Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2527
นักบริหารชื่อดังของอิตาลี เธอคือ มาริสา เบลลิซาริโอ             
 


   
search resources

Computer
Electronic Components
มาริสา เบลลิซาริโอ




ในดินแดนของผู้ชายอกสามศอกและชื่อเสียงของเพศชายที่กดขี่เพศหญิงอย่างอิตาลี มาริสา เบลลิซาริโอ ได้สร้างประวัติศาสตร์ของผู้หญิงอิตาลีขึ้นมาใหม่ด้วยความสามารถในการบริหารของเธอ จากบริษัทที่เคยขาดทุนปีละ 4,600 ล้านบาท เธอสามารถทำกำไรได้ในปีที่สามและบริษัทนี้ก็เป็นรัฐวิสาหกิจที่สหภาพแรงงานแข็งแกร่งที่สุดด้วย

ชายบางคนที่เธอทำงานให้คิดว่าเธอได้รับการประเมินคุณค่าเกินจริง แต่มาริสา เบลลิซาริโอ ก็พิสูจน์ตนเองด้วยการขจัดปัญหาการขาดทุนจำนวนมหาศาลในบริษัทที่ผลิตเครื่องมือโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งนี้ไปได้ เธอทำได้แม้กระทั่งการจัดสรรความสุขกับมวลสมาชิกสหภาพแม้จะต้องทำการชำแหละการทำงานเสียยกใหญ่

สื่อมวลชนในอิตาลีปฏิบัติต่อเธอราวกับเป็นดาวจรัสแสง ขนานนามให้ว่า เลดี้คอมพิวเตอร์ และผู้จัดการในชุดยีนส์ มาริสาวัย 48 กลับไม่ถือสา แม้ฉายาที่ตั้งให้นี้จะไม่ตรงกับความจริงนัก

เธอสวมชุดยีนส์มาทำงานบ้างเป็นครั้งคราวและแม้อาชีพส่วนใหญ่อยู่ในข่ายวงคอมพิวเตอร์แต่บริษัทที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นผู้ขายคอมพิวเตอร์ เธอเป็นเหมือนดาราดวงหนึ่งในบริษัทอิตัลเทลแห่งนี้ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงสุดในบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ๆ ของอิตาลี

มาริสาอยู่ในแวดวงโลกของผู้ชายในอิตัลเทล บริษัทแห่งนี้เป็นผู้นำของประเทศในการขายอุปกรณ์โทรคมนาคมต่างๆ ด้วยยอดขายถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 1983 (16,100ล้านบาท) โดยได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์ใช้งานด้านโทรศัพท์แก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นประมาณร้อยละ 52 และยังขายอุปกรณ์สื่อสารอีกร้อยละ 39 แก่ เอสไอพี หรือผู้ผูกขาดด้านโทรศัพท์ในอิตาลี

ก็เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ใดในโลก บริษัทอิตัลเทลซึ่งดำเนินงานด้านวิศวกรรม อาณาจักรแห่งนี้ย่อมเป็นโลกของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ นอกเหนือไปจากนายใหญ่แล้ว ก็มีเพียงผู้หญิงอีก 3 คนเท่านั้นที่ทำงานร่วมกับผู้บริหารและพนักงานระดับหัวหน้าที่เป็นชายอีกราวๆ 300 คน เหมือนกับที่แมรี่ คันนิงแฮม เคยควบคุมในบริษัท เอทีแอนด์ที (AT&T)

ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทนี้ยังเป็นบริษัทกึ่งรัฐบาลซึ่งโดยปกติแล้วในอิตาลีย่อมจะหมายถึงบริษัทที่มีระบบการจัดการแบบเรื่อยเฉื่อยและนั่งโต๊ะรายจ่ายท่วมท้น และดำเนินการแบบขาดทุนมากมายมหาศาล

อิตัลเทลเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เอสทีอีที (STET) ซึ่งอยู่ใต้ปีกอันกว้างใหญ่ของทีอาร์ไอ (TRI) อันเป็นบริษัทที่คุมด้านอุตสาหกรรมของรัฐอีกต่อหนึ่ง ย่อมมีลักษณะเดียวกันนี้เมื่อมาริสาเริ่มเข้ามาบริหารงานเมื่อ 3 ปีก่อนหลังจากเธอได้โบกมืออำลาจากจีอี (GE) ฮันนีเวลล์ ( HONEYWELL) และโอลิเวตตี้ (OILVETTI) มาโดยลำดับ

ก่อนหน้านี้เธอสลัดชุดสูทสีเข้มและผ้าผูกคอทึบๆ ออกจากตัว หันมาสวมชุดยีนส์ ตั้งแต่นั้นมาก็ดูเหมือนจะมีการสั่งงานแบบสะเทือนกันขนาดใหญ่

ด้วยเหตุที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับบริษัทกิจการโทรศัพท์ของรัฐ อิตัลเทลยังคงนำหน้าคู่แข่งขันรายอื่นๆ เช่นตัวแทนของแอลเอมอีริคสัน (LM-ERICSON) ไอทีที (ITT) และจีทีอี (GTE) ในการขายอุปกรณ์สวิตช์บอร์ดและอุปกรณ์สื่อสารในตลาดอิตาลี แต่คู่แข่งก็เริ่มบุกตะลุยไปข้างหน้า และมาริสาก็เชื่อว่าอิตาลีจำต้องหาทางเข้าตลาดการส่งออกที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นยิ่งนักในตลาดการขายอุปกรณ์โทรศัพท์ซึ่งถ้าจะทำให้สู้ได้ บริษัทจำต้องยืนอยู่ได้เสียก่อนพร้อมๆ กับที่ต้องทำกำไรให้ได้

ในช่วงปี 1970 รายจ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างคงที่ ในขณะที่ยอดขายกลับตกต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อมาริสาเข้ามารับงานในปี 1981 บริษัทขาดทุนโดยเฉลี่ยวงเงินประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (4,600 ล้านบาท) และในปี 1982 เธอสามารถทำให้ขาดทุนลดน้อยลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนในปีที่แล้ว บริษัทเริ่มมีกำไรบ้างเล็กน้อย ไม่ว่ารัฐบาลเองที่พยายามลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคหรือจะเป็นประชาชนผู้เสียภาษีที่เหนื่อยหน่ายกับภาวะขาดทุนเรื่อยๆ เกี่ยวกับกิจการที่ดำเนินงานโดยรัฐ ย่อมต้องยินดีกับข่าวนี้เป็นแน่

ระบบการลุยงานของมาริสานั้นตรงเป็นไม้บรรทัดเลยทีเดียวราวกับยกออกมาจากตำราการบริหาร และโดยข้อเท็จจริงแล้วต้องเป็นหนี้บุญคุณต่ออาร์เธอร์ ดี ลิตเติล (ARTHUR D LITTLE) บริษัทที่ปรึกษาการจัดการที่เธอดึงเข้ามาร่วมงาน

นโยบายนี้ก็เพื่อที่จะกระจายกลุ่มที่เกาะกันแน่นราวกับเสาหินให้แยกออกเป็นแผนกผลิตต่างๆ และตัดเอาพนักงานที่ล้นเหลือออกไป รวมไปถึงชุดบริหารงานสับปะรังเคจำนวนมากมาย

การลดพนักงานเป็นส่วนที่ทำได้ยากที่สุด โดยข้อเท็จจริงแล้วมีคำคมเก่าแก่ในอิตาลีที่อ้างว่า เป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าเป็นไปไม่ได้เสียอีกที่จะกวาดล้างลูกจ้างออกจากกิจการที่รัฐเป็นเจ้าของ

มาริสาซึ่งไม่เคยทำงานด้านจัดการกับสหภาพโดยตรงมาก่อนเลย ได้ตัดสินใจที่จะเริ่มอะไรใหม่ๆ เธอกล่าวว่า “ฉันไม่ได้เล่นเกมอะไรกับพวกเขา และไม่เห็นมีอะไรจะต้องปิดบังซ่อนเร้นนี่นา”

เธอได้ย้ำเตือนว่า หากบริษัทไม่อาจยืนหยัดด้วยตนเองแล้วล่ะก็ จะต้องมีการลดคนงานอีกมากมายเกินกว่าที่เธอจำต้องทำเสียอีก มาริสาได้คิดโครงการเกษียณให้เร็วกว่าเก่าและจ่ายเงินบำเหน็จให้ ผลก็คือ ได้รับการยอมรับจากสหภาพในโครงการนี้ทำให้สามารถลดพนักงานจากจำนวนเกือบ 29,000 คน ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ลงเป็นจำนวนเพียงไม่ถึง 22,000 คนแม้ว่าจากภาวะที่ต้องเพิ่มค่าแรงเป็นปกติตามดัชนีเงินเฟ้อในระบบค่าจ้างแบบสกาลา โมไบล์ ของอิตาลี ตัวเลขการจ่ายค่าแรงก็ได้ลดลงจากร้อยละ 80 ของยอดขายมาเป็นจำนวนซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 50

ยอดขายพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว การหยุดงานลดลงหนึ่งในสามและไม่มีปัญหาแรงงานเกิดขึ้นเลย

เจ้าหน้าที่สหภาพรู้สึกประทับใจกับความเปิดเผยของเธอ และความจริงใจที่ว่า เธอเป็นผู้เปิดการเจรจาเสียเอง

เป็นที่น่าประหลาดว่า ในประเทศละตินการเป็นผู้หญิงดูเหมือนจะช่วยได้บ้าง

ออตตาวิโน เดล เทอร์โซ หัวหน้าคนงานโลหะกิจและรองเลขาธิการของ ซีจีโอแอล ซึ่งเป็นองค์การสหภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ กล่าวยกย่องการที่เธอได้เปลี่ยนแปลงบรรยากาศเสียใหม่ในการเจรจา “ดูเหมือนว่าเธอไม่ได้มีลักษณะก้าวร้าวแบบปมเพศชายดังที่หัวหน้าสหภาพมักเป็นกันในอิตาลี”

มาริสาเชื่อว่าความสัมพันธ์แรงงานในอิตาลีนั้นถูกบิดเบือนไปเพราะความลับที่ไม่จำเป็นอย่างยิ่ง

เธอประกาศให้ลูกจ้างรู้ว่าต้องการทำอะไรและเพราะเหตุใด โดยส่งข่าวสารเวียนไปถึงบ้านอย่างเป็นแก่นสารและเรียบเรียงไว้อย่างน่าสนใจ และยังบอกให้หัวหน้าสหภาพรู้ว่าเธอนับถือพวกเขา “ครั้งแรกที่ฉันนั่งโต๊ะคุยกับเขา ก็พบว่าเขารู้อะไรต่อมิอะไรในบริษัทดีกว่าผู้จัดการคนเก่าๆ เสียอีก”

คำว่า “เก่าก่อน” เป็นคำที่ต้องผ่าตัดกันเสียใหม่ ในจำนวนระดับบริหาร 29 คนในปัจจุบันนั้น มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ทำงานที่นี่มาก่อน และในจำนวนนี้มีเพียงที่ปรึกษาทั่วไปและหัวหน้าฝ่ายบัญชีเท่านั้นที่ทำงานแนวเดิม

เธอบอกว่า “ฉันถูกล้อมเอาไว้ด้วยผู้คนที่อยู่ที่นี่มาตลอดกาล บริษัทนี้เป็นเหมือนตัวตึกที่ไม่มีหน้าต่าง ฉันจะต้องเปิดมันไปสู่โลกภายนอกให้ได้”

ในตอนแรกนั้นเธอไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายนัก มาริสาเป็นเพียงระดับสองรองจาก โจโจ้ วิลลา ซึ่งนั่งเก้าอี้หัวหน้าฝ่ายบริหาร และพวกเขาให้เธอเข้ามาดำเนินงานแบบเหลวไหลในระบบการเมืองแบบดั้งเดิมที่ต้องการให้ใช้ความชำนาญงานโดยไม่กระทบกระเทือนสิ่งต่างๆ มากนัก

แต่เมื่อเธอได้เห็นปัญหาจำนวนมากมายมหาศาลของที่นี่ เธอก็ยื่นคำขาดกับบริษัทว่า “ฉันคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำงานด้วยระบบการทำงานแบบเก่า ถ้าฉันต้องใช้เวลานานนับวันนับสัปดาห์ที่จะให้แต่ละอย่างเปลี่ยนไปทีละนิด ก็ไม่อาจดำรงรักษาบริษัทไว้ได้ ผู้ถือหุ้นต้องให้อำนาจเต็มแก่ฉันและการตัดสินใจโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นแล้วจะลาออกและฉันก็ชนะ”

วิลลาย้ายไปเป็นประธานของเอสทีเอส (STS) บริษัทดำเนินงานสื่อสารระบบดาวเทียมขนาดเล็กๆ ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของเอสทีอีที ด้วยรอยยิ้มอันแห้งแล้ง

มาริสาทบทวนว่า “หลายคนไม่มั่นใจ แต่ในที่สุดก็ยอมเสี่ยง ฉันคิดว่าทุกอย่างเลวร้ายสิ้นดี จนพวกเขาไม่มีทางอื่นเลือกได้”

การโต้เถียงเล็กน้อยอื่นๆ อีกกับผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับสิทธิในการเลือกผู้ช่วยของเอง มีข้อเสนอปนการเมืองเข้ามายุ่งด้วย แต่เธอก็ไม่ใส่ใจ ด้วยแวดวงกว้างขวางที่ติดต่อในวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับข้อมูลสถิติมาเก่าก่อนในอิตาลี เธอสามารถหาบุคลากรมาบรรจุได้ทุกตำแหน่ง ยกเว้นระดับจัดการอีกสองตำแหน่ง โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือของพวกที่หมายหัวเธอนั้น

ในตำแหน่งที่สองรองจากเธอ มาริสาได้ว่าจ้างซัลวาดอร์ แรนดี วัย 54 ซึ่งมาจากบริษัทเทเลตตา (TELETTRA) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมคู่ปรับซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของเฟียตมาได้ หัวหน้าฝ่ายการเงินและบริหารคนใหม่ของเธอคือ จีอัมเปาโล มอนดินี วัย 46 จากมอนเตดิสัน (MONTADISON) บริษัทเคมีรายใหญ่

อายุโดยเฉลี่ยของทีมจัดการอาวุโสที่อิตัลเทลแห่งนี้คือวัย 44 ปี เทียบกับเมื่อก่อนที่อยู่ในวัยราวๆ กลางๆ 50

มาริสารู้ดีว่าการเปลี่ยนระบบบริหารงานทั้งหมดย่อมจะต้องมีผลกระทบที่ป่นปี้ต่อผู้ใหญ่ แต่เธอเชื่อว่า กรณีนี้ขวัญของผู้ร่วมงานจะไม่เสียไป เธอบอกว่า “ผู้คนที่อิตัลเทลรู้ว่าในบริษัทขาดความชำนาญงานพิเศษบางอย่าง และเขารู้ว่า ผู้คนที่ฉันดึงเข้ามานั้นไม่ได้มาด้วยหนทางการเมืองแต่เป็นมืออาชีพที่รู้งานของตนเป็นอย่างดี”

มาริสาถูกถามบ่อยครั้งว่า การเป็นนายหญิงในกลุ่มชายเป็นอย่างไรบ้าง? ซึ่งเธอก็มีคำตอบพร้อมแล้ว “คนที่ใกล้ชิดฉันมากที่สุดก็คือเลขานุการ และทั้งคู่ก็เป็นผู้หญิง” และด้วยสำเนียงที่จริงจังยิ่งขึ้น เธอชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่เริ่มงานอาชีพมา ส่วนใหญ่เธอก็ต้องคุมทีมงานผู้ชาย “ฉันไม่เคยวางเงื่อนไขพฤติกรรมของตนที่ว่าเป็นผู้หญิง มันไม่มีความยุ่งยากให้กับฉันหรอก ถ้ามันทำให้ผู้ชายรู้สึกยุ่งยากในตอนแรก ความยุ่งยากนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน” ผู้ร่วมงานที่เป็นชายดูเหมือนจะเห็นด้วย พวกเขามักเรียกเธอว่า “เบลลิซาริโอ” ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมากในประเทศที่มีรูปแบบให้เกียรติเรียกผู้หญิงเช่นประเทศนี้ ความสัมพันธ์นั้นทำให้ง่ายขึ้นด้วยสไตล์การบริหารงานของมาริสา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นทางการอย่างยิ่งในอิตาลี

ไม่มีลักษณะแกร่งแบบชายในตัวมาริสายกเว้นบางคนยกย่องว่าเธอใส่กางเกงที่ตัดไว้สวย เธอเป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์และเธอก็รู้ว่าตนเองเป็นอย่างนั้น แต่งกายแบบสบายๆ แต่ก็มีไสตล์ ทำผมไว้อย่างประณีต และชอบใส่ตุ้มหูขนาดใหญ่ที่แกว่งไปมาและกระตุ้นความสนใจแก่ผู้พบเห็นเมื่อเคลื่อนไหวไปมา เธอกระดากเกี่ยวกับอายุและไม่บอกในประวัติส่วนตัว และสื่อมวลชนอิตาลีก็ยังยกย่องเธอว่าเหมือนผู้หญิงในวัย 40 ต้นๆ

เธอรับภาระการประชุมอย่างกระตือรือร้นและบอกว่าตนเองเป็นคนไม่ค่อยมีน้ำอดน้ำทน ท่าทางของเธอนั้นไม่ใช่คนประเภทหยิ่งยโสเลย ยิ้มง่าย และมีเสียงนุ่มน่าฟัง ห้องทำงานของเธอสว่างไสวและโล่งแต่ไม่หรูหรา มีเครื่องพิมพ์ดีดโบราณตั้งไว้สามเครื่องแสดงให้เห็นความศรัทธาต่อเครื่องมือกลไกแบบเก่าๆ

เธอชอบแมวแถมยังนุ่มนวลเหมือนแมวด้วย ชอบขดตัวบนโซฟามากกว่ายืดตัวตรงและเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาก็นั่งคุดคู้ในเก้าอี้หลังโต๊ะทำงานขนาดมหึมาแบบทันสมัยและดูเหมือนเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ในโลกที่ใหญ่โตนี้

และให้สมกับที่เป็นหัวหน้าของบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับโทรศัพท์ เธออยู่กับมัน ลักษณะนิสัยนี้เกิดจากกิจวัตรประจำวันของเธอ วงจรการเดินทางรายสัปดาห์ระหว่างสำนักงานใหญ่ในมิลาน สำนักงานรองในโรม (เมืองที่เธอบอกว่าเป็น “ต่างจังหวัด” โดยเทียบมิลานเป็นนิวยอร์ก) และบ้านในเมืองตูริน ที่เธอได้พักในช่วงสุดสัปดาห์กับสามีที่อยู่กินกันมานานถึง 15 ปี ลีโอเนลโล แคนโตนี ศาสตราจารย์ผู้สอนคณิตศาสตร์ประยุกต์ในมหาวิทยาลัยตูริน

เธอมีอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ในมิลาน ส่วนที่โรมนั้นเธอพักในโรงแรมที่ใช้บริการกันมานานหลายปี และโรงแรมก็มักจะเก็บห้องชุดเดิมไว้ให้เป็นประจำทุกๆ สัปดาห์ที่เธอไป

มาริสาทำงานอย่างน้อยที่สุดวันละ12 ชั่วโมงในสำนักงาน ปกติเก้าโมงเช้าถึงสามทุ่ม บางครั้งก็เรียกประชุมพนักงานด่วนตอนสามทุ่มครึ่ง เพื่อนๆ รู้ดีว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเชิญเธอไปร่วมงานยกเว้นอาหารค่ำตอนดึกๆ เท่านั้น ก็ดังเช่นชาวอิตาเลียนทั้งหลาย

มาริสาอยู่ได้เพราะกาแฟ ดื่มคาปุคซินีเพื่อฟองเข้มข้นในตอนเช้าๆ ตามด้วยกาแฟดำในตอนสาย และตอนเที่ยงก็กินแซนด์วิชบนโต๊ะทำงาน ถ้าไม่มีกำหนดนัดหมายอาหารเที่ยงเพื่อคุยธุรกิจกับใครๆ

ในช่วงเวลาว่างที่จำกัดจำเขี่ย มาริสาก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่านี้ “ฉันเคยไปเล่นสกีและไปดูละคร แต่ด้วยชีวิตแบบนี้...” สุดสัปดาห์ในตุริน เวลาที่สบายๆ แต่ไม่ได้ออกจากบ้านไปชมเมือง เธอตื่นสายและมีความสุขกับการได้อยู่กับสามีซึ่งเป็นบุรุษร่างท้วม นุ่มนวลน่ารัก กับสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพพาร์ดสองตัว และแมวอีกสามตัว มาริสาและสามีตกลงกันว่าจะไม่มีบุตรซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ต่อต้านชาวอิตาลีที่มีความรักแบบแรกรุ่น

เพื่อนฝูงของเธอซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มที่ปรึกษาด้านสถิติที่เธอและสามีร่วมทำงาน จะมาสนุกกับอาหารแบบพาสต้าในคืนวันเสาร์หรือเที่ยงวันอาทิตย์ มาริสาทำอาหารเองแต่ทำแบบง่ายๆ เธอให้คำนิยามตนเองว่า เป็นผู้ที่ชอบใช้สวนมากกว่าเป็นชาวสวน วันพักร้อนในเดือนสิงหาคม ส่วนใหญ่ก็เหมือนๆ เดิมคือ ไปพักแถบชายทะเลอาเดรียติคในบริเวณเมืองมาร์เช ซึ่งสามีของเธอมีถิ่นฐานเดิมอยู่

มาริสาเกิดในเมืองชวา เมืองเล็กๆ ทางใต้ของตูริน บิดาเป็นผู้จัดการสำนักงานภาษีท้องถิ่น มารดาม่ายของเธอยังอยู่ที่นั่น น้องชายดำเนินกิจการเล็กๆ ใกล้ๆ โบโลนญ่าส่วนน้องสาวสมรสไปกับชาวอังกฤษและพำนักอยู่ในลอนดอน

บิดาของเธอได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ไปประจำสำนักงานภาษีที่ใหญ่ขึ้นในเมือง CUNEO ทันเวลาที่มาริสาจะไปเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่นั่น ผลการเรียนของมาริสานั้นขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน เธอเรียนเก่งในวิชาเลขและวรรณคดี แต่ทำคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปไม่ดีนัก พ่อแม่ไม่เคยบีบบังคับเรื่องอาชีพ “พ่อประหลาดใจมาก ฉันคิดว่า ท่านปรารถนาเพียงให้ฉันได้แต่งงานและมีลูกมากๆ เท่านั้น” ครอบครัวดำเนินแนวทางแบบเงียบๆ แต่ก็ไม่ใช่คาทอลิกที่เคร่งครัด

มาริสาสนับสนุนแนวทางของกลุ่ม นอนคาทอลิก ซึ่งเป็นกลางทางการเมืองมากกว่ากลุ่มคอนเซอร์เวทีฟ คริสเตียนเดโมแครต ที่นักบริหารชั้นนำอิตาลีให้การสนับสนุนกันเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าเธอจะต้องสมาคมกับกลุ่มโซเซียลิสต์ของนายกรัฐมนตรี เบตติโน แครกซี บ่อยครั้ง แต่มาริสายืนกรานว่าเธอไม่สังกัดพรรคใดทั้งสิ้น

เกรดของมาริสานั้นดีมากพอที่เธอจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยตูรินได้ เธอเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจ ซึ่งมักจะคิดกันว่าเป็นวิชาที่ผู้ชายเรียนกันมากกว่า เธอบอกว่า “ฉันไม่รู้ว่าต้องการจะทำอะไรกันแน่ แต่ต้องเป็นบางอย่างที่เป็นการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่การสอนหนังสือ ฉันไม่เหมือนสามีที่รักการสอน”

ภายหลังจากที่เรียนสำเร็จในปี 1960 เธอได้เข้าคอร์สฝึกงานของแผนกอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทโอลิเวตตี้ในเมืองมิลาน ไม่ช้าก็กลายเป็นหัวหน้าของกลุ่มวิศวกรโครงการคอมพิวเตอร์แรกๆ ในอิตาลี คือ อีแอลอีเอ

ในปี 1964 โอลิเวตตี้ตัดสินใจที่จะเลิกกิจการด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่มาริสาคิดว่าผิดจนกระทั่งทุกวันนี้ และบริษัทได้ขายระบบดาต้าโปรเซสซิ่งให้กับเจนเนอรัลอิเล็คทริค

ในตอนนั้น จีอีซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทเมชีนส์-บูลส์ในฝรั่งเศส ได้พยายามที่จะทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ในยุโรปให้ได้ ต่อมาในปี 1968 เธอกลายเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในกลุ่มงานที่เรียกว่าชังกรีลา (Shangri-La) และทำงานในไมอามีอีกสามเดือนเต็มเกี่ยวกับนโยบายกระจายคอมพิวเตอร์ไปให้ทั่วโลกของบริษัทจีอี

เธอยังจำได้และออกจะขำกับการเปิดประชุมที่ประธานพูดว่า “มาริสาและท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย

เมื่อโครงการแชงกรีลาเสร็จสิ้นในต้นปี 1969 เธอก็กลับมาอิตาลีในฐานะหัวหน้าของฝ่ายวางแผนในหน่วย เจนเนอรัล อิเลคทริค อินฟอร์เมชั่น ซีสเทมส์ อิตาเลีย แต่ภายหลังจากที่ได้ศึกษารายงานเกี่ยวกับกำลังการทำงาน จีอีกลับไม่สนใจธุรกิจคอมพิวเตอร์ต่อไป และได้ขายให้กับฮันนีเวลล์ ซึ่งดำเนินงานอยู่ในอิตาลีไปเสียในปี 1970

มาริสาร่วมกับฮันนีเวล์ได้สักพัก โอลิเวตตี้ก็เสนองานระดับสูงให้ในต้นปี 1972 เธอจึงกระโจนเข้ามา

ในขณะนั้นโอลิเวตตี้อยู่ในภาวะที่มีแนวสินค้าหลายอย่างที่ล้าสมัยและกำลังจะก้าวไปสู่ในภาวะที่ล้มละลาย มาริสาและคนอื่นๆ ได้ร่วมกันผลักดันสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างรวดเร็ว การเริ่มด้านเครื่องพิมพ์ดีดอิเล็กทรอนิกส์ในปี 1976 นั้นเป็นสินค้าที่ฮิตของโอลิเวตตี้ในปัจจุบันนี้ในขณะนั้นยังไม่ได้ผลงอกเงยอะไรมากนักจนกระทั่ง คาร์โล ดี เบเนเดตตี้ ได้เข้ามากุมบังเหียนบริษัทไว้ได้

ดี เบเนเดตตี้ ประทับใจในความสามารถของมาริสามากในฐานะผู้ทำการกวาดล้างปัญหาให้กับบริษัท และได้ส่งเธอไปคุมงานของโอลิเวตตี้ในสหรัฐ(ฯ ซึ่งอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่กว่าบริษัทแม่เสียอีก ทั้งดี เบเนเดตตี้ และมาริสาไม่ได้พูดเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้เลย แต่เบเนเดตตี้ไม่พอใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเธอในสหรัฐฯ ตามความเป็นจริงแล้วเธอจะต้องคุมงานในสหรัฐฯ ถึงสามปีเต็ม แต่เธออยู่ที่นั่นได้เพียงปีเศษๆ คือจากเดือนมกราคมปี 1979 ถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1980

ด้วยร่องรอยความขมขื่นเล็กน้อย มาริสากล่าวว่า “เราตกลงกันว่าจะเป็นการดีกว่าที่จะให้ใครสักคนไปดำเนินงานแผนกฟื้นฟูระยะที่สองแทน ฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์อันนี้ว่า การจะจัดการกับกิจการที่ย่ำแย่ คุณต้องมีอำนาจเต็มในระยะเวลาสั้นระยะหนึ่ง”

หลังจากที่กลับมาอิตาลี เบเนเดตตี้ได้ส่งเธอเข้าไปในฝ่ายที่ติดต่อกับ แซงต์-โกแบง-ซีไอไอ-ฮันนีเวลล์-บุลล์ ซึ่งเป็นผลประโยชน์เพียงส่วนเล็กๆ ของโอลิเวตตี้ อันนี้ดูจะมีเหตุผลเพราะเธอเคยทำงานเชื่อมโยงกับจีอีกับฝรั่งเศสมาก่อน แต่ก็ได้ปัดเธอออกจากอำนาจทั้งมวลในโอลิเวตตี้ หลังจากอยู่ได้ห้าเดือนก็ลาออก

จากนั้น มาริสาก็เข้ามาอยู่ในอิตัลเทลโดยไม่มีความสำเร็จที่มองเห็นอยู่เบื้องหลัง โครงการคอมพิวเตอร์ที่ถูกละทิ้งและการรับมอบงานที่เต็มไปด้วยปัญหาที่ถูกทอดทิ้งไว้ดูเหมือนจะไม่ใช่แท่นยิงจรวดสำหรับความสำเร็จในอาชีพเอาเสียเลย ด้วยสิ่งนี้รวมกับการปฏิบัติราวกับดาราที่สื่อมวลชนชื่อดังของอิตาลีขนานนามเธอ ทำให้เกิดเสียงพึมพำอย่างสงสัยในหมู่ผู้บริหารระดับสูง เบเนเนตตี้ไม่ชื่นชม และมาริโอ คอนซิกลิโอ สมาชิกคนหนึ่งของกรรมาธิการบริหารของอิตัลเทลและยังเป็นผู้บริหารของคอนซินดัสเตรียซึ่งป็นสหภาพอิสระของอิตาลีตั้งข้อสังเกตว่า “เธอสามารถแก้ไขปัญหาส่วนหนึ่งในอิตัลเทลได้ก็จริงอยู่ แต่ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่ได้แตะต้อง”

แต่กระนั้นก็ตาม เธอก็มีเสียงสนับสนุน วิคตอริโอ เลวี ผู้บริหารเก่าของโอลิเวตตี้ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าในปีอาจิโอซึ่งเป็นผู้ผลิตรถบรรทุกและรถสกู๊ตเตอร์กล่าวว่า “ความสามารถด้านองค์การของเธอนั้นเยี่ยมจริงๆ เธอสมควรได้รับความสำเร็จ และคนที่พูดเป็นอย่างอื่นนั้นไม่เป็นธรรมเลย”

เซซาเร โรมีตี้ ฝ่ายบริหารของเฟียต “สิ่งที่ผมชื่นชมในตัวมาริสามากที่สุดคือความสามารถในการตัดสินใจของเธอ นับเป็นกรณีพิเศษสำหรับหน่วยงานรัฐที่การตัดสินใจมักจะทำได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น” และแม้แต่ตัวคอนซิกลิเอโอเองก็ชอบวิธีการจัดการแบบใหม่ของเธอและการที่เธอพยายามเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ

ในแง่ที่สำคัญ ความสามารถในการบริหารของมาริสานั้นแค่เริ่มทดลองกันดูเท่านั้น อิตัลเทลต้องพึ่งลูกค้าเพียงเจ้าเดียวเป็นส่วนใหญ่ นั้นคือต้องขายให้กับผู้ผูกขาดโทรศัพท์ของรัฐคือ เอสไอบี ในประเทศของตนเอง อิตัลเทลก็อาจดำรงตำแหน่งที่ได้เปรียบนี้ไปตราบเท่าที่ต้นทุนและราคายังคงเส้นคงวา โดยเฉพาะในขอบข่ายความสามารถด้านการบริหารของมาริสาที่แสดงออกมาเท่านี้ แต่มาริสาก็ได้วางแผนสำหรับสี่ปีข้างหน้าในการเพิ่มยอดขายอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใช้งานในสำนักงานและเอกชนต่างๆ ซึ่งในขณะนี้มีเพียงยอดร้อยละ 13 และจะเพิ่มการส่งออกอีกมากซึ่งมีจำนวนเพียงร้อยละ7 เท่านั้นในปัจจุบัน ทั้งตลาดในประเทศและนอกบ้านนั้นมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นและต้องใช้เทคนิคการตลาดที่ยุ่งยากทีเดียว ตรงจุดนี้ที่อิตัลเทลจะต้องพิสูจน์ตนเองให้ได้ แม้ว่าการส่งออกจะทบทวีคูณเกือบสองเท่าคือจาก 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1982 มาเป็นจำนวน 53 ล้านเหรียญในปีที่แล้วแต่ก็แทบจะไม่มีอุปกรณ์สื่อสารประกอบด้วยเลย

มาริสาได้ผลักดันด้านการส่งออกกับเครือข่าย เช่น เทเลตตาและจีทีอีที่ได้มาตรฐานแก่ประเทศโลกที่สาม แต่งานที่รวมกันซึ่งเรียกกันว่า อิตัลคอมก็ต้องรอคำสั่งซื้ออยู่ก็ยังมีร่องรอยความยุ่งยากในดินแดนนี้

แม้มาริสาจะประสบความสำเร็จในการขยายแนวทางของบริษัทได้บ้าง แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาผู้ผูกขาดด้านบริการโทรศัพท์ของรัฐอยู่ซึ่งได้วางแผนที่จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าแทนที่สวิตช์บอร์ดแบบมาตรฐานถึงเกือบครึ่ง หากการบีบคั้นด้านงบประมาณจะยึดโครงการนี้ออกไปอีกก็จะมีผลกระทบอย่างแรงต่ออิตัลเทล

นอกไปจากนี้ อุปกรณ์ใช้งานแบบอิเล็กทรอเมคคานิคส์ อิตัลเทลยังมีหนี้ค้างชำระอยู่เกินกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหนึ่งในสามของจำนวนนี้เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นบริษัทจึงจำต้องทำงานอย่างหนักเพื่อตามให้ทันดอลลาร์ที่แข็งและอัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว

อย่างไรก็ตาม การทำให้อิตัลเทลมีกำไรได้เล็กน้อยจากการขาดทุนมหาศาลในระยะเวลาเพียงสามปีนั้นนับเป็นแบบอย่างความสำเร็จที่มั่นคงและมาริสาก็รู้สึกภูมิใจ เธออยากจะประดับมงกุฎให้กับความสำเร็จนี้ ด้วยการนำเอาเงินทุนเอกชนเข้ามาร่วมกับอิตัลเทลในรูปแบบของหุ้นส่วนย่อย แม้ยังไม่มีแผนการใดๆ ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เธอก็ได้ประกาศว่า “ถ้าเราต้องการออกสู้สาธารณชน เราต้องแสดงกำไรที่เป็นปึกแผ่นในระยะสามปีนี้ให้เห็น” และเพื่อที่จะให้มั่นใจว่านักลงทุนเชื่อตัวเลขนี้ มาริสาได้แสดงบัญชีทั้งมวลของกิจการที่ควบคุมโดยรัฐให้แก่ประชาชนเห็นเป็นครั้งแรก โดยมีบริษัทตรวจสอบบัญชีมาตรฐานสากลชื่อ ไพรซ์ วอเตอร์เฮาส์ ตีตรารับประกันคุณภาพ

ในขณะที่เธอเป็นบุคคลที่เริ่มบุกด้านการจัดการสำหรับผู้หญิง เธอกลับไม่ใส่ใจนักเกี่ยวกับสิ่งนั้น มากไปกว่าการที่จะทำให้บริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐสามารถเดินเครื่องต่อไปด้วยประสิทธิผล เธอเล่าว่า “เมื่อฉันเข้ามาทำงานที่นี่ ผู้คนมองราวกับว่า ฉันเป็นบ้าไปเสียแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ย่อมจะแสดงให้เห็นว่า องค์การใดๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของก็ย่อมจะทำเช่นนี้ได้เหมือนกัน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us