|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2527
|
|
ในยุคที่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์แผ่ขยายไปทั่วโลกดังเช่นทุกวันนี้ ความตื่นตัวของผู้ซื้อและอยากมีคอมพิวเตอร์สักเครื่องไว้เป็นกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเรา ดูเหมือนจะสร้างความฮือฮาอยู่มากเป็นพิเศษ
การซื้อหาคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะเครื่องจิ๋วหรือที่เรียกกันว่าไมโครคอมพิวเตอร์กลายเป็นเรื่องสนุกสนาน เป็นเกมชนิดหนึ่งซึ่งท้าทายมาก แม้ว่าบ่อยครั้งผู้ซื้อหลายๆ คนที่ต้องจ่ายเงินนับหมื่นนับแสนบาทออกไปจะไม่สามารถใช้งานมันได้อย่างมีประสิทธิภาพคุ้มค่าหรืออาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วมันทำงานอะไรได้บ้าง ผู้ซื้อประเภท “ตามน้ำ” เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะมีความคิดว่าไมโครคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งภายในบ้านเหมือนเครื่องปั่นน้ำผลไม้ โทรทัศน์หรือเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า คือลองได้เสียบปลั๊กเมื่อไรมันก็ควรจะทำงานได้ทันทีเมื่อนั้น
สำหรับคนซื้อไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้ไม่ว่าจะหลวมตัวซื้อไปแล้วหรือกำลังจะซื้อจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้เครื่องให้เป็น การอบรมและการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องค่อนข้างจะเร่งด่วนมาก
เคยอ่านพบในแมกกาซีนฉบับหนึ่งว่าในสหรัฐอเมริกาจำนวนผู้เข้ารับการอบรมการใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ส่วนมากจะเป็นพวกที่มีไมโครคอมพิวเตอร์ตั้งประดับไว้บนโต๊ะทำงานเฉยๆ เนื่องจากเห็นว่ามันไม่ง่ายถ้าจะให้มันทำงานได้เหมือนกับที่เขาว่าๆ กัน ดังนั้นจึงควรพร้อมเสียก่อนค่อยลงมือปฏิบัติ
จากแมกกาซีนฉบับเดียวกันนี้ บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยสอนการใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ได้สำรวจผู้มีไมโครคอมพิวเตอร์ไว้ในครอบครองและพบว่ามีคนที่ยังไม่เคยใช้เลยถึง 25 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด เขาบอกว่าคนพวกนี้จะรู้สึกหงุดหงิดมากถ้าเหลือบไปเห็นไมโครคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาต้องตั้งอยู่บนโต๊ะเงียบๆ เพราะฉะนั้นจึงมีคนจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของส่วนนี้ทนต่อไปไม่ไหวต้องเอามันไปเก็บไว้ในที่ลับหูลับตาหมดเรื่องหมดราวไป
ผู้ซื้อไมโครประเภทนี้เขาบอกว่าโดยมากจะเป็นพวกที่ซื้อมาใช้ส่วนตัวหรือไม่อย่างนั้นก็เป็นบริษัทเล็กๆ ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน เพราะฉะนั้นในอเมริกา แม้จะมีคนซื้อไมโครไปใช้กันมาก แต่เขาก็พบว่ามีคนที่เอาไมโครไปโยนทิ้งเพราะไม่รู้จะใช้มันอย่างไรมากด้วยเช่นกัน
สำหรับบ้านเราเหตุการณ์เช่นนี้คงจะยังไม่ถึงกับรุนแรงเท่าเขา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้น เพราะเท่าที่สังเกตดูในฐานะผู้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์คนหนึ่งก็พบว่า บ้านเราก็มีอะไรที่คล้ายๆ กับเขาอยู่ไม่น้อยทีเดียว
อยากจะบอกว่าคนขายไมโครคอมพิวเตอร์ทั้งหลายนั้นมักจะเป็นประเภทที่ขายความฝันให้กับลูกค้า (พอๆ กับการขายประกันชีวิตนั่นแหละ) เพราะลูกค้าบางรายแทบจะไม่รู้เลยว่าคอมพิวเตอร์มันคืออะไร? ทำงานได้มากน้อยแค่ไหน? บางรายคิดว่าถ้าได้เจ้าจอภาพกับแป้นพิมพ์ดีดแบบนี้ไปไว้ในบ้านหรือที่ทำงานก็คงจะทุ่นความคิดของเขาลงไปบ้าง คือเครื่องมันจะช่วยคิดให้ พวกที่ยิ่งกว่านั้นก็คงจะคิดเลยเถิดไปได้อีกร้อยแปด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการขายไมโครคอมพิวเตอร์มีสิ่งที่ช่วยการขายมากมายอันจะทำให้ผู้ขายไม่จำเป็นต้องรู้ซึ้งถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยแล้ว ก็คงจะยิ่งไปกันใหญ่ ลองนึกดูก็แล้วกันว่า ถ้าคนขายเพียงแต่สาธิตการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปให้ลูกค้าชม ลูกค้าก็จะตัดสินใจซื้อไปใช้โดยหารู้ไม่ว่าผู้ขายได้แถมความฉงนสนเท่ห์และความประหลาดใจติดไปด้วยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อผู้ซื้อถึงบ้านจัดการเปิดกล่องจากนั้นก็ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะเมื่อลองกดๆ จิ้มๆ ดูแล้วมันไม่ยักกะเหมือนที่คนขายเขาทำ
ในตลาดไมโครคอมพิวเตอร์บ้านเรา ผู้ซื้อในระดับมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์พวกหนึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ส่วนอีกพวกจะเป็นนักธุรกิจที่พอจะรู้อยู่บ้าง
พวกแรกสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ได้อย่างถึงแก่นแท้แม้แต่เพียงแค่อ่านคู่มือ ส่วนพวกหลังนั้นมักจะใช้โปรแกรมสำเร็จรูปซึ่งได้มาจากผู้ขาย
โปรแกรมหนึ่งก็ใช้อยู่อย่างเดียว เช่น WORD PROCESSING SPREASHEET หรือไม่ก็ FILE MANAGEMENT
โปรแกรมสำเร็จรูปเหล่านี้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทผู้ขายหรือ SOFTWARE HOUSE ทั้งหลาย ผู้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ที่มีหูตากว้างไกลก็สามารถหาซื้อมาใช้ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อก็ยังต้องมีปัญหากับบริษัทขายไมโครคอมพิวเตอร์อยู่บ่อยๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อบางราย ตอนที่ซื้อเครื่องมาคนขายได้แนะนำซอฟต์แวร์มาให้ใช้ชุดหนึ่ง ก็ตกลงซื้อไว้รวมกับเครื่อง เมื่อลองนำมาใช้งานปรากฏว่าโปรแกรมไม่เป็นไปตามที่คนขายโฆษณาไว้ ติดต่อกลับไปทางคนขาย เจ้าหน้าที่ทางด้านเทคนิคก็ยอมรับว่าโปรแกรมสำเร็จรูปที่ขายให้นั้นมีข้อผิดพลาดหรือเกิด “บัค” อยู่หลายจุด แต่การแก้ไขมีอยู่แล้วในเอกสารประกอบการใช้ คนขายก็ว่าคนซื้อควรจะอ่านเอกสารเสียก่อนเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด คุยไปคุยมาก็พบอีกว่าโปรแกรมที่ขายให้ไปนั้น คนขายเองก็ยังไม่ได้ลองใช้เหมือนกัน
ในที่สุดเรื่องก็ต้องจบลงด้วยการที่คนซื้อต้องขอให้คนขายคืนเงิน เพราะไม่เช่นนั้นก็คงจะต้องฟ้องร้องกันถึงโรงถึงศาล
ในทุกวันนี้ผู้ซื้อรายใหม่ๆ มักจะประสบปัญหาแปลกๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากการเป็นเจ้าของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในสถานภาพหรือสภาวะต่างๆ กัน
บางรายเป็นเจ้าของเครื่องเพราะเพื่อนฝูงและธุรกิจที่เขาติดต่ออยู่ด้วยซื้อไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้กันแทบทั้งนั้นและก็มีหลายคนที่ต้องซื้อเพราะลูกๆ ที่บ้านรบเร้าเนื่องจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียนส่วนใหญ่เขามีกัน
สภาวะเช่นนี้ทำให้หลายคนรู้สึกว่าตนไม่ค่อยจะทันสมัยถ้าไม่มีเจ้าจอภาพกับแป้นพิมพ์ดีดนี้ประดับบ้าน และก็ลูกค้าประเภทนี้แหละที่เดินเข้าไปหาคนขายโดยไม่มีจุดมุ่งหมายแน่นอนในการเลือกซื้อหรือถ้าจะปกปิดความไม่รู้ของตนก็คงต้องฝากให้ใครหิ้วจากต่างประเทศเข้ามาฝากสักเครื่อง
เมื่อไม่มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนในการซื้อ คนขายเองก็คงไม่ทราบว่าจะแนะนำอย่างไร ควรใช้ซอฟต์แวร์อย่างไหน หรือฮาร์ดแวร์ชนิดใด? ผู้ซื้อพวกนี้ได้เครื่องไปแล้วมากต่อมากจะเริ่มไม่รู้อะไรเลย และเมื่อลงมือใช้เครื่องก็จะยิ่งเพิ่มความไม่รู้มากขึ้นไปอีก ในที่สุดก็เลยต้องตั้งไว้เฉยๆ
ส่วนผู้ซื้อบางรายมีความกลัวว่าจะทำให้คอมพิวเตอร์มันเสียหาย ดังนั้นจึงไม่พยายามลองเล่นกับมันเกินความจำเป็นและสามัญสำนึกมักจะบอกอยู่เสมอว่า คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องที่ฉลาดมาก ดังนั้นมันจะทำผิดพลาดไม่ได้ ถ้าเกิดความผิดพลาดก็จะเป็นเพราะผู้ใช้ใช้ผิดหาใช่ความผิดปกติของเครื่อง
เพื่อนๆ หลายคนซึ่งไม่มีความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์มาก่อน บ่อยครั้งที่ทำสิ่งที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ออกไปโดยการอ่านคำสั่งแล้วไม่เข้าใจ อย่างเช่น ในคู่มือมีคำสั่งว่าให้ดึงแผ่นดิสเก็ตต์จากซอง (JACKET) เขาก็อาจจะดึงแผ่นดิสเก็ตต์จากซองที่หุ้มจริงๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นจานแม่เหล็กนั้น (ปกติดิสเก็ตต์จะมีซองสองชั้น คือซองกระดาษที่ใช้ป้องกันการจับแผ่นดิสเก็ตต์กลับหน้ากลับหลังกันหรือบางรายอาจจะดึงแผ่นดิสเก็ตต์ออกจากเครื่องอ่านอย่างรุนแรงทำให้เครื่องชำรุดได้
จะเป็นไปได้ไหมถ้าวงการคอมพิวเตอร์บ้านเราจะพยายามแก้ไขเรื่องเหล่านี้ด้วยการช่วยกันเขียนคู่มือการใช้เครื่องและโปรแกรมชนิดต่างๆ แบบง่ายๆ ใช้ภาษาธรรมดาๆ คนที่ไม่มีพื้นความรู้ทางคอมพิวเตอร์อ่านแล้วรู้เรื่อง สามารถใช้งานได้ แทนที่จะมีแต่สิ่งที่อ่านเท่าไรแล้วก็ทำความเข้าใจได้ยากเหลือเกิน
ขอฝากเรื่องนี้ไว้เป็นข้อคิดด้วย
สุพงษ์ ฐาปนุชิต
พญาไท กรุงเทพฯ
|
|
|
|
|