Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2527
โรคคลั่งกอล์ฟของญี่ปุ่น             
 


   
search resources

Sports




ใครตี “โฮลอินวัน” ได้ถือว่าโชคร้ายมาก

กอล์ฟก็เป็นเพียงกีฬาชนิดหนึ่งสำหรับชาวโลกทั่วๆ ไป แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นกอล์ฟเป็นมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแต่เล่นและดู ชาวญี่ปุ่นยังแต่งตัว ขับรถ อ่านหนังสือ พูดคุย ดื่มและครุ่นคิดอยู่กับกอล์ฟอีกด้วย

กอล์ฟหรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกกันว่า “โกรูฟู” ไม่ใช่กีฬาที่ชาวญี่ปุ่นนิยมชมชอบมากที่สุด แน่นอนเพราะเบสบอลแย่งเอาไปแล้ว ไม่ใช่กีฬาดั้งเดิมประจำชาติอีกเหมือนกันเพราะมีมวยปล้ำพื้นเมืองที่เรียกกันว่าซูโม่อยู่ ซ้ำกอล์ฟยังเพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1903 นี้เองในเมื่อชาวอังกฤษนายหนึ่ง อาเธอร์ กรูม ผู้ซึ่งรักกอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น แล้วสร้างสนามกอล์ฟขนาดย่อมสามหลังขึ้นที่ลานสนามของบ้านพัก และนับแต่นั้นมากอล์ฟก็ได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในญี่ปุ่นอย่างแน่นแฟ้นเกินความคาดหมายจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่มากกว่ากีฬาอย่างปกติธรรมดา เป็นอารยธรรมจากโลกตะวันตกที่ซึมแทรกเข้าไปในสายเลือดของชาวญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้งและมีอิทธิพลมากอย่างคาดไม่ถึง และซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะเป็นอิทธิพลที่แตกต่างไปจากลักษณะพื้นฐานดั้งเดิมของกอล์ฟในโลกตะวันตกด้วย

อิทธิพลและอารยธรรมที่เกิดจากกอล์ฟในญี่ปุ่นนั้นดูเหมือนจะแพร่ขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดูได้จากคำพูดของรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นกล่าวแก่นักข่าวต่างชาติที่มาสัมภาษณ์ถึงทัศนะของเขาที่มีต่อข้อเสนอเงื่อนไขการทำธุรกิจการค้าต่างๆ ว่า “เราก็เพียงแต่ตีเจ้าความคิดเรื่องนี้ลงในสนามหญ้าเท่านั้นเอง”

เสื้อสำหรับใส่เล่นกอล์ฟสวมกันได้ สวมกันดีทั้งนอกและในสนามกอล์ฟ ถือว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งไปแล้ว เหมือนกับกางเกงในผ้าฝ้ายดิบสีขาวอย่างที่อาร์โนลด์ ปาล์มเมอร์ชอบใส่นั้นขายดิบขายดีที่สุดในหมู่กางเกงในชายชาวญี่ปุ่น เช่นเดียวกับรถยนต์ต่างประเทศที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นคือ โฟล์คกอล์ฟ ส่วนจะเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศก็จะต้องรถนิสสันรุ่น แจ็ค นิกคลอส

ตลาดหนังสือของญี่ปุ่นก็แน่นอนว่าจะต้องมีหนังสือเฉพาะของกอล์ฟสิบกว่าเล่ม ขายดิบขายดีแน่นอน ส่วนหนังสือกีฬาประเภทอื่นๆ ในประเทศอีกห้าสิบกว่าเล่มก็เช่นกันจะต้องมีเรื่องกอล์ฟแทรกไว้ด้วยทุกฉบับและคงไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงหนังสือเกี่ยวกับการสอนเล่นกอล์ฟก็ได้กระมัง

ปีหนึ่งรายการแข่งขันกอล์ฟอาชีพในญี่ปุ่นมีอยู่ 56 แห่ง ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ทุกรายการตามสถานีต่างๆ นอกจากนี้รายการสอนหรือบทเรียนกอล์ฟเบื้องต้นและเบื้องปลายออกอากาศอยู่เป็นประจำวันและหลายหน ภาพนิ่งหรือภาพยนตร์โฆษณาในโทรทัศน์ก็แน่นอนว่าจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับกอล์ฟ และท้ายสุดคงจะไม่มีชาวญี่ปุ่นคนไหนที่ไม่รู้จัก แจ็ค นิกคลอส นักกอล์ฟอันดับหนึ่งของโลกชาวอเมริกัน อย่างน้อยจะต้องเห็นภาพของเขาในโฆษณาบัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรสอยู่แล้ว

เนื้อที่ว่างพอที่จะทำเป็นสนามกอล์ฟอีกของญี่ปุ่นนั้นไม่มีอยู่แล้ว ที่อยู่อาศัยแย่งไปหมด หนทางแก้ไขความอยากจะตีกอล์ฟที่ดีที่สุดคือจัดสร้างอาคารพร้อมสนามสำหรับตีลูกกอล์ฟระยะไกลอย่างเดียว ที่เรียกกันว่า ไดรฟวิ่งเลนขึ้นมา ให้หวดกันแก้ความกระสันได้

ไดรฟวิ่งเลน ในญี่ปุ่นบางแห่งจึงมีสองหรือสามชั้นให้พอแก่ความต้องการของผู้คนที่เชื่อว่ามีนักกอล์ฟระดับต่างๆ อยู่ในประเทศประมาณ 14 ล้านคน จากพลเมืองทั้งหมด 118 ล้านคน

สนามกอล์ฟได้มาตรฐานของญี่ปุ่นมีไม่ถึงสองพันสนาม ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อว่าคลั่งไคล้กีฬาชนิดนี้เหมือนกันมีอยู่ถึงเกือบสองแสนสนามทั่วประเทศ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ชาวญี่ปุ่นผู้คลั่งกอล์ฟจะมีโอกาสลงไปวาดลวดลายในสนามกอล์ฟจริงๆ น้อยเต็มที พูดแล้วไม่น่าเชื่อว่าบางคนปีหนึ่งลงไปเล่นที่สนามครบหลุมเพียงสองหรือสามครั้งเท่านั้น นอกจากนั้นหวดลูกกอล์ฟตามไดรฟวิ่งเลน หรือบนพรมในบ้านและในสำนักงานเท่านั้น

สนามกอล์ฟจะต้องจองคิวกันเป็นปีหรือข้ามปีทีเดียว เมื่อถึงกำหนดจะเล่นตามที่จองไว้ ส่วนมากก็ต้องเดินทางข้ามจังหวัดใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือเป็นวัน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรสำหรับในคืนวันศุกร์หรือเสาร์ ดึกดื่นหรือใกล้รุ่งขนาดตีสอง ตีสาม ก็จะมีชายเป็นกลุ่มๆ ในชุดกีฬารัดกุมสะพายถุงกอล์ฟเดินดุ่มๆ มุ่งหน้าไปสถานีรถไฟ สนามบิน หรือรถยนต์ เพื่อตรงไปสู่สนามกอล์ฟ

คำด่ากันระดับเบาๆ ในหมู่ผู้ใกล้ชิดว่า “ไอ้บ้ากอล์ฟ” จึงมีความรุนแรงเหมือนคนที่ถูกด่าไป “บ้า” เรื่องอย่างอื่นและยังมีการยกเอากวีนิพนธ์ไฮกุตอนหนึ่งมาอ้างด้วยว่า

“แดดจ้า คนคลั่งกอล์ฟ เข้าแถวรอคอย”

แต่อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นเล่นกอล์ฟและปฏิบัติต่อกอล์ฟไม่เหมือนชนชาติอื่นๆ อยู่ดี เพราะถือเอาเรื่องฐานะทางสังคม และเศรษฐกิจมาปนเข้าไปด้วย ไม่ได้ถือว่าเป็นกีฬากลางแจ้ง ออกกำลังกายและจิตใจเท่านั้น กอล์ฟของญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับข้อตกลง ความกดดันทางสังคมและธุรกิจ ความรู้สึกและการวางตัวในสังคมซึ่งแตกต่างไปจากนักกอล์ฟของประเทศอื่นๆ

“คนญี่ปุ่นจะหัดกอล์ฟแต่แรกเริ่มก็ผิดจุดประสงค์เสียแล้ว ไม่เหมือนคนอเมริกันที่หัดเล่นเพื่อเป็นการพักผ่อนในยามว่าง แต่คนญี่ปุ่นหัดเพื่อสาเหตุทางสังคมและธุรกิจ และหัดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย” นายฮิโรชิ กาวานามิ โปรกอล์ฟคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศให้ความเห็นและยังเปิดเผยด้วยว่า ในเมื่อสาเหตุการหัดเล่นกอล์ฟถูกบิดเบือนไปเสียแต่ต้นเช่นนี้ กฎเกณฑ์หรือแบบแผนของกีฬากอล์ฟที่แท้จริง รวมทั้งการปฏิบัติตามกติกาจึงลดหย่อนลงไปมากสำหรับนักเล่นกอล์ฟชาวญี่ปุ่น

ไม่ว่าจะไปถามชาวญี่ปุ่นคนไหนก็ตามว่าเล่นกอล์ฟทำไม ส่วนใหญ่มักจะตอบว่าเพื่อฐานะทางสังคมหรือไม่ก็เพื่อด้านธุรกิจ ส่วนใหญ่อีกเหมือนกันที่เห็นว่า กอล์ฟคือกีฬาระดับสูงสำหรับผู้บริหารประเทศ หรือกีฬาสำหรับบุคคลในรั้วในวังไป

ประวัติกอล์ฟในญี่ปุ่นสั้นๆ หลังจากการสร้างสนามขนาดสามหลุมของนายอาเธอร์ กรูม เมื่อปี ค.ศ. 1903 แล้วต่อมารายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ได้แก่เมื่อครั้งที่จักรพรรดิองค์ปัจจุบันเดินทางไปอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1921 แล้วทรงเล่นกอล์ฟกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด แห่งเวลส์ และในปีต่อมาสนามกอล์ฟมาตรฐานแห่งแรกก็ถูกสร้างขึ้นในพระราชวังเพื่อรอการเล่นกอล์ฟ “นัดเยือน” เมื่อเจ้าชายจากอังกฤษเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นบ้าง เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นได้ถูกบันทึกภาพไว้มากมายและเก็บรักษาไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์ของสมาคมกอล์ฟญี่ปุ่นจนทุกวันนี้

เมื่อทหารอเมริกันเข้ามายึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้นำเอากอล์ฟมาเผยแพร่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในช่วงแรกจะห้ามชาวญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามเล่นกอล์ฟก็ตามที เมื่อคำสั่งดังกล่าวยกเลิกกอล์ฟจึงขยายตัวแพร่หลายไปมากยิ่งขึ้นอีกมีผู้นิยมเล่นเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นจนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเช่นทุกวันนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ กอล์ฟซึ่งเติบโตมาในยุคเดียวกันจึงพัฒนาไปแตกต่างจากสังคมผู้เล่นของประเทศอื่นๆ ด้วย แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นยุคใหม่นี้จะมีความเสมอภาคมากกว่าเดิมมากนักก็ตามที แต่กอล์ฟซึ่งถือกันว่าเป็นกีฬาของผู้ชายจึงมีน้ำหนักเน้นอยู่ในวงการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยในลักษณะเฉพาะตัว

ยกตัวอย่างง่ายๆ สำหรับนักธุรกิจระดับสูง ชาวญี่ปุ่นที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นนอกจากจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโตเกียว มีภรรยาที่น่ารักแล้วยังจะต้องเล่นกอล์ฟเป็น มีแต้มต่อหรือแฮนดิแคปที่ต่ำพอสมควร ซึ่งเรื่องความสามารถที่เกี่ยวกอล์ฟดังกล่าวถือกันในวงการนักบริหารชาวญี่ปุ่นว่าเป็นการรับรองความสามารถในการบริหารงาน ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จะเรียกว่า ถ้าจะต้องการมีความสำเร็จทางธุรกิจจะต้องมีความสำเร็จทางกอล์ฟเสียก่อนก็ว่าได้

การหารือ ตัดสินใจทำธุรกิจสำคัญๆ ในหมู่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเองหรือกับต่างชาติจึงมักจะใช้สนามกอล์ฟเป็นที่เจรจาแทนโต๊ะในห้องประชุม ในหมู่ชาวญี่ปุ่นเองหากลองเคยเล่นกอล์ฟกันมาก่อน แม้จะเป็นครั้งเดียวก็จะช่วยให้การเจรจาธุรกิจของสองฝ่ายคืบหน้าไปได้สวยงามกว่าที่เคยเสวนากันมาในสนามกอล์ฟก่อนแน่นอน ส่วนที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้วถ้าไปเล่นกอล์ฟร่วมกันเป็นหมู่ในสนามเดียวกันก็จะยิ่งสร้างความสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นมากได้ เรื่องความเป็นกีฬากลางแจ้งเพื่อให้มีโอกาสได้รับอากาศบริสุทธิ์ให้หายเคร่งเครียดจากงานนั้นเป็นประเด็นรองลงมาต่างหาก

ราคาค่าใช้จ่ายสำหรับกอล์ฟในญี่ปุ่นแพงลิบลิ่วทีเดียว ยิ่งคนที่นานปีทีหนจะไปหวดลูกกอล์ฟในสนามได้เชื่อว่าถ้าหวดกันตั้งแต่เช้าจรดเย็นจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 เยน หรือประมาณ 5,000 บาทไทยเรา ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวรวมทั้งค่าสนาม แคดดี้ อาหารและการเดินทางเอาไว้ด้วยแล้ว

ยิ่งตีโฮลอินวัน หรือหวดลูกครั้งเดียวลงหลุมไปเลยแทนที่นักกอล์ฟคนนั้นจะดีใจเหมือนอย่างที่อื่นอาจจะร้องไห้ก็ได้ ในเมื่อจะมีค่าใช้จ่ายเนื่องในวาระการแสดงฝีมือให้ประจักษ์ครั้งนี้มากมาย เช่น ต้องจัดเลี้ยงที่สโมสร ให้ทิปแคดดี้ ซื้อต้นไม้สักพุ่มหรือสองพุ่มให้แก่สนามและแจกของขวัญให้แก่ผู้ที่เล่นด้วย เป็นต้น เฉลี่ยแล้วจะตกเป็นค่าใช้จ่ายราว 250,000 เยน หรือ 25,000 บาททีเดียว

ดังนั้นนักเล่นกอล์ฟชาวญี่ปุ่นที่ระมัดระวังโชคร้ายในเรื่องนี้จึงประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากโฮลอินวันของตัวโดยจ่ายเงินประกัน 960 เยน เพื่อว่าหากเกิดโชคร้ายดังกล่าวเข้า จะได้มีค่าใช้จ่าย 300,000 เยน รออยู่จากผู้รับประกัน

สโมสรหรือคลับกอล์ฟในญี่ปุ่นจึงเป็นคล้ายกับสิ่งหวงห้ามสำหรับคนทั่วไปโดยปริยายในเมื่อมีคนเล่นเกินจำนวนอยู่แล้วยิ่งสโมสรที่เก่าแก่มีชื่อเสียงยิ่งหาทางเข้าไปเป็นสมาชิกได้ยากเย็นนัก บางแห่งต้องรอให้สมาชิกเดิมตายไปก่อน นั่นแหละคนที่ยังไม่ตายและเข้าคิวสมัครรอไว้จึงจะเข้าไปเป็นสมาชิกแทนได้ และรายจ่ายก็สูงเป็นแสนๆ หรือล้านๆ เยนทีเดียว อย่างเช่น สโมสรฮิโรโนและสนามกอล์ฟกาซูมิกาเซกิ ซึ่งรายหลังนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในโลก เทียบเคียงได้กับสนามเซนต์แอนดรูในสกอตแลนด์ เวนท์เวิร์ด ในอังกฤษ หรือไซเปรส พอลยท์ ในแคลิฟอร์เนียทีเดียว

อุปกรณ์กอล์ฟไม่ว่าจะเป็นไม้หรือเสื้อ รองเท้า ถ้าสั่งมาจากต่างประเทศซึ่งดูเหมือนว่าจากอเมริกาจะได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเจอกับภาษีโหดของญี่ปุ่นเข้า 33% บวกกับค่าขนส่งอีก 6.9% ราคาจึงแพงลิ่ว แต่ก็ขายได้ขายดี มีนักกอล์ฟชาวญี่ปุ่นในดีพาร์ตเมนต์สโตร์ใหญ่ๆ นั้นมีลานเครื่องกอล์ฟอย่างเดียวที่กว้างกว่าสนามฟุตบอลไว้ในอาคารให้แฟนๆ กีฬาประเภทนี้เลือกอย่างลานหูลานตา ชุดไม้ยี่ห้อแม็คเกรเกอร์ โมเดล 693 ซึ่งฮิตนักหนา เพราะนักกอล์ฟญี่ปุ่นชื่อตาเตโอะ โอซากิใช้ และเพิ่งจะได้ชัยชนะมาในสนามต่างประเทศมีราคาถึง 700,000 เยน (70,000 บาท)   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us