Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2527
ทายาทของบริษัทยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ เสี่ยงอนาคตไว้กับทะเลทรายในลิเบีย             
 


   
www resources

โฮมเพจ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

   
search resources

Construction
ฮุนได-Hyundai
ชอย วัน ซุค
ดองฮา คอนสตรัคชั่น, บจก.




คงจะไม่มีใครกล้าพูดได้ว่า ชอย วัน ซุค ประธานบริษัทหนุ่มแห่งกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมดองฮา ว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง แตกต่างไปจากบิดา ผู้ก่อตั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมดองฮา (DONGAH) เพราะชายหนุ่มผู้นี้เป็นคนที่ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เริ่มตั้งแต่ปี 1973 เมื่อเข้ารับหน้าที่ในบริษัทเมื่ออายุได้ 30 ปี ชอยได้พยายามเร่งเร้าบรรดาผู้บริหารระดับอาวุโส ตลอดจนบิดาของเขาในการที่นำบริษัทดองฮา คอนสตรัคชั่นซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมดองฮาเข้ารับงานชิ้นแรกในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า เป็นการรีบร้อน และเสี่ยงต่อการขาดทุนอยู่มาก ในสายตาของบริษัทก่อสร้างอื่นๆ ในเกาหลีใต้ แต่ผลจากการเสี่ยงรับงานในซาอุดีอาระเบียก็คือ บริษัทก่อสร้างดองฮาทำกำไรมาได้ 3 พันล้านดอลลาร์ในงานนี้

ขณะนั้นชอยมีอายุได้ 41 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นขวัญใจของบริษัทไปแล้ว ได้รับอำนาจเต็มที่ในกลุ่มของอุตสาหกรรมดองฮา เนื่องจากบิดาของเขา ชอย จุน มิน บิดาอายุ 64 ของเขากำลังป่วยกระเสาะกระแสะ ชอยผู้บุตรมีแผนงานที่จะเสี่ยงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะหนักกว่าเก่าเสียอีก เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยการทำสัญญารับเหมาระบบต่อทางน้ำใต้ดินระยะทาง 1,900 กม. กับลิเบีย มูลค่า 3.27 พันล้านดอลลาร์

พนักงานผู้หนึ่งของบริษัทตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาฉบับนี้มีวงเงินดำเนินการที่สูงมากเท่าที่เคยมีมา และยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเจ้าของโครงการยังมีภาวะไม่มั่นคง และไม่น่ามั่นใจในหลายๆ กรณี โดยไม่ต้องกล่าวถึงผู้นำประเทศ พันเอกกัดดาฟี ซึ่งค่อนข้างจะหุนหัน หากแต่สถานการณ์ทางการเงินของประเทศค่อนข้างจะง่อนแง่นเพราะตั้งแต่ปี 1982 รัฐบาลกรุงตริโปลีเผชิญปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง และเป็นเหตุให้บริษัทเกาหลีที่ทำงานในลิเบียรับค่าจ้างบางส่วนในรูปของมันดิบ และหากนำไปขายในตลาดโลกก็ได้ราคาต่ำ และประสบปัญหาขาดทุน

ผู้สันทัดกรณีที่ได้ติดตามการดำเนินงานของดองฮาอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเมื่อเข้ารับงานกับลิเบีย จนกระทั่ง 6 เดือนให้หลังจึงรู้ว่า บริษัทดองฮาสามารถดำเนินงานได้เป็นอย่างดี และเป็นบริษัทที่ดีบริษัทหนึ่ง ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างรัดกุม และได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานสูงกว่าบริษัทคู่แข่งขัน ตามคำกล่าวของนายธนาคารตะวันตก ซึ่งติดตามการเคลื่อนไหวการดำเนินงานของดองฮามาตลอด “การทำสัญญาก่อสร้างกับลิเบียได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ในธุรกิจก่อสร้างของกลุ่มดองฮา และขนาดของโครงการก็ใหญ่มาก บริษัทได้ตั้งความหวังไว้กับโครงการนี้ ซึ่งถ้าหากเกิดพลาดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นอันว่ากลุ่มดองฮาต้องตกที่นั่งลำบากเลยทีเดียว”

ชอยรู้ดีว่าเขาไม่มีโอกาสใดดีกว่านี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อทำให้รายได้ของกลุ่มอุตสาหกรรมดองฮาเพิ่มพูนขึ้น ทั้งนี้เพราะยอดรายได้ของบริษัทในระยะเวลาที่ผ่านมาได้ลดต่ำลงจนถึง 524 ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้วจาก 844 ล้านดอลลาร์ในปี 1980 กำไรสุทธิก็ลดลงจนเหลือเพียง 708,000 ดอลลาร์ในปีที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับยอดกำไรสุทธิ 52.5 ล้านเหรียญใน 3 ปีที่ผ่านมา

แต่การตัดสินใจที่จะดำเนินงานในลิเบียอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากอุปนิสัยชอบเอาชนะของเขาก็เป็นได้ หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮานยาง (HAN YANG) ในกรุงโซล ด้านเศรษฐศาสตร์ และเข้ารับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจอร์จทาว์น (GEORGE TOWN) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมิได้รับประกาศนียบัตรใดๆ ชอยน้อยก็กระโดดเข้าทำธุรกิจของครอบครัวภายใต้การดูแลของชอยผู้บิดา ซึ่งได้นำเขาไปศึกษางานตามสถานที่ต่างๆ ทั้งนอกและในประเทศ เพื่อเป็นการปูทางให้เขาในธุรกิจก่อสร้าง แต่ชอยหนุ่มมีความรู้สึกว่าวิธีการเรียนรู้เหล่านั้นค่อนข้างจะช้า ไม่ทันอกทันใจเอาเสียเลย

ดูเหมือนว่านิสัยใจร้อนของเขาไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานแต่อย่างใด เพราะเมื่ออายุได้เพียง 24 ปี เขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมคอนกรีตดองฮา ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานบริษัทดองฮาก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมดองฮา ในอีก 2 ปีต่อมา แม้ว่าชอยหนุ่มจะได้ตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายบริหารก็ตามแต่ดูเหมือนว่าผู้บิดาจะยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในการตัดสินใจใดๆ ของบุตรชายนัก และก็ยังไม่ค่อยจะมั่นใจนักเมื่อชอยหนุ่มประกาศที่จะรับงานก่อสร้างในซาอุดีอาระเบีย

ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่รุนแรง

จนถึงขณะนั้น คิม ฮักยอง, รองประธานบริหารฝ่ายกิจการต่างประเทศของดองฮา คอนสตรัคชั่น เคยกล่าวว่า ประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศของบริษัทก็คือที่เกาะกวม ซึ่งบริษัทชนะประมูลงานเล็กๆ เมื่อปี 1973 ในการก่อสร้างอาคารพักอาศัยของนายทหารเรือสหรัฐฯ สำหรับงานในซาอุดีฯ นั้น จุนมินและผู้ร่วมงานในบริษัทคัดค้านว่าอยู่ไกลเกินไป และสภาพอากาศก็ร้อนมาก ยิ่งกว่านั้นประเทศนี้ยังไม่มีโครงสร้างขั้นพื้นฐาน (BASIC INFRASTRUCTURE) ที่จำเป็นในการดำเนินงาน กลุ่มคนเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนซึ่งกลุ่มก่อสร้างซัมวันได้รับมา กลุ่มซัมวันเป็นกลุ่มแรกที่รับงานในซาอุดีฯ ซึ่งในครั้งแรกก็ได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ เช่นกัน และเมื่อเข้าไปดำเนินงานแล้วผลก็คือ บริษัทขาดทุนไป 8 ล้านดอลลาร์กับโครงการแรก ซึ่งเป็นโครงการสร้างทางในวงเงิน 24 ล้านดอลลาร์

ถึงแม้ว่าจะมีตัวอย่างให้เห็นก็ตาม ชอยหนุ่มก็ยังยืนยันแข็งขันว่า เขามีวิธีการดำเนินงานของเขา จนในปี 1974 ดองฮาจึงได้ลงนามในสัญญามูลค่า 6.6 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างถนนยาว 75 กม. ใกล้กับเมือง DHAHRAN “เราทำกำไรได้ไม่มากนัก” คิมกล่าว แต่ก็นำไปสู่การสร้างถนนอีก 3 สาย ในปีต่อๆ มา และก็ได้งานสร้างถนนสายหลักขนาดใหญ่ขึ้น ตลอดจนท่าเรือ และท่าอาศยานภายใต้นามดองฮา คอนสรัคชั่น

การว่าจ้างงานของซาอุดีฯ ที่ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชอย แต่ก็ยังไม่วายถูกค่อนแคะจากการดำเนินชีวิตส่วนตัวที่ค่อนข้างโลดโผนของเขา ซี่งรวมทั้งการมีความสัมพันธ์กับดาราสาวนักแสดงก่อนที่จะแต่งงานกับอดีตนักร้องเพลงป๊อป เบ อิน ซุค แต่ผลงานในซาอุดีฯ ทำให้บริษัทดองฮากลายเป็น 1 ใน 6 บริษัทชั้นนำของเกาหลี และในปี 1977 ชอย จุนมิน ผู้บิดาจึงได้มอบอำนาจและกิจการในเครือทั้งหมดให้กับบุตรชาย เหลือไว้เพียงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์เท่านั้น

และเพื่อที่จะผลักดันให้ก้าวสู่จุดสุดยอดทำให้ชอยหนุ่มตัดสินใจเสี่ยงอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการเข้ารับเหมางานในลิเบีย ซึ่งมีผลส่งให้ดองฮากลายเป็นคู่แข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำ Hyundai Engineering & Construction ในแง่ที่เป็นบริษัทที่มีผู้ว่าจ้างมากที่สุด

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ก่อนหน้าชอย วัน ซุค จะเข้ารับหน้าที่ 2-3 เดือนนั้น บริษัทได้ตัดลิเบียออกจากรายชื่อลูกค้า ทั้งนี้เพราะ “เราได้ส่งคณะวิจัยการตลาดไปที่นั่นเมื่อปี 1978 ซึ่งได้รายงานมาว่า เนื่องจากลิเบียไม่มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่กิจการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็น ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะเข้าไปดำเนินงานรับเหมาก่อสร้าง” ซุง จินซัม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของดองฮา คอนสตรัคชั่น ผู้ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบโครงการของลิเบียกล่าว

ครั้งแรกเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาระบบชลประทานขนาดยักษ์ของรัฐบาลลิเบีย ซึ่งใช้ชื่อว่าโครงการแม่น้ำโดยมนุษย์ (Great Manmade River) ได้รับการส่งผ่านมาจากบรรษัท Brown & Root ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรม ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ฮุสตัน สหรัฐฯ และได้ติดต่อกับดองฮาในปี 1980 เพื่อให้ยื่นข้อเสนอแผนก่อสร้างไปยังลิเบีย

ในช่วงเวลานั้นเอง ปรากฏว่างานต่างๆ จากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งงานหลักของบริษัทรับเหมาเกาหลีในต่างประเทศเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากรายได้ที่เข้าประเทศลดลง เพราะน้ำมันราคาตกซึ่งมีผลกระทบต่อดองฮาเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ อันเป็นสาเหตุให้ประธานบริษัทดองฮาถูกกดดันให้เปลี่ยนแนวนโยบาย ให้ดำเนินงานให้รอบคอบยิ่งขึ้น สำหรับงานในลิเบีย ซึ่งผู้นำของประเทศถูกเพ่งเล็งจากโลกภายนอกว่ามีนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับเกาหลีใต้ และสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าลิเบียและเกาหลีเหนือคงจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการฝึกฝนบรรดาผู้ก่อการร้าย ชอย ฮิม ซิง ผู้อำนวยการดองฮา ในโตเกียว กล่าวว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เคยหยิบยกเรื่องการทำงานในลิเบียขึ้นมาพิจารณาถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดจากความไม่พอใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ในที่สุดรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยอมที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานในลิเบียของธุรกิจเอกชน แต่ชอยตัดสินใจที่จะเข้าตรวจสอบสถานการณ์ในลิเบียด้วยตนเอง

เดินหน้าลุย

ชอยส่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ซุง ไปยังลิเบียหลายครั้งเพื่อตรวจสอบงานในสนาม รวมทั้งกิจการด้านอื่นๆ สำหรับชอยเองก็ได้เดินทางไปลิเบีย 2-3 ครั้ง เพื่อตรวจผลการดำเนินงานด้วยตนเองตอนต้นปี 1982 “ในเวลานั้น เรายังไม่ค่อยจะรู้เรื่องเกี่ยวกับสภาวะทางสังคมของลิเบียแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางการเมือง หรือความมั่นคงด้านการดำเนินงานโครงการว่าจะถูกกระทบกระเทือนจากอะไรบ้าง” ซุงกล่าวในระหว่างเล่าถึงการเดินทางไปลิเบีย แต่ในที่สุดจากผลการประเมินสถานการณ์และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ชอยสรุปได้ว่าดองฮาต้องเข้ารับงานในลิเบีย

ในเดือนพฤษภาคม 1982 กลุ่มดองฮายื่นข้อเสนอที่จะดำเนินงานตามโครงการ GMR (Great Manmade River Project) และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ หลังจากที่ได้เจรจาอยู่ราว 1 ปี เกี่ยวกับราคา เงื่อนไข และการจ่ายเงิน ดองฮาจึงได้ลงนามในสัญญาก่อสร้าง โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือเป็นการว่าจ้างแบบเหมารวม (lump-sum) และกำหนดค่าจ้างเหมาคงที่ นอกจากกลุ่มดองฮาที่เข้ารับเหมางานนี้แล้ว การดำเนินงานเต็มตามโครงการจะต้องมีกลุ่มผู้รับเหมาอีก 2 กลุ่มซึ่งประกอบด้วยบริษัทผู้รับเหมาอีก 17 บริษัทเข้าร่วมดำเนินงานอยู่ด้วย

ในการดำเนินงาน บริษัทดองฮาคอนกรีตซึ่งมีความชำนาญอย่างสูงในการผลิตท่อคอนกรีตจะรับผิดชอบโดยตรงในโครงการนี้ โดยมีบริษัท Korea Express ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการขนส่งทำหน้าที่ลำเลียงวัสดุจากท่าเรือมายังบริเวณหัวงานและรับผิดชอบในการจัดเก็บวัสดุทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้าง

โครงการ GMR ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน 71 เดือน จะเป็นโครงการที่ดองฮาต้องทุ่มเทพลังทั้งหมดที่มีอยู่ในงานหลักประกอบด้วยการวางท่อขนาดใหญ่ 2 แนว (ดูแผนที่ประกอบ) ผ่านจากด้านตะวันออกของทะเลทรายซาฮาราไปสู่ชายฝั่งทะเล ซึ่งแนวแรกจะวกไปทางทิศตะวันตกและหยุดอยู่ที่เชอริเตซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอีกแนวหนึ่งจะพุ่งขึ้นทิศเหนือ สู่เมืองชายทะเลเบงกาซีและตลอดแนวทั้ง 2 นี้ รัฐบาลลิเบียวางแผนที่จะใช้น้ำเพื่อขยายพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ในทางส่วนเหนือของประเทศและน้ำนี้จะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่นที่ท่อผ่าน ซุงได้เล่าให้ฟังว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นทะเลทรายซึ่งไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ และไม่มีถนนหนทางตลอดจนน้ำประปาและไฟฟ้า

เช่นเดียวกับผู้รับเหมาเกาหลีอื่นๆ ในต่างประเทศ ดองฮาจะใช้แรงงานของตนในช่วงที่งานวางท่อพุ่งถึงจุดสุดยอดในตอนปลายปี 1985 ต่อปี 1986 นั้น จะมีคนงานของบริษัทอยู่ในลิเบียราว 10,000 คน นอกจากนี้บริษัทวางแผนที่จะใช้คนงานจำนวนหนึ่งในกรณีที่จำเป็นจากประเทศไทยเนื่องจากเสียค่าจ้างแรงงาน 1,200 ดอลลาร์/เดือน อันเป็นค่าแรงเพียง 1 ใน 3 ของค่าแรงช่างฝีมือชาวเกาหลีที่ทำงานนอกประเทศ

ทั้งๆ ที่เป็นงานขนาดใหญ่ โครงการนี้นับว่าไม่มีปัญหาด้านเทคนิคมากนัก และดองฮาคงจะสามารถดำเนินงานในขั้นตอนที่ยุ่งยากได้เป็นอย่างดี เพราะมีประสบการณ์มาจากการทำงานในทะเลทรายของซาอุดีอาระเบีย แต่ปัญหาที่คาดว่าอาจจะมีก็คือปัญหาการรับเงินค่าจ้างเหมา

เงื่อนไขประการหนึ่งซึ่ง ชอยยอมรับในสัญญาก็คือ ลิเบียจะจ่ายเงินค่าจ้าง 3 ใน 4 ของค่าจ้างทั้งหมด 3.27 พันล้านดอลลาร์ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และส่วนที่เหลือจะเป็นเงินดีนาร์ของลิเบีย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสัญญาไม่ได้ และลิเบียก็ยอมถือปฏิบัติตามนี้ จากคำกล่าวของ โดกาไล เมกฮารีฟ หัวหน้าฝ่ายการเงินของคณะกรรมการจัดการและดำเนินงานโครงการ GMR ตามปกติแล้วรัฐบาลลิเบียจะจ่ายเงินค่าจ้างในกรณีทั่วไป เป็นเงินดีนาร์ราว 35% นอกจากนี้ลิเบียยังพยายามชักจูงให้ดองฮายอมรับค่าแรงในรูปของแก๊สธรรมชาติ, น้ำมันดีเซล และเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ใช้ในการดำเนินโครงการ

ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของดองฮาได้มีรายงานว่าบริษัทจะมีเงินดีนาร์เหลืออยู่เป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ “ไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากนัก” เมาฮารีฟกล่าว “เพราะเงินนี้จะต้องเอาไปใช้ซื้อซิเมนต์อีก 2 ล้านตัน เพื่อไปใช้ในงานที่เบงกาซี” แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทแย้งว่า อย่างไรก็ตาม ก็ยังจะมีเงินดีนาร์เหลืออยู่อีก ซึ่งบริษัทถือว่าปัญหานี้สำคัญมาก และกำลังพยายามหาทางออกอยู่

สำหรับปัญหาที่ดองฮาจะยอมรับการชำระค่าจ้างในรูปของน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทนที่จะเป็นตัวเงินหรือไม่นั้น เมกฮารีฟ มองในแง่ดีกว่า “คงจะไม่มีปัญหาอะไรสำหรับการหาเงินมาชำระในการดำเนินงานเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกจะไม่ลดลงอีกแล้ว”

นักการธนาคารชาวตะวันตกในกรุงโซลก็ได้ให้ความเห็นว่า คงจะไม่มีปัญหา การชำระเงิน เนื่องจากทั้งทางฝ่ายรัฐบาลเกาหลีใต้และลิเบียต่างก็อยากให้โครงการนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น จึงเชื่อได้ว่ารัฐบาลทั้ง 2 คงจะรับประกันการชำระเงินอย่างแน่นอน สิ่งที่เขาวิตกก็คือเรื่องความสามารถของดองฮาที่จะดำเนินการกับโครงการขนาดนี้ว่าจะไปไหวหรือไม่ ทั้งในด้านการจัดและด้านระยะเวลา ซึ่งส่อเค้าว่าจะเกิดปัญหาต่อโครงการ ก็เหมือนกับเมื่อคุณแล่นเรือเข้าใกล้พายุข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อาจนำไปสู่อันตรายขนาดใหญ่ได้

บางทีอาจจะเนื่องจากเหตุผลเหล่านี้จึงมีงานทำอย่างหามรุ่งหามค่ำในโรงงานของดองฮาและมีการออกข้อบังคับให้ทำงานตลอด 24 ชม. ในสำนักงานใหญ่สีขาวมอซอ ซึ่งล้อมรอบด้วยบริเวณก่อสร้างในย่านธุรกิจการค้าในกรุงโซล ฮาค ซึ่งเป็นรองประธานฝ่ายบริหารมีงานยุ่งอยู่กับโครงการ GRM จนต้องลดเวลาการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร International Management และเลิกนัดกับผู้เข้าพบอีก 2 ครั้ง สำหรับตัวชอยเอง ดูเหมือนว่าจะมีเวลาเหลือเพียงเล็กน้อยสำหรับเล่นเทนนิสที่ชอบ และไม่มีเวลาเหลือพอที่จะให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์

ความกระตือรือร้นที่จะทำงาน

เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่แม้ว่า ชอยมุ่งมั่นที่จะให้ดองฮาถีบตัวเองสูงขึ้นกว่าเป็นธุรกิจระดับธรรมดาแต่ “เรายังต้องการงานแบบอื่นๆ อีก” โก เซิก ยัง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศกล่าว และเสริมว่าตอนนี้บริษัทกำลังเตรียมหาลู่ทางที่จะรับงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แอฟริกา หรือแม้แต่ในอลาสกา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับความกระทบกระเทือน เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำมันก็ตาม ก็ยังเห็นได้ว่าประเทศอุตสาหกรรมโดยส่วนรวมก็ยังอาจเป็นลูกค้ารายใหญ่ของกลุ่มดองฮา นับจากที่บริษัทดองฮาได้รับงานโครงการสร้างระบบระบายน้ำ มูลค่า 43 ล้านดอลลาร์ และงานก่อสร้างบ้านพักนายทหารมูลค่า 140 ล้านดอลลาร์ ในอาบูดาบี และยังรับงานเพิ่มเติมในซาอุดีอาระเบียอีกด้วย

บรรดาพนักงานระดับสูงในบริษัทดองฮาคัดค้านต่อคำกล่าวที่ว่า ชอยได้ขยายงานมากเกินความสามารถของบริษัท หลังจากตกลงรับงานกับลิเบียแล้ว พนักงานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าได้ว่าจ้างฝ่ายบริหารและฝ่ายวิศวกรเกินกว่า 200 คน ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว ทำให้จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 คน “เราเองก็มองกันว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม แต่เป็นประเภทอนุรักษนิยมแบบรุนแรง”

อันที่จริง ฝ่ายบริหารของบริษัทยอมรับว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย จากช่วงยุคเก่าของชอยผู้บิดา ทุกคนเห็นพ้องว่า ประธานบริษัทคนใหม่ ชอย วัน ซุค มีลักษณะค่อนข้างจะรุนแรง เฉียบขาด รวดเร็ว ในขณะที่ ชอย จุน มิน ผู้บิดายังคงทำงานอยู่ในสำนักงานใหญ่ในเกาหลีร่วมกับฝ่ายบริหารระดับสูงคนอื่นๆ ใช้เวลานานๆ ในการทบทวนปัญหาก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป ซึ่งตรงข้ามกับชอยผู้บุตรซึ่งใช้เวลากว่า 1 ใน 3 เพื่อเดินทางไปตามที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เพื่อไปสหรัฐฯ ยุโรป และตะวันออกกลาง เพื่อพบปะกับผู้บริหารในบริษัทก่อสร้างชั้นนำนานาชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นผู้มีอำนาจในการที่จะขยายขอบเขตการตลาดของบริษัท จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า ประธานบริษัทออกจะแก่เดินทางมากเกินไป

ในช่วงที่ชอยอยู่ในโซลที่สำนักงานใหญ่เขาทุ่มเทความสนใจให้กับบริษัทแม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมดองฮาอันประกอบด้วยบริษัทดองฮา คอนสตรัคชั่น และบริษัทดองฮาทรายสปอร์ตเทชั่น แต่ก็เปิดโอกาสให้ประธานบริษัททั้ง 2 ทำงานได้โดยอิสระ ตามปกติแล้วชอยชอบที่จะตัดสินปัญหาด้วยตนเอง และมักอยู่ในรูปของการสั่งการที่เฉียบขาด ผู้ใกล้ชิดกรณีกล่าวว่า ในด้านความสัมพันธ์กับผู้บริหารคนอื่นๆ ของบริษัทเขามักจะแสดงออกถึงบุคลิกที่เข้มแข็งแบบเผด็จการกลายๆ และมักจะชอบถามเรื่องราว ตลอดจนข้อมูล ตัวเลข ซึ่งในสายตาของคนอื่นๆ แล้วเห็นว่าไม่มีความสำคัญ

และหลังจากสร้างความงงงันให้กับผู้สันทัดกรณีทั้งหลายแล้ว ในเรื่องการรับงานในซาอุดีฯ ขณะนี้ ชอยหนุ่มกำลังทำเช่นนั้นอีกในลิเบีย “ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายของชอย ก็คือสร้างดองฮาให้เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี” จุงผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกล่าวพร้อมกับยิ้มน้อยๆ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us