|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2527
|
|
เด็กฝากมี 2 ประเภท
ประเภทแรก เป็นคนดีมีฝีมือแต่เพราะความกลัวที่ว่า หากวัดกันด้วยฝีมือและความรู้กันแล้วตนเองอาจจะไม่ได้
เพราะ...อาจจะโดนเด็กฝากคนอื่นตัดหน้าทำให้พลาดโอกาส
เพื่อความมั่นใจจึงยอมเป็นเด็กฝาก เพื่อจะได้เข้าไปทำงานแสดงฝีมือแสวงหาความก้าวหน้าต่อไป
ประเภทที่สอง เป็นคนดี (หรืออาจจะไม่ดี)
แต่....ไม่มีฝีมือ แถมความรู้ที่จบมาไม่ตรงกับงานที่จะรับเข้าทำงานเสียอีก
นักบริหารที่เจอเด็กฝากประเภทนี้ ละลายยาหอมกินแก้ลมมานักต่อนักแล้ว
จะไม่รับก็ไม่รู้จะไปตอบกับผู้ฝากว่ายังไง ยิ่งถ้าผู้ฝากมีอำนาจและอิทธิพลที่จะดลบันดาลให้เราเป็นอะไรตามที่เขาอยากให้เราเป็น
เราก็ยิ่งอึดอัดและอักอึก!
หรือ ซึมไปเลย!
เพราะขืนรับเข้ามาทำงานนอกจากงานที่เรารับผิดชอบจะไม่ก้าวหน้าแล้วยังมีปัญหาที่จะต้องคอยดูแลเด็กฝาก คนนั้นให้เขาทำงานให้ดีๆ อย่าทำอะไรผิดพลาดบ่อยนัก
และที่สำคัญบางครั้งก็ปกครองยาก เพราะเด็กฝากบางคนคิดว่าตัวเองเส้นใหญ่
การฝากเด็กเข้าทำงานมีทั้งที่มาจากคนในหน่วยงานหรือคนนอกหน่วยงาน
ถ้าเป็นการฝากของคนในระดับเดียวกันก็พอจะอ้อมแอ้มได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่ เช่น กรรมการผู้จัดการหรือประธานบริหารฝากหลานสาวที่จบบัญชีให้เข้าทำงานในแผนกประชาสัมพันธ์ เราเองก็พูดไม่ออกบอกไม่ถูก
หรือ รมต.กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งฝากลูกสาวที่จบบริหารธุรกิจสาขาการตลาด ให้เข้าทำงานในแผนกวิจัยเคมี โดยมีนามบัตรแถมข้อความทำนองว่า
“ตำแหน่งอะไรก็ได้ ขอให้ทำไปก่อนแล้วคุณค่อยหาทางโยกย้ายภายหลัง แต่ผมทราบมาว่าแผนกวิจัยเคมีคุณว่าง ลูกสาวผมคงจะทำงานตำแหน่งนั้นได้ เพราะเขาเคยเรียนการวิจัยตลาดมาก่อน”
ครั้งหนึ่ง ผมเคยได้รับนามบัตรจาก ส.ส. ใน กทม. ท่านหนึ่งให้รับเด็กฝากคนหนึ่งเข้าทำงาน
เด็กฝากคนนั้นมาหาผมพร้อมกับเมียอายุ 50 และลูกสาวอายุ 18
เมื่อผมถามว่า “ลุงจะทำงานตำแหน่งอะไร”
“ผมจะเป็นคนงานครับ”
“แล้วคุณป้าผู้หญิงกับหนูคนนี้มาเป็นเพื่อนหรือ?”
“เปล่าครับ ผมคิดว่าเมื่อท่านรับผมเข้าทำงาน ผมก็จะขอความกรุณาท่านโปรดรับเมียและลูกสาวเข้าทำงานด้วย”
อีกครั้งหนึ่ง (ในหลายๆ ครั้งของชีวิตการทำงาน) เจ้านายขอพบผม และบอกว่าหาคนที่จะทำงานในแผนกของผมได้แล้ว พรุ่งนี้เขาจะมาสมัคร
“ถ้ายังไงล่ะก็ให้เริ่มงานโดยเร็วเลยนะ คุณจะได้มีคนช่วยงานเร็วขึ้น...อ้อ เขาเป็นหลานชายคนเดียวของผม เพิ่งจบ ปวช. อาจจะท่าทางนักเลงๆ นะ อย่าไปถือสามันก็แล้วกัน....”
ถ้าคุณคิดว่าเด็กฝากคนนั้นยังไงๆ ก็ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่คุณกำลังเปิดรับ และหากรับเข้าทำงานอาจจะก่อให้เกิดปัญหามากมายติดตามมา
คุณอาจจะทดลองใช้แนวทางต่อไปนี้ดูเผื่อจะบอกปัดเด็กฝากได้บ้าง
ตรวจสอบว่าในองค์กรหรือบริษัทที่คุณทำงานอยู่มีระบบการรับคนเข้าทำงานยังไงบ้าง?
ตามปกติแล้ว หากเป็นบริษัทที่ทีมาตรฐานหน่อย ก็มักจะมีฝ่ายบุคคลทำหน้าที่กลั่นกรองขั้นต้น (Screening Process)
เมื่อคุณเจอเด็กฝากก็ควรจะมอบให้ฝ่ายบุคคลทำการพิจารณากลั่นกรองขั้นต้นก่อน หากฝ่ายบุคคลเห็นว่าไม่เหมาะสม เขาจะไม่ส่งเด็กฝากคนนั้นมาให้คุณ เพราะฝ่ายบุคคลเขาจะมีวิธีการทดสอบทั้งข้อเขียนละสัมภาษณ์ คุณอาจจะขอให้ฝ่ายบุคคลช่วยชี้แจงให้เด็กฝากคนนั้นเข้าใจว่า เขาไม่ผ่านสอบข้อเขียน
แต่ถ้าบริษัทของคุณใช้ระบบรับคนเข้าทำงานในระบบตามใจนาย (ใหญ่) คุณก็อาจจะทำให้มันดูขลังหน่อย โดยการให้เด็กฝากสอบข้อเขียน
ซึ่งถ้าหากจะให้คนอื่นออกและตรวจข้อสอบ ก็จะดีกว่าที่คุณจะไปทำเอง ซึ่งแน่นอนว่าข้อสอบที่ออกควรจะเป็นลักษณะที่เหมาะกับคนดีมีความสามารถ
ดังนั้นเด็กฝากก็จะตกข้อเขียน
แต่ถ้าบังเอิญฝ่ายบุคคลก็โดนระบบเด็กฝากเล่นงานและจำเป็นต้องผ่านเด็กฝากคนนั้นมาให้คุณ หรือไม่นายใหญ่ก็สั่งมาว่า ไม่ต้องสอบข้อเขียน
คราวนี้คุณอาจจะหาทางออกโดย
ตั้งคณะกรรมการสัมภาษณ์
โดยอาจจะเชิญคนอื่นๆ ที่อยู่คนละแผนกกับคุณ แต่บังเอิญงานของแผนกนั้นจำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับงานในตำแหน่งที่จะรับ
มาร่วมการสัมภาษณ์
รวมทั้งให้หัวหน้าของตำแหน่งที่จะรับเข้าสัมภาษณ์ด้วย
ขอแบบฟอร์มประเมินผลการสัมภาษณ์จากฝ่ายบุคคลมาแจกแก่ผู้สัมภาษณ์ และขอให้ผู้สัมภาษณ์ Comment ตรงๆ ตามที่เขารู้สึก
ซึ่งแน่นอนว่า ผลสรุปออกมา เด็กฝากคนนั้นจะไม่เหมาะกับงานที่จะรับ จากนั้นคุณก็สรุปนำเสนอแก่ผู้ฝาก
ซึ่งคุณควรจะต้องมีศิลปะในการถ่ายทอดเป็นอย่างดี เพื่อให้ผลออกมา “สวย” และคุณจะได้ไม่ต้องเป็นที่ “เขม่น” ของผู้ฝาก
ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ควรจะคุยกับเด็กฝากคนนั้น (ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักนิด) อธิบายลักษณะงานและความรู้ความสามารถที่จะต้องมีและจะต้องใช้
และชี้ให้เขาเห็นว่า เขาจะมีปัญหาอย่างไร หากเข้าทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ และหากได้เข้าทำงานจริงๆ ความก้าวหน้าในตำแหน่งงานจะมีน้อย
เพราะตัวของเด็กฝากเอง
การคุยกับเด็กฝากนี้มีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากจะช่วยให้เด็กฝากเข้าใจแล้ว ยังจะทำให้เด็กฝากไปบอกกับผู้ฝาก ว่า
ตนเองไม่เหมาะสมกับงานอย่างไร
และตนเองทำไม่ได้ด้วย
ซึ่งผู้ฝากเองก็จะเข้าใจในตัวคุณว่า ไม่ใช่ว่าคุณไม่ยอมรับเด็กฝากเข้าทำงาน
แต่เด็กฝากไม่อยากเข้าทำงานเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝากกับคุณก็ยังดีเหมือนเดิม
นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเด็กฝากคนนั้นทางอ้อม
กล่าวคือ เขาอาจจะได้งานที่อื่นที่เหมาะกับตัวเขา และทำให้ก้าวหน้าในชีวิตการงาน ดีกว่าจะมาขลุกอยู่กับงานที่ไม่เหมาะสมกับตัวเขา
อย่างไรก็ตาม เท่าที่อ่านดูแล้วดูเป็นของที่ไม่ยากนัก แต่ผมอยากจะพูดว่า
การปฏิเสธที่จะรับเด็กฝากที่ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าทำงาน
เป็นเรื่องที่นักบริหารจะต้องพบเสมอ
การจะแก้ไขปัญหานี้ จะต้องกระทำด้วยความละมุนละม่อม บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม้ให้ขุ่น และจำเป็นจะต้องใช้ศิลปะประกอบด้วย
หากท่านผู้ใดทดลองนำไปใช้แล้ว ได้ผลยังไงโปรดเขียนเล่าสู่กันฟังบ้าง
|
|
|
|
|