|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยรุดพบ "วัฒนา" หวังล้วงข้อมูลอุตสาหกรรมไทยก่อนเจรจาเอฟทีเอรอบใหม่ อ้างสินค้าเกษตรได้ข้อยุติแล้วไม่มีปัญหาต้องให้จบภายใน ก.ค.นี้ ขณะที่ "วัฒนา" ยืนยันไม่รู้ข้อมูล เหตุ "จักรมณฑ์" ปิดซองผนึกส่งคณะเจรจาไปแล้ว และให้อำนาจคณะเจรจาดำเนินการทั้งหมด พร้อมจวกรถค่ายยุโรปถ้าต้องการสิทธิประโยชน์เหมือนญี่ปุ่นก็ต้องมีของมาแลกเปลี่ยน ส่วนกรณีโรงถลุงสหวิริยาจะเรียกมาคุยรายละเอียดรอบสุดท้ายวันนี้
นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของนายอะสึชิ โทะกิโนยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย วานนี้ (9 พ.ค.) ว่า เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้มาเยี่ยมคารวะตนและได้หารือเกี่ยวกับข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยนายอะสึชิได้ย้ำถึงนโยบายจากรมว.กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ให้เจรจาแล้วเสร็จกรกฎาคมนี้ และระบุว่าการเจรจาทางด้านสินค้าเกษตรเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงทางด้านอุตสาหกรรม
"ผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าเจรจาไปถึงไหนแล้วในส่วนของเกษตร แต่ในแง่อุตสาหกรรมผมก็บอกไปตรงๆ ว่าผมเองก็ไม่รู้อะไรเพราะก่อนที่จะมีประชุมคณะกรรมการ FTA ชุดใหญ่ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธานเมื่อเร็วๆนี้ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รวบรวมข้อมูลทางด้านอุตสาหกรรมแล้วใส่ซองปิดผนึกส่งให้คณะเจรจา FTA ไทย-ญี่ปุ่นซึ่งผมสาบานเลยว่าไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นอย่างไรจะถามอย่างไรก็ไม่รู้หรอก" นายวัฒนากล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางนายอะสึชิ ได้สอบถามถึงกรณีที่กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์จากค่ายยุโรปทำหนังสือถึงนั้นคิดเห็นอย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนได้ชี้แจงไปว่า ทางค่ายรถยุโรปได้ทำหนังสือถึงตนจริงและทูตยังมาพบด้วย โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่ไทยจะทำ FTA กับญี่ปุ่นแล้วจะเปิดเสรีในส่วนของรถยนต์ขนาดตั้งแต่ 3000 ซีซีขึ้นไป หรือประเภทรถหรูซึ่งจะกระทบกับทางค่ายรถยุโรปนั้นส่วนตัวมีนโยบายที่จะพิจารณา 2 ประการกล่าวคือ 1. ทางค่ายยุโรปเองส่วนตัวแล้วเห็นว่าการจะมาเรียกร้องแล้วไม่ยอมที่จะแลกอะไรเลยก็คงไม่ยุติธรรมซึ่งหากต้องการสิทธิประโยชน์เหมือนกับญี่ปุ่นก็ให้มาทำ FTA กับไทย ส่วนที่ 2. กรณีที่ทางยุโรปมาลงทุนไทยเองก็จะดูแลให้ไม่ได้ทอดทิ้ง
ทั้งนี้ ได้ชี้ให้ทางค่ายรถยนต์ยุโรปเห็นไปแล้วว่า หากจะมีข้อห่วงใยว่าจะแข่งขันไม่ได้กับรถญี่ปุ่นโดยเฉพาะรถยี่ห้อ TOYOTA LEXUS นั้นคงไม่เสมอไปเพราะปัจจุบันลูกค้าคนละกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้วเพราะผู้ที่สนใจจะซื้อรถโรลสลอยซ์ ก็ยังคงยอมที่จะจ่ายแพงเพื่อซื้ออยู่ดี แต่ผู้ที่ชอบ LEXUS ก็จะไม่ไปซื้อรถยุโรปอยู่ดี ดังนั้นประเด็นที่เป็นห่วงของค่ายยุโรปคงไม่มีปัญหาในส่วนนี้ จะต้องมีความเป็นธรรมด้วยและคาดว่ากระแสของ FTA คงจะหยุดไม่อยู่ทุกประเทศก็ควรจะให้ความสำคัญ
"ท่านทูตได้ระบุว่าไทยจะเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดที่ลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คิดเป็น 40% ของการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) และยืนยันว่าจะเพิ่มเป็น 50% แน่นอน ด้วยบรรยากาศที่ดีของไทยและความเป็นมิตรซึ่งต่างจากบางประเทศที่ต่อต้าน" นายวัฒนากล่าว
เรียกสหวิริยาดูข้อมูลรอบสุดท้ายวันนี้
นายวัฒนากล่าวว่า การหารือครั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นอุตสาหกรรมเหล็กแต่อย่างใด และในวันนี้ (10 พ.ค.) จะมีการเรียกผู้บริหารของเครือสหวิริยาเข้าชี้แจงรายละเอียดของแผนการดำเนินงานโรงถลุงเหล็กเป็นรอบสุดท้ายเพื่อที่จะเดินหน้าการดำเนินงานต่อไป โดยยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ในวันนี้ (10 พ.ค.) ตนยังจะพบกับนายเรียวอิจิ ซาซากิ ประธานโตโยต้าประจำประเทศไทยเพื่อที่จะหารือถึงความร่วมมือในการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงานหรือ อีโคคาร์ ก่อนที่จะนำเสนอครม.พิจารณาต่อไป โดยเบื้องต้นในส่วนตนนั้นได้ข้อสรุปแล้วว่า รถอีโคคาร์จะมีสเปกสำคัญคือ มีขนาดกว้าง 1.6 เมตร ยาว 3.6 เมตร ต้องประหยัดพลังงานได้ 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ราคาต้องไม่เกิน 3.5 แสนบาทต่อคัน และเปิดกว้างเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1000-3000 ซีซี
"ค่ายอื่นก็เห็นชอบหมดแล้วเหลือเพียงโตโยต้า ซึ่งไม่แปลกที่เขาจะไม่เห็นด้วยเพราะเขาคือผู้ขายรายใหญ่ถ้าปรับลงมาเล่นรถรุ่นนี้ก็อาจจะมีผลต่อยอดขายรถรุ่นที่มีอยู่ และกลัวว่าจะไม่ได้สเปกตามที่ตนเองมี ซึ่งเงื่อนไขนี้ไม่ได้เอื้อใครทุกคนผลิตได้หมดหากเป็นไปตามเกณฑ์นี้" นายวัฒนากล่าว
|
|
 |
|
|