|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2527
|
|
ข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ในสมัยหนึ่งถือกันว่า เป็นข่าวชิ้นเล็กๆ ไม่ได้มีความสลักสำคัญมากมาย เฉพาะหนังสือพิมพ์รายวัน ข่าวประเภทนี้จะถูกซุกอยู่หน้าในๆ และพร้อมที่จะยกออกทันทีถ้าเป็นวันออกลอตเตอรี่
แต่ 5-6 ปีมานี้ ทุกอย่างดูจะกลับเป็นตรงกันข้าม
ข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญขึ้น รายวันหลายฉบับเริ่มแยกข่าวประเภทนี้ออกมาเป็นคอลัมน์พิเศษและมีหนังสือพิมพ์รวมถึงนิตยสารที่รายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ-ธุรกิจ โดยเฉพาะเกิดขึ้นนับ 10 ฉบับ
รายงานข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจ หลายๆ ชิ้นได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยามากมายขึ้นในสังคม ซึ่งแน่นอนย่อมมีทั้งที่เป็นแง่บวกและแง่ลบ
สำหรับแบงก์กรุงเทพในฐานะเฟืองจักรตัวใหญ่ในระบบการเงินของประเทศ ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องถูกกล่าวถึงในแง่ของการตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะใกล้ๆ นี้แบงก์กรุงเทพมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้บริหารการปรับโครงสร้างการบริหารขึ้นมาใหม่ การเปลี่ยนนโยบายมาเน้นเรื่องคุณภาพของสินเชื่อ ข่าวคราวก็เลยมีมากกว่าปกติตามไปด้วย
เมื่อถูกกล่าวถึงมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบงก์กรุงเทพจะกลายเป็นผู้ที่ซึมซับถึงความสำคัญของหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-ธุรกิจ หรือนักข่าวผู้เขียนข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจมากที่สุดแห่งหนึ่ง
และก็คงจะซึมซับมากในช่วง “72 ชั่วโมงวิกฤต” หลายเดือนก่อน ครั้งที่มีมือดีปล่อยข่าวว่า แบงก์กรุงเทพล้ม และคนแห่มาถอนเงินเพียงแค่ 3 วัน ถึงกว่า 4,000 ล้านบาท
“ข่าวลือหรือใบปลิวที่ปล่อยออกมานั้นมันเกิดขึ้นในจุดเล็กๆ แถวย่านธุรกิจของคนจีนแต่ข่าวที่แพร่สะพัดออกไปอย่างกว้างขวางนั้น เป็นเพราะหนังสือพิมพ์นำเรื่องนี้ไปถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง...” นักสังเกตการณ์วงนอกคนหนึ่งสรุป
“ก็คงจะมีส่วนจริง ซึ่งสำหรับนักหนังสือพิมพ์ก็เชื่อว่า ตนรายงานข่าวตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร แต่สำหรับคนไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ก็อาจจะมองว่า หนังสือพิมพ์บางฉบับรายงานออกไปโดยขาดความเข้าใจหรือถ้าเข้าใจก็ไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงินของประเทศ สำหรับผู้บริหารของแบงก์กรุงเทพก็คงจะคิดอย่างนี้ไปด้วย...” อดีตนักหนังสือพิมพ์ระดับอาวุโสแสดงความเห็น
เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นและเหตุการณ์นั้นก็ได้ให้บทเรียนที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้กุมบังเหียนแบงก์กรุงเทพ สิ่งที่จะต้องทำกันต่อไปก็เห็นจะเป็นการป้องกันไม่ให้เรื่องร้ายแรงเช่นนั้นหวนกลับมาวาดลวดลายอีกครั้ง
ชาตรี โสภณพนิช เปิดใจกับ “ผู้จัดการ” ว่า มีความจำเป็นที่แบงก์กรุงเทพจะต้องยกเครื่องงานประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ และขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดนโยบายด้านการประชาสัมพันธ์ต่อไป คณะกรรมการชุดนี้มี วิระ รมยะรูป รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธาน นอกจากนี้ก็ยังได้มอบหมายให้ ดร.สาธิต อุทัยศรี รองผู้จัดการประจำสำนักผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่เป็นสโปกแมนของแบงก์อีกด้วย
“ผมอยากจะเรียนว่า ต่อไปนี้ถ้ามีข่าวเกี่ยวกับธนาคารกรุงเทพ ขอให้โทรเช็กมาที่เรา จะเป็นผมหรือคุณวิระ หรือ ดร.สาธิต อุทัยศรี ก็ได้เรายินดีเปิดเผยอย่างยิ่ง...” ชาตรีบอกกับนักข่าวหลายๆ คน
นอกจากจะมีสิ่งที่เรียกว่า “การยกเครื่อง” งานประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นแนวความคิดของประธานกรรมการบริหาร ดร.อำนวย วีรวรรณ ก็เห็นจะได้แก่ การริเริ่มโครงการพิเศษ ฝึกอบรมนักข่าวเศรษฐกิจ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “การอบรมพิเศษเพื่อสื่อมวลชน” โดยมอบให้ส่วนการฝึกอบรมฝ่ายการพนักงานประสานงานกับฝ่ายการประชาสัมพันธ์ดำเนินการขึ้นมา
โครงการฝึกอบรมพิเศษ “เพื่อสื่อมวลชน” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว 1 รุ่น โดยได้เปิดอบรมเป็นเวลา 9 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2527 ถึง 4 ตุลาคม 2527 มีการบรรยายทั้งสิ้น 15 หัวข้อรวม 25 ชั่วโมง และพาไปทัศนศึกษาที่โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ซึ่งแบงก์กรุงเทพอำนวยสินเชื่อการเกษตรอยู่อีก 15 ชั่วโมง รวมแล้วกว่าที่นักข่าวเศรษฐกิจจะหลุดรอดไปรับใบวุฒิบัตรจากมือ ชาตรี โสภณพนิช ได้ในวันปิดการอบรมก็จะต้องอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงเต็มๆ
ส่วนหัวข้อการบรรยายและวิทยากรที่แบงก์กรุงเทพเชิญมาอัดฉีดความรู้และประสบการณ์ให้นักข่าวเศรษฐกิจกว่า 60 คน จากสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงนั้นก็ประกอบด้วย
การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- เศรษฐกิจไทย ดร.สาธิต อุทัยศรี รองผู้จัดการประจำสำนักผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
- กระบวนการงบประมาณแผ่นดิน ม.ร.ว. จันทรแรมศิริโชค จันทรทัต รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- นโยบายการเงินของรัฐ ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- รัฐวิสาหกิจ บัณฑิต บุณยะปานะ อธิบดีกรมบัญชีกลาง
- ประชากรและปัญหาว่างงาน มีชัย วีระไวทยะ เลขาธิการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
- พลังงาน – อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต ประพัทธ์ เปรมมณี เลขาธิการพลังงานแห่งชาติ
- การประกอบการของธนาคารพาณิชย์ สุรินทร์ ตุลย์วัฒนกิจ ที่ปรึกษาทางการตลาด ด้านกิจการธนาคารในประเทศ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
- เทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลคลื่นลูกที่สาม ดร. วิพรรธ์ เริงพิทยา ประธานบริษัทวิปเทล
- การอำนวยสินเชื่อทางการเกษตร ชูศักดิ์ หิมะทองคำ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
- การส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม สถาพร กวิตานนท์ รองเลขาธิการบีโอไอ
- ระบบภาษีอากร ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รองอธิบดีกรมสรรพากร
- การค้าระหว่างประเทศ สมพล เกียรติไพบูลย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
- นโยบายและแผนงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สุรศักดิ์ นามานุกูล ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
โครงการฝึกอบรมพิเศษ “เพื่อสื่อมวลชน” แม้จะมีที่มาจากสถานการณ์ที่ไม่ค่อยจะดีนักสำหรับแบงก์กรุงเทพ และแม้จะมีนักข่าวหลายคนพยายามจะเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “เพื่อสื่อมวลชนและธนาคารกรุงเทพ” แต่ในแง่ของประโยชน์โดยตรงที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจทั้งในแง่ทฤษฎีและข้อเท็จจริงตลอดจนความคิดเห็นของวิทยากรทุกๆ ท่านแล้ว ก็คงไม่มีผู้เข้ารับการอบรมคนไหนกล้าปฏิเสธ
ดูเหมือนจะมีเสียงเรียกร้องให้ธนาคารกรุงเทพ จัดรุ่นที่ 2 และ 3 ต่อๆ ไปด้วยซ้ำ
แบงก์กรุงเทพยังไม่ได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกับโครงการพิเศษดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะในประเด็นว่า จะดำเนินต่อไปหรือว่าจะหยุด เจ้าหน้าที่บริหารของแบงก์คนหนึ่งกล่าวเพียงว่า การจัดฝึกอบรมเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการกันมากพอสมควร เพราะต้องมีค่าใช้จ่าย มีกำลังเจ้าหน้าที่
จะมีเหตุผลสำคัญแต่แบงก์กรุงเทพไม่ได้บอกก็เห็นจะเป็น การรอดูผลที่เกิดขึ้นจากผู้เข้ารับการอบรมรุ่นแรกนี่กระมัง
|
|
|
|
|