|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
"ทักษิณ" ลั่นแปรรูป กฟผ.พนักงานส่วนใหญ่เห็นชอบไร้ปัญหา ดันเข้าตลาดหุ้นได้ในไตรมาส 3 ครม.ผ่านฉลุย กำหนดทุนจดทะเบียน 6 หมื่นล้านบาท "วิเศษ" คาดใช้เวลา อีก 3-4 เดือน ก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช้าสุดไม่น่าเกินเดือน พ.ย.นี้ โดยขายหุ้นให้ต่างชาติไม่เกิน 5% ของทุนจดทะเบียน ด้านพนักงาน กฟผ.ได้เฮ ครม.อนุมัติปรับขึ้นเงินเดือนย้อนหลัง 1 ปี ควักเงิน 2,000 ล้านบาท โดยขยับขึ้นเงินเดือนระดับ ผอ.ฝ่ายขึ้นไป 8% หากพนักงานต่ำกว่านี้ได้ 15% ด้านสหภาพฯโต้ถูกรัฐบีบทุกทางจำยอมแปรรูป ยันจะค้านให้ถึงที่สุด
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแปรรูปของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ผู้ว่าฯกฟผ.และกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ส่วนที่ยังมีพนักงานบางส่วนยังไม่เข้าใจนั้นมีจำนวนไม่มากและได้มีการพยายามชี้แจงแล้ว คาดว่าจะมีการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ครม.ได้พิจารณาและเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนท.) ที่เสนอให้แปลงทุนเป็นทุนเรือนหุ้นของกฟผ. เป็น บมจ.กฟผ. มีทุนจดทะเบียนจำนวน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นจำนวน 6,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท
โดยวันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบมจ.กฟผ. โดยกฟผ.จะต้องโอนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวน 21 แห่ง รวมถึงที่ดินที่ตั้งอยู่ในบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำและหัวงานซึ่งมีมูลค่า 23,605 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการคลัง เพื่อที่จะไม่ต้องมีการแปรรูปเขื่อนและอ่างเก็บน้ำตามที่มีการท้วงติงกันก่อนหน้านี้
สำหรับแผนการกระจายหุ้นของบมจ.กฟผ. จะดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2547 ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายหุ้นให้แก่นักลงทุนในประเทศทั่วไป และนักลงทุนสถาบันก่อน โดยภาครัฐจะยังคงถือหุ้นในบมจ.กฟผ.ไม่น้อยกว่า 75% ของหุ้นทั้งหมด ทั้งนี้ยังได้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างชาติห้ามเกิน 5% ด้วย เพื่อป้องกันการเข้ามาถือครองและครอบครองกิจการไฟฟ้าของไทย
โดยขั้นตอนจากนี้ไป เมื่อครม.อนุมัติในหลักการแล้ว จะมีการนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบมจ.กฟผ. พ.ศ. .... ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็จะดำเนินการจัดตั้งบริษัทได้เลย โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ในการจัดเตรียมเอกสาร ทำบัญชี โรดโชว์ รวมถึงการกำหนดราคาหุ้น IPO การจำหน่าย และการกระจายหุ้น
"ยืนยันว่าจะไม่มีหุ้นอุปการคุณเด็ดขาด และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในปีนี้ ส่วนจะทันกำหนดเดิมในเดือนต.ค.หรือไม่ ยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าตามระยะเวลาดำเนินการที่กำหนด 3-4 เดือน มีโอกาสที่จะเข้าไปซื้อขายได้ถึงเดือนพ.ย.ด้วยซ้ำ" นายวิเศษกล่าว
นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานกฟผ. โดยระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป (ระดับ 12-14) ให้ขึ้นเงินเดือน 8% ส่วนระดับต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายลงมา (ระดับ 11) ให้ขึ้นเงินเดือน 15% โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547 ซึ่งพนักงานจะได้รับเงินเดือนทันทีหลังจากที่มีการจัดตั้งเป็นบมจ.กฟผ.แล้ว ซึ่งเป็น การปรับเงินเดือนตามการไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งก่อนหน้านี้ที่ได้ปรับขึ้นเงินเดือนไป โดยการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จะใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาท นายวิเศษกล่าวว่า การจัดตั้งบมจ.กฟผ. ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการผลิตไฟฟ้าเพื่อรับโอนอำนาจของกฟผ.ในเรื่องที่เกี่ยวกับการประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้า การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และการบริหารจัดกรน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมาเป็นของคณะกรรมการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นตามร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบมจ.กฟผ. พ.ศ.... เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการแข่งขันกับเอกชนรายอื่นที่จะถูกมองว่าไม่เป็นธรรม
ส่วนในด้านการกำกับดูแลของภาครัฐ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด โดยกระทรวงพลังงานจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล กิจการไฟฟ้า เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงาน การกำหนดอัตราค่าบริการ การวางมาตรการคุ้มครอง ผู้บริโภค รวมถึงการส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดในทางมิชอบ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน (Interim Regulator) ก่อนที่กฎหมายประกอบกิจการไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการยกร่างจะมีผลบังคับใช้
"พนักงานกฟผ.จะได้รับเงินเดือนค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม และให้ถือว่าเวลาการทำงานของพนักงานดังกล่าวในกฟผ. เป็นเวลาทำงานในบมจ.กฟผ.และให้นับอายุงานต่อเนื่อง" นายวิเศษกล่าว
ทั้งนี้ การแปรรูปกฟผ.ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นค่าไฟฟ้า เพราะค่าไฟฟ้าจะมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าเข้ามาดูแล และนโยบายของรัฐบาลก็ชัดเจนจะไม่ขึ้นค่าไฟฟ้าโดยใช้เหตุผลจากการแปรรูป แต่การแปรรูปเพื่อให้กฟผ.มีเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการขยายกิจการ เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้า กฟผ.มีแผนที่จะลงทุนสูงถึง 2 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าสงขลา พระนครใต้ พระนครเหนือ และบางประกง รวมถึงระบบสายส่ง
นายศิริชัยไม้งามส ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเพียงมติ ครม.ออกมาให้มีการกระจายหุ้นเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถเข้ามาแปรรูปรัฐวิสหกิจได้ทันที เพราะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบพ.ร.บ.กฟผ. แล้วออกระเบียบบริษัทกฟผ.ขึ้นมาแทน จึงจะสามารถกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งกระบวนการตรงนั้นต้องรอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย
"รัฐบาลใช้อำนาจกดดันทุกอย่างเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของพนักงานทั้งการขึ้นเงินเดือน หรือการจัดสรรหุ้นให้ รวมทั้งการขู่ว่าจะไม่ค้ำประกันเงินกู้ จนทำให้กฟผ.ไม่มีเงินสร้างโรงไฟฟ้า ตรงนี้ทำให้พนักงานเองเกิดความไขว้เขว หากปล่อยให้พนักงาน ตัดสินใจโดยเสรี ไม่มีแรงกดดัน เชื่อว่าพนักงานทุกคนจะไม่ยอมให้แปรรูปแน่ การเคลื่อนไหวคัดค้านจะมีต่อไปจนนาทีสุดท้าย ซึ่งขณะนี้ทางสร.กฟผ. พร้อมด้วยพนักงานจำนวนมากได้ยื่นถวายฎีกาคัดค้านการแปรรูป แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปแล้ว" นายศิริชัยกล่าว
|
|
 |
|
|