|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2527
|
|
การให้ลูกน้องขอยืมเงิน มีทั้งข้อดี – ข้อเสีย
ข้อดีก็คือ สามารถผูกพันลูกน้องได้ระดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยที่สุด ลูกน้องก็เกรงใจ และเห็นว่า
หัวหน้าเป็นคนใจดี รักและช่วยเหลือลูกน้อง
ข้อเสียคือ สร้างความคาดหวังที่ผิด เพราะลูกน้องอาจจะคิดว่า
ไม่เป็นไร หากมีปัญหาจริงๆ ลูกพี่คงจะให้ความช่วยเหลือได้
และเมื่อคุณ (ซึ่งเคยให้ขอยืม) เกิดมีปัญหาและให้ขอยืมอีกไม่ได้ ลูกน้องอาจจะมองคุณไปอีกอย่าง!
หัวหน้าบางคนที่มีลูกน้องไม่กี่คน ก็พอจะกล้อมแกล้มให้ลูกน้องขอยืมเงินได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่ถ้ามีลูกน้องหลายคนและมีปัญหา เงินไม่พอใช้พร้อมๆ กัน หรือบ่อยๆ หัวหน้าก็ลำบากใจเหมือนกัน
เคยมีหัวหน้าบางคน ไปรับงานใหม่ๆ อยากสร้างความประทับใจให้ลูกน้อง
เดือนแรกของการทำงาน ลูกน้องก็ขอพบเป็นการส่วนตัว และเปิดฉากขอยืมเงินทันที
หัวหน้าคนนั้นก็ให้ทันทีเหมือนกัน
ไม่กี่วันต่อมา ลูกน้องอีกคนก็มาขอแสดงความเคารพนับถือด้วยการขอยืมเงินอีก
ควักให้ไปอีกเหมือนกัน นึกในใจ “พอทนได้”
รายที่สามโผล่มาอีก คราวนี้หัวหน้าปฏิเสธและบอกว่าตนเองเงินไม่พอให้ขอยืมเสียแล้ว
วันต่อมา ลูกน้องรายที่ขอยืมเงินไม่สำเร็จ ก็แสดงอาการเฉยเมย ไม่ค่อยร้อนหนาวกับงานที่นายสั่ง แถมมีคำสดุดีเข้าหูหัวหน้าคนใหม่ว่า
“ไม่ยุติธรรม ทีคนอื่นๆ ให้ขอยืมได้ ทีกูไม่ให้ กูประจบไม่เก่งเหมือนไอ้สองคนนั้นนี่”
ดีที่หัวหน้าปฏิเสธรายที่สาม เพราะมิฉะนั้น จะมีรายอื่นๆ ติดตามมา
เพราะรายที่ขอยืมได้ ก็ไปสดุดีว่า หัวหน้าคนใหม่ใจดี ขอยืมเงินปุ๊บก็ให้ทันที
คนอื่นๆ ก็อยากได้บ้าง!
การสร้างความประทับใจด้วยการให้ลูกน้องขอยืมเงิน สร้างความปวดใจให้แก่นักบริหารนักต่อนักแล้ว
พนักงานประเภท Blue Collar มักจะมีปัญหาด้านการเงินมากกว่าประเภท White Collar
พนักงานที่มีปัญหาด้านเงินไม่พอใช้นั้น หากจะแบ่งแล้ว จะมี 3 ประเภทใหญ่ๆ
ประเภทแรก ยากจนเรื้อรัง ไม่พอใช้จริงๆ เพราะสมาชิกในครอบครัวมีมาก แต่รายได้น้อย ต้องกู้หนี้ยืมสินทุกๆ เดือน เงินเดือนที่ออกมา ก็ต้องไปใช้ทั้งต้นทั้งดอก จึงเป็นดินพอกหางหมู
ประเภทที่สอง ไม่พอใช้เพราะใช้จ่ายเกินตัว
เชื่อหรือไม่ว่า พนักงานขับรถเงินเดือนและ OT รวมกันเดือนละ 4,500 บาท แต่มีเครื่องเสียงฟังและโทรทัศน์สีดู พร้อมกับมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง
ปรากฏว่าเงินผ่อนส่งของฟุ่มเฟือยข้างต้นตกเดือนละ 3,000 บาท
ลูกเมียคงอิ่มภาพและเสียงโดยไม่ต้องกินข้าว
เมื่อถามว่าเงินที่เหลือจะพอใช้ตลอดเดือนหรือ?
คำตอบก็คือ คงไม่พอหรอกครับ คงต้องขอยืมจากเพื่อนฝูง
ประเภทที่สาม มีความจำเป็นกะทันหันหรือเป็นครั้งคราว เช่น ญาติพี่น้อง, ลูกเมียหรือสามี เจ็บป่วยกะทันหัน
เมื่อลูกน้องมาขอยืมเงิน สิ่งแรกที่ควรจะทำก็คือ พิจารณาความจำเป็นของเงินที่จะขอยืมเสียก่อน
หากลูกน้องมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจริง อาจจะต้องปรึกษากับฝ่ายบุคคลในบริษัทว่า
มีช่องทางไหนบ้าง?
เพราะฝ่ายบุคคลจะทราบดีว่า ในบริษัทนั้นมีโครงการด้านสวัสดิการอะไรบ้าง เช่น โครง
การเงินกู้พิเศษ เงินกู้ฉุกเฉิน หรือแม้แต่การกู้เงินจากเงินสะสม
หากมีโครงการดังกล่าวในบริษัทก็น่าจะศึกษารายละเอียดและแนะนำให้ลูกน้องไปพบหรือปรึกษากับฝ่ายบุคคล
เท่ากับว่า แนะนำให้ลูกน้องขอรับความช่วยเหลือจากบริษัท
แต่ถ้าบริษัทไม่มีโครงการสวัสดิการด้านนี้ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า
ประวัติการทำงานและทัศนคติของลูกน้องคนนั้นเป็นอย่างไร?
เงินที่จะขอยืมมากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนที่เขาได้รับ
รายจ่ายปัจจุบันของลูกน้องคนนั้นมีอะไรบ้าง?
เงื่อนไขการจ่ายเงินคืนเป็นอย่างไร?
และที่สำคัญ คุณเองจะเดือดร้อนบ้างหรือไม่ หากให้ขอยืมเงินไป
ถ้าพิจารณาไตร่ตรองแล้ว คิดว่า
น่าจะให้ความช่วยเหลือได้ก็ช่วยกันไป
แต่ถ้าคิดว่า ขืนให้ความช่วยเหลือไป คุณเองอาจจะเดือดร้อน
ก็น่าจะพูดและอธิบายให้เขาฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า
คุณช่วยเหลือเขาไม่ได้
เกี่ยวกับการตัดสินใจว่า จะให้หรือไม่ให้ลูกน้องขอยืมเงินนั้น หัวหน้าที่เป็นผู้หญิงมักจะคิดมากและรอบคอบกว่าผู้ชาย
เคยมีนักบริหารคนหนึ่ง เมื่อลูกน้องขอยืมเงินมากๆ และบ่อยๆ ไม่รู้จะปฏิเสธยังไงดี จึงลงทุนควักเงินให้ก้อนหนึ่ง เป็นกองกลาง และตั้งกฎเกณฑ์ว่า
หากใครจะขอยืมเงิน ก็ให้เอาเงินมาเข้ากองกลางทุกๆ เดือนๆ ละ 100 บาท และในระยะแรก (6 เดือน) ห้ามขอยืมเงินจากกองทุนดังกล่าว
จากนั้นก็ให้ลูกน้องเลือกคนมาจัดสรรเงินกองดังกล่าว พร้อมกับที่กำหนดกฎเกณฑ์การขอยืมเงินได้เสร็จสรรพ
หากใครจะขอยืมเงิน ก็ไปขอยืมเงินจากกองทุนดังกล่าวได้ โดยเสียดอกเบี้ยถูกมาก
จัดได้ว่าเป็นการปฏิเสธและแก้ปัญหาที่นุ่มนวล และเป็นผลดีกับทุกๆ ฝ่าย
แต่ก็มีนักบริหารบางคน แทนที่จะหาทางให้ลูกน้องได้ขอยืมเงิน
กลับหาทางชี้แจง แนะนำให้ลูกน้องจัดทำงบประมาณการใช้จ่ายในแต่ละ 1 เดือน และให้ลูกน้องพยายามใช้จ่ายตามแผนที่วางไว้
พร้อมกับสร้างความสำนึกที่ถูกต้องของการใช้เงินและชี้ให้เห็นคุณค่าของเงิน
บางคนก็แนะนำให้ลูกน้องฝากเงินกับธนาคาร โดยชี้ให้เห็นประโยชน์ของการออมทรัพย์ในระยะยาว
บางคนให้ของขวัญลูกน้อง โดยการเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ให้ลูกน้อง จากนั้นจึงให้ลูกน้องฝากเงินเข้าบัญชีทุกๆ เดือน
อย่างไรก็ตาม การจะให้หรือไม่ให้ลูกน้องขอยืมเงิน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและตัดสินใจโดยดูความเป็นจริงตามสภาพแวดล้อมและตัวคนที่มาขอยืมเงินเป็นเกณฑ์
และเมื่อจะช่วยเหลือลูกน้องด้วยการให้ขอยืมเงินส่วนตัว หรือจัดหาแหล่งเงินขอยืมให้ลูกน้องนั้น
ควรจะต้องมั่นใจว่า การช่วยเหลือดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการสร้างความคาดหวังที่ผิดๆ
และควรจะต้องมั่นใจต่อไปว่า การช่วยเหลือดังกล่าว เพื่อให้ลูกน้องสามารถช่วยตัวเองได้ใน
อนาคต
|
|
|
|
|