอนเซ็ปต์ของงานแต่ละชุด ให้เข้ากับศิลปินว่าเหมาะกับเพลงประเภทใด

หลังจากนั้น เมื่องานเพลงถูกสร้างสรรค์ไปตามกระบวนการและคอนเซ็ปต์ที่กำหนดไว้ จะนำไปผลิตเป็นเทปต้นแบบ (Master Tape) โดย Master Tape ที่ผลิตขึ้นมา จะเป็นลิขสิทธิ์ร่วมระหว่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง (ทำนอง, เนื้อร้อง และเรียบเรียง) ซึ่งจะขายลิขสิทธิ์ Master Tape ไปให้กับบริษัท เอ็มจีเอ ในการผลิตเทปและซีดี เพื่อไปจัดจำหน่ายต่ออีกครั้ง

การทำในลักษณะนี้ เท่ากับเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างโปรดิวเซอร์ และนักแต่ง เพลง ที่เป็นผู้ออกแรงและมันสมอง ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คือ ผู้ลงทุนอุปกรณ์ เครื่องมือ เทปต้นแบบที่ผลิตขึ้นมาจึงเป็นลิขสิทธิ์ร่วมกัน

"เพลงก็ยังเป็นของนักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ แต่ผมร่วมจัดการบริหารให้ ในต่างประเทศเขาแบ่งกันคนละครึ่งอยู่แล้ว ผมไม่ได้แบ่งอย่างเดียว แต่ร่วมเป็นเจ้าของ เพื่อบริหารจัดการให้ ทุกวันนี้คุณแอ๊ด คาราบาว ก็จ้างให้ผมดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ให้" ไพบูลย์บอก

ผลตอบแทนจากการขายเทปเพลง หรือซีดีเพลง จะมีการจัดสรรกันระหว่างโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง กับบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

"ผมว่าแฟร์ดี เพราะเราเป็นคนคิดเพลงขึ้นมา ส่วนบริษัทลงทุนทำเป็นมาสเตอร์เทป พอผลิตขายก็ได้ส่วนแบ่ง" โปรดิวเซอร์คนหนึ่งของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ให้ความเห็น

ในด้านของระบบจัดจำหน่าย เดิมทีนั้น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ว่าจ้างให้บริษัทจัดจำหน่ายจากภายนอกเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ต่อมาก็ได้จัดตั้งบริษัทเอ็มจีเอ ขึ้นมาผลิตและจัดจำหน่ายเอง ทุกวันนี้ คลังสินค้าและโรงงานผลิตของเอ็มจีเอตั้งอยู่ที่สุขุมวิท และอยู่ระหว่างเพิ่มการผลิตจากเทป มาเป็นซีดี และวีซีดี

วิธีนี้จะทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เกิดความคล่องตัว และสามารถควบคุมกลไกการทำธุรกิจได้ทั้งหมด ตั้งแต่ทำอัลบั้มเพลง ผลิตมาสเตอร์เทป จัดจำหน่าย ผ่านช่องทางต่างๆ มีมีเดียในมือที่ใช้ในการโปรโมต ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกเชื่อมโยงกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน

ขณะเดียวกันจะทำให้เขาสามารถรับรู้ข้อมูลปริมาณความต้องการของลูกค้า แนวเพลงที่นิยม หรือยอมรับของตลาด กำหนดปริมาณการผลิต และราคาที่จะไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความต่อเนื่อง ในการผลิตอัลบั้มเพลง

การมองทะลุภาพธุรกิจที่เป็นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ไพบูลย์ต้องนำเอาระบบจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ตอบแทนให้กับนักร้อง นักแต่งเพลง ครีเอทีฟ มาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ เป็นสิ่งที่ทำให้เขาสามารถสร้างความต่อเนื่องในเรื่องของกำลังคน

"ผมเริ่มต้นธุรกิจในช่วงที่ยังใหม่มาก ลิขสิทธิ์ยังเป็นระบบครอบครัว ถ้าผมรู้จักวางแผน วางโครงสร้างน่าจะทำได้ ผมก็เริ่มมาดูว่า ขายเทป ต้องมีคนแต่งเพลง มีนักร้อง มีคนโปรโมต ไม่ต่างไปจากสินค้า ผมก็ไปเทียบเคียงกับความรู้ที่ผมมีในสินค้าอุปโภค-บริโภค 12 ปีที่แล้ว"

ไพบูลย์เล่าว่า เขาสร้างโมเดลในการให้ผลตอบแทนนักร้อง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ขึ้นมาเอง ยึดหลักการง่ายๆ เทียบจากต้นทุน และสัดส่วนรายได้ที่ควรจะเป็น ซึ่งก็กลายเป็นที่มาของสูตรการให้ผลตอบแทน กับนักร้องที่แบ่งเป็นรายได้คงที่ส่วนหนึ่ง และรายได้ผันแปรส่วนหนึ่ง และยังคงใช้อยู่จนทุกวันนี้

"พอเป็นตัวเลขแบบนี้ ผมก็บอกว่า อย่าต่อรอง เพราะการต่อรองต้องมีฝ่ายหนึ่ง ชนะ มีอีกฝ่ายแพ้ ฝ่ายที่แพ้ก็ต้องไม่พอใจ" ไพบูลย์บอก "สิ่งที่ผมทำคือ ถ้าคุณทำได้มาก จะได้เงินสูงขึ้น เป็นขั้นบันได มีแผนที่ทางเดินชีวิตที่แน่นอน"

นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ จะมีสูตรของรายได้ที่แตกต่างกันไปตามเนื้องาน แต่ที่เหมือนกันก็คือ ถ้าเพลงฮิตอัลบั้มดัง ย่อมหมายถึงส่วนแบ่งของรายได้ที่สูงตามไปด้วย

"นักร้องจะมีรายได้แบบคนที่อยู่เบื้องหน้า ร้องเพลง ออกคอนเสิร์ต ตัดริบบิ้น ส่วนนักแต่งเพลงจะมีรายได้จากส่วนแบ่งเทป และส่วนแบ่งจากเนื้อร้องและทำนอง เช่น แผ่นคาราโอเกะหรือหนังสือเพลง เขาก็จะได้ส่วนแบ่งตรงนี้ไป" ไพบูลย์เล่า

นอกจากนักร้องจะได้ค่าจ้างร้องเพลงเป็นเงินก้อนหนึ่ง และจะรับส่วนแบ่งจากเปอร์เซ็นต์จากการขายเทป หรือซีดี ซึ่งเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งนี้จะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอายุงาน ความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละคน

"แต่ถ้าคนใหม่มีความสามารถ ก็สามารถกระโดดขึ้นมาได้ และได้ผลตอบแทนสูง ไม่ต้องรอเป็น 10 ปี"

โปรดิวเซอร์ นักแต่งเนื้อร้อง ทำนอง ได้รับค่าแต่งเพลงส่วนหนึ่ง จากนั้นจะได้รับส่วนแบ่งจากเทป หรือซีดี เช่นเดียวกับนักร้อง หากอัลบั้มฮิต สัดส่วนตรงนี้จะเพิ่มตามไปด้วย แต่โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง จะได้ถือลิขสิทธิ์ร่วมในลิขสิทธิ์เพลงใน ฐานะของผู้ประพันธ์เพลง

นั่นหมายความว่า ยอดขายเทปเพลง 1 ม้วน ราคา 95 บาท จะถูกแบ่งออกเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ให้กับนักร้อง โปร ดิวเซอร์ นักแต่งทำนอง เนื้อร้อง ตามสัดส่วนที่ลดหลั่นกันไป ตามสัดส่วน กฎเกณฑ์ของแต่ละคน แต่จะผกผันไป ตามความดังของอัลบั้ม หากขายได้มาก ส่วนแบ่งจะมากตามไปด้วย

จากโมเดลส่วนแบ่งรายได้ที่คิดขึ้น เองบนแผ่นกระดาษ เพื่อจ่ายให้กับนักร้อง โปรดิวเซอร์ไม่กี่คน ทุกวันนี้พวกเขาต้องนำเอาไอทีเข้ามาช่วยจัดการข้อมูล เพื่อรองรับกับจำนวนนักร้องมากขึ้น จำนวนอัลบั้มมากขึ้น สินค้าหลากหลายขึ้น ทั้งเทปเพลง ซีดี ซึ่งจะให้ส่วนแบ่งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่ กับราคาขาย ยอดขาย ผันแปรไปตามโครงสร้างของต้นทุน

"ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางเดือนนักร้อง อาจจะมี 200 items ที่ได้จากส่วนแบ่ง เทปเพลง วีซีดี รวมฮิต ทุกอย่างเราจ่ายตาม format" กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ บอก

การจัดทำเป็นโมเดลส่วนแบ่งรายได้ ที่มีกติกาชัดเจน นอกจากจะทำให้บริษัทรู้ต้นทุน ยังสร้างความชัดเจนให้กับระบบการจัดการ

"คุณไพบูลย์ชัดเจนในเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก คือเรื่องของคน และรูปแบบจัดสรรที่ชัดเจน ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ทุกคนก็สบายใจในส่วนแบ่ง" กิตติศักดิ์เน้นว่า "ผมว่า นี่คือหัวใจความสำเร็จของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในการสร้างและรักษาคน"

กิตติศักดิ์หรือพี่อ๊อด เป็นลูกหม้อคนหนึ่ง ที่อยู่ร่วมกับไพบูลย์มาตั้งแต่ก่อตั้งแกรมมี่ เคยเป็นลูกน้องของไพบูลย์ตั้งแต่ฟาร์อีสท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง, พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง และเขาเป็นผู้คิดโมเดลการให้ผลประโยชน์ตอบแทนร่วมกับไพบูลย์ ปัจจุบัน กิตติศักดิ์ขึ้นไปอยู่ในระดับบอร์ดบริหาร แต่ยังดูแลค่ายเพลงในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ดูแลธุรกิจเพลงร่วมกับบุษบา ดาวเรือง

ไพบูลย์เล่าว่า เขามี 2 เคสสำคัญในชีวิต กรณีแรกคือ เรวัต พุทธินันทน์ ซึ่งไม่ได้ลงทุนด้วยเงิน แต่ออกแรงและมันสมอง

"ปีแรกผมแบ่งให้แกพอดีๆ พอปีที่สองผมก็แบ่งอีก ให้เยอะมาก พี่เต๋อเอามาคืน กลัวเงินทุนไม่พอ กลัวบริษัทล้มก็จะเดือดร้อนกันไปหมด ผมบอก พี่ไม่ต้อง แต่จำไว้ นี่คือกติกา เมื่อไรเป็นของพี่ พี่เอาไป แต่เมื่อไรเป็นของผม ผมอาจจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า พี่อย่าอิจฉา คือ เขาอาจได้มากกว่าผม หรือผมต้องได้มากกว่าเขา เพราะผมเป็นคนลงทุน ผมก็ดูแลเพิ่มเงินให้แกมีความสุข" ไพบูลย์บอก

ด้วยผลประโยชน์ที่ลงตัว การร่วมงานระหว่างไพบูลย์ และเรวัตราบรื่นมาตลอด "ผมกับพี่เต๋อไม่เคยมีความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์เลย"

และนี่คือขีดความสามารถของไพบูลย์ในการนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็น ทรัพย์สินของนักร้อง นักแต่งเพลง ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของบริษัท ภายใต้กระบวนการจัดการที่เป็นระบบธุรกิจที่ชัดเจน

"เพลงต้องเอามาเผยแพร่เป็นที่รู้จักแล้วถึงมีราคา เพลงถ้าไม่มีคนชอบ ก็ไม่มีราคา" ไพบูลย์บอกถึงที่มาของการใช้กลยุทธ์การตลาด การโปรโมต เข้ามาเป็นส่วนในการเพิ่มมูลค่าให้กับเทปเพลงหรือซีดี สร้างค่านิยมให้กับผู้ฟัง เข้าถึงรสนิยมของคนฟัง ที่ผันแปร และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

และนี่คือสาเหตุที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ต้องมีธุรกิจวิทยุ เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุ 5 คลื่น ล่าสุดคือ Bangkok radio เป็นเจ้าของรายการเพลงในโทรทัศน์ เกมโชว์ ละครโทรทัศน์ รวมถึงสื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการนำเอาเสียงเพลงและดาราปรากฏสู่สายตาให้มากที่สุด เพื่อสร้างราคาค่างวดให้กับ "เพลง" ที่มี "ศิลปิน" เป็นแก่นหรือใจกลาง

กลไกการตลาด โปรโมชั่น เป็นส่วนต่อขยาย เป็นขีดความสามารถและประสบการณ์ของไพบูลย์ ที่จะใช้ในการสร้างมูลค่าให้กับเพลงที่ครีเอทีฟ นักร้อง หรือนักดนตรี คิดขึ้นมา

"ระบบการตลาด โปรโมชั่นช่วยได้อยู่แล้ว เพราะถ้าเพลงดี แต่คนไม่เคยได้ยินเลยก็ขายไม่ได้ บางค่ายบอกเพลงของคุณ ไม่โดน แต่เขาไม่เคยเอาไปเปิดให้ใครฟัง" นักร้องในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้ความเห็น

หากบิล เกตต์ เป็นผู้ที่สร้างตำนานให้ไมโครซอฟท์ จากการคิดค้นพัฒนาโปรแกรมวินโดว์ให้กลายเป็นธุรกิจทำเงิน ส่งผลให้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแล้ว สิ่งที่ไพบูลย์ทำก็ไม่แตกต่างกันนัก แม้ว่าขนาดของธุรกิจจะไม่เท่ากันก็ตาม

ในขณะที่ไมโครซอฟท์ มีทีมโปรแกรมเมอร์ เทคนิเชียล เป็นมันสมองในการสร้างซอฟต์แวร์ขาย ผ่านกลไกการตลาด ระบบจัดจำหน่าย การทำโปรโมชั่นเปิดตัววินโดว์ตามสื่อต่างๆ

ไพบูลย์ก็คือเจ้าของธุรกิจเพลง ที่มีนักร้อง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์เป็นมันสมองในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงให้กลายเป็นธุรกิจ ผ่านกลไกการตลาด และช่องทางจัดจำหน่าย ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามีราคาค่างวด

"นักร้องแต่ละคน เมื่อเข้ามาในระบบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จะสามารถทำเงินให้กับบริษัทได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท" ผู้บริหารคนหนึ่งของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สะท้อน

นักร้องหนึ่งคนจะผลิตได้ทั้ง "เสียงเพลง" ทั้ง "เนื้อหา" หรือ "ซอฟต์แวร์" ที่บรรจุอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ อย่างเทป ซีดี หรือวีซีดี เท่านั้น ตัวของนักร้องที่ปรากฏบนเวทีคอนเสิร์ต หน้าจอคาราโอเกะ การออกเกมโชว์ ทอล์กโชว์ ภาพที่ไปปรากฏอยู่บนแก้ว บนกระป๋องน้ำอัดลม บนแผ่นอินเทอร์เน็ต แอคเซสส์การ์ด

หากจะเปรียบโมเดลการทำธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คงไม่ต่างไปจากเส้นทางของการเป็น "นักร้อง" ของธงไชย แมคอินไตย์

ธงไชย แมคอินไตย์ เข้าสู่สังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จากการประกวดร้องเพลง มาเป็นนักร้องในสังกัด ออกอัลบั้มเพลง แสดงคอนเสิร์ต จากนั้นก็ไปแสดงภาพยนตร์ เล่นละคร และกลับมาฝึกร้องเพลง เพื่อเป็นนักร้องออกเทป แสดงคอนเสิร์ต กลับไปแสดงหนัง เล่นละคร

เช่นเดียวกับโมเดลธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม ที่ต้องเริ่มตั้งแต่การหานักร้อง หาวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิต และออกมาเป็นสินค้าวางขายตามช่องทาง ทำโปรโมชั่น เพียงแต่สินค้าของแกรมมี่ ไม่ใช่วัตถุดิบ แต่เป็นเรื่องของคน เป็นสินค้าที่ต้องอิงกับรสนิยมของผู้ฟัง ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การสร้าง "นักร้อง" ป้อนเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเพลง การรอให้มี "ซูเปอร์สตาร์" เกิดขึ้นมาเหมือนกับในอดีต ย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการของธุรกิจเพลงที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และทางเลือกของการฟังเพลงก็มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จำเป็นต้องมีกระบวนการ "ปั้น" นักร้องที่ต้องทำขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ที่มาของจำนวนนักร้องในสังกัดกว่า 300 ราย ที่อยู่ภายใต้ portfolio ของแกรมมี่ ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยความบังเอิญ แต่เป็นกระบวนการที่พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ

บุษบา ดาวเรือง รองกรรมการผู้อำนวยการ (สายงานเพลง) เล่าว่า กระบวนการจัดการนักร้อง เริ่มมาจากวิธีธรรมดาๆ ใช้แมวมองออกไปสอดส่องตามร้านอาหาร สถาบัน ฝากผู้คนรอบข้างแนะนำ จนเมื่อบริษัทใหญ่ขึ้น ความต้องการมากขึ้น จึงจัดตั้งบริษัท อราทิสท์ แมเนจเม้นท์ เพื่อทำหน้าที่ในการจัดหา ฝึกอบรมหลักสูตรร้อง เต้น เพื่อสร้างศิลปินฝึกหัด จากนั้นจะส่งเข้าค่ายเทปออกเป็นอัลบั้มเพลง

"เราเหมือนกับคนหาวัตถุดิบ และเลือกสรร คัดเลือกมา เป็นเนื้อหมูอย่างดี เป็นผักปลอดสารพิษ เป็นอาหารที่ถูกเลี้ยงดู ทะนุถนอมมาระดับหนึ่งแล้ว จากนั้นจะส่งต่อให้กับพ่อครัว คือค่ายเพลงที่ต้องเอาไปปรุงเอง" เกศรา เพ็งศิริ Artist Development Manager เปรียบเทียบบทบาทของ อราทิสท์ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

กระบวนการของอราทิสท์ นอกจากจะเป็นด่านประตูแรก ในการกลั่นกรอง คัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นศิลปินแล้ว บริษัทแห่งนี้ยังต้องทำหน้าที่ในการ "พัฒนา" คือ การฝึกอบรมสร้างพื้นฐานในการเป็นนักร้องต่อไป จะมี 2 หลักสูตร คือ การร้องเพลงและฝึกเต้นก่อน จากนั้นจะนำมาจัดทำ screen test เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงพิจารณา ก่อนจะส่งให้ค่ายเทปเพลงทั้ง 20 ค่าย

นั่นหมายความว่า ก่อนจะถึงขั้นตอนในการทำ screen test นักร้องฝึกหัดเหล่านั้น จะต้องผ่านการอบรม และหาสไตล์ที่เหมาะสมมาแล้วในระดับหนึ่ง เพื่อลดขั้นตอนการทำงานของค่ายเทป ที่จะไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกฝนพื้นฐาน แต่เอาไปฝึกแบบเฉพาะเจาะจงตามสไตล์ของค่ายเทปแต่ละค่ายได้เลย

"โจทย์ในการคัดเลือก อราทิสท์จะมี 2 ส่วน คือ เลือกจากความต้องการของค่ายเพลงว่าต้องการนักร้องแนวไหน ซึ่งแต่ละค่ายจะมีแนวเพลงที่แตกต่างกันไป และอีกส่วนก็รับเข้ามาเอง" เกศราบอก

การดำเนินงานของอราทิสท์จึงเป็นลักษณะของหน่วยลงทุน ไม่ใช่หน่วยของการหารายได้ ในแต่ละปีอราทิสท์จะฝึกฝนนักร้องฝึกหัด เฉลี่ยไตรมาสละ 20 คน ประมาณ 100 คนต่อปี ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ในจำนวนนี้จะได้เป็นนักร้องทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและความต้องการของค่ายเทปในเวลานั้นด้วย

เส้นทางของการเป็นนักร้องในสังกัดของพลพล พลกองเส็ง เจ้าของอัลบั้ม "พลพล...คนเดินถนน" เป็นตัวอย่างหนึ่ง ก่อนหน้าจะมาเป็นนักร้องในสังกัดของจีนี่ เรคคอร์ด พลพลเล่นดนตรีตามผับหลายแห่ง จนกระทั่งมีโปรดิวเซอร์ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไปพบและชักชวนมาสมัคร

ระหว่างที่รอการออกอัลบั้มเพลง แม้จะมีพื้นฐานด้านดนตรีมาแล้ว แต่พลพลกับนักร้องในสังกัดแกรมมี่ ที่ต้องเซ็นสัญญาเป็นศิลปินฝึกหัดของอราทิสท์ แมเนจเม้นท์ ก่อนจะเข้าค่ายเทปเพลง เพื่อผ่านหลักสูตรของการฝึกอบรม และหาสไตล์ของแนวเพลง

"ช่วงนั้นผมต้องเข้ามาฝึกร้อง เข้าอบรมเพื่อหาตัวตน จะมีเจ้าหน้าที่ของแกรมมี่มาคุยเกือบทุกวัน ให้ผมเล่าเรื่องชีวิตที่ผ่านมา เล่าความรู้สึกเกี่ยวกับความรัก ให้เขียนบันทึกประจำวัน" พลพลเล่าถึงกระบวนการฝึกอบรมของอราทิสท์ ที่มีหลักสูตร "หาความเป็นตัวตน"

เรื่องราวความเป็นตัวตนจากการบอกเล่าของเขา ก็กลายเป็นข้อมูลที่ใช้สำหรับการกำหนดสไตล์ของแนวเพลง และกลายเป็นที่มาของอัลบั้ม "พลพล..คนเดินถนน" ที่ทำให้พลพลโด่งดังเป็นที่รู้จัก

แม้อราทิสท์ จะเป็นประตูด่านแรกในการรับสมัครศิลปิน แต่ค่ายเทปก็มีสิทธิในการหาศิลปินได้เอง เช่นเดียวกับบริษัทในเครือที่มีสิทธิเป็นแมวมองในการหานักร้อง แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นศิลปินใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ เมื่อรับเข้ามาแล้ว ต้องมาผ่านการเซ็นสัญญาการเป็นศิลปินฝึกหัดก่อน เป็นด่านประตูแรก ก่อนจะเข้าสู่ค่ายเทปของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

ระยะเวลา หรือการเป็นศิลปินฝึกหัดของนักร้องแต่ละคนจะแตกต่างกันไป และระหว่างการเป็นศิลปินฝึกหัดจะไม่ได้รับเงินเดือน แต่บางคนอาจจะได้งานไปถ่ายแบบโฆษณา หรือเป็นพิธีกร ก่อนจะกลับมาออกอัลบั้มเพลง

"บางคนไม่กี่เดือนก็ได้ออกอัลบั้มแล้ว บางคนต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะได้ออก ขึ้นอยู่กับความสามารถ และเข้ากับสไตล์ หรือความต้องการของค่ายเทปในช่วงนั้นๆ ด้วยว่าต้องการหรือเปล่า"

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า อราทิสท์ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ใช้ในการคัดสรร และปั้น "ศิลปิน" ของแกรมมี่มาตั้งแต่ปี 2537 แต่ก็ยังมีจุดอ่อนในบางด้าน โดยเฉพาะการขาดประสบการณ์ ทำให้ต้องใช้เวลา ในการฝึกฝนเป็นเวลานาน ทางออกของการแก้ปัญหา ก็คือ การหาเด็กมาเข้าโครงการฝึกตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ

"ถ้าเราเอาวัยรุ่นมาเลย เขาขาดประสบการณ์ก็ต้องฝึกมาก แต่ถ้าฝึกเด็กๆ แล้ว ปลูกฝังพื้นฐานเขาให้ดี เมื่อโตขึ้นก็สามารถทำงานได้เลย"

โครงการแกรมมี่ จูเนียร์ ซึ่งเป็นการ "เพาะต้นกล้า" จึงเกิดขึ้นมาเพื่อสอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว โดยจะรับเด็กช่วงก่อนวัยรุ่น preteen อายุอยู่ในช่วง 11-12 ปี เข้ามาฝึกสร้างพื้นฐาน จะใช้เวลาในการฝึก 1 ปีเต็ม จากนั้นจึงจะส่งต่อไปเข้าค่ายเทปออกเทป หากถนัดอย่างอื่น จะส่งไปเล่นละคร เล่นหนังโฆษณา หรือเป็นพิธีกรต่อไป

การทำโครงการในลักษณะนี้ นอกจากจะแก้ไขจุดอ่อนในเรื่องของประสบการณ์ของเด็กแล้ว การสร้างนักร้องตั้งแต่เยาว์วัยในลักษณะนี้ ยังหมายถึงการที่พวกเขาจะสามารถ "ปั้น" นักร้องได้ตามที่ต้องการจากกระบวนการฝึกอบรม ที่สามารถหล่อหลอมได้ทั้งพื้นฐานการร้องเพลง การเต้น รวมถึงวัฒนธรรมภายในองค์กรได้ดี

นอกจากนี้ ยังเท่ากับเป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายของคนฟังที่อยู่ในวัย preteen หรือวัยรุ่นตอนต้น อายุ 11-12 ปี ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่แกรมมี่ยังเข้าไปมีส่วนไม่มากนัก

"เด็กในวัยนี้ เขาจะไม่ฟังเพลงรักอกหัก แต่จะฟังเพลงความรักใสๆ แบบเพื่อน เด็กสมัยนี้โตเร็ว และที่สำคัญเขาใช้เงินเป็นแล้ว" กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ บอก

หลังจากผ่านขั้นตอนการคัดสรร และ "ปั้น" ศิลปินที่เป็นลักษณะของการสร้างพื้นฐานแล้ว จะถูกส่งต่อไปยังค่ายเทป ซึ่งจะมีพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งตามสไตล์ของ แนวเพลง

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ไพบูลย์แก้ปัญหายอดขายด้วยการเพิ่มจำนวนอัลบั้มมากขึ้น แต่ใช้งบลงทุนเท่าเดิม เพิ่มจำนวน สินค้าออกสู่ตลาดให้มากขึ้น เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดของค่ายเทปที่ล้มหายตายจากไป และนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของแกรมมี่ จากการบริหารแบบรวมศูนย์ แยกขยายออกเป็นค่ายเทป 20 ค่าย

แต่ละค่ายเทป จะเปรียบเป็นหน่วย ธุรกิจ (business unit) ที่มีกรรมการผู้จัดการของแต่ละค่ายรับผิดชอบการบริหารงานทั้งหมด มีพนักงานที่เป็นศิลปิน มีโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง ทำนอง แต่ละค่ายเทปเพลงจะรับผิดชอบ ตั้งแต่การออกอัลบั้ม กำหนดสไตล์ของนักร้อง การแต่งตัว มีสไตลิสต์ นักออกแบบดูแลท่าเต้น รวมไปถึงการทำมิวสิกวิดีโอ การแสดงคอนเสิร์ต

ค่ายเทปเหล่านี้ จะต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย รายได้ ต้นทุน กำไรขาดทุนของตัวเอง รวมทั้งแผนการออกอัลบั้มจะต้องกำหนดเป็น year plan ผู้บริหารของทุกค่ายจะต้องประเมินว่าในแต่ละปีจะออกอัลบั้มกี่ชุด กำหนดเป้าหมายยอดรายได้ เรียกว่าดูแลกันอย่างแบบเบ็ดเสร็จ เรียกว่าเป็นองค์กรธุรกิจหนึ่ง

การใช้นโยบายแตกไปโตเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการรักษาคนเก่าๆ ที่ทำงานได้มีโอกาสเติบโตในวิชาชีพขึ้นไปเป็น "เถ้าแก่" ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องกำไรขาดทุน ยังทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สร้างความต่อเนื่อง และขยายแนวเพลงออกไป และยังรักษาแนวทางของการทำธุรกิจเพลง ที่เป็นการผสมผสานระหว่างงานศิลปะ และธุรกิจให้เดินคู่กันไป

เถ้าแก่ของค่ายเทปเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมาจากโปรดิวเซอร์ หรือคนทำงานเพลงมาก่อน ความรู้ในเรื่องธุรกิจต้องมาฝึกปรือ การถูกมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้จัดการ เท่ากับเป็นการฝึกให้เขาต้องมองภาพสองด้าน หากยึดแนวศิลปะอย่างเดียวไม่ยึดแนว ทางของตลาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ต้องผสมผสานกันไป

ค่ายเทปทั้ง 20 ค่ายนี้ ซึ่งแบ่งแยกไปตามสไตล์แนวเพลงของแต่ละคนที่ถนัด เช่น อัสนี โชติกุล จะถนัดแนวเพลงร็อก หรือแกรมมี่ โกลด์ จะเป็นเพลงลูกทุ่ง แกรมมี่ แกรนด์ จะเป็นแนวเพลงป๊อป เรียกว่าเป็นการสร้างความหลากหลายให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะแค่แนวใดแนวหนึ่ง เข้าไปแย่งชิงแชร์ในตลาด

บุษบา ดาวเรือง บอกว่า เวลานี้หลายๆ ค่ายเพลง เช่น มอร์ มิวสิค ที่มีอัสนี โชติกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ, วิเชียร ฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทจีนี่ เร็คคอร์ด, กริช ทอมมัส รองกรรมการผู้จัดการ สังกัดแกรมมี่ โกลด์, สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ สังกัดแกรมมี่ บิ๊ก รวมทั้งนิติพงษ์ ห่อนาค กรรมการผู้จัดการ สังกัดแกรมมี่ แกรนด์ ที่สามารถดูแลตัวเองได้โดยเบ็ดเสร็จ ทั้งการผลิต การตลาด โปรโมชั่น ขณะเดียวกันก็ยังมีบางค่ายเพลงที่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากพื้นฐานส่วนใหญ่มาจากการเป็น artist

เป็นภาระหน้าที่ของบุษบา และกิตติศักดิ์ นอกจากจะดูแลภาพรวมของธุรกิจ รับผิดชอบค่ายเพลงกันไปคนละค่าย และอยู่ในระดับบริหารดูภาพรวมขององค์กรแล้ว ทั้งสองยังทำหน้าที่เป็น "พี่เลี้ยง" สนับสนุนให้กับค่ายเพลงด้วย

"พี่และพี่อ๊อด จะเข้าไปช่วยซัปพอร์ตว่าแต่ละยูนิตขาดเหลืออะไร แต่ก็ต้องไปตามแนวทางของแต่ละค่าย เช่น หากเขาขาดเรื่อง management ขาดเรื่องการตลาด เราก็จัดหาไปให้ เราเป็นส่วนกลาง จะเป็นตัวช่วยให้เขาโตได้ด้วย ตัวเอง"

การแลกเปลี่ยน นักร้อง นักแต่งเพลง ระหว่างค่ายเพลง ภายใต้โครงการ exchange เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สร้างความตื่นตัวในการทำงาน นั่นหมายความว่า นักร้อง นักแต่งเพลง จะไม่สังกัดตายตัว แต่จะแลกเปลี่ยนข้ามค่าย หรือยืมตัวไปทำงานอีกค่ายหนึ่งได้

"เป็นกลยุทธ์อีกอย่างของคุณ ไพบูลย์คือ จะให้เต้น foot work ตลอดเวลา ดังนั้นเราจะปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่ตายตัว ใครทำแล้วรู้สึกอึดอัด ก็ปรับใหม่ได้ตลอด มีการสลับสับเปลี่ยน นักร้องไปอยู่ทีมนั้น ทีมนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศให้สนุก และคิดออก" บุษบาบอก

ส่วนนักร้อง หลังจากออกอัลบั้ม เพลงและผ่านช่วงของการโปรโมตเพลงแล้ว ค่ายเทปส่งต่อไปที่บริษัทเอ็กซ์ทรอ กาไนเซอร์ (EO) จะรับผิดชอบบริหารงานให้กับศิลปินทั้งหมดของค่ายเทปทุกสังกัด หางานในช่วงว่าง ก่อนจะออกอัลบั้มชุดต่อไป

"พอถึงช่วงหมดโปรโมตของนักร้องแล้วจะเป็นหน้าที่ของเราจะบริหาร ประสานงาน หางานให้นักร้องแต่ละคนทำ เราจะมีลูกค้าขาประจำทั่วประเทศ รวมทั้งต่างประเทศที่จะจ้างเราไปออกงานแสดง เราจะแจ้งไปว่า ตอนนี้ศิลปินคนนี้ว่าง จองได้แล้ว ลูกค้าจะเป็นคนเลือกเอง ว่าอยากได้นักร้องไปเล่นที่ไหนเป็นลักษณะ two way คิวนักร้องทั้งหมดจะอยู่ที่เรา ทุกประเภทของกิจกรรม" สันติสุข จงมั่นคง เล่าให้ฟัง

ลูกค้าขาประจำของ EO จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ งานปีประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด ค่ายหนัง ค่ายละคร ส่วนที่สอง คือ ผับ และดิสโก้เธคทั่วประเทศ รวมถึงเดบูคาเฟ่ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ที่เป็นการร่วมบริหารระหว่าง EO กับศูนย์ฯ สิริกิติ์

นักร้องจะไม่รับงานเอง จะเป็นหน้าที่ EO เป็นผู้ดูแลคิวงาน หลังจากนักร้องเซ็นสัญญากับ EO แล้ว จะเป็นหน้าที่ของ EO ที่จะดูแลตั้งแต่การส่งเจ้าหน้าที่ escort ดูแลนักร้อง ตั้งแต่จัดรถรับส่ง ประสานงาน ณ พื้นที่ ดูแลเรื่องอาหาร ดูแล สัญญานักร้อง คิวงาน รายได้ของ EO คือค่าบริการการตลาด อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 20% ของรายได้ของนักร้อง ขึ้นอยู่กับขนาดของงาน

"บางงานก็ใหญ่มากๆ เป็นหลักสิบล้าน เพราะบางงานไม่ใช่แค่คอนเสิร์ต แต่เป็นการ integrated ในเรื่องการผสมผสานในเรื่องของการโฆษณา จัดคอนเสิร์ต การจัดกิจกรรม" เขายกตัวอย่าง กรณีบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) เซ็น สัญญาว่าจ้างนิโคล ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นการเซ็นสัญญาทั้งปี จะครอบคลุมตั้งแต่งานโฆษณา จนถึงงานกิจกรรมของลูกค้าเรียกว่าทำแบบครบเครื่อง

ในแง่ของนักร้องจะมีรายได้ต่อเนื่อง ในช่วงที่ว่างเว้นจากการออกอัลบั้ม และโปรโมตเพลง ได้จากงานออกคอนเสิร์ต พิธีกร เล่นหนัง เล่นละคร ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของนักร้อง หรือนักดนตรี และขนาดของงาน และความต้องการของลูกค้า

ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวนักร้อง รูปภาพนักร้อง ครีเอทีฟ ความสามารถในการจัดคอนเสิร์ต การตลาด โปรโมชั่น การจัดกิจกรรม สร้างเป็นรายได้ต่อเนื่อง และยังเท่ากับเป็นการสร้างความต่อเนื่องในการรับรู้ของกลุ่มคนดูให้มากขึ้น

ปัจจุบัน EO มีนักร้องกว่า 300 ราย และนักร้องฝึกหัดที่เซ็นสัญญาอยู่กับอราทิสท์ 50 คน ที่อยู่ในการดูแลในการจัดคิว และหางานป้อนให้กับลูกค้าประจำที่เป็นงานประจำปี ผับ ดิสโก้เธค รวมทั้งพิธีกร เล่นหนังโฆษณา เล่นละคร

นอกเหนือจากงานบริหารศิลปินแล้ว EO จะรับผิดชอบเรื่องของการผลิตรายการโทรทัศน์ ที่เป็นรายการเพลงทั้งหมด ร่วมกับฝ่าย corporate creative ที่ควบคุมโดยบุษบา ดาวเรือง ซึ่งเวลาที่ได้มาจากสถานีโทรทัศน์มีอยู่ 12 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์

งานผลิตคอนเสิร์ต จะรับจัดงานคอนเสิร์ตทุกขนาด ทั้งเป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เช่น แบบเบิร์ด เบิร์ด และรับจัดให้กับลูกค้าภายนอกด้วย

งานสร้างสรรค์ และผลิตสื่อแบบครบวงจร เรียกส่วนนี้ ว่า integrated marketing communication service เป็นลักษณะของงานบริการ ที่เป็นการเอาส่วนผสมทุกอย่างที่มีอยู่ จัดทำเป็นบริการให้กับลูกค้า เช่น กิจกรรมการตลาด งานเปิดตัวสินค้าให้กับลูกค้าที่เป็นเอกชน หน่วยงานราชการ หรืองานแสดง เช่น งานพัทยามิวสิคเฟสติวัลของ ททท., การจัดพิธีเปิดและปิดซีเกมส์ และการจัดการแสดงในงานประชุมตัวแทนของ เอไอเอ ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานบริการ

นอกเหนือจากการนำทรัพยากร และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ มาสร้างให้เป็นธุรกิจ รายได้ให้กับนักร้อง และตัว จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังเท่ากับเป็นการตอกย้ำการรับรู้ของผู้ชมและผู้ฟัง ผ่านชิ้นงานเหล่านี้

การเป็นด่านหน้าที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานภายนอก บทบาทของ EO ไม่ได้ดูแลเฉพาะงานในส่วนท้ายเท่านั้น แต่ยังคลุมไปถึงส่วนหัว คือ การเป็นด่านหน้าในการหา "นักร้อง" คู่กับอราทิสท์ แต่จะต่างตรงที่หลักสูตรในการฝึกอบรม

ในขณะที่อราทิสท์ ซึ่งมีหน้าที่ล่า หามา และฝึก การอบรมจะเป็นการฝึกหัดศิลปินด้านพื้นฐาน แต่การอบรมของ EO จะเป็นหลักสูตรเฉพาะ ภายใต้โครงสร้างของ EO จะมีหน่วยงานที่ชื่อ แกรมมี่ อาร์ทิสท์ ดีเวลลอปเมนท์ (GAD) ทำหน้าที่ในการจัดอบรมศิลปินที่เป็นคอร์สเฉพาะด้าน เป็น professional course เช่น การฝึกกล่องเสียง

นั่นหมายความว่า แม้จะได้เป็นนักร้อง ออกอัลบั้มเพลงแล้วก็ตาม แต่พวกนักร้องจะต้องกลับเข้าห้องเรียน มาฝึกหัดเพิ่มเติมในหลักสูตรเฉพาะเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่ง EO จะมีหน้าที่ดูแลในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากรู้คิวและรู้ข้อมูลของนักร้อง

"อย่างพี่เบิร์ด ไม่ใช่ว่าจะหยุดฝึกแล้ว แต่เวลานี้ พี่เบิร์ดยังฝึกบริหารกล่องเสียง เพื่อให้ range เสียงกว้างขึ้น คือ ร้องเสียงสูงได้สูงกว่าเดิมและเสียงต่ำได้ต่ำกว่าเดิม"

ในขณะที่การปั้นศิลปินหน้าใหม่ยังมีต่อเนื่อง นักร้องเก่าที่อยู่เดิม ก็ต้องพัฒนาไปตามความสามารถและโตตามวัย และกลายเป็นสินค้าอีกรูปแบบหนึ่ง

เส้นทางของการเป็น "นักร้อง" ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่ต่างไปจากโมเดลธุรกิจ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ เป็นสายพานการผลิต ที่จะทำงานเชื่อมโยงไหลเวียนกันเป็นวัฏจักร จากกระบวนการสรรหา ปั้น ออกอัลบั้ม โปรโมตผ่านสื่อ ขายงานในรูปแบบอื่นๆ จากนั้นก็หมุนกลับมา พัฒนาออกมาเป็นสินค้าชิ้นใหม่

สินทรัพย์ที่แท้จริงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงไม่ใช่เรื่องของการเป็นเจ้าของอาคารหรู หรืออุปกรณ์ห้องอัด แต่อยู่ที่การบริหารสินทรัพย์ที่เป็น "คน" นักร้องกว่า 300 ราย และเพลงไม่น้อยกว่า 9,000 เพลง ซึ่งเป็นที่มาของทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้

ทั้งหมดนี้ก็คือ กระบวนการที่ทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เดินทางมาแล้วเกือบ 2 ทศวรรษ และเป็นรากฐานของการเดินทางไปสู่ทศวรรษ หน้าของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สู่ความท้าทายใหม่ๆ และเป้าหมายใหม่ๆ ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่นาน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us