|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กรมวิชาการเกษตรการันตีตัวเอง ระบบตรวจสอบกล้ายางก่อนรับมอบจากซีพีมีคุณภาพ โบ้ยภัยแล้ง ความใส่ใจของเกษตรกร และการทำงานของ สกย. มีปัญหา ทำกล้ายางตายกว่า 25% ขณะที่ซีพีคู่ร่วมสัญญาโทษฟ้าฝน อ้างระบบชลประทานของประเทศมีปัญหา ย้ำปีนี้จะส่งมอบเกินกว่าที่สัญญากำหนด "สุดารัตน์" ตั้งคนกลางตรวจกล้ายางล็อต 2 สั่ง "เนวิน" หาเจ้าภาพรับผิดชอบให้ได้ หลังซีพี-อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยันโปร่งใสทุกขั้นตอน
วานนี้ (11 พ.ค.) นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายสุเมธ ภิญโญสนิท กรรมการผู้จัดการเขตประเทศไทย กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดแถลงข่าวชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับกล้ายางพาราตาม "โครงการขยายพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่" ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร
นายฉกรรจ์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาทางซีพีได้ส่งมอบต้นตอตายางมา 29 ล้านต้น ทางกรมได้คัดออกไปเหลือต้นยางที่จะเอาไปชำถุงได้ 22 ล้านต้น นั่นคือคัดออกไป 7 ล้านต้น จากนั้นเมื่อซีพีเอาไปทำยางถุงแล้ว ทางกรมตรวจรับต้นยางชำถุงก่อนที่จะนำไปแจกให้เกษตรกร ประมาณ 15.45 ล้านต้น ในจำนวนนี้นำไปให้เกษตรกรปลูกจำนวน 2 หมื่นกว่าราย ในพื้นที่ 171,600 ไร่ จากเป้าหมายคือ 2 แสนไร่
ทางกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากแปลงของเกษตรกรจำนวน 18,488 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ค. พบว่า เกษตรกรปลูกยาง 11,748,443 ต้น มีต้นยางสมบูรณ์ 8,703,108 ต้น คิดเป็น 74.08% ของต้นยางที่ปลูกทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 3,045,335 ต้น หรือคิดเป็น 25.92% พบว่ากล้ายางตาย อันเกิดจากปัญหาภัยแล้งเป็นส่วนใหญ่ โดยต้นยางที่ปลูกในเดือน พ.ค. มิ.ย. ก.ค. และ ส.ค. ตายจำนวน 19.21% 14.93% 18.76% และ 24.17% ตามลำดับ
"ต้นยางไปกระทบแล้งตั้งแต่เดือนต.ค.-มี.ค. เกือบ 6 เดือน ถึงแม้จะปลูกในเดือนพ.ค. มันก็เจริญเติบโตไปจนถึงเดือน ต.ค. เมื่อมันกระทบแล้งมันก็ตาย อย่าว่าแต่ต้นยางที่มีอายุไม่ถึง 1 ปีเลย แม้จะเป็นไม้ผลอื่นๆ ถ้าไปกระทบแล้งในช่วงเดือน ต.ค. มันก็ตายเช่นกัน ฉะนั้นจำนวนกล้าที่ตายนั้น ถ้าไม่มีเรื่องของภัยแล้งมันจะตายไม่เกิน 10%" นายฉกรรจ์กล่าว
สำหรับสาเหตุการตายนั้นแยกออกเป็น 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ในเรื่องของความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคนิคการปลูกยางของเกษตรกร 2.เกิดจากคุณภาพของต้นยาง และ 3. เกิดจากปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยไม่มีใครห้ามได้ แต่โดยหลักการโดยทั่วไปกล้ายางไม่ควรตายมากกว่า 10% แต่การตายมากกว่า 26% เกิดจาก ปัญหาภัยแล้งเป็นส่วนใหญ่
"เกษตรกรที่เอากล้ายางไปพร้อมกันของบางคนก็ตายเยอะ ของบางคนก็ตายน้อย บางคนเขาเข้าไปรดน้ำ อย่างที่พิษณุโลกที่เข้าไปดู อีกแปลงหนึ่งเอาไป 800 ต้น ตาย 28 ต้น อีกแปลงเอาไป 800 ต้นเช่นกัน ตาย 300-400 ต้น มันอยู่ที่เกษตรกรให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหนด้วย" นายฉกรรจ์กล่าว
นายฉกรรจ์ กล่าวต่อว่า บทบาทของกรมวิชาการเกษตร สิ้นสุดที่การส่งมอบกล้ายางให้เกษตรกร ณ ศูนย์กระจายพันธุ์ แต่เมื่อยางออกจากศูนย์แล้ว บทบาทของการเข้าไปควบคุมกำกับในการปลูกยางหรือเรื่องเทคนิคการปลูกเป็นเรื่องของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ดังนั้นกรณีกล้าตายเป็นเรื่องของสกย.ที่จะต้องตอบปัญหาด้วยซ้ำ ไม่ใช่หน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร
"ผมถึงบอกว่าการปลูกต้นไม้ให้อยู่รอด 70-80% อยู่ที่การบำรุงรักษา ไม่ใช่อยู่ที่คุณภาพ ถ้าเตรียมต้นยางดี 100% แต่ถ้าเกษตรกรเอาไปปลูกไม่ถูกต้องมันก็มีโอกาสตายสูง เพราะฉะนั้นใครเป็น คนรับผิดชอบในการปลูกยาง ไม่ใช่กรมวิชาการเกษตร เพราะกรมมีหน้าที่ทำพันธุ์ดีออกไป การเอาต้นยางไปปลูก สกย. ต้องเป็นคนไปดูแลเกษตรกร เพราะเป็นหน้าที่ของสกย." นายฉกรรจ์ กล่าว
นายฉกรรจ์ ยังกล่าวถึงระบบการตรวจสอบคุณภาพของกล้ายางด้วยว่า ทางกรมได้มีคณะเข้าไปดูแลก่อนส่งมอบให้เกษตรกร 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการตรวจสอบพันธุ์ยาง เพื่อให้แน่ใจว่าพันธุ์ยางที่นำไปให้เกษตรกรนั้นเป็นพันธุ์ยางที่ถูกต้องเป็นไปตามที่กำหนด 2. คณะกรรมการตรวจสอบต้นยางชำถุง เพื่อตรวจสอบว่าทางบริษัทได้ทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ และ 3. การตรวจสอบประจำจุดกระจายพันธุ์ เพื่อเข้าไปตรวจสอบการผลิตต้นยางชำถุงให้เป็นไปตามสัญญาทีเขียนไว้
"การที่มีข่าวว่าคนของ สกย. ออกมาระบุว่า กล้ายางไม่มีคุณภาพนั้นผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ผมกับพี่ ผ่องเผ็ญ สัมมาพันธ์ (อดีต ผอ.สกย.) ไปวางแผนการส่งมอบยาง ถึงสำนักงาน สกย. ในพื้นที่ ถ้าเกิดยางไม่ดีตัวแทน สกย. ที่จุดจ่ายยางไม่ดีเซ็นมันทำไม และคนที่ไปบอกเกษตรกรมาเอากิ่งตายางคือ สกย. ไม่ใช่กรมวิชาการ" นายฉกรรจ์ กล่าว
สำหรับเรื่องของการชดเชยให้แก่เกษตรกร ทางกรมวิชาการเกษตรเสนอต่อรัฐมนตรี มี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือยางที่ปลูกในช่วง 1 พ.ค.-31 ส.ค. ในส่วนนี้ต้องชดเชยเป็นต้นยาง โดยให้เกษตรกรซื้อขายเอง นั่นคือเป็นที่มาของ 33 ล้านบาท แต่การตัดสินใจจะช่วยเหลืออย่างไรนั้นเป็นหน้าที่ของทางกระทรวงฯ ที่จะต้องพิจารณา
ส่วนต้นยางที่ตายในช่วง 1-15 ก.ย. นั้น กรมจะไม่รับผิดชอบในส่วนนี้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาที่ระบุว่าหากการส่งมอบระหว่างวันที่ 1-15 ก.ย. ทางซีพีสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในความยินยอมหรือความสมัครใจของเกษตรกร ขณะเดียวกันหากเกิดความเสียหายใดๆ ในส่วนนี้ทางซีพีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด แต่ในส่วนที่ทางซีพีส่งมอบกล้ายางล่าช้านั้น จนถึงวันนี้ได้ปรับซีพีมาเป็นเงินประมาณ 1.4-1.5 ล้านบาทแล้ว
ซีพีโทษชลประทาน
ขณะที่ นายสุเมธ ภิญโญสนิท กรรมการผู้จัดการเขตประเทศไทย กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ซีพีเข้า มาทำโครงการนี้ ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำเรื่องยางมาก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางซีพีมีประสบการณ์ในเรื่องของการทำกิ่งพันธุ์ส้มปลอดโรคมาก่อน ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าการทำกล้ายางหลายเท่าตัว จึงมั่นใจว่าสามารถทำได้ก็มั่นใจว่าสามารถทำได้
"วันนี้คิดว่าเรื่องภัยแล้งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความสับสน เกษตรกรได้รับกิ่งพันธุ์ที่ดีไป ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เขาจะสามารถปลูกยางพันธุ์ดีนั้นให้รอดได้อีกจนถึงได้รับผลเก็บเกี่ยว เรื่องทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเกษตรกรจะไม่รายงานความเสียหายเข้ามา ถ้าระบบชลประทานของประเทศมันดี" นายสุเมธ กล่าว
สำหรับปัญหาที่ทำให้ส่งกล้ายางล่าช้าในปีที่ผ่านมานั้น มีสาเหตุมาจากช่วงที่จะเซ็นสัญญามันเกิดปัญหาทำให้ล่าช้าออกไปประมาณ 4 เดือน การเตรียมการจึงยังไม่ดีพอ อีกอย่างเมื่อยังไม่เซ็นสัญญาทางภาคเอกชนก็ไม่มั่นใจ ไม่กล้าเตรียมพันธุ์ไว้ก่อน เพราะหากเตรียมไว้แล้วไม่ได้ทำก็จะเสียหาย
"เราเองก็ไม่กล้าทำไว้ก่อน เพราะถ้าทำไว้ก่อน 5 เดือน เป็นยาง 3 ฉัตร เราก็ส่งมอบไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเซ็นสัญญาในวันที่ 17 พ.ย.46 เราก็เริ่มทำกล้ายางเลย ฉะนั้นจาก17 พ.ย. ไปส่งมอบ พ.ค. 48 มันก็มีเวลาเจริญเติบโตพอ แต่ที่เป็นปัญหาเพราะเริ่มช้า
เจตนารมณ์ก็ไม่อยากให้ล่าช้า แต่ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีก็ทำให้มันต้องช้าออกไป" นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า การเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางฉบับมีคลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรงในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โครงการขนาด 90 ล้านต้น หรือ 1 ล้านไร่ ใน 3 ปีนี้ ต้องมีแปลงกิ่งตา 200 ไร่
"ผมคิดว่าเราเตรียมเกินคือประมาณ 326 ไร่ อย่างเรื่องกล้าที่ จ.กำแพงเพชร มันเป็นความบังเอิญ และไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอะไร จริงๆแล้ว เป็นแปลงที่ทางกรมคืนต้น ที่ไม่ผ่านไปแล้ว ก็นำกลับไปดูแลและขายออกไปเป็นกล้าค้างปี"
สำหรับการแก้ไขปัญหาในปีต่อไปนั้น นายสุเมธกล่าวว่า มั่นใจที่ปีนี้จะทำได้ดีไม่มีปัญหา เพราะปีนี้มีเวลาประกอบกับมีความพร้อมทั้งเรื่องแปลง ความรู้และกำลังคน จะทำได้ตามเป้าหรือดีกว่าด้วย แต่ถ้าเกิดเรื่องปัญหาภัยแล้ง ถ้าออกไปนอกแปลงกล้าแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออะไรได้ แต่ในแปลงกล้าส่งมอบ เราใช้ระบบชลประทาน 100%
อย่างไรก็ตาม การส่งมอบในปี 2548 ตามกำหนดการเดิม ซีพีจะต้องส่งในต้นเดือน พ.ค. แต่จนถึงตอนนี้ ทางกรมวิชาการเกษตรเลื่อนออกไปและรอประชุมร่วมกับนายเนวิน ชิดชอบ รมช. เกษตรฯวันศุกร์นี้ แต่วันที่ 31 พ.ค.นี้ ทางซีพีจะต้อง ส่งแน่นอน 5 ล้านต้น และปี 48 นี้ ทางกรมให้ทางซีพีเพิ่มจุดจ่ายยางเป็น 107 จุด จาก 40 จุด และกรมก็เอาคนเข้าไปประจำจุด 107 คน เพื่อเข้าไปเช็กต้นยางให้ออกมาตามปกติ
ตั้งคนกลางตรวจกล้าล็อต 2
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหากล้ายางล้านไร่ที่ล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังปัดความรับผิดชอบกันว่า ตนได้ให้หลักการไปกับนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ว่าให้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงและสรุปโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการส่งมอบกล้ายางล็อต 2 จำนวน 300 ล้านต้นให้แก่เกษตรกร โดยยึดตามระเบียบสำนักนายกฯอย่างเคร่งครัด โดยกล้ายางที่ถึงมือเกษตรกรจะต้องเป็นไปตามคุณภาพที่ได้ลงนามในสัญญาไว้
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงกรณี บริษัทซีพีและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่ากระบวนการทุกขั้นตอนโปร่งใส ส่วนกล้ายางที่ตายลงต้องไปถาม สกย.เองว่าเป็นเพราะสาเหตุใดว่า กระบวนการตรวจสอบมีอยู่แล้วสามารถระบุชัดลงไปได้ว่าใครผิดในขั้นตอนไหน ยืนยันว่าปัญหาครั้งนี้ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบแน่นอน เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการตั้งคนนอกเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ รมว.เกษตรฯ ก็ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ต้องรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินว่าใครผิดหรือต้องตั้งใครเข้ามาตรวจสอบใหม่
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวด้วยว่า ในการตรวจรับกล้ายางในล็อต 2 จะตั้งนักวิชาการจากหน่วยงานกลาง ซึ่งอาจเป็นมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่น รวมทั้งเกษตรกรซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงร่วมตรวจสอบด้วย เชื่อว่าจะทำให้การตรวจรับมีประสิทธิภาพโปร่งใส ซึ่งตนได้มอบหมาย ให้นายเนวินไปจัดหามาแล้ว ส่วนความคืบหน้า จะหารือกันอีกครั้งว่าจะมีการเรียกประชุมกันวันไหน อย่างไร
|
|
|
|
|