Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2545
พ่อค้าคนกลาง ฤาจะถึงคราวสูญพันธุ์             
 





เมื่อมีข่าวเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่คุณกลับไม่มีนักข่าวประจำอยู่ในประเทศนั้น ถ้าคุณเป็นสถานีโทรทัศน์คุณจะทำอย่างไร เมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินขนาดเบาบินชนตึกระฟ้าใน Milan ประเทศ Italy เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา NHK สถานีโทรทัศน์ใหญ่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีสำนักงานอยู่ในอิตาลีเลย พบว่าตัวเองเหมือนคนหูหนวกตาบอด ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอุบัติเหตุดังกล่าว อย่างไรก็ตาม NHK มีทางออก โดยการโทรศัพท์ถึงสำนักงานสาขา ในอิตาลีของบริษัท Marubeni บริษัทเทรดดิ้งของญี่ปุ่น เพื่อสอบ ถามความคืบหน้าล่าสุดของข่าว ขณะเดียวกัน ก็รีบส่งทีมนักข่าวขึ้นเครื่องไปทำข่าวที่ Milan อย่างรีบด่วน

ด้วยเครือข่ายสำนักงานสาขาที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้บรรดาบริษัทเทรดดิ้งของญี่ปุ่นมีบทบาทช่วยให้ญี่ปุ่นไม่ตกข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมานานแล้ว ในฐานะพ่อค้าคนกลาง บริษัท เหล่านี้ซื้อมาขายไปสินค้าประเภทวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า สนับสนุนเงินทุนโครงการก่อสร้าง และเป็นตัวแทนขายสินค้าสำเร็จรูปไปทั่วโลก โดยกินค่าคอมมิชชั่นก้อนโตอย่างหวานๆ บริษัทเทรดดิ้งของญี่ปุ่นสามารถลงหลักปักฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างมั่นคง จากจุดเริ่มที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ภูมิภาคนี้ ในรูปของอุปกรณ์และโรงงานใหม่ๆ โดยมีบริษัทเหล่านี้เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และผู้สร้างโรงงาน ส่วนในบ้านตัวเอง บริษัทเหล่านี้ก็เพลิดเพลินกับการได้รับสินเชื่ออย่างเกือบจะไม่จำกัดจากธนาคาร และสามารถทำเงินได้อย่างง่ายดายด้วยการนำไปปล่อยกู้ต่อให้แก่บริษัทเล็กๆ ซึ่งมักจะไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากธนาคาร

อย่างไรก็ตาม วันเวลาอันหวานชื่นนั้นได้จบสิ้นลงแล้ว สาเหตุประการหนึ่งเกิดจากการเกิดขึ้นของ Internet ผสมกับสภาพการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตสินค้า ทั้งหลาย ที่เคยอาศัยบริษัทเทรดดิ้งเป็นคนกลางจัดหาวัตถุดิบ เริ่มไม่ต้องการคนกลางอีกต่อไปและหันไปใช้ Internet แทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในสภาวะการแข่งขันอันดุเดือดอย่างทุกวันนี้ ส่วนธนาคารญี่ปุ่นวันนี้ซึ่งกำลังแบกหนี้เน่าจนอ่วม ก็พากันตัดสายสัมพันธ์กับบริษัทเหล่านี้ บริษัทเทรดดิ้งขนาดเล็กกว่ามีภาระหนี้ก้อนโต ซึ่งส่งผลให้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปสู่ระดับต่ำสุด (junk ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม Marubeni ประกาศว่า บริษัทมีผลการดำเนินกิจการขาดทุนในปีที่สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2545 ให้หลังมาติดๆ เพียง 2 วันต่อมา Nissho Iwai บริษัทเทรดดิ้งรายเล็กอีกแห่งก็ประกาศว่า กำไรสุทธิของบริษัทตกลงถึง 94% เหลือเพียง 1.2 พันล้านเยน (9.6 ล้านดอลลาร์) เท่านั้น

แต่ธุรกิจพ่อค้าคนกลางนี้แบ่งเป็น 2 ขั้วที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ขณะที่บริษัทเทรดดิ้งขนาดเล็กกำลังย่ำแย่ อีกขั้วหนึ่งคือ 3 ยักษ์ใหญ่สุดของวงการ ได้แก่ Mitsubishi, Mitsui & Co และ Sumitomo กลับทำได้ดีกว่าบรรดาคู่แข่งขนาดเล็กของตน แต่ไหน แต่ไรมาแล้ว ที่บริษัททั้งสามนี้เป็นศูนย์กลางของ keiretsu หรือบริษัทครอบครัว อันมีอิทธิพลสูงมากในญี่ปุ่น และครอบงำอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน บริษัทครอบครัว เหล่านี้คอยป้อนดีลธุรกิจและโครงการที่สามารถทำกำไรมหาศาล รวมถึงสัญญาธุรกิจในต่างประเทศ ให้แก่ยักษ์ใหญ่ทั้งสามอย่างไม่ขาดสาย

สายสัมพันธ์แนบแน่นกับ keiretsu ยิ่งมีค่ามากขึ้น ในช่วงเวลาที่ธุรกิจพ่อค้าคนกลางกำลังประสบกับความยากลำบากในการปรับตัวรับมือกับ Internet และการแข่งขันที่ดุเดือด Mitsui สามารถทำกำไรสุทธิได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 55.4 พันล้านเยนในปีที่สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2545 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอานิสงส์จากตัวเลขส่งออกที่สดใส กำไรสุทธิของ Sumitomo ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่ม 12.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้าน Mitsubishi ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจซื้อมาขายไปนี้ แม้จะมีกำไรลดลง 1 ใน 3 เหลือ 60.2 พันล้านเยน (หลังจากเพิ่งทำกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทเมื่อปีก่อนหน้า) แต่ก็ยังมีเงินทุนหนาเป็นฟูกคอยรองรับอยู่อย่างสบาย ช่วงที่ผ่านมายักษ์ใหญ่ทั้งสามได้เร่งกำจัดธุรกิจ หรือปรับโครงสร้างธุรกิจที่ไม่ทำกำไรอย่างขนานใหญ่ นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจใหม่ และเริ่มเดินเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนอย่างเช่น ธุรกิจจัดหาจากภายนอก (outsourcing)

สำหรับบริษัทเทรดดิ้งเบี้ยน้อยหอยน้อย การปรับโครงสร้างและปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน แม้ในขณะที่กำลังพยายามลบตัวแดงในบัญชี Marubeni เพิ่งจะร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียเสร็จสิ้นการทำแผนฟื้นฟู Chandra Asri โครงการปิโตรเคมีที่สาดหมึกแดงลงในสมุดบัญชีของ Marubeni มานานหลายปี โดยที่ Marubeni มีหุ้นอยู่ 28% ด้าน Kanematsu บริษัทเทรดดิ้งขนาดเล็กอีกแห่ง ได้ขายหรือเฉือนขายส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เพื่อที่จะได้เน้นเฉพาะธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้บริษัท Nissho Iwai ก็กำลังขายทิ้งธุรกิจที่ไม่สำคัญเช่นเดียวกัน

ความพยายามปรับโครงสร้างของ Itochu ดูจะประสบความสำเร็จมากกว่าใครเพื่อน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ Itochu เริ่ม มาก่อนใคร Intochu ทำเงินได้ถึง 284 พันล้านเยนจากการขายหุ้นใน Itochu Techno-Science บริษัทผู้ขายระบบในเครือของตน ในเวลาที่ดีที่สุด และนำเงินนั้นมาเคลียร์หนี้ล้างหมึกแดงในบัญชีจนหมดสิ้น ในขณะที่บริษัทเทรดดิ้งรายอื่นๆ กลับต้องจ่ายค่าบทเรียนราคาแพงไปกับการพลาดรถด่วนสายเทคโนโลยี ITX บริษัทไฮเทคในเครือ Nissho Iwai ราคาตกทันทีเมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq Janpan เมื่อเดือนธันวาคมปีกลาย Marubeni ต้องเลื่อนแผนนำ Vectant บริษัทโทรคมนาคมในเครือ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นออกไป

เหมือนเคราะห์ซ้ำกระหน่ำซัด Marubeni ความพยายาม ที่จะปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของบริษัทต้องชะงักงัน เมื่อ Marubeni Chikusan บริษัทในเครือถูกตรวจพบว่าติดป้ายไก่บราซิลจำนวน 113 ตันผิดพลาด โดยติดเป็นไก่ญี่ปุ่นชนิดราคาสูง หากบริษัทเทรดดิ้งรายกลางและรายย่อมของญี่ปุ่น ซึ่งกำลังประสบปัญหามากมาย ในขณะนี้ปรารถนาจะลดช่องว่างระหว่างตนกับบริษัทยักษ์ใหญ่จริงๆ แล้วล่ะก็ พวกเขาเห็นจะต้องพยายามมากกว่านี้อีกหลายเท่านัก

แปลและเรียบเรียงจาก The Economist, May 25th 2002
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
linpeishan@excite.com

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us