การจัดอันดับดังกล่าวนี้ ทำให้ธนาคารสามารถกำหนดวงเงินจำกัดสูงสุดตามจำนวนแต้มของเครดิตที่ควรจะให้ รวมทั้งกำหนดอัตราส่วนของหนี้ที่จะยินยอมให้ได้ ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้
เมื่อปีที่แล้ว วารสาร “แบงเกอร์” ของอังกฤษ ได้พิมพ์เผยแพร่ผลการสำรวจโดยใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่ธนาคารเขาใช้กัน ซึ่งปรากฏว่าธนาคารแต่ละธนาคารต่างก็มีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างออกไป
บางธนาคาร (ซึ่งรวมถึงธนาคารใหญ่ๆ หลายธนาคารด้วย) ได้ใช้หลักเทคนิคในทางคุณภาพโดยเฉพาะ ซึ่งความประทับใจทางอัตนัย และความนึกคิดของนายธนาคารจะบังเกิดขึ้น หลังจากได้พิจารณาดูดัชนีต่างๆ ทางเศรษฐกิจแล้ว
แต่บางธนาคารก็ใช้ตัวแบบทางเศรษฐกิจเนรมิตอย่างสลับซับซ้อน ซึ่งประกอบขึ้นด้วยสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองจำนวนหนึ่ง
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ศึกษากันสำหรับใช้ในการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ได้แก่ ตัวเลขของผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติ (GNP.) และ/หรืออัตราความเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติ, ภาวะเงินเฟ้อ และ/หรือ การขยายตัวของปริมาณเงิน, ขนาด การขยายตัว หรือการลดลงของจำนวนเงิน งบประมาณขาดดุล, ความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับการค้าต่างประเทศ เช่น การขาดดุลทางการค้า และภาวะเงินสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศ
ส่วนความเปราะบางของเศรษฐกิจประเทศอันเนื่องจากปัจจัยภายนอกนั้น ประเมินค่าโดยดูจากความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับสภาพของการส่งออก กับแหล่งที่ตั้งของตลาดสินค้าออกรวมทั้งความสามารถในการลดปริมาณสินค้าเข้าเมื่อถึงคราวจำเป็น
ระดับหนี้สินต่างประเทศของประเทศหนึ่งๆ รวมทั้งขนาดของการผ่อนชำระหนี้สินคืน นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดอันดับเครดิต
ธนาคารส่วนมาก ชั่งน้ำหนักตัวเลขเหล่านี้ด้วยการเปรียบเทียบกับสภาพความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างประเทศลูกหนี้กับประเทศที่ธนาคารเจ้าหนี้ตั้งดำเนินกิจการอยู่
บางธนาคารถือเอาอัตราส่วนของรายจ่ายทางการทหารไปเทียบส่วนกับผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติ มาเป็นมูลฐานสำคัญในการประเมินความเสี่ยงของประเทศนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับที่ตัวเลขเหล่านี้อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ขนาดของรายจ่ายที่ไม่สร้างดอกผล ตัวเลขนี้ยังอาจใช้เป็นมาตรการสำหรับแสดงเสถียรภาพภายในและภายนอกของประเทศก็ได้ หรือแสดงถึงความไร้เสถียรภาพ
ตารางนี้แสดงให้เห็นถึงน้ำหนักสัมพันธ์ที่ให้แก่ความเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างเหล่านี้ ตามแบบต่างๆ ของธนาคาร 3 แบบด้วยกันคือ :- (ดูตาราง)
เงื่อนไขซึ่งประเทศผู้กู้ยืมเงินประเทศใดประเทศหนึ่งอาจได้รับมาปฏิบัติเมื่อได้รับเงินกู้จากตลาดการเงินระหว่างประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนงวดและระยะเวลาของการผ่อนชำระเงินต้นในแต่ละงวด) ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงระบบการประเมินของธนาคารที่ใช้กับประเทศนั้นๆ
จำนวนเงินชำระคืนที่กำหนดให้ในแต่ละงวดย่อมหมายถึงส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงให้กับประเทศผู้กู้ กับอัตราดอกเบี้ยที่จะพึงให้แก่ผู้กู้ที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (หรือนัยหนึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นเยี่ยมหรือไพรม์เรต ในสหรัฐอเมริกา หรืออัตราดอกเบี้ยลิบอร์ คืออัตราดอกเบี้ยที่ให้กู้ยืมกันระหว่างธนาคารในกรุงลอนดอนของอังกฤษ)
ส่วนระยะเวลาถึงกำหนดของเงินกู้ คือระยะเวลาที่กำหนดให้ชำระคืนเงินต้น
จะเห็นได้ว่า ประเทศใดอยู่ในอันดับที่สูงขึ้น ระยะเวลาถึงกำหนดของเงินกู้ สำหรับประเทศนั้น ก็จะยิ่งยาวนานออกไปและเงินชำระคืนในแต่ละงวดก็มีจำนวนน้อยลง
ในทุกๆ ปี นิตยสาร ยูโรมันนี ในกรุงลอนดอน จะจัดอันดับของประเทศต่างๆ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขทางเครดิตที่ผูกมัดอยู่กับเงินกู้ของประเทศนั้นๆ
การลดลงอย่างฉับพลันในการได้รับความเชื่อถือจากธนาคารระหว่างประเทศ และการขยายตัวของตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นๆ ในตลาดการเงินระหว่างประเทศในช่วงปี 1982 ย่อมหมายความว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่อาจเป็นที่เชื่อถือได้เสียแล้ว
ตัวอย่างเช่น สหภาพโซเวียต สามารถได้รับสินเชื่อเป็นเงินดอยช์มาร์กของเยอรมันได้ในเงื่อนไขที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งในปี 1982 โดยธนาคารเยอรมันหลายธนาคารได้ร่วมกันให้เงินกู้เกี่ยวกับโครงการต่อท่อแก๊สธรรมชาติรายใหญ่และไม่เกี่ยวกับเงื่อนไข (ซึ่งจะหนักกว่า) ที่จะใช้กับโซเวียต ถ้าหากโซเวียตจะแสวงหาสินเชื่อเงินกู้รวมจากหลายธนาคาร (คือ เงินกู้ที่รวมกันให้กู้จากหลายธนาคารในประเทศต่างๆ กันหลายประเทศ)
บางประเทศสามารถได้รับเงินกู้เพียงราว 10, 30 หรือ 50% ของจำนวนเงินที่ขอกู้ในตอนแรกเท่านั้น
เงินกู้รวมจากหลายแห่ง ซึ่งเมื่อปี 1980 ได้เคยเกี่ยวข้องร่วมกันตั้ง 150 ธนาคารนั้น พอมาในปี 1982 คงมีธนาคารใหญ่ๆ เพียง 5-10 ธนาคารเท่านั้น ที่พร้อมจะเข้าร่วมการให้กู้เงินตามแบบดังกล่าวได้
แต่อีกด้านหนึ่ง ประเทศต่างๆ บางประเทศอย่างเช่น สวีเดน สามารถเลือกเอาได้ ระหว่างการออกพันธบัตรเงินกู้ กับการกู้ยืมเงินรวมจากหลายๆ ธนาคาร
ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในกรุงลอนดอน, สหรัฐอเมริกา และยุโรป กำลังแตกต่างกันมากขึ้นทุกที ประเทศที่อยู่ในอันดับสูงที่สุด (อย่างเช่น สวีเดน) ย่อมมีโอกาสที่จะเลือกหาเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเอาได้
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยไพรม์เรต ของสหรัฐอเมริกา สูงมากเกินไป ผู้กู้ก็จะหันไปเลือกเอาอัตราดอกเบี้ยของลิบอร์ การที่ประเทศต่างๆ แต่ละประเทศได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับเงื่อนไขทางเครดิตตามแบบที่ธนาคารต่างๆ ใช้ประเมินเพื่อจัดอันดับความเสี่ยงของประเทศนั้นๆ
รายการจัดอันดับเครดิตของประเทศต่างๆ ดังรายชื่อที่เรียงตามลำดับเครดิตสูงต่ำนี้ จัดทำขึ้นและพิมพ์เผยแพร่โดยนิตยสาร ยูโรมันนี อันเป็นการจัดอันดับของประเทศต่างๆ โดยถือหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการคือ :-
ก) ความสามารถของประเทศนั้นๆ ที่จะเข้าถึงตลาดเงินต่างๆ (เช่น ตลาดพันธบัตรเงินกู้, ตลาดเงินรวมกันให้กู้ เป็นต้น) และโดยไม่คำนึงว่าประเทศนั้นๆ จะสามารถเลือกเอาอัตราดอกเบี้ยตามที่ตนพอใจได้หรือไม่ก็ตาม (เช่น อัตราดอกเบี้ย ลิบอร์, อัตราดอกเบี้ย ไพรม์เรต หรืออัตราดอกเบี้ย ในยุโรป เป็นต้น)
ข) เงื่อนไขที่จะพึงใช้ปฏิบัติ ถ้าหากประเทศนั้นใช้ทรัพยากรตามปกติธรรมดา ในการเข้าสู่ตลาดเงินดังกล่าว
ค) จำนวนเงินกู้ที่จะได้รับจริงในที่สุด คิดเป็นร้อยละเท่าไรของเงินที่ขอกู้ในตอนแรก
ตามหลักเกณฑ์ต่างๆ แต่ละหลักเหล่านี้ประเทศต่างๆ จะถูกนำมาจัดอันดับ ตั้งแต่ที่ 1 ถึง 100 ส่วนตัวเลขขั้นสุดท้ายนั้น ได้มาจากการชั่งน้ำหนักสัมพันธ์ของหลักเกณฑ์แต่ละหลักใน 3 หลักดังกล่าวคือ หลัก ก) ให้ 40%, หลัก ข) ให้ 30 % และหลัก ค) ให้ 30 %
|