บบส. รอแก้พ.ร.ก.ปรับบทบาท รับซื้อหนี้ในระบบสถาบันการเงินที่มีกว่า 8 แสนล้าน ชี้หากกฎหมายผ่านภายในปีนี้ สามารถรับซื้อหนี้มาบริหารได้ถึง 2.7 แสนล้าน ภายในปี 49 เพราะที่ผ่านมาตั้งคณะทำงานหารือกับแบงก์รัฐ-เอกชน และพร้อมปรับองค์กรรองรับเรียบร้อยแล้ว ด้าน "วราเทพ" แจงรัฐบาลจะเร่งดันเข้าสภาฯในสมัยประชุมนี้ ระบุ ต่อไปบบส.จะเป็น AMC หลักแห่งเดียวของประเทศที่ทำหน้าที่แก้ไขหนี้เสีย และอุดช่องไม่ให้เกิดหนี้ใหม่ในระบบ
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบบส.ในช่วงปี 2541-2547 ถือว่าทำได้ดี สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ที่รับโอนจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ด้วยการประนอมหนี้ ได้ทั้ง 100% ซึ่งส่วนใหญ่ได้ข้อยุติ มีเพียงบางส่วนที่ต้องใช้วิธีดำเนินคดี
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บบส. พ.ศ. 2540 เพื่อเพิ่มเติมบทบาท บบส. ให้สามารถรับซื้อหนี้ในระบบสถาบันการเงิน นอกเหนือจากหนี้จาก 56 ไฟแนนซ์ ที่รับโอนจาก ปรส. และที่ประมูลจากกรมบังคับคดีเท่านั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ยืนยันกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกรอบเพื่อให้รัฐบาลเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรภายในสมัยประชุมนี้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการจัดลำดับเรื่องของวิปรัฐบาลด้วย
"คงตอบไม่ได้ว่ากฎหมายจะผ่านภายในปีนี้หรือไม่ แต่เราคงเร่งให้เร็วที่สุด เพื่อให้บบส.เป็นองค์กรหลักที่จะทำหน้าที่บริหารหนี้เสียในอนาคต" นายวราเทพกล่าว
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะกรรมการ บบส. กล่าวว่า หากแก้ไขกฎหมายให้บบส.สามารถรับซื้อหนี้ในระบบสถาบันการเงินที่มีอยู่ประมาณ 800,000 ล้าน บาทได้ จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของบบส.ในอนาคต เพราะสถาบันบริหารสินทรัพย์ของรัฐ (AMC) แห่งอื่น คงแปลงสภาพหรือรวมตัวกันทำภารกิจตามทิศทางของตนเอง เพราะการดำเนินงานปัจจุบันให้ผลตอบแทนน้อย และหน้าที่เฉพาะกิจของแต่ละแห่งจะต้องหมดลงในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บบส.ได้มีคณะทำงานหารือเรื่องการขอซื้อหนี้กับธนาคารของรัฐและเอกชนรายใหญ่ๆ เช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ในเบื้องต้นบ้างแล้ว ดังนั้นหากกฎหมาย บบส.ผ่าน จะสามารถรับซื้อหนี้ได้ทันที
"มีการประเมินในเบื้องต้นว่า หากกฎหมายผ่านภายใน 2548 นี้ ใน 1 -2 ปี คือ ภายในปี 2548- 2549 จะสามารถซื้อหนี้จากระบบสถาบันการเงินมาบริหารได้ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับที่มีอยู่ในระบบทั้งหมด และหลังจากนั้นจะสามารถรับซื้อหนี้ในระบบได้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดจะทำให้ NPL ในระบบลดลงเหลือ 3-5% จาก 11% ของยอดสินเชื่อรวมในปัจจุบัน ตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)"
สำหรับหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการซื้อหนี้หลังจากการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยนั้น ควรจะเป็นลักษณะของการซื้อขาดในราคาที่ตกลงกัน 2 ฝ่าย และจะจำแนกตามคุณภาพหรือเกรดของหนี้ และรับซื้อในอัตราส่วนลดระดับหนึ่ง ซึ่งตามหลักการแล้วสถาบันเงินเจ้าของคงไม่ต้องการปล่อยขายในราคาที่ต่ำเพราะจะมีผลกระทบต่อตนเอง ขณะที่ธนาคารของรัฐเองก็ต้องมีหลักเกณฑ์ในการขายเช่นกัน ซึ่งข้อสรุปของการซื้อขายจะต้องขึ้นอยู่กับความสมเหตุสมผล และเป็นที่รับได้ทั้งสองฝ่าย
นายวิจิตรกล่าวเพิ่มเติมว่า บบส.ได้เตรียมโครงสร้างองค์กรใหม่ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเพิ่มสายงานการบริหารจัดการทรัพย์สินให้มากขึ้นรองรับงานบริหารหนี้ในอนาคต ดังนั้นหากกฎหมายผ่าน บบส.พร้อมปรับองค์กรรองรับกับบทบาทใหม่ได้ทันที
ด้านนายสิน เอกวิศาล กรรมการผู้จัดการ บบส. กล่าวถึงผลดำเนินงานของ บบส.ในช่วง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2541-2547 ว่ามีผลดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง โดยสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมด และสามารถทำกำไรได้ถึง 3 ปีต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545-2547 เป็นต้นมา ในจำนวน 2,415.91 ล้านบาท 4,678 ล้านบาท และ 4,886.39 ล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้งสามารถนำเงิน รายได้ส่งคืนกระทรวงการคลังได้เป็นครั้งแรกในปี 2547 จำนวน 1,705 ล้านบาท
ทั้งนี้ บบส.ได้ตั้งเป้าหมายว่า หาก พ.ร.ก.บบส. แก้ไขเป็นที่เรียบร้อย จะทำให้การดำเนินงานในปี 2548 ของ บบส.สามารถเพิ่มขนาดสินทรัพย์ทั้ง NPL และ NPA ได้ถึง 117,613 ล้านบาท ในขณะที่เป้าหมายเงินสดรับประมาณการไว้ว่าจะสูงถึง 10,973 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการผ่อนชำระ 2,967 ล้านบาท และจากทรัพย์สินรอการขาย 8,006 ล้านบาท
|